ทะเลแดง (Red Sea) น่านน้ำซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่มีความคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลกกำลังกลายเป็นสมรภูมิรบใหม่ที่ใครก็คาดไม่ถึง เมื่อกลุ่มกบฏฮูตี ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเยเมนได้ก่อเหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง ทำให้การค้าทั่วโลกสะดุดลง และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการลำเลียงขนส่งสินค้าหลายประเภทโดยเฉพาะอาหารและเชื้อเพลิง ซึ่งผลที่ตามมาคือราคาสินค้าเหล่านี้อาจจะพุ่งขึ้นจนฉุดไม่อยู่
กบฏฮูตีเริ่มออกมาเคลื่อนไหวหลังจากอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเปิดฉากการทำสงครามเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยกบฏฮูตีอ้างว่าเป็นการตอบโต้อิสราเอลที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างไร้มนุษยธรรมกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา และกดดันให้อิสราเอลยุติการใช้ปฏิบัติการดังกล่าวกับฮามาส พร้อมกับเตือนว่าจะโจมตีเรือทุกลำที่มุ่งหน้าไปยังอิสราเอลโดยไม่สนใจสัญชาติ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ... ความเคลื่อนไหวของกบฏฮูตีสะท้อนให้เห็นว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาสกำลังขยายวง และอิสราเอลกำลังเผชิญกับศึกหลายด้าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การหนุนหลัง
ชื่อของกลุ่มกบฏฮูตีถูกสื่อต่างประเทศนำมาประโคมข่าวอย่างมีนัยสำคัญเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เมื่อกบฏฮูตีส่งโดรนติดระเบิดเข้าโจมตีพื้นที่ตอนใต้ของอิสราเอล แต่กลับพลาดไปหล่นใส่เมือง 2 แห่งของอียิปต์ ส่งผลให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และจากนั้นเพียงไม่กี่วัน กบฏฮูตีเริ่มก่อเหตุปล้นและโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ซึ่งรวมถึงเรือบรรทุกสินค้าของบริษัทนิปปอน ยูเซ็นของญี่ปุ่น โดยอ้างแบบตีมึนว่าเรือลำดังกล่าวเป็นของอิสราเอล ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องให้กลุ่มกบฏฮูตีปล่อยเรือและลูกเรือเป็นอิสระโดยเร็ว ขณะที่นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลออกมาช่วยย้ำอีกแรงว่าเรือนิปปอน ยูเซ็น ไม่ใช่เรือของอิสราเอล แถมเหน็บว่า แค่ชื่อก็บอกสัญชาติแล้ว
คำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ กบฏฮูตีคือใครกันแน่ และการกระทำของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนใดบ้าง นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า กบฏฮูตีกำลังใช้ช่วงชุลมุนในตะวันออกกลาง เพื่อฉวยโอกาสในการปล้มสะดมเรือสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนเอง และอ้างความชอบธรรมในการกระทำดังกล่าว...ในนามของการล้างแค้นแทนชาวปาเลสไตน์ในกาซา
- ขนส่งโลกอลหม่าน การค้าโลกสะเทือน หลังกบฏฮูตีเปิดฉากโจมตีเรือสินค้าชั้นนำ
ในช่วงเช้าวันของวันที่ 14 ธ.ค. เอพี โมลเลอร์-เมอส์ก (A.P. Moller-Maersk) ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งทางเรือและโลจิสติกส์ของเดนมาร์กออกแถลงการณ์ว่า เมอส์ก ยิบรอลตาร์ (Maersk Gibraltar) เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของขีปนาวุธลูกหนึ่ง ขณะที่เรือกำลังเดินทางจากเมืองซาลาลาห์ของโอมานไปยังเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นใกล้กับช่องแคบบับเอลมันเดบ ซึ่งเชื่อมระหว่างทะเลแดงกับอ่าวเอเดน และหลังจากนั้นไม่นานกลุ่มกบฏฮูตีได้ออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้ก่อเหตุ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เมอส์กตัดสินใจระงับการเดินเรือผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบในทะเลแดง
เหตุการณ์โจมตีที่เกิดขึ้นกับเรือของเมอส์กทำให้บริษัทเดินเรือรายอื่น ๆ ประกาศระงับการเดินเรือในทะเลแดงเช่นกัน ซึ่งรวมถึงฮาแพก-ลอยด์ (Hapag-Lloyd) บริษัทเดินเรือชั้นนำของเยอรมนี, เมดิเตอร์เรเนียน ชิปปิ้ง (MSC) ของอิตาลี-สวิตเซอร์แลนด์, ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม (CMA CGM) ของฝรั่งเศส และบีพี (BP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สัญชาติอังกฤษ
ต่อมาในวันที่ 15 ธ.ค. เรืออัลญัสเราะห์ (Al Jasrah) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติไลบีเรีย ถูกกบฏฮูตีโจมตีด้วยขีปนาวุธ ส่งผลให้เรือไฟไหม้ และยังมีเรือสินค้าอีกหลายลำในทะเลแดงที่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ
สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นทันที นอกจากนี้ ยังทำให้ราคาหุ้นกลุ่มเดินเรือพุ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า วิกฤตการณ์ในทะเลแดงจะส่งผลให้อัตราค่าระวางเรือ (freight rates) ปรับตัวสูงขึ้น
สภาหอการค้าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ (International Chamber of Shipping - ICS) ซึ่งเป็นตัวแทนของกองเรือพาณิชย์ราว 80% ของโลกเปิดเผยว่า พลังงานของยุโรปจำนวนมหาศาลซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงดีเซล อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหารเช่นน้ำมันปาล์มและธัญพืช รวมถึงสินค้าทุกประเภทที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าในภาคการผลิตนั้น จะต้องผ่านเส้นทางทะเลแดงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การที่เรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงถูกโจมตีอย่างอุกอาจจึงทำให้การค้าทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
ขณะที่นายไมเคิล อัลด์เวลล์ รองประธานบริหารบริษัทคูห์เนพลัสเนเกิล (Kuehne+Nagel) ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ทางทะเลกล่าวว่า "เรือบรรทุกตู้สินค้าที่ใช้เส้นทางทะเลแดงนั้น มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของการขนส่งทางเรือทั่วโลก และเราประมาณการว่าเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นผ่านคลองสุเอซในทะเลแดงมีประมาณ 19,000 ลำต่อปี หากสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดงยืดเยื้อออกไป ก็จะสร้างความเสียหายต่อการค้าโลกและจะยิ่งทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเลวร้ายลงไปอีก
ทางด้านมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า หากวิกฤตการณ์ในทะเลแดงยืดเยื้อ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ให้บริการขนส่งตู้สินค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ฟิโอนา ซินคอตตา นักวิเคราะห์จากบริษัทซิตี้ อินเดกซ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นยาวนานเท่าใด และแม้ว่าสหรัฐจะเปิดตัวปฏิบัติการ Operation Prosperity Guardian (ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความรุ่งเรือง) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเรือที่แล่นผ่านทะเลแดงจะได้รับความปลอดภัย แต่บริษัทเดินเรือส่วนใหญ่ก็ยังคงวิตกกังวล
- เรือสินค้าแห่เลี่ยงทะเลแดง ยอมเดินทางอ้อมโดยใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮป
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามจากกลุ่มกบฏฮูตีทำให้บริษัทขนส่งสินค้าพากันเปลี่ยนเส้นทาง โดยล่าสุด เมอส์กประกาศว่า บริษัทจะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีในทะเลแดง โดยขณะนี้เรือขนส่ง 20 ลำของเมอส์กกำลังจอดเทียบท่าอยู่ทั้งสองฝั่งของคลองสุเอซ และจะเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป
นอกจากนี้ บริษัทขนส่งทางทะเล เช่น บีพี (BP) ของอังกฤษ และเอควินอร์ (Equinor) ของนอร์เวย์ ได้ตัดสินใจหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางทะเลแดง เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามจากกลุ่มกบฏฮูตีเช่นกัน
นายเปาโล มอนโตรเน รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายโลจิสติกส์การค้าทางทะเลระดับโลกของบริษัทคูห์เนพลัสเนเกิล ระบุว่า ขณะนี้มีเรือขนส่งสินค้าชนิดตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 57 ลำได้เลี่ยงใช้เส้นทางเดินเรือในทะเลแดงและคลองสุเอซ และยอมเดินทางอ้อมระยะไกลผ่านเส้นทางทวีปแอฟริกาแทน
ขณะที่นางแอนโทเนลลา เตโอโดโร ที่ปรึกษาระดับอาวุโสของบริษัทเอ็มดีเอส ทรานส์โมดัล (MDS Transmodal) ระบุว่า มูลค่าคร่าว ๆ ของตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่ามีสินค้าที่ถูกส่งโดยเลี่ยงใช้เส้นทางในทะเลแดงรวมทั้งสิ้น 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
นักวิชาการจากสถาบันนโยบายตะวันออกใกล้ (Washington Institute for Near East Policy) กล่าวว่า เรือพาณิชย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอิสราเอล เลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปทางแอฟริกาและแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไกลกว่า และทำให้การเดินทางใช้เวลาประมาณ 19-31 วัน ขึ้นอยู่กับความเร็วของเรือพาณิชย์เหล่านี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและเพิ่มเวลาการขนส่ง
ทางด้านนายมุนโร แอนเดอร์สัน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทเวสเซล โพรเทกซ์ (Vessel Protect) ซึ่งเป็นบริษัทประเมินความเสี่ยงในกรณีเกิดสงครามในทะเลเปิดเผยว่า การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีถือเป็นการเพิ่มภัยคุกคามให้กับเรือขนส่งในทะเลแดง และเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งของเรือพาณิชย์ในภูมิภาค พร้อมกับประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปในระยะสั้นและระยะกลางนี้
- อียิปต์สะเทือน หวั่นขาดรายได้จากค่าผ่านทางคลองสุเอซ หลังเรือสินค้าแห่เปลี่ยนเส้นทาง
ทะเลแดงมีคลองสุเอซตั้งอยู่ที่ปลายสุดทางตอนเหนือของน่านน้ำ และมีช่องแคบบับเอลมันเดบตั้งอยู่ที่ปลายสุดทางตอนใต้ ซึ่งนำไปสู่อ่าวเอเดนที่ตั้งอยู่ระหว่างโซมาเลียและเยเมน โดยทะเลแดงเป็นน่านน้ำที่คับคั่งไปด้วยเรือพาณิชย์ที่ลัดเลาะผ่านคลองสุเอซในการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ...ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดงจึงมีผลกระทบต่อคลองสุเอซอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
องค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ประกาศจับตาในทะเลแดงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลกระทบใด ๆ ที่จะมีต่อการสัญจรข้ามคลองสุเอซ หลังจากกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้ทำการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง ซึ่งส่งผลให้บริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่พากันระงับการเดินเรือไปยังภูมิภาคดังกล่าว
นายโอซามา ราบี ประธาน SCA เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.ปีนี้ เรือบรรทุกสินค้าจำนวน 55 ลำได้เลี่ยงไปใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปซึ่งเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย แทนการใช้เส้นทางคลองสุเอซ และนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.จนถึงขณะนี้ มีเรือเพียง 2,128 ลำเท่านั้นที่สัญจรผ่านเส้นทางคลองสุเอซ
ทั้งนี้ อียิปต์จำเป็นต้องพึ่งพาค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเรือที่สัญจรผ่านคลองสุเอซ เนื่องจากค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้สกุลเงินต่างประเทศสำหรับอียิปต์ ในขณะที่อียิปต์กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยในปีงบประมาณ 2565-2566 นั้น รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเดินเรือของอียิปต์สูงถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนหน้านี้ในเดือนมี.ค. 2564 อียิปต์เคยเผชิญวิกฤตการณ์เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่เกยตื้นขวางคลองสุเอซเป็นเวลานานหลายวัน ซึ่งทำให้เรือลำอื่น ๆ ไม่สามารถสัญจรผ่านคลองสุเอซได้ ส่งผลให้อียิปต์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนมากในเวลานั้น กระทั่งในช่วงกลางปีนี้ องค์การคลองสุเอซได้ประกาศแผนปรับขึ้นค่าผ่านทางสำหรับเรือที่แล่นผ่านคลองสุเอซเพิ่ม 5-15% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567 ... แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เรือสินค้าแห่เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เห็นทีอียิปต์อาจจะเผชิญความยากลำบากไม่น้อย
- กลุ่มกบฏฮูตีคือใคร? และผู้ใดอยู่เบื้องหลัง?
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเชื่อว่า อิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบรรดากลุ่มติดอาวุธทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มกบฏฮูตี, กลุ่มฮามาส, กลุ่มญิฮาดในปาเลสไตน์ และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยอิหร่านใช้กลุ่มเหล่านี้ในลักษณะของการทำสงครามตัวแทน (Proxy War) หรือการไม่ปะทะกับคู่แค้นโดยตรง แต่ยืมมือกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ในการทำสงครามแทน
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา อิหร่านได้ลงทุนสร้างเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อทำการก่อการร้ายและสั่นคลอนความมั่นคง โดยกลุ่มเหล่านี้ได้รับเงินทุน การฝึกฝน และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน (IRGC) โดยพื้นที่ปฏิบัติการก่อการร้ายของแต่ละกลุ่มมักจะอยู่ในฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ เลบานอน ซีเรีย และพื้นที่อื่น ๆ ในตะวันออกกลาง
ที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลได้ใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อกวาดล้างอิทธิพลของกลุ่มเหล่านี้ แต่ดูเหมือนว่าภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธยังคงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอล แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม มิหนำซ้ำ กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ประกาศความพร้อมที่จะทำสงครามระยะยาวกับอิสราเอล และจะไม่หยุดจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ว่า "อิสราเอลต้องพินาศเท่านั้น"
กลุ่มกบฏฮูตีเป็นกลุ่มนักรบที่ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "อันซาร์ อัลเลาะห์ (Ansar Allah)" ซึ่งในภาษาอาหรับแปลว่า "ผู้สนับสนุนพระผู้เป็นเจ้า" และก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยนายฮุสเซน บัดเรดดิน อัล-ฮูตี ซึ่งจุดประสงค์ของกลุ่มนี้คือต่อต้านนายอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ประธานาธิบดีคนแรกของเยเมนที่กดขี่ชาวฮูตีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของเยเมน และอีกเป้าหมายหนึ่งคือต่อต้านอิทธิพลของมุสลิมนิกายสุหนี่ ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับการนับถือมากที่สุดในตะวันออกกลาง แต่ขัดกับความเชื่อของชนเผ่าฮูตีที่มีรากฐานมาจากนิกายชีอะห์
ภายหลังจากสถานการณ์ในเยเมนเริ่มสงบลงเมื่อช่วงปี 2015 กลุ่มกบฏฮูตีได้เข้าไปทำสงครามกับซาอุดีอาระเบีย โดยหลายฝ่ายมองว่าเป็นการทำสงครามตัวแทนระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน เพราะซาอุดีอาระเบียมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ ส่วนกบฏฮูตีได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากอิหร่าน ซึ่งสงครามครั้งนั้นได้คร่าชีวิตประชาชนนับแสนคน
นักวิเคราะห์ด้านการเมืองเชื่อว่า เป้าหมายในปัจจุบันของกลุ่มกบฏฮูตีคือต่อต้านสหรัฐและชาติที่สหรัฐให้การสนับสนุน ซึ่งมีอิสราเอลรวมอยู่ในนั้นด้วย และเมื่ออิสราเอลทำสงครามกับฮามาสซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านเช่นกันนั้น กบฏฮูตีจึงไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมกับฮามาสในการทำสงครามกับอิสราเอล ... ซึ่งเหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟ และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางถูกยกระดับขึ้นอย่างฉับพลัน