หลังจากที่มีการท้าดวลกำปั้นในกรงเหล็กระหว่างนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และนายอีลอน มัสก์ 2 เจ้าพ่อแห่งวงการโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้ ดูเหมือนว่าคนที่ออกหมัดก่อนจะเป็นนายซักเคอร์เบิร์ก เมื่อบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ได้เปิดตัว "เธรดส์ (Threads)" แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่โดยอาศัยจังหวะที่ทวิตเตอร์กำลังเพลี่ยงพล้ำกับปัญหาต่าง ๆ ที่สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้ใช้งานและผลักดันให้พวกเขามองหาแพลตฟอร์มทางเลือกอื่น ๆ
In Focus ในสัปดาห์นี้จึงขอพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องราวของเธรดส์หลังจากที่เปิดตัวมาแล้วหนึ่งสัปดาห์
*การ "ยืมไอเดีย" ครั้งใหม่ของเมตา
เป็นที่รู้กันมาอย่างยาวนานว่า เมตานั้นขึ้นชื่อในเรื่องการ "ยืมไอเดีย" จากคู่แข่ง และหากไอเดียนั้นเป็นไอเดียที่ประสบความสำเร็จ เมตาก็จะตามคู่แข่งทันได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ฟีเจอร์ "สตอรี" (Stories) ซึ่งเป็นโพสต์ที่จะปรากฏเป็นเวลา 24 ชั่วโมงก่อนจะหายไปโดยอัตโนมัตินั้น เป็นไอเดียที่ "ยืม" มาจากสแนปแชท (Snapchat) เมื่อปี 2559 ซึ่งในขณะนี้ มีผู้คนใช้งานสตอรีบนแพลตฟอร์มของเมตาอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมเป็นจำนวนมากกว่าที่ใช้บนสแนปแชทหลายเท่า
แอปพลิเคชันใหม่ล่าสุดอย่าง เธรดส์ นั้น มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายคลึงกับทวิตเตอร์ โดยข้อความที่ผู้ใช้โพสต์นั้นสามารถกดถูกใจ, แสดงความเห็น แชร์ได้ โดยผู้ใช้เธรดส์สามารถติดตามบัญชีต่าง ๆ ที่พวกเขาติดตามอยู่แล้วบนอินสตาแกรมได้ และสามารถใช้ชื่อผู้ใช้งาน (user name) เดียวกันได้ด้วย
*เธรดส์ VS ทวิตเตอร์
แม้ว่าโซเชียลมีเดียทั้งสองแพลตฟอร์มจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ทางเมตาไม่ได้มีแผนจะส่งเสริมด้านการเมืองและข่าวหนัก ๆ บนแพลตฟอร์มแต่อย่างใด นอกจากนี้ ทั้งสองแพลตฟอร์มก็มีจุดที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โดยการใช้เธรดส์จะต้องมีบัญชีอินสตาแกรมเพื่อใช้งานและชื่อบัญชีของเธรดส์นั้นจะถูกบังคับให้เป็นชื่อเดียวกับชื่อบัญชีอินสตาแกรม ในขณะที่ทวิตเตอร์จะไม่ผูกมัดกับแอปพลิเคชันใด ๆ และสามารถเปลี่ยนชื่อบัญชีได้ รวมถึงล็อกอินพร้อมกันได้หลายบัญชีอีกด้วย
นอกจากนี้ ชื่อของการโพสต์และแชร์ของทั้งสองแอปก็มีความแตกต่างกันโดย การโพสต์ของเธรดส์ใช้ชื่อว่า "threads" โดยจำกัดจำนวนตัวอักษรไว้ที่ 500 ตัวอักษร อัปโหลดรูปภาพได้ไม่เกิน10 รูป และวิดีโอความยาวสูงสุด 5 นาที ซึ่งมากกว่าการ "tweet" ที่จำกัดไว้ที่ 280 ตัวอักษร อัปโหลดได้ 4 รูป และวิดีโอความยาวสูงสุด 2 นาที 20 วินาที ส่วนการแชร์ของเธรดส์จะถูกเรียกว่า "repost" ในขณะที่ทวิตเตอร์จะเรียกว่า "retweet"
อย่างไรก็ตาม เธรดส์ยังมีฟังก์ชันไม่หลากหลายเท่าทวิตเตอร์ เนื่องจากยังคงไม่สามารถติดแฮชแท็ก แนะนำเทรนด์ใหม่ ค้นหาโพสต์ ส่งข้อความส่วนตัว หรือลงเนื้อหาผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับที่ทวิตเตอร์ทำได้ นอกจากนี้ เธรดส์ยังใช้งานได้เฉพาะบนมือถือหรือแท็บเล็ตเท่านั้น ซึ่งต่างจากทวิตเตอร์ที่สามารถใช้งานบนคอมพิวเตอร์ได้ด้วย
*แพลตฟอร์มดาวรุ่ง ยอดผู้ใช้งานพุ่งทะลุ 100 ล้านคนหลังเปิดตัวได้ไม่กี่วัน
แม้เธรดส์จะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยนายซักเคอร์เบิร์กได้ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้งานเธรดส์จำนวนมากกว่า 100 ล้านคนภายในเวลาเพียง 5 วันหลังการเปิดตัว และถือเป็นการทุบสถิติการทำยอดสมาชิก 100 ล้านคนเร็วที่สุดของแอปพลิเคชันในโลกโซเชียลมีเดีย แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดใช้งานในสหภาพยุโรป (EU) ก็ตาม
ความเร็วของจำนวนยอดผู้ลงทะเบียนใช้งานที่เพิ่มขึ้นแซงหน้าแม้กระทั่ง แชตจีพีที (ChatGPT) สุดยอดปัญญาประดิษฐ์โดยบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) ที่ใช้เวลา 2 เดือนในการทำยอดสมาชิก 100 ล้านคน ขณะที่ติ๊กต๊อก (TikTok) ใช้เวลา 9 เดือน และอินสตาแกรมใช้เวลา 2 ปีครึ่ง ส่วนทวิตเตอร์ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีครึ่ง
อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ใช้งาน เธรดส์ยังคงต่ำกว่าทวิตเตอร์ โดยข้อมูล ณ เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ก่อนที่นายอีลอน มัสก์จะเข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ ระบุว่า ทวิตเตอร์มีจำนวนผู้ใช้งานรายวันเกือบ 240 ล้านคน
ทั้งนี้ นายอดัม มอสเซอรี ผู้บริหารของอินสตาแกรมระบุว่า เธรดส์ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น เรายังคงต้องรอดูต่อไปว่า มันจะสามารถสร้างวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งทวิตเตอร์เคยทำหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า เมตาไม่มีความตั้งใจที่จะเข้ามาแทนที่ทวิตเตอร์โดยเฉพาะแต่อย่างใด
*ส่องความเห็นผู้ใช้งาน
เว็บไซต์เดอะ ฮินดู (The Hindu) ให้ความเห็นว่า แม้ว่าเธรดส์จะมีความคล้ายคลึงกับทวิตเตอร์ แต่ยังคงขาดฟังก์ชันที่สำคัญในเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวแพลตฟอร์มมีแผนจะหลีกเลี่ยงการอัปเดตข่าวสารและเรื่องราวการเมือง อย่างไรตาม เธรดส์จะดึงดูดผู้ใช้งานที่มีมุมมองเชิงบวกจำนวนมากซึ่งต้องการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้นำที่ค่อนข้างมั่นคงกว่าและมีการสวมบทบาทเป็นคนอื่นน้อยกว่า
ขณะที่เว็บไซต์เดอะ เดลี บีสต์ (The Daily Beast) เปิดเผยว่า จากการสุ่มถามความคิดเห็นของพนักงานบริษัททวิตเตอร์จำนวน 133 คน พบว่าพนักงานจำนวน 31 คน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ได้ใช้งานเธรดส์แล้วและพนักงานบางคนก็รู้สึกชื่นชอบแอปคู่แข่งของตน โดยกล่าวว่า "ฉันต้องโดนไล่ออกแน่ ฉันตอนนี้ทำงานอยู่ที่ทวิตเตอร์แต่ไม่เคยได้ใช้มันจริง ๆ จัง ๆ เลย แต่เธรดส์มันดีกว่าจริง ๆ"
ด้านนายเควิน โอแลร์รี่ (Kevin O'Leary) หนึ่งในฉลามนักลงทุนจากรายการ "ชาร์ค แทงก์ (Shark Tank)" กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า เขาไม่เคยเห็นการเติบโตเช่นนี้มาก่อน และพร้อมแสดงความสนใจจะร่วมธุรกิจด้วย หากแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถช่วยลดต้นทุนในการหาลูกค้าและสร้างรายได้จากการโฆษณาเกิน 2 เท่า
*ทวิตเตอร์มีหรือจะยอมง่าย ๆ
เว็บไซต์ข่าวเซมาฟอร์ (Semafor) รายงานว่า นายอเล็กซ์ สปีโร เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของบริษัททวิตเตอร์ได้ยื่นหนังสือถึงนายซักเคอร์เบิร์ก โดยขู่ว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับเมตา โดยนายสปีโรกล่าวหาว่า บริษัทเมตาจ้างอดีตพนักงานของทวิตเตอร์ที่ยังสามารถเข้าถึงความลับทางการค้าของทวิตเตอร์ได้ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นความลับขั้นสูงในด้านอื่น ๆ ด้วย
นายสปีโรกล่าวว่า "ทวิตเตอร์มีความตั้งใจที่จะปกป้องสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด และเราขอเรียกร้องให้เมตาดำเนินการในทันทีในการยุติการใช้ความลับทางการค้าของทวิตเตอร์ รวมทั้งข้อมูลที่เป็นความลับขั้นสูงในด้านอื่น ๆ ของทวิตเตอร์ด้วย"
อย่างไรก็ดี นายแอนดี สโตน โฆษกของเมตาได้ออกมาตอบโต้โดยโพสต์ข้อความลงบนเธรดส์ในเวลาต่อมาว่า "ทีมวิศวกรของเธรดส์ ไม่มีใครสักคนที่เป็นอดีตพนักงานของทวิตเตอร์"
จะเห็นได้ว่า เพียงสัปดาห์เดียวของการเปิดตัว แต่เธรดส์ก็ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทวิตเตอร์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว หลังจากนี้เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในอนาคตเธรดส์จะยังสามารถรักษายอดผู้ใช้งานไว้ได้หรือไม่ และทวิตเตอร์จะทำอย่างไรเพื่อแก้เกมน้องใหม่มาแรงนี้