เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับสุดยอดเกมฟอร์มยักษ์แห่งปี Hogwarts Legacy เกมแนวแอคชั่น RPG แบบโอเพนเวิลด์ ที่สร้างโดยจำลองโลกเวทมนตร์ของเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ วรรณกรรมเยาวชนชื่อดังที่ครองหัวใจผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มายาวนานจากปลายปากกาของเจ.เค. โรว์ลิง
Hogwarts Legacy สร้างสถิติมากมายไม่ว่าจะเป็น มีคนเล่นบนสตีม (Steam) พร้อมกันมากที่สุด 879,308 คนในวันอาทิตย์ (12 ก.พ.) มากเป็นอันดับ 3 ในประเภทเกมเล่นคนเดียว (single player) และยังทำสถิติมียอดผู้ชมพร้อมกันแตะ 1.3 ล้านคนทางทวิตช์ (twitch) ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
คะแนนรีวิวจากสื่อเกมต่าง ๆ ออกไปในทางบวกอย่างมาก ขณะที่สื่อเจ้าดังอย่าง metacritic ให้คะแนนตัวเกมบนแพลตฟอร์ม PC ที่ 84 คะแนน PS5 ที่ 85 คะแนน และ Xbox Series X ที่ 90 คะแนน
อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าสถิติต่าง ๆ ข้างต้นนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ "แบน" เกม Hogwarts Legacy เนื่องจากกระแสต่อต้าน เจ.เค. โรว์ลิง รวมทั้งลุกลามไปถึงการแบนและคุกคามผู้ที่ "สตรีม" เกมด้วย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
-- เจ.เค. โรว์ลิงทำอะไรไว้
จุดเริ่มต้นกระแสต่อต้าน เจ.เค. โรว์ลิง เกิดขึ้นหลังผู้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ทวีตข้อความสนับสนุน มายา ฟอร์สเตเตอร์ ซึ่งถูกปฏิเสธการต่อสัญญากับที่ทำงานหลังทวีตข้อความแสดงจุดยืนของตนเองว่า "ผู้ชายไม่สามารถเปลี่ยนเป็นผู้หญิงได้" ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) อย่างมาก
รวมถึงต่อมาเจ.เค. โรว์ลิงได้ทวีตข้อความโดยแนบลิงก์ข่าวที่ใช้คำว่า "บุคคลผู้มีประจำเดือน" (People who menstruate) พร้อมตั้งคำถามว่า "?บุคคลผู้มีประจำเดือน? ฉันแน่ใจว่ามันเคยมีคำที่ใช้เรียกคนกลุ่มนั้น ใครก็ได้ช่วยฉันนึกที ผู้ฉิง? ผู้ญิ๋ง? ปู้หยิง? ความเห็นส่วนตัว: เราควรสร้างโลกหลังโควิดที่เท่าเทียมกว่าเดิมให้กับบุคคลผู้มีประจำเดือน"
ซึ่งทวีตดังกล่าวนำมาซึ่งความไม่พอใจให้กับกลุ่มบุคคลข้ามเพศ รวมถึงมีคนตั้งคำถามว่า ผู้ชายข้ามเพศก็มีประจำเดือนนะ
นอกจากนี้ การแสดงจุดยืนหลายต่อหลายครั้งของเจ.เค. โรว์ลิง ทำให้หลายฝ่ายระบุว่าเธอเป็นพวก TERF (Trans-Exclusionary Radical Feminist) หรือ กลุ่มเฟมินิสต์หัวรุนแรงที่กีดกันบุคคลข้ามเพศ
อย่างไรก็ตาม การแสดงจุดยืนของเจ.เค. โรว์ลิง ไม่ได้นำมาซึ่งกระแสต่อต้านจากคนทั่วไปเท่านั้น แต่แม้กระทั่งนักแสดงจากเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็ออกมาแสดงจุดยืนตรงข้ามเธอด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแดเนียล แรดคลิฟฟ์ ผู้รับบทแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ออกมาแสดงจุดยืนว่า "ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง" เอ็มมา วัตสัน ผู้รับบทเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ที่ทวีตข้อความว่า "บุคคลข้ามเพศคือคนที่พวกเขาบอกว่าเขาเป็น และควรได้ใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการโดยไม่ต้องถูกตั้งคำถามหรือถูกบอกว่าพวกเขาไม่ใช่คนที่พวกเขาเป็น" แม้กระทั่งเอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบท นิวท์ สคามันเดอร์ จากเรื่องสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ รวมถึงเคยรับบทหญิงข้ามเพศในเรื่องเดอะ เดนนิช เกิร์ล จนส่งเขาเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาดารานำชาย ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนว่า "ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง ผู้ชายข้ามเพศคือผู้ชาย และอัตลักษณ์ของกลุ่มนอนไบนารี (non-binary) ก็มีอยู่จริง"
-- เกิดการแบนทุกอย่างที่เกี่ยวกับเจ.เค.
กระแสความไม่พอใจในตัวเจ.เค. โรว์ลิงลุกลามออกไป จนถึงกับที่กีฬาควิดดิช ? ในโลกจริง ซึ่งเป็นการจำลองกีฬาควิดดิชในโลกเวทมนตร์ของเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ออกมาปรับให้เหล่ามักเกิ้ลสามารถขี่ไม้กวาดเล่นบนพื้นได้โดยไม่ต้องบินไปมา ไม่มีการแบ่งเพศในการเล่น และผลักดันกันจริงจังถึงขนาดจัดตั้งสมาคมควิดดิชนานาชาติ (IQA) และเมเจอร์ ลีก ควิดดิช (MLQ) มีการเผยแพร่ไปยัง 40 ประเทศ มีทีมแข่งขันกันร่วม 600 ทีม จนถึงขั้นจัดแข่งชิงแชมป์โลกมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ก็ได้มีการยื่นขอเปลี่ยนชื่อควิดดิช เป็น ควอดบอล ด้วยเหตุผล 2 ข้อ ได้แก่ ต้องการแยกตัวเองออกจากเจ.เค. โรว์ลิง ซึ่งแสดงจุดยืนต่อต้านกลุ่มคนข้ามเพศ และอีกข้อคือต้องการสร้างชื่อกีฬาของตัวเองเพื่อผลักดันกีฬาดังกล่าวให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในงานฉลองครบรอบ 20 ปีแฮร์รี่ พอตเตอร์ คืนสู่เหย้าฮอกวอตส์ ได้มีนักแสดง ผู้กำกับ สมาชิกกองถ่ายกลับมานั่งพูดคุยกันถึงเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเบื้องหลังการถ่ายทำ แต่กลับไม่มีเจ.เค. โรว์ลิง เข้าร่วมด้วย โดยมาเพียงภาพวิดีโอเก่าที่ถ่ายไว้แล้วเท่านั่น โดยในเหตุการณ์ดังกล่าว มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า หรือจะเป็นเพราะความขัดแย้งต่อกลุ่มบุคคลข้ามเพศ ทำให้ทางผู้จัด "ขอ" ให้เจ.เค. โรว์ลิง ไม่ต้องปรากฎตัว อย่างไรก็ตาม ในภายหลังเจ้าตัวได้ออกมาระบุว่า เธอเป็นฝ่าย "เลือก" ที่จะไม่ไปเองแม้จะ "ถูกขอ" ให้ไปปรากฎตัว โดยที่ตัดสินใจเช่นนั้นเป็นเพราะเธอคิดว่ามันเป็นการฉลองครบรอบเกี่ยวกับภาพยนตร์มากกว่า แต่ไม่มีใครบอกเธอว่า "อย่าไป" นอกจากนี้เธอยังยืนยันด้วยว่า ยังมีการติดต่อกับนักแสดงหลายคนอยู่
-- การแบนเกมครั้งล่าสุดที่เริ่มบานปลาย
และเรื่องดราม่าครั้งล่าสุดก็บังเกิด เมื่อเกม Hogwarts Legacy เปิดตัวเมื่อต้นเดือนก.พ. 2566 พร้อมสร้างสถิติและเสียงตอบรับในทางบวก "ต่อตัวเกม" อย่างมาก แต่แน่นอนว่าเมื่อมีความเกี่ยวข้องกับ "เจ.เค. โรว์ลิง" จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดกระแสต่อต้าน แม้ทางผู้สร้างเกมจะออกมายืนยันว่า เจ.เค. โรว์ลิงไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเกม มีเพียง "ทีมของเธอ" เท่านั้นที่เกี่ยวข้อง (และเจ้าตัวจะได้เงินจากตัวเกมในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์) และทางผู้สร้างก็มีการใส่ตัวละครที่เป็นบุคคลข้ามเพศเข้ามาด้วย
แต่นั่นไม่ได้ช่วยลดกระแสการแบนเกมลงได้ ซ้ำร้าย การแบนเกม Hogwarts Legacy ลุกลามขึ้นจนถึงขั้นที่มีการรณรงค์ไม่ให้ซื้อ หรือสตรีมเกมดังกล่าว มีผู้สร้างเว็บ havetheystreamedthatwizardgame.com (ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) เพื่อตรวจสอบว่าสตรีมเมอร์บนแพลตฟอร์มทวิตช์สตรีมเกมดังกล่าวอยู่หรือไม่พร้อมปุ่มให้กดเลิกติดตาม
กระแสต่อต้านไม่เพียงจบแค่การแบนหรือเลิกติดตามเท่านั้น แต่ยังรุนแรงไปถึงขั้นที่รังควาญหรือด่าผู้ที่เล่น หรือแม้แต่ประกาศว่าจะเล่น เช่น Amano Pikamee วีทูบเปอร์ชาวญี่ปุ่นที่ประกาศจะสตรีมเกม Hogwarts Legacy แต่ต้องประกาศยกเลิกไปภายในวันเดียวกันหลังโดนรังควาญอย่างหนัก หรือช่อง Girlfriend Reviews ของแมตต์กับเชลบี้ ที่ถูกคนเข้าไปด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายและรุนแรงขณะกำลังเล่นเกม จนถึงขั้นที่เชลบี้ร้องไห้ออกมากลางสตรีม
ขณะที่ไทย คุณเอก Heartrocker หรือคุณเบย์ Bay Riffer ที่ต่างก็โดนชาวเน็ตเข้าไปถล่มขณะสตรีมเกม Hogwarts Legacy โดยคุณเอกระบุว่าไม่ได้ติดตามแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่รู้มาก่อนว่าใครเป็นคนแต่งเรื่องนี้ เคยดูภาคเดียวเมื่อตอนเด็ก ๆ เพียงแต่เล่นเพราะเห็นตัวอย่างแล้วคิดว่าน่าจะสนุกกับเกมนี้ แต่เพิ่งรู้ว่าเจ.เค. โรว์ลิง เป็นใคร มีจุดยืนอย่างไร แต่ปัจจุบันรับทราบแล้ว และไม่น่าจะไปสนับสนุนเจ.เค. โรว์ลิง ขณะที่เจ้าตัวได้แจ้งให้มีการเก็บหลักฐานต่าง ๆ ที่ด่าตัวเขาอย่างรุนแรงไว้แล้ว และพร้อมเดินหน้าฟ้องกลุ่มดังกล่าว
ขณะที่คุณเบย์ได้ออกมาระบุว่าจะฟ้องคนที่ด่าเสีย ๆ หาย ๆ ก่อนที่ในภายหลังจะระบุว่า ได้พูดคุยกับหนึ่งในคนที่เข้ามาด่า โดยได้ทำการอธิบายและยกเลิกการฟ้องหมิ่นประมาทไปแล้ว รวมถึงขอให้คนอื่นหยุดก่อกวนบุคคลดังกล่าวด้วย
ปัจจุบันความเห็นของคนทั่วไปแตกเป็น 2 ฝั่งอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นฝั่งที่ระบุว่า การเล่นเกมก็คือการเล่นเกม ไม่ได้แปลว่าเป็นการสนับสนุนเจ.เค. โรว์ลิงแต่อย่างใด ถ้าเกมดี สนุก และเราอยากเล่น เราก็ควรจะเล่นได้ ขณะที่อีกฝั่งระบุว่า การซื้อ-เล่น-สตรีม (โปรโมท) เกม ต่างเป็นการสนับสนุนเจ.เค. โรว์ลิง และเรียกร้องให้แบนไปเลยเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างชัดเจน
การที่จุดยืนทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนขนาดนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะหาจุดกึ่งกลางระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย และอาจต้องดูไปยาว ๆ ว่ากระแสการแบนเกมครั้งนี้จะพัฒนาไปถึงขั้นไหน หรือส่งผลกระทบต่อยอดขายของเกมมากเพียงใด