สวัสดีปีกระต่าย...คำทักทายที่ผู้คนส่งถึงญาติสนิทมิตรสหายผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งบนโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชันไลน์ และบนการ์ดสวยงามที่มีภาพกระต่ายขนสีขาวปุกปุย หรือกระต่ายน้อยสีทองคล้องคอด้วยสร้อยเพชรเม็ดโต เพื่ออวยพรให้ผู้รับมั่งมีศรีสุข ให้ก้าวผ่านปี 2566 ไปด้วยความราบรื่น ร่ำรวย และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นอาจเป็นเพราะว่ากว่าทุกคนจะก้าวผ่านพ้นปีเสือดุ 2565 มาได้ ก็แสนลำบากยากเย็น ภาคประชาชนต่างก็ดิ้นรนต่อสู้กับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นแซงหน้าเงินเฟ้อ ภาคธุรกิจต้องลงทุนอย่างระมัดระวังท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน และภาครัฐต้องบริหารประเทศอย่างรอบคอบรัดกุม เพื่อคุมงบประมาณไม่ให้โป่งพอง
แต่ไม่มีใครหรืออะไรจะรับประกันได้ว่าปี 2566 จะเป็นปีกระต่ายที่สดใส ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้แต่เนิ่น ๆ แล้วว่า ปีนี้อาจกลายเป็นปีกระต่ายทมิฬ เนื่องจากวิกฤตการณ์เรื้อรังที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาเงินเฟ้อ และผลกระทบของภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
สถิติที่ผ่านมาบอกเราว่า วิกฤตการณ์ใหญ่ ๆ มักจะเกิดขึ้นประมาณ 10 ปีต่อครั้ง ยกตัวอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งเกิดในปี 2540 ตามด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2550 และจากนั้นได้เกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 2562 ซึ่งบ่งชี้ว่าวิกฤตแต่ละครั้งเกิดขึ้นห่างกันประมาณ 10 ปี ทำให้มีการอนุมานว่า กว่าจะเกิดวิกฤตใหญ่ครั้งถัดไปก็น่าจะต้องรอเกือบ 10 ปี
แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า วิกฤตครั้งใหม่ได้อุบัติขึ้นแล้ว และอาจจะเป็น Perfect Strom หรือพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงและไม่อาจคาดเดาได้ เนื่องจากตัวแปรของการเกิดวิกฤตรอบนี้แตกต่างไปจากวิกฤตครั้งก่อน ๆ โดยในอดีตนั้น ต้นตอของปัญหามักจะเกิดจากวิกฤตค่าเงิน หนี้สาธารณะ หรือวิกฤตในภาคธนาคาร แต่ตัวแปรของวิกฤตรอบใหม่นี้ครอบคลุมถึงโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่เนื่องจากจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด, สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ, ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์, การชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญของเศรษฐกิจจีน, วิกฤตเงินเฟ้อที่นำไปสู่การเกิดปรากฏการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก และสงครามการแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกระหว่างสหรัฐและจีน ... วิกฤตการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน และเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมถึงการพังทลายของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
- IMF เตือนหนีเสือปะกระต่ายทมิฬ! วิกฤตปีขาลว่าหนักแล้ว ปีเถาะหนักกว่า
เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดศักราชปีใหม่ด้วยคำเตือนอันน่าสะพรึงว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเศรษฐกิจโลกราว 1 ใน 3 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
นางจอร์เจียวาให้สัมภาษณ์ในรายการ "Face the Nation" ทางสถานีโทรทัศน์ CBS ว่า "ปี 2566 จะเป็นปีที่ยากลำบากมากกว่าปี 2565 เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนชะลอตัวลงพร้อมกัน โดยในปี 2564 เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ส่วนในปี 2566 เราคาดว่ายอดการติดเชื้อโควิด-19 ในจีนจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และฉุดรั้งเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก"
คำเตือนวันปีใหม่ของหัวเรือใหญ่ IMF ฉุดราคาสินทรัพย์เสี่ยงร่วงลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงไปกว่า 4% ในวันอังคาร (3 ม.ค.) และยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก อีกทั้งกลายเป็นเมฆหมอกที่ปกคลุมตลาดหุ้นเอเชียที่อึมครึมในช่วงเช้าวันนี้ด้วย
นางจอร์เจียวายังกล่าวด้วยว่า แม้สหรัฐมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เนื่องจากตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง แต่สหรัฐยังคงมีความเสี่ยงจากผลกระทบของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมาย 2%
ก่อนหน้าคำเตือนของนางจอร์เจียวาไม่กี่เดือน IMF ได้เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จากเดิมที่ระดับ 2.9% สู่ระดับ 2.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544
"ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะรู้สึกได้ถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 โดยปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกได้แก่ ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน, วิกฤตค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน" IMF เตือน
- จับตาผลกระทบจีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด หวั่นทำเงินเฟ้อพุ่ง-โควิดลามทั่วโลก
หลายฝ่ายมองว่า การที่จีนเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออกในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศตนเองยังย่ำแย่อยู่นั้น อาจเป็นข่าวดีในข่าวร้าย โดยข่าวดีคือเศรษฐกิจทั่วโลกอาจได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศครั้งนี้ แต่ข่าวร้ายอาจสร้างความเสียหายรุนแรงกว่า นั่นคือ โรคโควิด-19 อาจแพร่กระจายไปทั่วโลกและเกิดการกลายพันธุ์จนยากที่จะควบคุม นอกจากนี้ การเปิดประเทศของจีนยังทำให้เกิดความกังวลว่าวิกฤตเงินเฟ้อที่รุนแรงอยู่แล้วนั้น จะย่ำแย่ลงไปอีกและกัดกร่อนเศรษฐกิจโลกในระดับที่ลึกขึ้น
"ถ้าการเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยบวกสำหรับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เรื่องนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับเงินเฟ้อของโลกเช่นกัน เนื่องจากอุปสงค์ของจีนจะกระตุ้นเงินเฟ้อผ่านทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น และธนาคารกลางทั่วโลกก็จะรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" นายไอเปค ออซคาร์เดสคายา นักวิเคราะห์อาวุโสของ Swissquote Bank กล่าว
ขณะที่นายแดน เยอร์กิน รองประธานบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะพุ่งแตะระดับ 121 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อจีนเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันถือเป็นตัวเร่งชั้นดีที่จะก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ
การที่จีนเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออกยังทำให้เกิดความกังวลว่า โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนยังคงย่ำแย่ นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกยังกังวลว่า จีนแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงพอ ทำให้ประชาคมโลกไม่อาจรับรู้ได้ถึงขนาดและความรุนแรงของการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในจีนในปัจจุบันได้
ความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, อินเดีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ประกาศข้อกำหนดให้ผู้โดยสารจากจีน, ฮ่องกง และมาเก๊า จะต้องแสดงผลตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR เป็นลบ โดยต่างก็มองว่าตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการจากจีนกลายเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เนื่องจากมีการตรวจเชื้อลดลงทั่วประเทศ หลังจากรัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์เมื่อไม่นานมานี้
แอร์ฟินิตี้ (Airfinity) ซึ่งเป็นบริษัทรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพของอังกฤษ คาดการณ์ว่า ชาวจีนอาจเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงถึง 9,000 รายต่อวัน และตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมนับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.อาจสูงถึง 100,000 ราย นอกจากนี้ แอร์ฟินิตี้คาดว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในจีนมีจำนวน 18.6 ล้านราย
- นักวิเคราะห์เตือน 5 ปัจจัยเสี่ยงจ่อทุบเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นทั่วโลกปี 2566
สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้รวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ส่งสัญญาณเตือน 5 ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2566 ดังนี้
1. วิกฤตเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ
แมทธิว แมคเลนแนน นักวิเคราะห์จากบริษัทเฟิร์ส อีเกิล อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์กล่าวว่า "นักลงทุนในตลาดพันธบัตรกำลังคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่นั่นอาจเป็นมุมมองที่ผิด เพราะความเสี่ยงที่แท้จริงคือค่าจ้างที่พุ่งสูงขึ้นและแรงกดดันในฝั่งอุปทาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งให้ต้นทุนพลังงานพุ่งสูงขึ้นและทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นด้วย"
"สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในช่วงกลางปี 2566 และผลที่ตามมาคือตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรจะร่วงลง, ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และตลาดเกิดใหม่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น จากนั้นจะเกิดความวิตกกังวลตามมาว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" แมคเลนแนนกล่าว
2. ตลาดหุ้นจีนทรุดตัว
ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นราว 35% จากระดับต่ำสุดในเดือนต.ค. 2565 เนื่องจากความหวังที่ว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากใช้มาตรการล็อกดาวน์มาเป็นเวลานาน
แต่ขณะนี้ความหวังดังกล่าวได้ถูกบดบังด้วยความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักในจีนอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของจีนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่อันตราย และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทรุดตัวลง
"กราฟที่แสดงตัวเลขการติดเชื้อในจีนจะพุ่งขึ้นอีก และจะพุ่งถึงจุดสูงสุดใน 1 หรือ 2 เดือนหลังเทศกาลตรุษจีน เราคาดว่าจีนจะประสบความสำเร็จในการเปิดประเทศ แต่ผลที่ตามมาคือการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19" มาร์เซลลา โชว์ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เชสกล่าว
3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน
จอห์น เวล นักวิเคราะห์จากบริษัทนิกโก แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า "หากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเลวร้ายลง และหากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ยื่นมือเข้ามาเป็นปรปักษ์โดยตรงกับรัสเซียและใช้มาตรการคว่ำบาตรในระดับที่รุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบในด้านลบตามมาอย่างแน่นอน"
"นอกจากนี้ หากมีการคว่ำบาตรบรรดาชาติพันธมิตรของรัสเซียโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียและจีน ผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยจะทำให้เกิดภาวะชะงักงันของอุปทานสินค้าทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอาหาร พลังงาน และสินค้าอื่น ๆ เช่นปุ๋ย โลหะ และเคมีภัณฑ์"
"สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือหากรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงคราม ซึ่งแม้ว่ายังไม่มีสัญญาณในเรื่องนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ และวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของยูเครน" เวลกล่าว
4. ตลาดเกิดใหม่ชะลอตัว
เชน โอลิเวอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเอเอ็มพี เซอร์วิสเซสกล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะชะลอการแข็งค่าในปี 2566 และต้นทุนพลังงานจะปรับตัวลง ซึ่งสองปัจจัยนี้จะช่วยบรรเทาแรงกดดันในตลาดเกิดใหม่ แต่หากทั่วโลกประสบความล้มเหลวในการควบคุมเงินเฟ้อก็จะส่งผลให้ปัจจัยบวกทั้งสองนี้เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นอีกครั้ง "เราคงไม่สามารถก้าวผ่านปี 2566 ไปได้อย่างสวยงามหากตลาดเกิดใหม่ย่ำแย่ เรามองว่ายังคงมีความเป็นไปได้สูงที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากหลายประเทศในกลุ่มนี้มีหนี้สินในรูปสกุลเงินดอลลาร์"
"ผลกระทบจากวิกฤตการณ์นี้จะสร้างความเสียหายอย่างฉับพลันให้กับรัฐบาลในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากต้องแบกรับภาระหนี้สินในรูปดอลลาร์มากขึ้น" โอลิเวอร์กล่าว
5. โควิดระบาดไม่จบ
มาร์เซลลา โชว์ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน เชสกล่าวว่า หากโรคโควิด-19 มีการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นหรือมีการกลายพันธุ์ของไวรัสมากขึ้น หรือแม้สายพันธุ์ปัจจุบันที่ยังคงระบาดต่อเนื่อง ก็จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับห่วงโซ่อุปทาน และสิ่งที่จะตามมาคือการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง
"เราเชื่อว่า เศรษฐกิจมหภาคในประเทศขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้า ขณะนี้นักลงทุนต่างก็มีมุมมองเป็นลบต่อแนวโน้มตลาด โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย" นายโชว์กล่าว
... แม้กระแสคาดการณ์ส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางด้านลบ แต่นี่ก็เพิ่งจะย่างเข้าสัปดาห์แรกของปีใหม่ และสถานการณ์ก็สามารถพลิกผันได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราควรทำคือการใช้ความรอบคอบระมัดระวัง เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง!