ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตลาดการเงินทั่วโลกตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก โดยตลาดหุ้นดิ่งเหวถ้วนหน้า ขณะที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมันและสินค้าเกษตรร่วงลงตามกัน หลังมีข่าวการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank - SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank - SB)
ข่าวการล้มละลายของ SVB และ SB เกิดขึ้นไม่นานหลังจากธนาคารซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) นำร่องปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 8 มี.ค. จากนั้นในวันที่ 10 มี.ค.รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการ SVB ก่อนที่จะสั่งปิดกิจการ SB ในเวลาต่อมา
การล่มสลายในเวลาที่ไล่เลี่ยกันของ 3 ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินสหรัฐถือเป็นข่าวช็อกตลาด โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารที่ถูกกระหน่ำขายอย่างหนัก เนื่องจาก SVB เป็นธนาคารรายสำคัญที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัปในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ SB เป็นธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และซิลเวอร์เกต แคปิตอล เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญให้กับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีเช่นกัน
แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดสหรัฐและหลายตลาดในเอเชียเริ่มปรับตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มธนาคารในวันนี้ แต่นักวิเคราะห์มองว่าอาจจะเป็นแค่การรีบาวด์ในระยะสั้นหลังจากสหรัฐออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อบรรเทาผลกระทบ แต่รากเหง้าของปัญหาในระบบธนาคารยังไม่สามารถขจัดออกไปในเวลาอันสั้น ดังนั้น เราจึงยังเห็นความผันผวนในตลาด โดยในขณะที่ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นนั้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เช่นน้ำมันยังคงทรุดตัวลงอย่างรุนแรง เนื่องจากภาคธนาคารเป็นภาคส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐ เมื่อภาคธนาคารอ่อนแอลงย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์ในกลุ่มผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
** เปิดไทม์ไลน์ 3 แบงก์ล้มครืนในเวลาเพียง 5 วัน
- ในช่วงเช้าของวันที่ 2 มี.ค. ราคาหุ้นธนาคารซิลเวอร์เกต แคปิตอล ร่วงลงกว่า 30% ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากธนาคารตัดสินใจเลื่อนการยื่นรายงานประจำปี (Form 10-K) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) และทีมผู้บริหารตั้งโต๊ะประชุมฉุกเฉินเพื่อประเมินว่าธนาคารจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี
ซิลเวอร์เกตขาดทุนจำนวนมากถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาส 4/2565 เนื่องจากการล้มละลายของบริษัท FTX ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดคริปโทฯ โดยซิลเวอร์เกตถือเป็น 1 ใน 2 ธนาคารหลักที่ปล่อยกู้ให้กับบรรดาบริษัทคริปโทฯ เช่นเดียวกับ SB ซึ่งทั้งซิลเวอร์เกต และ SB ต่างก็ถูกกระทบจากการล้มละลายของ FTX ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่
วันที่ 3 มี.ค. ซิลเวอร์เกตตัดสินใจระงับเครือข่ายการชำระเงินคริปโท (Silvergate Exchange Network - SEN) หลังจากพิจารณาถึงความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งความไม่แน่ใจเกี่ยวกับความอยู่รอดของบริษัท ... และในที่สุดวันที่ 8 มี.ค. ซิลเวอร์เกต แคปิตอลประกาศยุติการดำเนินงาน พร้อมกับขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ เพื่อชำระหนี้
- วันที่ 9 มี.ค. กลิ่นอายของวิกฤตภาคธนาคารเริ่มโชยมา เมื่อธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) ซึ่งปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและมุ่งเน้นกลุ่มสตาร์ตอัป ประกาศแผนขายหุ้นให้แก่นักลงทุนวงเงิน 2.25 พันล้านดอลลาร์ในการระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง หลังจากประสบภาวะขาดทุนถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์จากการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ถือครองอยู่ ซึ่งมูลค่าพอร์ตของ SVB ลดลงอย่างมากจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ SVB ยังประสบปัญหากระแสเงินสดหมุนเวียนจากการที่ธุรกิจสตาร์ตอัปแห่ถอนเงินฝากจากธนาคาร
ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ทรุดตัวลงกว่า 500 จุดในวันที่ 9 มี.ค. โดยเฉพาะหุ้นธนาคารที่ถูกทุบขายอย่างหนัก และจากนั้นไม่นาน เอสแอนด์พีประกาศหั่นอันดับความน่าเชื่อถือของ SVB ลงสู่ระดับ BBB- จากระดับ BBB โดยระดับ BBB- นั้นสูงกว่าระดับขยะเพียง 1 ขั้นเท่านั้น โดยระบุถึงภาวะถดถอยด้านเงินทุน สภาพคล่อง และความสามารถในการทำกำไรของ SVB
ในวันที่ 10 มี.ค. ตลาดหุ้นในเอเชียผันผวนตลอดทั้งวัน จนกระทั่งในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ราคาหุ้น SVB ทรุดฮวบลงกว่า 60% และฉุดราคาหุ้นธนาคารรายอื่น ๆ ดิ่งยกแผง ขณะที่ราคาบิตคอยน์ร่วงหลุดจากระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ปัญหาสภาพคล่องของ SVB อาจจะกลายเป็นโดมิโนที่ส่งผลกระทบต่อระบบธนาคารเป็นวงกว้าง
จากนั้นในเวลาประมาณ 21.00 น.ของวันที่ 10 มี.ค. สื่อต่างประเทศแทบทุกสำนักกระพือข่าวว่า ธนาคาร SVB อาจจะต้องขายกิจการ หลังจากล้มเหลวในการขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุน .... และในที่สุด ช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 10 มี.ค. รัฐบาลสหรัฐได้สั่งปิดกิจการ SVB พร้อมกับมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เป็นผู้ดูแลเงินฝากของ SVB
- วันที่ 11 มี.ค. รัฐบาลสหรัฐประกาศปิดกิจการซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) เพื่อควบคุมความเสี่ยงในระบบธนาคาร หลังจากราคาหุ้น SB ร่วงลงเกือบ 40% นับตั้งแต่ซิลเวอร์เกต แคปิตอลซึ่งเป็นธนาคารคู่แข่งประกาศปิดกิจการ
** พาวเวล-เยลเลน จับมือกู้วิกฤตภาคธนาคาร ประกาศคุ้มครองเงินฝากประชาชน
วันที่ 12 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด พร้อมด้วยนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนายมาร์ติน กรุนเบิร์ก ประธาน FDIC ออกแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อบรรเทาความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน โดยนางเยลเลนแถลงว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้ที่ธนาคาร SVB และ SB จะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้เต็มจำนวนตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มี.ค.เป็นต้นไป
นายพาวเวลระบุว่า เฟดจะจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" โดยจะเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์, สถาบันรับฝากเงิน, เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ โดยสถาบันการเงินที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินกู้จากโครงการดังกล่าวนั้น จะถูกขอให้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS)
นายพาวเวลเชื่อมั่นว่า มาตรการฉุกเฉินนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับระบบธนาคารในการป้องกันเงินฝาก และสร้างความมั่นใจว่าจะมีการจัดหาเงินสดและสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับให้คำมั่นว่า เฟดพร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องหากพบว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่นางเยลเลนกล่าวเสริมว่า กระทรวงการคลังสหรัฐจะจัดสรรเงินมูลค่าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์จากกองทุน "Exchange Stabilization Fund" เพื่อสนับสนุนกองทุน "Bank Term Funding Program" และยืนยันว่า ชาวอเมริกันผู้เสียภาษีจะไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงการใหม่ที่จัดตั้งขึ้น แต่รัฐบาลจะไม่มีการอุ้มกิจการของ SVB, SB และซิลเวอร์เกตอย่างแน่นอน
ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมา โดยขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าระบบธนาคารของสหรัฐมีความปลอดภัย และเงินฝากของลูกค้าธนาคารที่ถูกสั่งปิดไปนั้น จะได้รับการคุ้มครองเช่นกัน
** วิเคราะห์สาเหตุแบงก์ล้มกระทบระบบการเงิน
ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและหลายครั้งติดต่อกันถือเป็นปฐมบทของปัญหา เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ SVB, SB และซิลเวอร์เกต
ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้แผนการทำ IPO หรือการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของเหล่าสตาร์ตอัปต้องหยุดชะงัก และหันไประดมทุนนอกตลาด (Private Fundraising) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นลูกค้ากลุ่มสตาร์ตอัปของธนาคารเหล่านี้ โดยเฉพาะ SVB จึงเริ่มถอนเงินออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มบริษัทร่วมทุน (Venture Capital), บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน (ฟินเทค) และกลุ่มสตาร์ตอัป ซึ่งธุรกิจในภาคส่วนนี้มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเนื่องจากต้องกู้เงินเพื่อต่อยอดธุรกิจ และเมื่อต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จึงต้องแห่ถอนเงินฝากเพื่อใช้ในธุรกิจ ส่งผลให้ SVB ต้องเพิ่มทุนด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ แต่ราคาพันธบัตรก็ปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด จึงทำให้ SVB จำใจต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว ซึ่งทำให้ขาดทุน และทำให้การเพิ่มทุนไม่เป็นไปตามเป้า และล้มละลายในที่สุด
** เฟดน้อมรับกำกับดูแล SVB ไม่ดีเท่าที่ควร ยืนยันจะทบทวนนโยบาย
คณะผู้ว่าการเฟดออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมฉุกเฉินซึ่งจัดขึ้นในวันจันทร์ (13 มี.ค.) โดยระบุว่า การล้มละลายของ SVB ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่เฟดต้องหันมาทบทวนอย่างถี่ถ้วน, โปร่งใส และเร่งด่วน โดยคณะกรรมการเฟดได้มอบหมายให้นายไมเคิล บาร์ รองประธานเฟดฝ่ายกิจการกำกับดูแล ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการทบทวนเรื่องดังกล่าว และจะมีการแถลงให้สาธารณชนรับทราบผลของการทบทวนในวันที่ 1 พ.ค.
"เราขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเราจะทำการทบทวนอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนว่า ที่ผ่านมาเราได้กำกับดูและวางกฎระเบียบกับ SVB อย่างไร และเราต้องทบทวนว่า เราได้บทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้" นายบาร์กล่าว
ทั้งนี้ เฟดซึ่งเป็นหน่วยงานต้นทางที่กำกับดูแล SVB นั้น จะดำเนินการทบทวนนโยบายต่าง ๆ และจะพิจารณาว่าควรมีนโยบายใดบ้างที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแห่ถอนเงิน หรือ bank run ในอนาคต
ภายใต้นโยบายปัจจุบันนั้น ธนาคารที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์จะต้องได้รับการกำกับดูแลโดยตรงจากเฟด ส่วนในกรณีของ SVB นั้น เฟดสาขาซานฟรานซิสโกเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินยังให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า โดยปกติแล้วธนาคารสหรัฐที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะถูกปล่อยให้ล้ม หรือ too big to fail นั้น จะต้องเข้ารับการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) เป็นประจำทุกปี เพราะหากล้มแล้วจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ SVB ถือเป็นธนาคารขนาดกลาง เนื่องจากมียอดเงินฝาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ และก่อนที่จะล้ม SVB มียอดเงินฝากเพียง 1.75 แสนล้านดอลลาร์
แต่ล่าสุดหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานในวันนี้ว่า เฟดกำลังพิจารณาใช้กฎระเบียบใหม่ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับธนาคารขนาดกลาง หรือธนาคารที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 1-2.5 แสนล้านดอลลาร์ หลังเผชิญบทเรียนครั้งสำคัญจากการล้มละลายของ SVB ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารขนาดกลางเหล่านี้อาจจะต้องถูกทดสอบ Stress Test เช่นเดียวกับธนาคารที่มีขนาดใหญ่
สำหรับการทดสอบ Stress Test ในปี 2566 นั้น เฟดได้เพิ่มบททดสอบที่หินมากขึ้น เพื่อประเมินความแข็งแกร่งด้านการเงินของธนาคารรายใหญ่ โดยจะครอบคลุมถึงการตั้งสมมติฐานในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง โดยจะเน้นถึงภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลาดการค้าและอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย รวมทั้งตลาดตราสารหนี้เอกชน ส่วนธนาคารที่มีธุรกิจด้านการซื้อขายหุ้นในสัดส่วนสูงนั้น จะถูกทดสอบความสามารถในการรับมือในกรณีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนัก โดยเฟดเชื่อว่าการทดสอบเช่นนี้จะสามารถประเมินได้ว่า ธนาคารเหล่านี้จะต้องมีเงินทุนกันชนมากเพียงใดเพื่อรองรับการขาดทุน (Loss-cushioning Capital)