In Focusพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จเสวยราชย์ นำพาราชวงศ์มุ่งสู่ยุคสมัยใหม่

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 14, 2022 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นำมาสู่ปฐมบทแห่งรัชกาลใหม่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนแผ่นดินนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามว่า กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเข้าแทรกแซงกิจการการเมืองหรือไม่

ข้อวิตกกังวลนี้อิงจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดชั่วระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยในขณะทรงดำรงพระยศเจ้าชายแห่งเวลส์ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมักแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม นโยบายผู้อพยพ กสิกรรม และยาร่วมสมัย ทั้งยังถูกครหาว่าแทรกแซงทางการเมือง โดยพระองค์มักส่งจดหมายถึงเหล่ารัฐมนตรี ซึ่งขนานนามกันว่า "บันทึกแมงมุมดำ" (Black spider memos) อันมีที่มาจากลายพระหัตถ์เปี่ยมเอกลักษณ์ของพระองค์ ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีกระแสข่าวเรื่องอดีตนายกรัฐมนตรีกาตาร์บริจาคเงินเข้ามูลนิธิของพระองค์ในปีพ.ศ. 2554 - 2558

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วรัชกาลของกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์อังกฤษนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คืออังกฤษปกครองประเทศด้วยระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ

*บทบาทของราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐตามระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อันหมายความว่า การบัญญัติกฎหมายเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น โดยนับตั้งแต่รัชกาลของพระเจ้าจอห์นและการตรากฎบัตรใหญ่แห่งเสรีภาพเมื่อปีพ.ศ. 1758 อังกฤษก็ใช้ระบอบกษัตริย์ที่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย แม้พระเจ้าแผ่นดินทรงต้องพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติของรัฐสภาอย่างเป็นทางการ แต่ในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงขนบธรรมเนียม หาใช่กระบวนการที่ได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง

เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอด พระเจ้าแผ่นดินทรงต้องวางตนอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง และเป็นกลางทางการเมือง โดยในอดีตเคยมีบทเรียนให้เห็นแล้วว่าการใช้อำนาจตามอำเภอใจนั้นได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่อาจย้อนคืน เช่นเหตุการณ์ที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 บุกรัฐสภาในปีพ.ศ. 2185 เพื่อจับกุมสมาชิกรัฐสภาโทษฐานเป็นกบฏ จนนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน อังกฤษในขณะนั้นได้เปลี่ยนสถานะเป็นสาธารณรัฐในเวลาอันสั้น

อังกฤษฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยอีกครั้งในปีพ.ศ. 2203 โดยมีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เป็นประมุข แต่บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองที่ผ่านการอนุมัติในปีพ.ศ. 2232 และกรณีของถ้อยแถลงปีพ.ศ. 2154 (1611 Case of Proclamation) ที่บัญญัติว่ากษัตริย์ทรงไม่มีพระราชอำนาจในการตรากฎหมายโดยปราศจากการรับรองของรัฐสภา ได้กำหนดขอบเขตให้พระเจ้าแผ่นดินต้องยอมรับเจตจำนงของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ในทางปฏิบัติแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงตระหนักดีว่าต้องปรับเปลี่ยนพระองค์ตามสถานะ รัฐธรรมนูญที่ไม่มีผลบังคับใช้ต่อพระองค์สมัยดำรงพระยศเจ้าฟ้าชาย บัดนี้ได้ชี้นำทุกพระราชจริยวัตรของพระองค์ในฐานะองค์ราชัน โดยเกี่ยวกับข้อวิตกเรื่องการแทรกแซงทางการเมืองนั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีพระราชดำรัสชัดเจนว่าพระองค์ต้องปฏิบัติตนแตกต่างจากเดิม โดยในการพระราชทานสัมภาษณ์เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนม์ 70 พรรษาในปีพ.ศ. 2561 พระองค์ตรัสว่า

"เรามิได้เบาปัญญาถึงเพียงนั้น เราตระหนักดีว่ากษัตริย์นั้นต้องปฏิบัติตนแตกต่างออกไป ดังนั้น เราย่อมเข้าใจว่าควรดำเนินการเช่นใด ความคิดที่ว่าเราจะประพฤติตนเช่นเดิมเมื่อขึ้นครองราชบัลลังก์นั้นเหลวไหลโดยสิ้นเชิง เพราะทั้งสองสถานการณ์ไม่เหมือนกันแม้แต่น้อย"

การที่จะปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้นั้นจำเป็นต้องเคารพรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแม้จะผลัดแผ่นดิน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในสมัยรัชกาลของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

*พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงย้ำลดบทบาทด้านการเคลื่อนไหว

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงส่งสัญญาณเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า พระองค์จะทรงถอยออกจากบทบาทการเคลื่อนไหวต่าง ๆ

"ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอน หลังจากที่ก้าวเข้ามารับหน้าที่ใหม่ เราไม่อาจทุ่มเทเวลาและพลังกายไปกับมูลนิธิและประเด็นต่าง ๆ ที่เราห่วงใยอย่างลึกซึ้งได้เช่นที่เคยเป็นมาอีกต่อไปแล้ว แต่เราทราบดีว่า ภารกิจสำคัญนี้จะถูกส่งมอบให้กับบุคคลที่ไว้วางใจได้" พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตรัส

*ความเปลี่ยนแปลงของราชวงศ์ในรัชกาลใหม่

แม้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ครองราชย์จนกระทั่งเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่สำนักข่าวเดอะมิเรอร์รายงานว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเข้ามารับผิดชอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ มากขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยพระชนมายุที่เพิ่มมากขึ้นของพระราชมารดา โดยสำนักข่าวเทเลกราฟและแท็ตเลอร์รายงานว่า ภารกิจหนึ่งที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงให้ความสนพระทัยมาสักพักแล้วคือการปรับลดขนาดและปรับเปลี่ยนบทบาทสมาชิกราชวงศ์

ลำดับการสืบราชสันตติวงศ์บนเว็บไซต์ของราชวงศ์แสดงให้เห็นว่า ราชวงศ์อังกฤษมีสมาชิกชั้นยศสูงสุดรวมทั้งสิ้น 22 พระองค์ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 วางแผนลดให้เหลือเพียง 7 พระองค์ เฉพาะสมาชิกระดับอาวุโสที่ปฏิบัติกรณียกิจ โดยสำนักข่าวเดอะไทม์สรายงานว่า เหตุผลหนึ่งของแผนการนี้เกี่ยวพันกับชื่อเสียงของราชวงศ์และอาจรวมถึงปัจจัยทางการเงิน โดยงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษจะลดลงตามจำนวนของสมาชิกราชวงศ์

ยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีแนวโน้มที่จะตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากยิ่งขึ้น โดยในขณะดำรงพระยศเจ้าชายแห่งเวลส์ พระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่า

"เราไม่อาจบรรยายได้ว่ารู้สึกเจ็บปวดเพียงใดกับความทุกข์ทรมานของผู้คนมากมาย ในขณะที่เราทำความเข้าใจถึงผลกระทบอันเจ็บปวดของการเป็นทาส"

ขณะที่เจ้าชายวิลเลียมยอมรับขณะเสด็จเยือนจาเมกาว่า "ความโหดร้ายของระบบทาสเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์เรา"

กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ราชวงศ์อังกฤษอาจผลักดันการปรับปรุงราชวงศ์ให้มีความทันสมัย เพื่อสะท้อนถึงยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป และทำให้ราชวงศ์มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เพื่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในระยะยาว

*เคทและวิลเลียมสานต่อภารกิจพระราชบิดา

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงส่งสัญญาณว่าจะส่งมอบภารกิจด้านการรณรงค์ให้กับเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท หลังจากที่พระองค์ทรงลดบทบาทด้านการเคลื่อนไหว เพื่อรับบทบาทใหม่ในฐานะกษัตริย์ โดยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระยศใหม่ให้แก่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทเป็นเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ โดยเคทกลายเป็นสามัญชนบุคคลแรกที่ได้ใช้พระยศดังกล่าวนับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า

"เราทราบดีว่าเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์จะเดินหน้าผลักดันให้เรื่องที่ไม่ได้รับความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็นกลายเป็นจุดสนใจ จนสามารถส่งมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็นได้" พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตรัส

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงแสดงความคาดหวังว่า ทั้ง 2 พระองค์จะก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านการช่วยเหลือพสกนิกรมากยิ่งขึ้น

*กระชับสัมพันธ์พระบรมวงศานุวงศ์

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงแสดงให้เห็นในพระราชดำรัสครั้งแรกในฐานะกษัตริย์ว่า พระองค์ทรงให้การสนับสนุนเจ้าชายแฮรีและเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์ แม้ความสัมพันธ์ในครอบครัวค่อนข้างหมางเมินเหินห่างตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

"เราต้องการแสดงความรักถึงแฮรีและเมแกน ในขณะที่ทั้งคู่ใช้ชีวิตในต่างประเทศ" พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ตรัส

กระแสรับสั่งข้างต้นนี้บ่งชี้ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงหวังที่จะก้าวไปข้างหน้าและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเจ้าชายแฮรีและเมแกน แม้ทั้งคู่ประทานสัมภาษณ์ที่สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ราชวงศ์ เมื่อครั้งที่เพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งสมาชิกอาวุโสของราชวงศ์

ในตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า ประชาชนอาจได้เห็นการมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้นระหว่างดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซ็กซ์กับราชวงศ์อังกฤษ

*สานต่อพระราชกรณียกิจด้วยความเสียสละตามรอยพระราชมารดา

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงมีพระราชดำรัสต่อสมาชิกสภาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า "สมัยที่เรายังเยาว์วัย พระราชมารดาปฏิญาณตนว่าจะรับใช้ประเทศชาติและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ตลอดจนรักษาหลักการของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญอันล้ำค่า ซึ่งเปรียบเสมือนจิตใจของประเทศ"

"พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ดังนั้น เราจะสืบสานตามรอยพระบาทของพระราชมารดาต่อไป"

*ความท้าทายที่รออยู่เบื้องหน้า

ความท้าทายสำคัญที่สุดสำหรับกษัตริย์พระองค์ใหม่คือการรักษาความเป็นเอกภาพในหมู่ปวงชนเครือจักรภพอังกฤษ โดยพสกนิกรจำนวนมากต่างไม่เคยรู้จักโลกที่ปราศจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ในสายตาประชาชนจำนวนมาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจที่ร้อยเรียงให้สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งเดียว โดยแม้กระทั่งพรรคชาติสกอตแลนด์ (Scottish National Party) ก็ยอมรับว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงต้องเป็นประมุขของสกอตแลนด์ต่อไป แม้ประกาศเอกราชก็ตาม ดังนั้น ภารกิจสำคัญของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 คือการธำรงไว้ซึ่งเอกภาพดังกล่าว

ตลอดระยะเวลาครองราชย์ 70 ปี อังกฤษคุ้นชินกับการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นตัวแทนของประเทศทั้งในยามสุขและยามเศร้า บัดนี้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จึงทรงเผชิญความท้าทายอันใหญ่หลวงในการเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณแห่งชาติ

นอกจากนี้แล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ยังทรงเผชิญความท้าทายอีกหลายประการในการเริ่มต้นรัชกาลใหม่ ท่ามกลางสงครามรัสเซียและยูเครน เงินเฟ้อพุ่งสูง วิกฤตขาดแคลนพลังงาน การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของนางลิซ ทรัสส์ และกระแสสาธารณรัฐนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังต้องรับมือกับประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าชายแอนดรูว์ ผู้เป็นพระอนุชา และข้อครหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติของราชวงศ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ