In Focusโลกผวาเศรษฐกิจจีนจ่อซึมยาว จับตารัฐบาลใช้ยาแรงเร่งฟื้นฟู

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 2, 2023 13:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจจีนซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเสาหลักสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักและกลายเป็นที่จับตาของทั่วโลก หลังจากตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจซบเซาลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้ โดยเฉพาะภาคการผลิตและการอุปโภคบริโภคที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

สัญญาณที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้ฉุดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาน้ำมันและโลหะ นอกจากนี้ ยังทำให้องค์กรระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และผู้เชี่ยวชาญทั้งในวอลล์สตรีทและในภาคธนาคารของโลก ต่างก็แสดงความกังวลว่า ภาวะซบเซาของเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะฉุดเศรษฐกิจโลกให้ถดถอยลง เนื่องจากจีนมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ก่อนหน้านี้ หลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียต่างก็คาดหวังว่าจะได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน เนื่องจากชาวจีนถูกล็อกดาวน์เป็นเวลานานถึง 3 ปีภายใต้มาตรการโควิดเป็นศูนย์ จึงเชื่อว่าความอัดอั้นตันใจเช่นนี้จะกระตุ้นให้ชาวจีนอยากออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ...แม้แต่ประเทศไทยเองก็ยังถูกหมายตาว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจีนจะมาเยือนเป็นอันดับต้น ๆ โดยนักวิเคราะห์ของโนมูระ โฮลดิ้งส์คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะโตได้ถึง 4% ในปี 2566 เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากจีนจะหลั่งไหลเข้าสู่ไทยและช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิคได้

แต่เมื่อนาวาเศรษฐกิจลอยลำจากไตรมาส 1 เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 สัญญาณเกือบทุกด้านต่างก็บ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจจีนทำท่าจะซบเซายาวนานกว่าที่คิด และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเงินฝืด ซึ่งสอดรับกับคำเตือนของนางคริสตาลินา กอร์เกียวา หัวเรือใหญ่ของ IMF ที่วิเคราะห์ไว้ตั้งแต่เมื่อต้นปีว่า ทั่วโลกควรระวังการหนีเสือปะจระเข้ วิกฤตปี 2565 ว่าหนักแล้ว แต่ปี 2566 อาจจะหนักกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

... นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจจีนซบเซาลงอย่างเหนือความคาดหมายนั้น เป็นเพราะการตัดสินใจเปิดประเทศอย่างฉับพลันหลังจากที่ล็อกดาวน์มาเป็นเวลานานถึง 3 ปี รวมทั้งการชะลอตัวของดีมานด์ทั่วโลก และข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนกับคู่ปรับตลอดกาลอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่สหรัฐยิงบอลลูนสอดแนมของจีนที่ล่วงล้ำเข้าสู่น่านฟ้า จนกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ลุกลามไปสู่การตอบโต้กันไปมาทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

  • กูรูชี้ จีนเปิดประเทศไม่ราบรื่น-ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ตัวการขวางเศรษฐกิจโต

รัฐบาลจีนประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 อย่างฉับพลันในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเมืองสำคัญของจีนพุ่งขึ้นอย่างมาก และจากนั้นไม่นาน จีนได้ประกาศเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออก พร้อมกับยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ

แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่กังวลว่า การที่จีนเปิดประเทศในช่วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงย่ำแย่นั้น อาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลงอีก จากเดิมที่ชะลอตัวลงอย่างมากเนื่องจากผลพวงของการใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 รวมทั้งการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ อุปสงค์สินค้าจีนในตลาดต่างประเทศที่ซบเซาลง และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

นายไอเปค ออซคาร์เดสคายา นักวิเคราะห์อาวุโสของ Swissquote Bank กล่าวว่า การที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ ถือเป็นข่าวดีในข่าวร้าย โดยอธิบายว่าการเปิดประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การเปิดประเทศอย่างฉับพลันก็ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดในวงกว้างของโรคโควิด-19 รวมทั้งส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น

"ถ้าการเปิดประเทศของจีนเป็นปัจจัยบวกสำหรับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เรื่องนี้ก็ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับเงินเฟ้อของโลกเช่นกัน เนื่องจากอุปสงค์ของจีนจะกระตุ้นเงินเฟ้อผ่านทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น และธนาคารกลางทั่วโลกก็จะรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" นายออซคาร์เดสคายากล่าว
  • ชาวจีนขาดความเชื่อมั่น ลดเที่ยวต่างประเทศ แห่ออมเงินดอลล์-ซื้อประกันในต่างแดน

ในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดคือการที่ชาวจีนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และพากันลดแผนการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และที่หนักกว่านั้นคือชาวจีนหันไปออมเงินในรูปสกุลเงินดอลลาร์

ข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ระบุว่า เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวต่ำกว่าคาดทำให้ชาวจีนลังเลใจมากขึ้นในการใช้เงินไปกับการเดินทางเยือนต่างประเทศ โดยกรณีดังกล่าวทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนใน 5 ประเทศอาเซียนมีอยู่เพียง 14% - 39% ในเดือนพ.ค.ปีนี้ เทียบกับตัวเลขปี 2562 ซึ่งถือเป็นการดับความหวังของกลุ่มประเทศอาเซียนที่หวังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว

ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปีนี้อาจจะซบเซา จากเดิมที่ถูกกระทบอยู่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ อันเป็นผลจากการคุมเข้มนโยบายการเงินและเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับภาวะชะงักงัน

บลูมเบิร์กยังระบุด้วยว่า แม้ไทยจะได้ประโยชน์จากอุปสงค์การเดินทางที่ฟื้นตัวขึ้นหลังโรคโควิด-19 แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยมีแนวโน้มจะต่ำกว่าเป้าหมายของทางการไทยที่ระดับ 7 ล้านคนสำหรับปี 2566 อยู่อย่างน้อย 2 ล้านคน

นอกจากนี้ นักลงทุนชาวจีนยังแห่โอนเงินไปยังต่างประเทศเพื่อฝากเงินในรูปสกุลเงินดอลลาร์และซื้อประกันในฮ่องกง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า นักลงทุนชาวจีนขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของตนเอง และเชื่อว่าค่าเงินหยวนของจีนจะเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น

การไหลออกของเม็ดเงินสะท้อนให้เห็นว่าชาวจีนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนชะลอตัวลง ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นจีนก็อ่อนแรงลง ซึ่งทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลงทุนและหันมาออมเงินมากขึ้น

เฮเลน จ้าว โบรกเกอร์ของบริษัทประกันรายหนึ่งกล่าวว่า ชาวจีนจำนวนมากเริ่มตระหนักว่าพวกเขาไม่ควรวางไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวอีกต่อไป โดยข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐ รวมทั้งมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ชาวจีนเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุน

เฮเลนเปิดเผยว่า การซื้อประกันในฮ่องกงได้กลายมาเป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้ชาวจีนหันมาสนใจในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก เนื่องจากฮ่องกงมีนโยบายคุ้มครองผู้ซื้อประกันมากกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ ชาวจีนยังหันมาออมเงินและซื้อผลิตภัณฑ์การลงทุนส่วนใหญ่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ด้วย

ขณะที่ผู้จัดการฝ่ายบริหารความมั่งคั่งของบริษัทโนอาห์ โฮลดิ้งส์ในฮ่องกงกล่าวว่า ทางบริษัทต้องคอยอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ต่อแถวกันยาวเหยียดเพื่อเซ็นสัญญาซื้อประกัน โดยลูกค้าจำนวนมากรู้สึกตกใจที่รัฐบาลจีนกลับลำยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลัน และมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน การที่ชาวจีนแห่เข้ามาซื้อประกันในฮ่องกงในขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่อ่อนแอลง นอกจากนี้ พวกเขายังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในอนาคตด้วย"

ผู้จัดการของโนอาห์ โฮลดิ้งส์ยังกล่าวด้วยว่า การฝากเงินสกุลดอลลาร์ในฮ่องกงให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากสกุลเงินหยวน โดยข้อมูลจากแบงก์ ออฟ ไชน่าระบุว่า เงินฝากสกุลเงินดอลลาร์ในฮ่องกงประเภท 1 ปีให้ผลตอบแทน 4% แต่ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น เงินฝากสกุลดอลลาร์ประเภท 1 ปีให้ผลตอบแทนเพียง 2.8% ขณะที่เงินฝากสกุลเงินหยวนให้ผลตอบแทน 1.65%

  • IMF หวั่นปมขัดแย้งเทคโนโลยีจีน-สหรัฐกระทบการลงทุน ฉุด GDP โลกวูบ 2%

สหรัฐพยายามผลักดันร่างกฎหมาย Chips and Science Act ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดขีดความสามารถของจีนในการเข้าถึงชิประดับไฮเอนด์ซึ่งจีนอาจใช้ในการผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ล้ำสมัย โดยรัฐบาลสหรัฐวิตกว่า จีนกำลังใช้ระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัยเพื่อปรับปรุงการคำนวณต่าง ๆ ในการออกแบบอาวุธ, การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์, ระบบไฮเปอร์โซนิก และระบบขีปนาวุธอื่น ๆ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์ผลการสู้รบ

ขณะที่รัฐบาลจีนได้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการเพิ่มอำนาจให้แก่กระทรวงสำคัญ พร้อมจัดตั้งสำนักงานใหม่ เพื่อให้เข้ามาสอดส่องดูแลข้อมูลสำคัญ ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องภาคเทคโนโลยีครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อรับมือกับสหรัฐในภาคส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปจนถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์

ข้อพิพาทของ 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจทำให้ IMF มีความกังวลว่าความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศ และจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกได้รับความเสียหายในอัตราส่วนสูงถึง 2% ในระยะยาว

IMF ระบุว่า ขณะนี้บริษัทเอกชนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายทั่วโลกกำลังประเมินแนวทางการพลิกฟื้นห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตกลับมายังประเทศของตนเองหรือย้ายไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

  • บริษัทมะกันมองจีนไม่ใช่แหล่งน่าลงทุนอีกต่อไป เหตุศก.ชะลอตัว-ข้อพิพาทการเมือง

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยสมาคมหอการค้าอเมริกันในประเทศจีน (AmCham China) ระบุว่า บริษัทสหรัฐที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศจีนมีมุมมองเป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน โดยนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 25 ปีของสมาคมหอการค้าอเมริกันที่บริษัทผู้เข้าร่วมการสำรวจต่างก็มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า "จีนไม่ได้อยู่ในอันดับ 1 ใน 3 จุดหมายปลายทางด้านการลงทุนยอดนิยมที่สุดของบริษัทสหรัฐอีกต่อไป"

บริษัทสหรัฐส่วนใหญ่กำลังทบทวนแผนการลงทุนที่ระดับเดิมหรืออาจจะน้อยลงในประเทศจีน โดยนายคอล์ม แรฟเฟอร์ตี ประธาน AmCham China กล่าวว่า สมาชิกของหอการค้าอเมริกันต้องเผชิญกับความท้าทายมากที่สุด เนื่องจากต้องรับมือกับภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งความพยายามในการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ของทั้งจีนและสหรัฐ

ผลสำรวจบ่งชี้ว่า 66% ของบริษัทที่ได้รับการสำรวจมองว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเป็นความท้าทายอันดับหนึ่งในการทำธุรกิจ ขณะที่ 65% ระบุว่า พวกเขาไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะยังคงเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างชาติต่อไปอีกหรือไม่ โดยบริษัทสหรัฐส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการต้อนรับจากจีนน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา

  • IMF จับตาเศรษฐกิจจีนใกล้ชิด หลังข้อมูลชี้เสี่ยงเงินฝืด-ส่งออกทรุดตัว

นางจูลี่ โคแซค โฆษก IMF กล่าวว่า IMF กำลังจับตาความเสี่ยงที่จีนจะเผชิญภาวะเงินฝืดและการส่งออกที่ทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทรงตัวในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งอ่อนแอกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ร่วงลง 5.4% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 5% หลังจากที่ปรับตัวลง 4.6% ในเดือนพ.ค.

ขณะที่ยอดส่งออกเดือนมิ.ย.ของจีนร่วงลง 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าในเดือนพ.ค.ที่ปรับตัวลง 7.5% และรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 9.5% โดยการส่งออกของจีนได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ทั่วโลก และยิ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

  • S&P ร่วมวงแบงก์วอลล์สตรีท หั่นคาดการณ์ศก.จีน ผิดหวัง GDP Q2 โตต่ำกว่าคาด

ตลาดการเงินต่างพากันผิดหวังกับตัวเลข GDP ไตรมาส 2/2566 ของจีนที่ขยายตัวเพียง 6.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจขยายตัว 7.3% ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมิ.ย. และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์หดตัวลง

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนทำให้เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ประกาศลดคาดการณ์ GDP ของจีนในปี 2566 ลงสู่ระดับ 5.2% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.5% เนื่องจากกังวลว่าการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงอย่างมากจะเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจจีนให้อ่อนแอลงอีก

มุมมองของ S&P เป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารรายใหญ่ในวอลล์สตรีท โดยโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดการคาดการณ์ GDP จีนปีนี้เหลือ 5.4% จากระดับ 6% ขณะที่เจพีมอร์แกนปรับลด GDP ปีนี้จีนปีนี้ลงเหลือ 5% จากระดับ 5.5% ส่วนมอร์แกน สแตนลีย์ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลงสู่ระดับ 5% จากระดับ 5.7%

นอกจากนี้ ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์, แคปิตอล อิโคโนมิกส์ และโซซิเอเต เจเนอรัล ต่างก็ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนลงด้วยเช่นกัน

  • จับตาจีนอาจใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังสัญญาณบ่งชี้เสี่ยงเงินฝืด-ศก.ถดถอย
จีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่อ่อนแอลงอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนายหลิว หยวนชุน ประธานภาควิชาการเงินและเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า จีนควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระด้านการเงินให้กับธุรกิจในภาคเอกชนและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยนายหลิวเป็นอดีตที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายหลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกรัฐมนตรีจีน

ขณะที่นายเหยา หยาง คณบดีของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาแห่งชาติของจีน (National School of Development) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลจีนกล่าวว่า การที่จีนกลับลำด้วยการยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์นั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่จีนก็จำเป็นต้องดำเนินการให้มากขึ้น หากต้องการผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวใกล้กับระดับ 6% ซึ่งเป็นระดับก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด

... อย่างไรก็ดี ยังมีนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะใช้ยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น จีนมีความรอบคอบระมัดระวังอย่างมากในการดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคลัง และไม่มุ่งเน้นการอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบที่สหรัฐทำ

นายลู่ ติง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทโนมูระ โฮลดิ้งส์กล่าวว่า นักลงทุนไม่ควรตั้งความหวังว่า รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเต็มรูปแบบ และโนมูระเองก็ไม่คาดว่าตัวเลข GDP ที่จีนเปิดเผยล่าสุดนี้จะผลักดันให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ