In Focusจับความเคลื่อนไหวตุรกีหลัง "เออร์โดกัน" คว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 31, 2023 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ตุรกีได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้น โดยเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างนายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำรัฐบาล กับนายเคมัล คิลิกดาโรกลู ผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าคะแนนจะสูสีกัน แต่ไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินกว่า 50% จึงต้องมีการเลือกตั้งรอบสองเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 พ.ค.) ครั้งนี้ผลปรากฏว่า นายเออร์โดกันคว้าชัยชนะด้วยคะแนน 52.14% ขณะที่นายคิลิกดาโรกลูได้ไป 47.86% ส่งผลให้นายเออร์โดกันได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีตุรกีเป็นสมัยที่ 3

*เงินเฟ้อคือวาระสำคัญ

หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของตุรกีแถลงยืนยันว่านายเออร์โดกันคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี สกุลเงินลีราของตุรกีก็อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จนแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในวันจันทร์ (29 พ.ค.) และวันอังคาร (30 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ เพราะนโยบายการเงินของตุรกีมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการแข่งขันด้านการส่งออก มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับการควบคุมเงินเฟ้อ จนเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแตะ 85% เมื่อปีที่แล้ว ก่อให้เกิดวิกฤตค่าครองชีพทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความนิยมในตัวนายเออร์โดกันอย่างมาก

หลังจากคว้าชัยในศึกเลือกตั้ง นายเออร์โดกันได้ประกาศว่า การแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด โดยรัฐบาลจะจัดสรรเวลาและกำลังทั้งหมดเพื่อภารกิจนี้ อย่างไรก็ตาม นายเออร์โดกันปฏิเสธที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อมาโดยตลอด นักวิเคราะห์จึงมองว่านายเออร์โดกันไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายอะไรมากมายนัก และวิกฤตเศรษฐกิจคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วอย่างที่ประชาชนหวังไว้

*ผลักดันผู้ลี้ภัย

ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีมีชายแดนติดกับซีเรีย และปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียหนีภัยสงครามข้ามชายแดนเข้ามาอยู่ในตุรกีประมาณ 3.4 ล้านคน ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียเป็นหนึ่งในประเด็นที่ร้อนแรงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยนายคิลิกดาโรกลู ผู้ท้าชิงจากฝ่ายค้าน ชูนโยบายว่าจะผลักดันผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลับประเทศ "ทั้งหมด" ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างมาก แต่ยังคงพ่ายแพ้ให้กับนายเออร์โดกันที่ให้คำมั่นว่าจะผลักดันผู้ลี้ภัยชาวซีเรียกลับประเทศแบบ "สมัครใจ"

หลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง นายเออร์โดกันยืนยันว่าจนถึงขณะนี้เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ตุรกีจะผลักดันผู้อพยพเกือบ 6 แสนคนกลับไปยังเขตปลอดภัยในดินแดนซีเรียโดยสมัครใจ และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกนับล้านคนภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

*นโยบายอิสลามเข้มข้นขึ้น

"ถึงเวลาแล้วที่จะยุติการถกเถียงและความขัดแย้งทั้งหมดในช่วงการเลือกตั้ง และรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อเป้าหมายและความฝันของชาติ เราไม่ใช่ผู้ชนะเพียงกลุ่มเดียว ผู้ชนะคือทั้งประเทศตุรกี ผู้ชนะคือทุกภาคส่วนของสังคม" นี่คือคำกล่าวอันสวยหรูของนายเออร์โดกันหลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้อาจเป็นความขัดแย้งที่มากกว่าเดิม

นายเออร์โดกันได้รับความนิยมในกลุ่มอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนา ก่อนการเลือกตั้งเขาได้จับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอิสลามหลายกลุ่ม ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงมองว่าเขาอาจถูกกลุ่มเหล่านี้กดดันให้ดำเนินนโยบายอิสลามที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างรอยร้าวระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มที่มีความเชื่อไม่เหมือนกัน ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ โดยผู้นำวัย 69 ปีได้ประณามนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศของพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย นอกจากนั้นยังมีความกังวลว่าหลายกลุ่มอาจถูกลิดรอนสิทธิ์มากขึ้น อย่างเช่นกลุ่มหัวคิดเสรีนิยมและนักวิจารณ์ โดยรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำปี 2565 ระบุว่า รัฐบาลของนายเออร์โดกันทำให้สิทธิมนุษยชนในตุรกีถดถอยมากที่สุดในรอบหลายสิบปี

*ความสัมพันธ์ต่างประเทศ

ชัยชนะของนายเออร์โดกันสร้างความพึงพอใจให้กับรัสเซีย แต่สร้างความกังวลให้กับโลกตะวันตก เนื่องจากภายใต้การบริหารประเทศของนายเออร์โดกัน ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับรัสเซียใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปตึงเครียดกว่าเดิม ถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นสมาชิกนาโต แต่นายเออร์โดกันดำเนินนโยบายทางการทูตแบบ "สร้างสมดุล" นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้น ทั้งยังต่อต้านการคว่ำบาตรรัสเซียโดยบรรดาโลกตะวันตกอีกด้วย นักวิเคราะห์ระบุว่า นายเออร์โดกันไม่ได้อยากแตกหักกับโลกตะวันตก แต่แค่ต้องการดำเนินนโยบายในแบบของตัวเอง ดังนั้น ตุรกีจึงอาจมีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกับโลกตะวันตกต่อไป

ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐอเมริกาย่ำแย่ลงหลังจากนายเออร์โดกันคัดค้านการที่สวีเดนจะเข้าร่วมนาโต เนื่องจากไม่พอใจที่เกิดเหตุการณ์เผาคัมภีร์อัลกุรอานที่กรุงสตอกโฮล์ม อย่างไรก็ดี หลังการเลือกตั้งตุรกีเสร็จสิ้นลง กระทรวงการต่างประเทศสวีเดนได้แถลงเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.) ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของสวีเดนและตุรกีจะพบกันในไม่ช้าเพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามของสวีเดนในการเข้าร่วมนาโต ขณะที่นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต แสดงความหวังว่าสวีเดนจะสามารถเข้าร่วมนาโตก่อนที่สมาชิกนาโตจะจัดการประชุมสุดยอดที่กรุงวิลนิอุส เมืองหลวงของลิทัวเนียในวันที่ 11-12 ก.ค.

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนชาวตุรกีสนับสนุนความพยายามของนายเออร์โดกันในการเสริมสร้างอำนาจอธิปไตยของประเทศ และดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลตุรกีภายใต้การนำของนายเออร์โดกันจะถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องเศรษฐกิจ จนมีประชาชนจำนวนไม่น้อยอยากเปลี่ยนไปลองของใหม่คนใหม่ แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลว่าสหรัฐอเมริกาอาจชักใยอยู่เบื้องหลังฝ่ายค้านเพื่อแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงมั่นใจในคนเก่าคนแก่ที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากกว่า ส่งผลให้นายเออร์โดกันซึ่งปกครองตุรกีมาแล้ว 20 ปี ได้ครองอำนาจต่อไปอีก 5 ปี ถือเป็นผู้นำที่ปกครองตุรกียาวนานที่สุดนับตั้งแต่นายมุสตาฟา เคมัล อะตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีเมื่อ 100 ปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ