สองปีมาแล้วที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี แต่สถานการณ์ภายในประเทศนอกจากไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ซ้ำยังลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง
กองทัพเมียนมาได้ออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่ฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมาก
*ยึดมั่นอุดมการณ์ ไม่เสียดายแม้วายชีวาตม์
กลุ่มผู้คนที่ลุกฮือต่อต้านกองทัพมองในแง่ดีว่า การที่รัฐบาลทหารใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศกำราบฝ่ายตรงข้ามนั้นถือเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ ไม่ใช่ความแข็งแกร่ง
การต่อสู้ระหว่างภาคประชาชนและกองทัพยืดเยื้อเหมือนแผลเรื้อรังยากรักษา โดยตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ประชาชนจำนวนมากต่างพร้อมใจกันออกมาเดินขบวนประท้วงด้วยวิธีสันติอหิงสาตามท้องถนนสายต่าง ๆ
ในเวลานั้นผู้ประท้วงต่างร้องรำทำเพลง แต่งตัวหลากสีสัน ทั้งยังถือป้ายข้อความขำขัน แม้ฉากหน้าเต็มไปด้วยบรรยากาศอันรื่นเริง ทว่าความจริงแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ต่างตระหนักดีถึงผลที่จะตามมาในภายหลังเมื่อต้องต่อกรกับกองทัพที่มีประวัติใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้าน
ผู้ประท้วงรายหนึ่งเปิดอกกับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า พวกเขาพร้อมสละชีพแนวร่วม 100 หรือแม้กระทั่ง 1,000 คน เพื่อที่จะได้เห็นกองทัพพ่ายแพ้
*หยิบอาวุธสู้จุดชนวนสงครามกลางเมือง
เมื่อไร้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประชาชนบางส่วนจึงตัดสินใจใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน แม้นั่นจะหมายความว่า พวกเขาต้องหยิบอาวุธขึ้นสู้และเข้าร่วมกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่พยายามเฉือนเมียนมาออกเป็นส่วน ๆ มาโดยตลอด
การที่ผู้ประท้วงผนึกกำลังกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กดดันให้สถานการณ์บานปลายไปสู่สงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ โดยกองทัพระดมสรรพกำลังทางอากาศและอาวุธหนักเข้าประหัตประหารห้ำหั่นฝ่ายต่อต้านหวังต้อนให้อีกฝ่ายปราชัยโดยเร็ว
*สงครามไม่มีฝ่ายชนะ
ประมาณการกันว่า สมรภูมิรบที่มีกองทัพเมียนมาเป็นฝ่ายได้เปรียบนี้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20,000 รายในปี 2565 ทั้งพลเรือนและกลุ่มติดอาวุธ โดยตัวเลขการสูญเสียนี้เป็นรองเพียงแค่ยอดผู้เสียชีวิตในสงครามยูเครนเท่านั้น แต่ฝ่ายต่อต้านยังคงมีความหวังที่จะโค่นอำนาจกองทัพเมียนมา
"สหายของเราสิ้นชีพในสมรภูมิรบหลายคน แต่ตอนนี้การยอมแพ้ไม่ใช่ทางเลือก" นายอัลเบิร์ต ผู้บังคับกองพันกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) กล่าว
"หากเรารุกไล่ได้เช่นนี้ต่อไป สถานการณ์ในปีนี้จะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน"
นายทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดในโอกาสครบรอบสองปีการก่อรัฐประหาร โดยระบุว่า เกิดเหตุโจมตีและปะทะกันระหว่างฝ่ายกองทัพและฝ่ายต่อต้านประมาณ 10,000 ครั้งนับตั้งแต่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ และเกิดเหตุรุนแรงในชุมชนขนาดเล็กอย่างน้อย 78% ระหว่างเดือนก.ค. ? ธ.ค. 2565
*สองฝ่ายคุมเชิงรอวันกำชัย
แม้สภาพการณ์ในปัจจุบันบ่งชี้ว่ากองทัพยังไม่มีวี่แววที่จะกระชับอำนาจได้ดังใจหวังในอนาคตอันใกล้ แต่ก็ไม่ส่อเค้าที่จะพังทลายลงเร็ว ๆ นี้เช่นเดียวกัน
"ตอนนี้เกิดดุลยภาพใหม่ขึ้น ดังนั้น การที่จะหลุดพ้นจากสถานการณ์คุมเชิงเช่นปัจจุบันได้นั้นต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขยับขึ้นมาเป็นต่ออย่างชัดแจ้ง" นายมิน ซอ อู ผู้อำนวยการบริหารสถาบันสันติภาพและความมั่นคงเมียนมากล่าว
"สภาพการณ์ในขณะนี้ยังคงเหมือนกับภาพรวมในปี 2565" นายมิน ซอ อูกล่าว พร้อมเสริมว่า กองทัพประสบความล้มเหลวในการพลิกสถานการณ์กลับสู่ช่วงก่อนเกิดการรัฐประหาร ขณะเดียวกันฝ่ายต่อต้านก็ไม่สามารถรุกคืบเข้าสู่จุดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
กองกำลังต่อต้านรัฐประหารพยายามเข้าควบคุมศูนย์กลางเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองโมเบ (Moebye)ในรัฐฉาน รวมถึงเมืองกอการเอะ (Kawkareik) และเมืองโจนโด (Kyondoe) ในรัฐกะเหรี่ยง ทว่าแม้ประสบความสำเร็จในการขับไล่ทหารเมียนมาออกไปบ่อยครั้ง แต่ไม่อาจรักษาชัยภูมิเอาไว้ได้ เนื่องจากกองทัพเปลี่ยนยุทธวิธีมาใช้ปืนใหญ่ควบคุมระยะไกลและการโจมตีทางอากาศ
"ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อการรบ เราต้องการเข้าควบคุมเมืองและพื้นที่เขตเมือง แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีอาวุธป้องกันการโจมตีทางอากาศ แม้ว่าเราหักเมืองเอาไว้ได้ แต่สุดท้ายก็ยากที่จะรักษา" นายทอ นี โฆษกสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กล่าว โดย KNU เป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์เก่าแก่และมีอำนาจมากที่สุดในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันจับมือเป็นพันธมิตรกับกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านที่ฝักใฝ่ระบอบประชาธิปไตย
นายมิน ซออูชี้ว่า ฝ่ายต่อต้านมีอัตราความสำเร็จในการโจมตีเขตป้องกันของกองทัพเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 40% - 45% แต่ฝ่ายต่อต้านไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะทำลายทิ้งแทน เช่นเหตุเผาค่ายทหารในเมืองบอลาเค (Bawlakhe) ในรัฐกะยาเมื่อเร็ว ๆ นี้
"ธรรมชาติการโจมตีของฝ่ายต่อต้านยังคงเป็นไปในลักษณะกองโจร" นายมิน ซอ อูกล่าว
นักวิเคราะห์ด้านความขัดแย้งบางรายแนะนำให้ฝ่ายต่อต้านเดินหน้ากัดกร่อนกองทัพผ่านการโจมตีแบบกองโจรต่อไป แทนที่จะพยายามยึดเอาดินแดนมาไว้ในครอบครอง โดยนายแอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของนิตยสารเจนส์ ดีเฟนซ์ (Jane?s Defence) เตือนในเดือนพ.ย.เกี่ยวกับความพยายามที่จะเปลี่ยนจากยุทธวิธีกองโจรไปสู่การปฏิบัติการกึ่งแบบแผน (semi-conventional operations) ที่เร็วจนเกินไป
*การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ
นายมิน ซอ อูระบุว่า ฝ่ายต่อต้านมีอุปสรรค 4 ประการที่จะต้องข้ามผ่านไปให้ได้ ได้แก่การเข้าถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดียิ่งขึ้น การดึงการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ทรงอิทธิพลให้ได้มากขึ้น และพัฒนาห่วงโซ่บัญชาการ
นอกจากนี้ นายมิน ซอ อูระบุด้วยว่า แรงสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีนและไทยก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกัน
"ฝ่ายต่อต้านจะไม่มีทางพลิกสถานการณ์ได้ หากไม่อาจเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้"
แม้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์สำคัญบางส่วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย เช่น KNU และกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) รวมถึงกองทัพกะเหรี่ยงแดงและองค์กรอิสรภาพคะฉิ่น (KIO) แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่กล้าวางเดิมพัน
ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาได้ออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ใช้วิธีการดังกล่าวก็ต่อเมื่อต้องการสนับสนุนทหารภาคพื้นหรือข่มขวัญประชาชนที่ต้องสงสัยว่าให้การช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธ
ขณะนี้กองทัพเมียนมาระเบิดถล่มเป้าหมายระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่สมรภูมิรบก็ตาม เช่น เหตุถล่มกลุ่ม KIO ในเดือนพ.ย. รวมถึงเหตุโจมตีสำนักงานใหญ่กลุ่ม CNF ในช่วงต้นเดือนม.ค. และฐานที่มั่นกลุ่ม PDF ในช่วงปลายเดือนม.ค.
กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารและนักสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องให้ประชาคมโลกประกาศเขตห้ามบินหรือห้ามจัดหาเชื้อเพลิงทางการบินให้กับเมียนมา โดยการสอบสวนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า กองทัพเมียนมามีการใช้เชื้อเพลิงที่นำเข้าเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์
สงครามยิ่งยืดเยื้อยิ่งสูญเสียเลือดเนื้อมากขึ้น คนที่ลำบากที่สุดไม่พ้นประชาชนตาดำ ๆ แม่น้ำสามสิบปีไหลทางทิศตะวันออก อีกสามสิบปีไหลทางทิศตะวันตก อำนาจแม้หอมหวาน ทว่าไม่ยั่งยืน สุดท้ายแล้วทุกคนล้วนต้องก้าวไปยังจุดจบเดียวกัน