การเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีซึ่งจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (25 ก.ย.) ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และหากไม่มีอะไรผิดพลาด นางจอร์เจีย เมโลนี ผู้นำพรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลี ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด จะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอิตาลี และจะเป็นผู้นำของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่สุดในอิตาลีนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
*จากพรรคเล็กที่ได้คะแนนเสียงเพียง 4% สู่ว่าที่ผู้นำหญิงคนแรกของอิตาลี นางจอร์เจีย เมโลนี เกิดที่กรุงโรม โดยบิดามีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายและมารดามีแนวคิดทางการเมืองฝ่ายขวา เมื่ออายุได้ 15 ปี เมโลนีได้เข้าร่วมกับกลุ่มยูธฟรอนท์ (Youth Front) ซึ่งเป็นเยาวชนของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมของอิตาลี (MSI) ที่สนับสนุนแนวคิดนีโอฟาสซิสต์ ก่อนที่เธอจะได้ขึ้นเป็นประธานกลุ่มนักศึกษาของกลุ่มพันธมิตรแห่งชาติ (National Alliance)
เมื่อปี 2551 ขณะอายุ 31 ปี นางเมโลนีได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของอิตาลี โดยรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกิจการเยาวชนและกีฬาในสมัยของนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ก่อนที่นางเมโลนีจะออกมาตั้งพรรคของตนเองในปี 2555 แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งมากนัก โดยได้รับคะแนนเสียงเพียง 4% ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งหนนี้ พรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลีของนางเมโลนีกลับคว้าชัยในการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียงไปประมาณ 26% มากกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างนายเอ็นริโก เลตต้าจากพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ขณะเดียวกัน พรรคพันธมิตรของนางเมโลนีอย่างพรรคลีกของนายมัตเตโอ ซัลวินี และพรรคฟอร์ซา อิตาเลียของนายแบร์ลุสโคนีต่างคว้าคะแนนเสียงไปได้ประมาณ 9% ทำให้หากไม่มีอะไรผิดพลาด นางเมโลนีจะได้ขึ้นเป็นผู้นำอิตาลีคนใหม่เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการที่พันธมิตรฝ่ายขวาจัดของนางเมโลนีจะได้สิทธิ์ควบคุมทั้ง 2 สภา
*จุดยืนของนางเมโลนีในฐานะผู้นำประเทศ
- จุดยืนต่อผู้อพยพ
นางเมโลนีมีจุดยืนต่อต้านนโยบายผู้อพยพของอิตาลีมาโดยตลอด และหากได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลีแล้ว นางเมโลนีก็สามารถแก้ไขนโยบายด้านผู้อพยพได้อย่างที่ต้องการ
นางเมโลนีกับพรรคพันธมิตรของเธอได้กล่าวไว้ว่า ต้องการห้ามไม่ให้เรือผู้อพยพเทียบท่าที่อิตาลีด้วยเหตุผลด้านการ "หยุดการค้ามนุษย์" จากแอฟริกา ซึ่งจะคล้ายคลึงกับมาตรการในปี 2561-2562 ของนายซัลวินีซึ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในตอนนั้น และให้คำมั่นว่าจะหยุด "การรุกราน"
ในครั้งนั้น นายซัลวินีสั่งปิดท่าเรือเพื่อสกัดกั้นเรือของกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่พยายามช่วยเหลือผู้อพยพ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้เรือของผู้อพยพไม่สามารถเข้าเทียบท่าในอิตาลีได้ และต้องลอยลำอยู่ในทะเลนานหลายสัปดาห์ ในขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไร
มาตรการดังกล่าวทำให้นายซัลวินีถูกฟ้อง 4 คดี โดยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด 2 คดี ขณะที่รัฐสภาอิตาลีใช้อำนาจเพื่อไม่ให้มีการพิจารณา1 คดี และอีก 1 คดีอยู่ระหว่างการตัดสินซึ่งหากพบว่านายซัลวินีมีความผิดจริงในข้อหาลักพาตัวและใช้ตำแหน่งในทางที่ผิด ก็อาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี อย่างไรก็ตาม การปิดท่าเรือไม่รับผู้อพยพไม่ใช่เรื่องง่ายนัก นอกเหนือไปจากปัญหาด้านกฎหมายแล้ว หากมีการปิดรับผู้อพยพและผลักดันไปยังที่อื่น ก็แสดงว่าจะต้องมีประเทศอื่นที่ต้องแบกรับผู้อพยพกลุ่มนั้น และจะเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งใน EU เอง
นอกจากนี้ นางเมโลนียังเสนอให้ทำการ "ปิดทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน" ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจาก EU และกลุ่มประเทศในแอฟริกาเหนือ
นางเมโลนีกล่าวว่า "เราต้องควบคุมการอพยพ เพราะประเทศจะเป็นประเทศได้ก็ต่อเมื่อมีพรมแดน และพรมแดนนั้นได้รับการปกป้อง อิตาลีเปิดช่องทางการอพยพอย่างถูกกฎหมายบางส่วนแทนที่จะปล่อยให้ผู้อพยพถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ลักลอบพาคนข้ามแดนและนักค้าทาส การปล่อยให้คนหลายแสนคนลักลอบเข้าประเทศและบังคับให้พวกเขาอยู่ด้วยการค้ายาหรือขายบริการทางเพศในสังคมของเรานั้น ไม่ใช่ความเป็นหนึ่งเดียว"
ขณะเดียวกัน นางเมโลนียังเสนอให้ EU ร่วมมือกันจัดตั้งค่ายลี้ภัยนอก EU ซึ่งจะเป็นที่พักพิงและให้การดูแลผู้อพยพ และผู้ที่ได้รับอนุญาตก็จะได้ไปยังประเทศที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีอุปสรรคมากมาย เช่น มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยินยอมให้จัดตั้งศูนย์ดังกล่าว และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิต่าง ๆ
- จุดยืนต่อกลุ่ม LGBTQ+
ในอีกด้านหนึ่ง นางเมโลนีเคยออกมาแสดงการต่อต้านกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นางเมโลนีได้กล่าวสุนทรพจน์ในขณะช่วยพรรคฝ่ายขวาจัดของสเปนหาเสียงว่า "ฉันสนับสนุนครอบครัวตามธรรมชาติ แต่ปฏิเสธการล็อบบี้ของกลุ่ม LGBTQ+ ฉันสนับสนุนอัตลักษณ์ทางเพศแต่ไม่ใช่กับอุดมการณ์ทางเพศ"
ขณะเดียวกัน พรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลีและพรรคลีกเคยต่อต้านร่างกฎหมายที่กำหนดให้การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTQ+ และกลุ่มผู้ทุพพลภาพ ตลอดจนกลุ่มเกลียดชังผู้หญิงนั้น เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวล่มลงในปี 2564 หลังการต่อต้านจากกลุ่มขวาจัด และการแทรกแซงอย่างไม่เคยมีมาก่อนจากนครรัฐวาติกัน
นอกจากนี้ นางเมโลนีได้ยื่นแก้ไขกฎหมายให้ขยายการห้ามอุ้มบุญในประเทศสำหรับชาวอิตาลีที่ต้องการใช้วิธีดังกล่าว โดยร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติ รวมถึงเธอยังเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าววอชิงตันโพสต์ว่า เธอคิดว่าการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมโดยคู่รักต่างเพศเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กผู้โชคร้าย
ขณะเดียวกัน พรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลียังไม่สนับสนุนกฎหมายรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกันอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โฆษกของพรรคบราเธอร์ส ออฟ อิตาลีได้ออกมายืนยันว่า ทางพรรคสนับสนุนการมีคู่ครองเพศเดียวกัน และต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ
*ความกังวลของ EU การคว้าชัยในการเลือกตั้งของนางเมโลนีครั้งนี้สร้างความกังวลให้กับ EU อย่างมาก ด้วยจุดยืนของนางเมโลนีที่เป็นฝ่ายขวาจัดและมีแนวคิดต่อต้าน EU รวมถึงมักพูดอยู่บ่อยครั้งว่า อิตาลีถูกประเทศที่ร่ำรวยกว่าใน EU กดขี่ และแม้นางเมโลนีจะไม่เคยแสดงความต้องการแยกตัวออกมาอย่างชัดเจน แต่ EU ก็กังวลว่า นางเมโลนีจะนำอิตาลีซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของ EU ร่วมกับฮังการี โปแลนด์ และอาจรวมถึงสวีเดนที่พรรคฝ่ายขวาเริ่มขึ้นมามีอำนาจ ทำการก่อตั้งกลุ่มขวาจัดใน EU นอกจากนี้ การที่พรรคพันธมิตรของนางเมโลนีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียก็สร้างความกังวลให้กับ EU ด้วยเช่นกัน โดยนายแบร์ลุสโคนีเคยออกมากล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียถูกบีบบังคับให้ต้องรุกรานยูเครน ขณะที่นายซัลวินีออกมาตั้งคำถามถึงการที่ชาติตะวันตกทำการคว่ำบาตรรัสเซีย ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์เลย์ลา ซิโมนา ทาลานิ จากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลของนางเมโลนีจะเผชิญปัญหาใหญ่ในด้านการหาเงินมาบริหารประเทศ โดยระบุว่านางเมโลนีไม่มีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ และหากปรับลดภาษี อิตาลีก็จะมีรายได้น้อยลง และอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับตลาดการเงินและยุโรปได้