In Focusส่องทุกประเด็นสำคัญก่อนซัมมิต "ไบเดน-สี จิ้นผิง" ที่ซานฟรานซิสโก

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 15, 2023 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะถึงเวลาการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งจัดขึ้นที่ฟีโลลี เอสเตท (Filoli Estate) คฤหาสน์ตากอากาศเก่าแก่ทางใต้ของนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียในวันนี้ (15 พ.ย.) โดยการพบปะกันของผู้นำสหรัฐและจีนจัดขึ้นนอกรอบการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เพื่อมุ่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษของสองผู้นำประเทศมหาอำนาจ

การประชุมทวิภาคีระหว่างผู้นำทั้งสองซึ่งจะใช้เวลาหารือกัน 4 ชั่วโมง ถือเป็นการพบกันครั้งที่ 2 หลังจากทั้งคู่ได้พบปะกันครั้งแรกในการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และคาดว่าจะมีการหารือครอบคลุมหลายประเด็น ตั้งแต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีไปจนถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก

*ปมไต้หวัน

สำหรับการพบกันครั้งที่สองของปธน.ไบเดนและปธน.สีในครั้งนี้ ประเด็นที่ถูกจับตามองและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าเกาะที่ปกครองตนเองแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของตน และให้คำมั่นว่าจะรวมเป็นหนึ่ง โดยอาจจะมีการใช้กำลังหากมีความจำเป็น

ทางการจีนคาดหวังคำมั่นสัญญาจากปธน.ไบเดนว่า สหรัฐจะไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน ที่ผ่านมานั้นการติดต่อระหว่างสหรัฐและไต้หวันไม่เพียงแต่เป็นการกระทำที่ยั่วยุจีน แต่ยิ่งสร้างความหวังและความฮึกเฮิมให้กับไต้หวันในการต่อสู้เพื่อเอกราช โดยเมื่อปีที่แล้ว ปธน.ไบเดนประกาศว่า กองทัพสหรัฐพร้อมจะช่วยปกป้องไต้หวัน หากจีนส่งกำลังทหารรุกราน ซึ่งแน่นอนย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับจีน

ส่วนทางด้านสหรัฐ คณะบริหารของปธน.ไบเดนได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงสถานภาพที่เป็นอยู่ระหว่างไต้หวันและจีน โดยยึดมั่นในหลักการจีนเดียวและจะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน

ในการพบปะกับปธน.สีครั้งนี้ คาดว่าปธน.ไบเดนจะแสดงความความกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมทางทหารของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญรอบเกาะไต้หวัน พร้อมเตือนให้จีนหลีกเลี่ยงการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันที่จะมีขึ้นในเดือนม.ค. ปีหน้า

*การแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ประเด็นทางเศรษฐกิจถือเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในการประชุม โดยนายชู เฟิง คณบดีคณะรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหนานจิง แสดงความเห็นว่า นอกจากเรื่องการปรับลดภาษีและมาตรการคว่ำบาตรแล้ว คาดว่าจีนอาจจะเรียกร้องให้สหรัฐชะลอการใช้มาตรการเพิ่มเติมที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน ในช่วงเวลาที่จีนกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัวลง

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศต่างฟาดฟันกันด้วยการใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างสาหัส โดยทางการจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่สหรัฐก็ตอบโต้จีนด้วยการจำกัดการลงทุนในเทคโนโลยีด้านความมั่นคง 3 ประเภทซึ่งได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีข้อมูลควอนตัม และระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ (AI) บางชนิด รวมถึงสั่งห้ามการส่งออกชิป AI ไปยังจีน

การค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐและจีนมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 7.6 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 27.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2565 แต่ลดลง 14.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขณะที่นายเซี่ย เฟิง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐกล่าวโทษว่า ต้นเหตุคือการเรียเก็บภาษีศุลกากรและการควบคุมการส่งออกของสหรัฐในช่วงต้นปี

ขณะเดียวกัน ปธน.ไบเดนระบุว่า สหรัฐไม่มีความต้องการที่จะแยกตัวออกจากจีน แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐซึ่งกล่าวกับนายเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่า "การแบ่งแยกเศรษฐกิจของพวกเราโดยสิ้นเชิง จะสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ"

นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยของจีน ปธน.สีจะพยายามสร้างความเชื่อมั่นว่าจีนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยในการลงทุน หลังยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนลดลงในช่วงไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. ซึ่งเป็นการลดลงรายไตรมาสครั้งแรกนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2541 และเป็นการตอกย้ำถึงความยากลำบากของจีนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทต่างประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากกลุ่มประเทศตะวันตกกำลังพยายามลดความเสี่ยงทางการเงินในจีน

*เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในภารกิจทางทหาร

หนังสิอพิมพ์เซาท์ไชน่า มอร์นิง โพสต์ของฮ่องกงรายงานว่า ปธน.ไบเดนและปธน.สีน่าจะบรรลุข้อตกลงกันเรื่องการจำกัดการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในระบบอาวุธอัตโนมัติ เช่น โดรน รวมถึงในการควบคุมและการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้โดยปราศจากการควบคุม

นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐระบุว่า AI ไม่ควรเข้ามาอยู่ในวงโคจรของระบบอาวุธอัตโนมัติ หรือมีอำนาจที่ตัดสินใจว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างไรและเมื่อใด เนื่องจาก AI สามารถเลือกและโจมตีเป้าหมายของตนเองโดยเป็นอิสระจากการสั่งการของมนุษย์ ซึ่งยิ่งเป็นภัยคุกคามและสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

เมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐได้ออกมาตรการจำกัดการส่งออกชิป AI และเครื่องมือผลิตชิปไปยังประเทศจีน เนื่องจากกังวลว่าจีนจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยของสหรัฐไปใช้เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารและเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง และในปีนี้ จีนยังขยายการควบคุมไปยังอิหร่านและรัสเซียด้วย เพื่อปิดช่องโหว่ที่จีนสามารถนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐจากประเทศอื่นได้

อย่างไรก็ดี จีนต่อต้านมาตรการครั้งใหม่นี้ของสหรัฐอย่างรุนแรง โดยจีนมองว่าการที่สหรัฐใช้มาตรการควบคุมการส่งออกหรือพยายามทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองนั้น ถือเป็นการละเมิดหลักการของเศรษฐกิจการตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม และบ่อนทำลายความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ

*ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ

ฝ่ายบริหารของสหรัฐต้องการที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ โดยต้องการกลับมาเปิดช่องทางการสื่อสารทางทหารอีกครั้ง หลังจากช่องทางดังกล่าวได้ยุติลงภายหลังจากที่นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนส.ค. 2565 ซึ่งถือเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐครั้งแรกในรอบ 25 ปี

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์ในรายการ Face the Nation ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า ปธน.ไบเดนมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางทหารกับจีนอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของสหรัฐ และป้องกันไม่ให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด

นอกจากนี้ นายซัลลิแวนเสริมว่า การฟื้นความสัมพันธ์ทางทหารสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ผู้นำระดับสูงไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทางยุทธวิธี

*ถกสงครามอิสราเอล-ฮามาส-ยูเครน

นายจอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาวกล่าวกับผู้สื่อข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน ระหว่างเดินทางไปนครซานฟรานซิสโก ว่า ปธน.ไบเดนและปธน.สี จะพูดคุยเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ตลอดจนความพยายามของสหรัฐในการสนับสนุนยูเครนในการสู้รบเพื่อขับไล่การรุกรานของรัสเซีย

จีนและสหรัฐต่างมีจุดยืนตรงข้ามในเรื่องความขัดแย้งในยูเครน โดยปธน.สีให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทูตแก่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ขณะที่สหรัฐเป็นหัวหอกสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน

นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวคาดว่าจะเปิดโอกาสให้ปธน.ไบเดนเรียกร้องให้ปธน.สีโน้มน้าวอิหร่านให้ยุติการขยายความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เพราะสหรัฐเชื่อว่าจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันอิหร่านรายใหญ่นั้น มีอำนาจต่อรองกับอิหร่านซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาส

*ปราบปราม "เฟนทานิล"

การแพร่ระบาดของเฟนทานิลในสหรัฐ ซึ่งเป็นสารฝิ่นสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์แรงกว่าเฮโรอีนถึง 50 เท่า เป็นอีกหนึ่งวาระการประชุมที่สำคัญที่สหรัฐต้องการให้จีนลงนามในข้อตกลงเพื่อมุ่งปราบปรามบริษัทที่ส่งออกสารเคมีที่ใช้ผลิตเฟนทานิลในจีน

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 พ.ย.) นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวแถลงต่อสื่อมวลชนว่า "เราหวังว่าจะเห็นความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะปูทางไปสู่ความร่วมมือเพิ่มเติมในประเด็นอื่น"

ข้อตกลงดังกล่าวคาดว่าจะเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดในเมืองซานฟรานซิสโก และจะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของคณะบริหารของปธน.ไบเดนที่พยายามจัดการกับการแพร่หลายของเฟนทานิลซึ่งเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนหลายแสนคนในสหรัฐ

นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า ปธน.สีดูเหมือนจะเปิดรับต่อข้อกังวลของสหรัฐ เมื่อครั้งที่คณะผู้แทนสภาคองเกรสของสหรัฐหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาในระหว่างการเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ