เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วงการคริปโทเคอร์เรนซีต้องเผชิญกับเรื่องราวสุดช็อกอีกครั้ง เมื่อไบแนนซ์ โฮลดิงส์ (Binance) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านคริปโทเคอร์เรนซีจากจีน และนายจ้าว ฉางเผิงหรือซีซี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดกฎหมายต่อต้านการฟอกเงิน และละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐตามแผนไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกับสหรัฐ เพื่อเปิดทางให้ไบแนนซ์เดินหน้าให้บริการในสหรัฐต่อไปได้
คำสารภาพดังกล่าวฉุดราคาคริปโทฯ ในตลาดปรับตัวลง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่า นี่จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนหน้าใหม่ได้เข้ามาลุยในอุตสาหกรรมคริปโทฯ
วันนี้ In Focus จึงขอพาท่านผู้อ่านไปย้อนรอยเรื่องราวของยักษ์ใหญ่แห่งโลกคริปโทฯ กันอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกว่าจะดำเนินมาจนถึงจุดนี้
*ประเด็นอื้อฉาวรุมเร้า
ไบแนนซ์เผชิญกับข่าวอื้อฉาวมากมายนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ ทั้งการช่วยเหลืออิหร่านในการทำธุรกรรมเป็นมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่สหรัฐดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเพื่อที่จะตัดอิหร่านออกจากระบบการเงินโลก, ทำให้เกิดความน่าสงสัยในประสิทธิภาพของหลักปฏิบัติในการต่อต้านการฟอกเงินหลังจากวอลเล็ตของไบแนนซ์ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของเงินหลายสิบล้านดอลลาร์จากบิตซ์ลาโต (Bitzlato) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ซึ่งมีส่วนพัวพันกับไฮดรา (Hydra) ตลาดบนดาร์กเว็บที่ปิดตัวลงไปแล้วในตอนนี้ และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้ไบแนนซ์ยูเอส (Binance.US) เป็นบริษัทเปลือก (shell company) ในการตบตาเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของสหรัฐเพื่อปิดบังการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
*สหรัฐเปิดฉากสอบสวนคดีอาญา
กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เปิดฉากสอบสวนคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับไบแนนซ์และนายจ้าวมาตั้งแต่ปี 2561 หรือหลังจากบริษัทก่อตั้งได้ 1 ปี จากความกังวลว่า ไบแนนซ์อาจฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการฟอกเงินและการคว่ำบาตร แต่ยังไม่มีการยื่นฟ้องแต่อย่างใด จนกระทั่งในเดือนมี.ค. ปีนี้ วุฒิสมาชิก 3 รายของสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยนางอลิซาเบธ วอร์เรนจากพรรคเดโมแครต, นายคริส แวน ฮอลเลนจากพรรคเดโมแครต และนายโรเจอร์ มาร์แชลล์จากพรรครีพับลิกัน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายจ้าว ฉางเผิงและนายไบรอัน ชโรเดอร์ ซีอีโอของไบแนนซ์ยูเอส เพื่อเรียกร้องให้บริษัทไบแนนซ์และบริษัทไบแนนซ์ยูเอสซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเงินของบริษัท, ข้อมูลบ่งชี้ถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐบาล และแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง หลังจากมีการกล่าวหาและประเด็นอื้อฉาวมากมายที่บ่งชี้ว่า ไบแนนซ์ดำเนินธุรกิจที่ผิดกฎหมาย
ใจความตอนหนึ่งในจดหมายดังกล่าวระบุว่า "เป็นเวลานานหลายปีแล้วนับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งไบแนนซ์ ทางบริษัทได้เผชิญกับข้อกล่าวหาเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ผิดกฎหมาย"
ต่อมาในเดือนเดียวกันนั้น คณะกรรมาธิการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) ของสหรัฐได้ยื่นฟ้องนายจ้าวในข้อหาละเมิดกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐที่เกี่ยวข้องกับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ โดยคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลในรัฐอิลลินอยส์ระบุว่า ไบแนนซ์ไม่ได้จดทะเบียนกับ CFTC ในฐานะคนกลางซื้อขายตราสารอนุพันธ์ตามที่กฎหมายสหรัฐบัญญัติไว้ นอกจากนี้ บริษัทยังละเมิดกฎหมายด้วยการช่วยให้ลูกค้าหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และแนะนำให้ลูกค้าปกปิดที่อยู่ของตนเองโดยการใช้เครือข่าย VPNs และละเมิดกฎหมายควบคุมการฟอกเงิน ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนต่อกลุ่มก่อการร้าย แม้นายจ้าวระบุว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้น่าผิดหวังและไม่เป็นความจริงก็ตาม
นอกจากนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐกำลังสอบสวนว่า ไบแนนซ์และเจ้าหน้าที่ของบริษัทละเมิดมาตรการคว่ำบาตรที่เกี่ยวกับการที่รัสเซียรุกรานยูเครนหรือไม่
การยื่นฟ้องดังกล่าวทำให้ไบแนนซ์มีส่วนแบ่งตลาดลดลง 25% ก่อนที่จะถูกซ้ำเติมอีกครั้งในวันที่ 6 มิ.ย. 2566 เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ยื่นฟ้องทั้งบริษัทและนายจ้าว เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อสกัดกั้นลูกค้าชาวสหรัฐในการเข้าใช้แพลตฟอร์ม และทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเฝ้าติดตามตลาด ตลอดจนการดำเนินการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน โดยกล่าวหาว่า ไบแนนซ์และนายจ้าวได้ดำเนินการควบคุมสินทรัพย์ของลูกค้าอย่างลับ ๆ และได้สร้างหน่วยงานแยกต่างหากขึ้นในสหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายหลักทรัพย์ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งทำให้นักลงทุนได้แห่ถอนเงินประมาณ 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกจากบริษัท
*ลงเอยเปิดปากสารภาพสิ้น
และแล้วเรื่องราวก็ได้มาถึงบทสรุป เมื่อไบแนนซ์และนายจ้าวยอมรับสารภาพต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตันเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่า ได้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยความลับทางธนาคาร โดยข้อตกลงยุติคดีความครั้งนี้เป็นข้อตกลงระหว่างไบแนนซ์และนายจ้าวกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ, กระทรวงการคลังสหรัฐ และ CFTC นอกจากนี้ ไบแนนซ์ได้ยอมรับว่า บริษัทได้อนุญาตให้กลุ่มฮามาสและกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทำธุรกรรมคริปโทฯ บนแพลตฟอร์มของไบแนนซ์
การสารภาพดังกล่าวทำให้ไบแนนซ์ถูกตั้งข้อหา 3 กระทงด้วยกันได้แก่ การต่อต้านกฎหมายฟอกเงิน, การดำเนินธุรกิจโอนเงินโดยไม่มีใบอนุญาต และการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ โดยไบแนนซ์จะจ่ายค่าปรับตามกฎหมายคดีอาญาเป็นเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและถูกริบทรัพย์อีก 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นายจ้าวตกลงจ่ายค่าปรับ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับ CFTC และเผชิญโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี แต่มีแนวโน้มจะติดคุกจริงไม่เกิน 18 เดือนตามข้อตกลงขอลดหย่อนผ่อนโทษกับรัฐบาลสหรัฐ ตลอดจนจะต้องก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบแนนซ์และไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการบริษัทเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งนายริชาร์ด เถิง จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบแนนซ์แทนนายจ้าว
*ศาลสั่ง "จ้าว" ห้ามออกนอกสหรัฐ หวั่นหลบหนี
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐระบุในเอกสารคำตัดสินว่า นายจ้าวต้องพำนักอยู่ในสหรัฐต่อไปเป็นการชั่วคราวก่อนถึงวันพิพากษาในวันที่ 23 ก.พ.ปีหน้า แม้ว่าเขาได้รับการปล่อยตัวจากการจ่ายเงินประกัน 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม โดยอัยการเห็นว่า นายจ้าวมีความเสี่ยงที่จะหลบหนี ดังนั้นจึงต้องกำหนดให้เขาพำนักอยู่ในสหรัฐและยับยั้งนายจ้าวจากการเดินทางกลับไปยังแหล่งหลบภัยอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นบ้านของเขา
อนึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับสหรัฐอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ นายริชาร์ด โจนส์ ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตันระบุว่า "นายจ้าวไม่สามารถกลับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้จนกว่าศาลจะพิพากษาคดีของรัฐบาลสหรัฐสำเร็จ"
คดีดังกล่าวของไบแนนซ์นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวใหญ่ที่สั่นสะเทือนอุตสาหกรรมคริปโทฯ ซึ่งเกิดขึ้นต่อจากการล่มสลายของบริษัทเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า หลังจากนี้อนาคตของอุตสาหกรรมคริปโทฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากยักษ์ใหญ่อย่างไบแนนซ์ต้องเผชิญกับมรสุมที่หนักหน่วงในครั้งนี้