In Focusส่องบทวิเคราะห์สื่อนอกมองเศรษฐกิจ-ตลาดหุ้นไทยหลังการเลือกตั้ง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 24, 2023 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะได้รับความสนใจจากประชาชนชาวไทยอย่างล้นหลาม แต่ยังเป็นที่จับตาจากสื่อมวลชนทั่วโลก รวมถึงสื่อหัวใหญ่อย่างสำนักข่าวรอยเตอร์ บลูมเบิร์ก และซีเอ็นเอ็น ซึ่งเกาะติดการเลือกตั้งของไทยมาตั้งแต่ที่เรายังไม่เปิดคูหา ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทั่วโลกกำลังติดตามดูว่าสถานการณ์การเมืองของเราเป็นเช่นไร และรัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายอะไรบ้างในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลงเช่นนี้

ชาวไทยทุกคนต่างก็ทราบแล้วว่า ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่าพรรคก้าวไกลภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากเป็นอันดับ 1 และล่าสุดนายพิธา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ประกาศจับมือกับพรรคการเมือง 7 พรรคเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ พร้อมทั้งมีการทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อผลักดันวาระสำคัญและนโยบายต่าง ๆ ที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง

การที่สื่อต่างชาติได้เผยแพร่ข่าวการเลือกตั้งของไทยไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสื่อจากฝั่งเอเชียและตะวันตก รวมทั้งภาพนักข่าวต่างชาติที่ตั้งคำถามกับนายพิธาในระหว่างการแถลงข่าว และการต่อสายตรงถึงว่าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อไลฟ์สดการสัมภาษณ์นั้น สะท้อนให้เห็นว่าสื่อต่างชาติให้ความสนใจการเมืองของไทยเรามากเพียงใด

ทันทีที่ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 15 พ.ค. สื่อต่างประเทศรายงานปฏิกิริยาของตลาดการเงิน รวมทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดหุ้นและภาพรวมเศรษฐกิจของไทย โดยสื่อบางรายเจาะลึกละเอียดถึงขนาดว่าจะมีหุ้นกลุ่มใดบ้างที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากผลการเลือกตั้ง รวมทั้งรายงานค่าเงินบาทและแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยว่าจะไปต่อได้หรือไม่ ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ ... และ In Focus สัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปส่องบทความของสื่อต่างประเทศว่า พวกเขาพูดถึงสถานการณ์ในบ้านเราอย่างไร

** กลุ่มธุรกิจไทยวิตกนโยบายหาเสียงเลือกตั้งทำต้นทุนพุ่ง

ในช่วงหลายวันก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ต่อสู้กันในสนามของการหาเสียงเพื่อพิชิตใจประชาชนชาวไทย สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ปูพรมรายงานบทวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองเหล่านี้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ไทยเสี่ยงเผชิญกับภาวะธุรกิจย้ายฐานออกจากประเทศ หากนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ โดยพรรคการเมืองไทยหลายพรรคใช้นโยบายประชานิยมเพื่อขอคะแนนจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เช่น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน, การรับประกันเงินเดือนขั้นต้นสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี, การพักชำระหนี้สำหรับเกษตร และการลดค่าไฟฟ้า

ไทยเคยเป็นหนึ่งในแหล่งการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปัจจุบันกลับพ่ายแพ้ให้แก่เวียดนามและอินโดนีเซียในการดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มบริษัทที่กำลังย้ายฐานออกจากจีน ซึ่งสาเหตุหลักก็เป็นเพราะค่าจ้างแพงและเผชิญกับภาวะแรงงานสูงอายุ

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กระบุว่า กลุ่มธุรกิจในไทยต่างวิตกกังวลว่า นโยบายประชานิยมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบแง่ลบในระยะยาว โดยเฉพาะในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากผลกระทบของโรคโควิด-19 ระบาด โดยเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบ หากนโยบายประชานิยมถูกนำมาใช้จริง

นอกจากนี้ บลูมเบิร์กยังได้นำเสนอความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งมองว่า หากรัฐบาลชุดใหม่ของไทยใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายก็เสี่ยงที่จะเกิดเงินเฟ้ออันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่สูงขึ้น และอาจกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนทางการเงินและทำให้หนี้ภาคครัวเรือนพุ่งทะยานขึ้นจากเดิมที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในเอเชียอยู่แล้ว

** ผู้เชี่ยวชาญคาดดัชนี SET มีแนวโน้มสดใสหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.

สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้สัมภาษณ์บรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจของไทยเกี่ยวกับแนวโน้มของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ภายหลังการเลือกตั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกว่า ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจมหภาคของไทยอาจจะเริ่มดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อพิจารณาจากการที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้นโยบายประชานิยมซึ่งรวมถึงการแจกเงินให้กับประชาชน ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการอื่น ๆ อีกหลายด้านเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งแสดงความเห็นกับบลูมเบิร์กว่า มาตรการกระตุ้นด้านการคลังโดยรัฐบาลชุดใหม่จะช่วยเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการเติบโตของผลประกอบการในภาคเอกชน และราคาหุ้น อย่างไรก็ดี การที่ตลาดหุ้นไทยจะสามารถรักษาแรงบวกต่อไปภายหลังการเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากภาวะอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงเป็นวงกว้างทั่วโลกในขณะนี้กำลังบดบังปัจจัยบวกจากการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนแห่เดินทางมายังประเทศไทย

แต่ในภาพรวมนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทยภายหลังการเลือกตั้ง พร้อมกับแนะนำว่า นักลงทุนควรมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มที่พึ่งพาปัจจัยภายในประเทศ เช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มการค้า และกลุ่มเฮลท์แคร์

** เงินบาทแข็งค่าเทียบดอลล์-ธุรกิจท่องเที่ยวแนวโน้มเฟื่องฟูหลังการเลือกตั้ง

ในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 15 พ.ค. สื่อต่างประเทศแทบทุกสำนักซึ่งรวมถึงรอยเตอร์และบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกล ซึ่งนำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่ 1 และพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนมากเป็นอันดับที่ 2

นอกจากนี้ บลูมเบิร์กยังวิเคราะห์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้ประโยชน์จากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้มี 7 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งได้แก่

1. การท่องเที่ยว

การที่พรรคส่วนใหญ่มองว่าการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยเพิ่มการจ้างงานและรายได้ให้ประเทศได้อย่างรวดเร็วนั้น ทำให้ภาคส่วนนี้ถูกคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจากรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อพิจารณาจากการที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่าจะเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 3 ล้านล้านบาท (ประมาณ 8.8 หมื่นล้านดอลลาร์) ภายในปี 2570 เนื่องจากพรรคเพื่อไทยต้องการวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับภูมิภาค โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มศักยภาพสนามบินให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ 120 ล้านรายในเวลา 4 ปีและส่งเสริมข้อตกลงการเดินทางแบบฟรีวีซ่าระดับทวิภาคี

2. สินค้าอุปโภคบริโภค

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่า ผู้ผลิตสินค้าจำพวกอาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมรับประทาน และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีแนวโน้มที่จะได้แรงหนุนจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง โดยบริษัทที่อาจได้รับประโยชน์ เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.โอสถสภา (OSP), บมจ.เบทาโกร (BTG), บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG), บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG), บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) และ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA)

3. ธุรกิจค้าปลีก

นโยบายแจกเงินเพิ่มให้กับประชาชน ลดค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิงจะทำให้ชาวไทยมีเงินเพียงพอที่จะนำไปซื้อสินค้าได้อย่างคล่องมือ ตั้งแต่แชมพูไปจนถึงอาหารบรรจุกล่องและสมาร์ตโฟน โดยคาดว่าบริษัทที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวได้แก่ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC), บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC), บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO), บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)

4. ธุรกิจซีเมนต์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

การที่พรรคเพื่อไทยให้สัญญาว่าจะเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 3 เท่าในเวลา 4 ปีมีแนวโน้มที่จะทำให้เกษตรกรเกือบ 8 ล้านครัวเรือนนำเงินมาใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านและสร้างบ้านใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บมจ.ดูโฮม (DOHOME), บมจ.อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (ILM) และ บมจ.สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL)

5. กัญชา

อุตสาหกรรมกัญชาอาจเผชิญความไม่แน่นอนในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างก็คัดค้านการใช้กัญชาเสรี โดยต้องการให้มีการจัดกัญชาเป็นสารเสพติดอีกครั้ง และใช้งานในทางการแพทย์เท่านั้น กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของร้านขายยากว่า 4,500 รายและเกษตรกรปลูกกัญชาอีกหลายล้านราย โดยบริษัทที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวได้แก่ บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI), บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), บมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) และ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)

6. ผู้ผลิตไฟฟ้า

พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของไทยให้สัญญาว่าจะลดค่าธรรมเนียมไฟฟ้า เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องค่าไฟแพงในช่วงฤดูร้อน โดยพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างมีนโยบายในด้านนี้ ซึ่งอาจกระทบต่อหุ้นอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH), บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) และ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP)

7. ค้าปลีกน้ำมัน

บทวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือธุรกิจค้าปลีกน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้มมาเป็นเวลานานเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อ แต่รัฐบาลชุดใหม่มีแนวโน้มที่จะลดเงินช่วยเหลือลง และหันไปช่วยเหลือกลุ่มรายได้น้อยแทน ซึ่งอาจกระทบต่อหุ้นในกลุ่มโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมัน เช่น บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR), บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) และ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP)

** คาดท่องเที่ยวช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าระหว่างรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่

แม้ชาวไทยทั่วประเทศจะรู้ผลการเลือกตั้งเบื้องต้นว่าพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีสิทธิ์ที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย แต่คาดว่าวุฒิสมาชิกจำนวน 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย โดยหากวุฒิสมาชิกไม่สนับสนุนนายพิธาให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อาจจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไปอีกหลายเดือน และอาจจะทำให้การนำเสนองบประมาณในปีปัจจุบันซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนต.ค.นี้ต้องล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบลูมเบิร์กนำเสนอการวิเคราะห์ที่น่าสนใจว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยยังคงสดใส แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกหลายล้านคนในปีนี้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บลูมเบิร์กระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากถึง 6.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวน 498,000 คนในไตรมาส 1 ปีที่แล้ว ซึ่งการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยกระตุ้นกิจกรรมทั้งในภาคธุรกิจและภาคผู้บริโภคของไทยเป็นวงกว้าง และในขณะที่ไทยมีโอกาสบรรลุเป้าหมายของรัฐบาลที่จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปีนี้จากระดับ 10 ล้านคนในปี 2565 นั้น นักวิเคราะห์มองว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะผงาดขึ้นเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่การเมืองของไทยยังไม่นิ่ง

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นายคริสตัล ตัน นักวิเคราะห์จาก Australia & New Zealand Banking Group กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า หากสถานการณ์การเมืองของไทยมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ไทยมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวได้มากถึง 40 ล้านคนเหมือนกับในปี 2562 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยก่อนช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด

"หากสถานการณ์ตึงเครียดด้านการเมืองบานปลายจนกลายเป็นการประท้วงบนท้องถนน การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะโดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวจะมีความอ่อนไหวต่อความไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของนักท่องเที่ยวลดลงในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาทางการเมือง" นายตันกล่าว

** บลูมเบิร์กชี้พรรคก้าวไกลใช้โซเชียลถูกทาง คว้าใจคนรุ่นใหม่ สำนักข่าวบลูมเบิร์กมองว่า การที่พรรคก้าวไกลคว้าชัยเลือกตั้งในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะติ๊กต๊อก (TikTok) โดยแม้พรรคการเมืองพรรคใหญ่อื่น ๆ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหาเสียงเช่นกัน แต่พรรคก้าวไกลสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งเป็นการช่วยดึงดูดกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อายุน้อย และกวาดคะแนนนิยมสูงลิ่วในโพลก่อนเลือกตั้ง

บลูมเบิร์กระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้หลีกเลี่ยงการหาเสียงแบบดั้งเดิม เช่น การติดตั้งป้ายหาเสียงริมถนน และการลงพื้นที่เดินสายหาเสียงอย่างใกล้ชิดกับประชาชน แต่พรรคก้าวไกลพึ่งพาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ TikTok ที่ช่วยเปลี่ยนความนิยมในโลกออนไลน์ให้การเป็นการลงคะแนนเสียงจริงได้มีประสิทธิภาพมากกว่าพรรคอื่น ๆ

กรณีดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งระดับภูมิภาค โดยประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย พรรคอิสลามแห่งมาเลเซียซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม ได้ใช้สังคมออนไลน์เพื่อดึงดูดหนุ่มสาวชาวมาเลเซีย จนคว้าที่นั่งได้มากกว่าพรรคอื่น ๆ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ย. 2565

ส่วนที่ฟิลิปปินส์ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ก็ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการพลิกโฉมภาพลักษณ์เผด็จการของผู้เป็นบิดา ให้กลายเป็นภาพลักษณ์ที่ดูดีในสายตาของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่อายุน้อย ซึ่งช่วยให้เขาคว้าชัยชนะได้อย่างถล่มทลายในเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว

** ส่องไทม์ไลน์จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงไทม์ไลน์การเมืองภายหลังการเลือกตั้งว่า หลังจากผ่านการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ไปแล้ว ขั้นตอนในระหว่างนี้คาดว่าจะเป็นดังนี้

-วันที่ 13 ก.ค. กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง (60 วัน) วันสุดท้าย

-วันที่ 20 ก.ค. ส.ส.ที่ผ่านการรับรองจาก กกต.แล้วรายงานตัววันสุดท้าย

-วันที่ 25 ก.ค. เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

-สัปดาห์แรกเดือนส.ค. แต่งตั้งประธานสภาฯ และเลือกนายกรัฐมนตรี

-สัปดาห์ที่ 2 เดือนส.ค. จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนฯ

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามการคาดการณ์ในข้างต้น ก็จะมีผลให้ครม.ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดสถานะในทันทีในกลางเดือนส.ค. 2566 ... และเราชาวไทยทำได้แค่เพียงรอให้ความชัดเจนปรากฏ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ