ในอดีตเมื่อเอ่ยถึงจุดหมายปลายทางยอดนิยมในใจนักท่องเที่ยวชาวจีน มักมีไทยติดอยู่อันดับต้น ๆ เสมอ และไทยถูกพูดถึงตามหน้าสื่อต่างประเทศบ่อยครั้งในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวจีนตั้งใจเดินทางมาเยือน เมื่อรัฐบาลจีนประกาศเปิดพรมแดนหลังบังคับใช้มาตรการจำกัดโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดนานหลายปี
ทว่าในความเป็นจริงแล้วยอดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยกลับไม่มากอย่างที่คาด แม้ว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินจะพยายามกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวจากจีนด้วยการออกวีซ่าฟรีชั่วคราวก็ตาม
ปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยน้อยลงนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกันได้แก่ เศรษฐกิจจีนชะลอตัว กระแสข่าวลือที่ทำลายภาพลักษณ์ไทยบนโซเชียลมีเดีย ภาพยนตร์สร้างความหวาดกลัว และเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพมหานคร
*ไทยวาดหวังจีนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังยุคโควิด-19
หลังเผชิญมรสุมยาวนานหลายปีจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไทยคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเอสแอนด์พีโกลบอลเปิดเผยว่า การท่องเที่ยวระหว่างประเทศถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในยุคก่อนเกิดโรคโควิด-19 โดยคิดเป็นสัดส่วน 11.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2562
แต่เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยเปิดเผยข้อมูลการประมาณการเบื้องต้นจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาว่า ยอดนักท่องเที่ยวรายสัปดาห์ลดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างมากถึง 75,093 คน โดยข้อมูล ณ วันที่ 8 ต.ค. ระบุว่า ในภาพรวมไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 497,966 คน ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 54,453 คน คิดเป็น 9.86% ส่วนนักท่องเที่ยวจีนลดลงถึง 29.47%
ต่อมาในวันที่ 4 พ.ย. นายเศรษฐาเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ว่า แม้จะได้รับแรงผลักดันมาจากนโยบายวีซ่าฟรี แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยยังต่ำกว่าที่คาดการณ์อยู่ที่ 60% - 70 % จากปี 2562 จึงยังต้องช่วยกันผลักดันอยู่
*เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกระทบการท่องเที่ยวไทย
เศรษฐกิจมหภาคที่ซบเซาของจีน ค่าตั๋วเครื่องบินแพง และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในประเทศต่าง ๆ ซึ่งทำให้ราคาสินค้าจำเป็นแพงขึ้น ได้บั่นทอนความต้องการเดินทางของชาวจีนจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น ดังนั้นจึงถูกตัดออกจากงบประมาณในครัวเรือนเป็นอันดับแรก ๆ
"ความกังวลด้านอุปสงค์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อตลาดท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจากมีการเปิดเผยตัวเลข PMI จีนอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา" กลุ่มนักวิเคราะห์ตลาดจากบริษัท ING ระบุในวันที่ 6 พ.ย.
แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนสำหรับปี 2566 ในวันที่ 7 พ.ย. สู่ระดับ 5.4% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค.ที่ 5% แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งยังคงคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวสู่ระดับ 4.6% ในปีหน้า แม้ขยับขึ้นจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนต.ค.ว่าจะขยายตัวที่ 4.2% ท่ามกลางความอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์และอุปสงค์ต่างประเทศที่ซบเซา
*กระแสข่าวลือและภาพยนตร์จุดชนวนความหวาดกลัว
ไทยนั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะจากจีน โดยสำนักข่าวเซาท์ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ยอดนักท่องเที่ยวจีนในไทยอยู่ที่กว่า 10 ล้านคนต่อปีก่อนเกิดโรคโควิด-19 และแม้จะผ่านพ้นยุคโรคระบาดไปแล้ว แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนกลับไม่กระเตื้องนัก
สยามเมืองยิ้มเคยเป็นดินแดนแห่งความสุขในสายตาของชาวจีนหลายล้านคน แต่กระแสข่าวลือบนโซเชียลมีเดียและภาพยนตร์ชื่อดังได้ทำลายภาพลักษณ์ไทยในสายตาชาวจีนจำนวนมาก โดยเวลานี้ชาวจีนไม่น้อยต่างมองว่าไทยนั้นเป็นแดนเถื่อนเมืองทรชนที่แสนอันตรายและเป็นแหล่งซ่องสุมของพวกแก๊งต้มตุ๋น ส่งผลให้ยอดนักท่องเที่ยวจีนในไทยลดน้อยลง
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเผชิญเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อกระแสข่าวลือที่แพร่สะพัดบนโซเชียลมีเดียทำชาวจีนขวัญผวาจนไม่กล้าเหยียบย่างเยือนไทย โดยมีผู้กล่าวอ้างว่านักท่องเที่ยวอาจถูกลักพาตัวและส่งข้ามพรมแดนไปทำงานในแก๊งสแกมเมอร์ในเมียนมาหรือกัมพูชา
นางจยา เซวียฉยง พยาบาลชาวจีนวัย 44 ปี ควงแขนสามีและบุตรสาวเดินทางมาพักผ่อนในไทยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ แม้เผชิญเสียงคัดค้านจากผู้เป็นพ่อและแม่ก็ตาม
"พ่อกับแม่รู้สึกว่าไทยไม่ปลอดภัยและพยายามโน้มน้าวไม่ให้ฉันมาที่นี่" นางเซวียฉยงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในช่วงปลายเดือนก.ย. พร้อมระบุเสริมว่า "เพื่อนทุกคนของฉันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าให้ฉันมาสำรวจก่อน ถ้าโอเคพวกเราถึงจะไปเที่ยวตาม"
กระแสความหวาดกลัวประเทศไทยจุดชนวนมาจากภาพยนตร์ชื่อดังของจีนเรื่อง "No More Bets" ซึ่งอิงจากเหตุการณ์จริง โดยเป็นเรื่องราวของโปรแกรมเมอร์จีนรายหนึ่งที่จับพลัดจับผลูไปทำงานในแก๊งสแกมเมอร์ หลังถูกล่อลวงในประเทศหนึ่งที่แม้ไม่ได้ระบุชื่อแต่กลับมีลักษณะคล้ายประเทศไทย
ในเวลาต่อมาสื่อมวลชนรายงานว่า ชาวจีนหลายพันรายถูกล่อลวงให้ไปทำงานในแก๊งสแกมเมอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลัก ๆ แล้วอยู่ในเมียนมาและกัมพูชา ด้วยการหลอกเสนองานที่มีผลตอบแทนสูง ไม่ใช่การถูกลักพาตัวบนท้องถนนขณะเดินทางท่องเที่ยว และปัจจุบันไม่พบฐานปฏิบัติการของแก๊งสแกมเมอร์ในไทย
อย่างไรก็ตาม ความโด่งดังของภาพยนตร์เรื่อง "No More Bets" ทำให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมจีนเกี่ยวกับความอันตรายในการเดินทางมาเยือนประเทศไทย โดยลีนน่า เฉียน นักศึกษาวัย 22 ปีในกรุงปักกิ่งยอมรับว่า เนื้อหาบางช่วงบางตอนของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการกล่าวเกินจริง แต่ก็ยังวิตกกังวลที่จะเดินทางเยือนไทยอยู่ดี
"ฉันกลัวว่าเราจะถูกพาตัวไปประเทศอื่น ๆ เช่น กัมพูชาหรือเมียนมา" เฉียนกล่าว
*ไทยอันตรายจริง ไม่ใช่แค่ข่าวลือ
ความวิตกกังวลที่เริ่มก่อตัวในใจของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้หยั่งรากลึกลงไป หลังจากเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ได้เกิดเหตุเด็กชายวัย 14 ปีใช้อาวุธปืนไล่ยิงผู้คนในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนใจกลางเมืองหลวงของไทย โดยมีชาวจีนเป็นหนึ่งในเหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้
ชาวจีนหลายพันรายต่างวิพากษ์วิจารณ์เหตุความรุนแรงดังกล่าวบนเวยป๋อ โดยหลายรายแสดงความกังวลใจที่จะเดินทางเยือนประเทศที่อนุญาตให้ประชาชนครอบครองปืนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ชาวเน็ตบางรายถึงขั้นลั่นวาจาว่าจะไม่มาเหยียบแผ่นดินไทยอีกเลย
"คุณเห็นหรือเปล่า? ความปลอดภัยของประเทศนี้ คุณต้องวิ่งออกไปข้างนอก คุณยังเชื่อในการโปรโมตวีซ่าฟรีและยอมรับในความสูญเสียอยู่อีกเหรอ" ผู้ใช้งานเวยป๋อรายหนึ่งกล่าว
*รัฐบาลไทยแก้ลำออกวีซ่าฟรีให้อินเดีย ดึงดูดชาวภารตะ
ไม่ใช่เฉพาะไทยที่เผชิญอุปสรรคในการกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวจีนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน โดยหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัดสินใจหันมามุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากอินเดีย
OAG บริษัทด้านการบินเปิดเผยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ว่า ขีดความสามารถด้านการบิน (Air Capacity) ระหว่างอินเดียกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใกล้แตะระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาดแล้ว แต่ในส่วนของจีนฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เท่านั้น
ขีดความสามารถด้านการบินในไตรมาส 3/2566 แสดงให้เห็นว่า จีน-ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้บริการการบิน 8 ล้านที่นั่ง ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าตัวของอินเดีย-ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ที่ 3.8 ล้านที่นั่ง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2562 แล้ว จีนติดลบอยู่ถึง 53% ส่วนอินเดียติดลบอยู่เพียง 7% เท่านั้น
OAG ระบุว่า ความจุที่นั่งบนเครื่องบินจากอินเดียสู่สิงคโปร์สำหรับไตรมาส 3/2566 ทะลุระดับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ไปแล้ว โดยอยู่ที่ 1.5 ล้านที่นั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาส 3/2562 ส่วนความจุที่นั่งจากอินเดียไปอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 1,465% โดยอยู่ที่ 31,000 ที่นั่ง ด้านเวียดนามได้เปิดเส้นทางใหม่และกระตุ้นขีดความสามารถทางการบิน โดยเฉพาะเส้นทางระหว่างอินเดีย โดยเพิ่มความจุที่นั่ง 345,000 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับ 0 ที่นั่งในปี 2562
ไทยก็เป็นอีกประเทศที่ต้องการกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวจากอินเดียเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศ โดยเมื่อช่วงสิ้นเดือนต.ค. นายเศรษฐาได้ออกมาเปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเห็นชอบการเปิดวีซ่าฟรีชั่วคราวเพิ่มอีกสองประเทศต่อจากจีนและคาซัคสถานคืออินเดียและไต้หวัน โดยจะให้พำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2566 ถึงวันที่ 10 พ.ค. 2567