ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองอย่างหนักจากรัฐสภาให้เปิดศึกตอบโต้อิหร่าน หลังทหารสหรัฐสังเวยชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 34 นาย จากเหตุโจมตีฐานทัพสหรัฐ บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจอร์แดนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เคราะห์ร้ายเหตุการณ์ครั้งนี้บีบบังคับให้ผู้นำสหรัฐวัย 81 ปี ไม่เพียงแต่แสวงหาวิธีการโต้กลับที่ถูกใจนักการเมืองทุกฝ่าย แต่จะต้องไม่โหมกระพือสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่คุกรุ่นอยู่แล้วให้รุนแรงมากขึ้น
In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านไปจับตาสถานการณ์ล่าสุด เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และส่องทุกความเป็นไปได้ที่ไม่เพียงอาจสั่นคลอนภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่ยังรวมถึงตัวประธานาธิบดีสหรัฐเองด้วย
- "ไบเดน" ลั่นพร้อมเอาคืน แต่ต้องไม่บานปลาย
"เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาคืนผู้ที่กระทำการโจมตีฐานทัพของสหรัฐในจอร์แดน เราจะไล่ล่าตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเราจะตอบสนองเรื่องนี้ในทุกวิถีทาง" นี้คือถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ที่แสดงให้เห็นถึงอุณหภูมิการเมืองที่ตึงเครียด หลังเกิดเหตุโดรนโจมตีฐานที่มั่นและสังหารกำลังพลสหรัฐในจอร์แดน
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 28 ม.ค. กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านส่งโดรนโจมตีฐานทัพของสหรัฐที่มีชื่อว่า ทาวเวอร์ 22 (Tower22) บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจอร์แดน ซึ่งติดกับชายแดนซีเรีย ส่งผลให้ทหารสหรัฐเสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 34 ราย โดยฐานที่มั่นนี้มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับฐานทัพอัลทานฟ์ของสหรัฐในซีเรีย
เหตุโจมตีปลิดชีพทหารสหรัฐดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่กองกำลังสหรัฐเสียชีวิตจากการโจมตีของศัตรูนับตั้งแต่สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ปีที่ผ่านมา โดยกองกำลังสหรัฐในตะวันออกกลางตกเป็นเป้าการโจมตีกว่า 150 ครั้งของกลุ่มที่มีอิหร่านหนุนหลังทั้งในอิรัก ซีเรีย จอร์แดน และนอกชายฝั่งเยเมน เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐให้การสนับสนุนอิสราเอล
หลายฝ่ายต่างกังวลว่าสหรัฐจะงัดมาตรการตอบโต้อิหร่านที่รุนแรงและอาจยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางให้ลุกลามเป็นวงกว้าง ดังที่นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐประกาศกร้าวว่า สหรัฐจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องทหารสหรัฐ และจะไม่อดทนต่อการโจมตีกองกำลังอย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันอังคาร (30 ม.ค.) นายไบเดนบอกกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวว่า เขาได้ตัดสินใจแล้วว่าจะตอบโต้เหตุโจมตีครั้งนี้อย่างไร แต่ย้ำว่าไม่ต้องการให้สงครามตะวันออกกลางขยายวงกว้าง ขณะที่นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐยืนยันว่า วิธีตอบโต้ครั้งนี้ของสหรัฐจะไม่ใช้แค่มาตรการเดียว แต่เป็นหลาย ๆ มาตรการตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อมุ่งโจมตีหลายเป้าหมายของศัตรู
*อิหร่านปัดเอี่ยวโจมตีปลิดชีพทหารสหรัฐ
สำหรับเหตุโจมตีครั้งนี้ ทางการอิหร่านออกแถลงข่าวปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีฐานทัพสหรัฐในจอร์แดน โดยนาสเซอร์ คานานี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านย้ำชัดว่า อิหร่านไม่ได้อยู่เบื้องหลังกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีฐานทัพสหรัฐ และระบุว่าข้อกล่าวหานั้นไร้มูลความจริง แต่มีเป้าหมายเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงในตะวันออกกลาง
นายคานานียืนยันว่า กลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคไม่ได้รับคำสั่งจากอิหร่าน เนื่องจากอิหร่านไม่สามารถแทรกแซงแนวทางการตัดสินใจของกลุ่มต่อต้านใด ๆ ว่าจะแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์หรือปกป้องตนเองและประชาชนจากการรุกรานหรือการยึดครองอย่างไร พร้อมระบุว่า สหรัฐเองนั้นเผชิญความขัดแย้งระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้านในภูมิภาค ซึ่งการโจมตีดังกล่าวอาจเป็นการโจมตีตอบโต้การแก้แค้นก็เป็นได้
ด้านลอรา เจมส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักวิเคราะห์อาวุโสด้านตะวันออกกลางของออกซฟอร์ด อนาลิทิกา บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์สำหรับเหตุการณ์ระดับโลกแสดงความเห็นว่า กลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคนั้นปฏิบัติการแบบอิสระและไม่ได้พึ่งพาเงินทุนสนับสนุนจากอิหร่านทั้งหมด ดังนั้น อิหร่านจึงไม่สามารถควบคุมการตัดสินใจได้ในทุกเรื่อง
*รีพับลิกันสับเละ กดดันเร่งโต้กลับอิหร่าน
รัฐบาลไบเดนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากบรรดานักการเมืองของพรรครีพับลิกันที่เรียกร้องให้สหรัฐดำเนินการตอบโต้อิหร่านแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน โดยมองว่า ทางสหรัฐนั้นยังพยายามไม่มากพอที่จะยับยั้งเหตุโจมตีในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรง
นายโรเจอร์ วิกเกอร์ วุฒิสมาชิกจากรัฐมิสซิสซิปปีกล่าวว่า ความล้มเหลวของนโยบายตะวันออกกลางของนายไบเดนมีส่วนทำให้การโจมตีทวีความรุนแรงขึ้น "เราต้องตอบโต้ด้วยการโจมตีไปยังเป้าหมายในอิหร่านซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินการของรัฐบาลไบเดนกลับกลายเป็นการเชิญชวนให้มีการโจมตีมากขึ้น"
นายทอม คอตตอน วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันจากรัฐอาร์คันซอชี้ว่า มาตรการของไบเดนนั้นกำลังปล่อยให้ทหารสหรัฐตกเป็นเป้านิ่ง และมองว่าสหรัฐต้องเดินเกมอย่างเด็ดขาดกับอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธที่เป็นผู้ลงมือ ซึ่งสอดคล้องกับไมค์ โรเจอร์ส สมาชิกพรรครีพับลิกันและประธานคณะกรรมาธิการด้านกิจการกองทัพสหรัฐที่ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่อิหร่านจะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์โจมตีที่เกิดขึ้น
การสั่งการโจมตีอิหร่านไม่ได้เป็นไปเพื่อการตอบโต้อย่างเดียวเท่านั้น แต่เพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นเช่น นายลินด์ซีย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกจากรัฐเซาท์แคโรไลนากล่าวว่า การสั่งโจมตีเป้าหมายในอิหร่านไม่ใช่เพียงเพื่อตอบโต้ต่อการที่ทหารของเราเสียชีวิต แต่เพื่อป้องปรามการรุกรานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลของไบเดนควรเร่งดำเนินการโดยเร็ว
นอกจากนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ตัวเต็งตำแหน่งแคนดิเดตปธน.สหรัฐจากพรรครีพับลิกันเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งสหรัฐปี 2567 ก็ไม่พลาดใช้โอกาสนี้กล่าวโทษว่า การโจมตีทหารสหรัฐเป็นผลมาจากความอ่อนแอและการยอมอ่อนข้อต่ออิหร่านมากเกินไปของนายไบเดน ซึ่งต่างจากเขาที่เคยสั่งสังหารนายพลกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ (Quds Force) ในกรุงแบกแดดเมื่อปี 2563 สมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
*เดโมแครตชี้ต้องจัดการอิหร่าน เลี่ยงเผชิญหน้าโดยตรง
แม้แต่สมาชิกจากพรรคเดโมแครตเอง ยังแสดงความเห็นต้องการให้ประธานาธิบดีไบเดนสั่งการโจมตีอิหร่านเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เรียกร้องวิธีการที่ละมุนละม่อมและเล่นงานแบบเบามือกว่า เช่น การมุ่งเป้าไปที่กลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านมากกว่าที่จะมุ่งเป้าไปที่อิหร่านโดยตรง
นางบาร์บารา ลี สมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐแคลิฟอร์เนียมองว่า สหรัฐจำเป็นต้องโต้กลับอิหร่าน เนื่องจากสถานการณ์นั้นไปไกลเกินการควบคุม อีกทั้ง กองทัพสหรัฐกำลังตกอยู่ในอันตราย สอดคล้องกับนายเบน คาร์ดิน วุฒิสมาชิกสหรัฐที่ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้สมควรได้รับการโต้กลับ ผมสนับสนุนให้ประธานาธิบดีไบเดนดำเนินการตอบโต้อย่างเหมาะสม
นายอดัม สมิธ สมาชิกพรรคเดโมแครตจากรัฐวอชิงตันและประธานคณะกรรมาธิการด้านอาวุธของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐจำเป็นต้องตอบสนองและหาทางยับยั้งการโจมตีเหล่านี้ อิหร่านมีท่าทีฮึกเหิมมากขึ้นนับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีในหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงในอิรักและปากีสถาน
*สหรัฐจะโต้กลับอย่างไร
สำหรับการตอบโต้ทางทหารต่อการโจมตีฐานทัพนั้น ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผู้นำสหรัฐมีทางเลือกหลากหลายตั้งแต่การมุ่งเป้าโจมตีกลุ่มพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่าน หรือแม้แต่กระทั่งบุคคลสำคัญและกองกำลังอิหร่านที่ประจำการอยู่นอกประเทศ ไปจนถึงการเปิดหน้าโจมตีกับอิหร่านโดยตรง
สำหรับทางเลือกแรกนั้น หลายฝ่ายคาดว่าสหรัฐจะมุ่งกำหนดเป้าโจมตีฐานที่มั่นและผู้บัญชาการกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดและเป็นทางเลือกหนึ่งที่สหรัฐเคยใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ โดยกองทัพสหรัฐทราบดีว่ากองกำลังติดอาวุธเหล่านี้อยู่ที่ไหนและเป็นใคร การโจมตีฐานที่มั่นด้วยขีปนาวุธนำวิถีที่แม่นยำจึงไม่ใช่เรื่องยากเกินตัว โดยเฉพาะการล็อกเป้าโจมตีผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) ระดับอาวุโสในอิรักหรือซีเรีย
ความเป็นไปได้ประการที่สอง ได้แก่ การมุ่งเป้าไปที่อิหร่านโดยตรง ซึ่งถือการตัดสินใจที่จะยกระดับความขัดแย้งในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หลายฝ่ายคาดว่าสหรัฐปัดตกตัวเลือกการโจมตีดินแดนอธิปไตยของอิหร่าน เพราะทั้งสหรัฐและอิหร่านเองต่างไม่ต้องการเผชิญหน้ากันและเข้าสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบ ดังที่สะท้อนให้เห็นจากความเห็นของนายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวที่ระบุว่า สหรัฐไม่ต้องการขยายวงในการทำสงครามกับอิหร่าน
ส่วนทางเลือกสุดท้ายนั้นคือการไม่ดำเนินการตอบโต้ใด ๆ เมื่อพิจารณาจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางแล้ว บางส่วนมองว่าคงไม่มีประโยชน์ที่สหรัฐจะโจมตีอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเช่นนี้ การตอบโต้ทางทหารของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจึงไม่จำเป็นหรือคุ้มค่าในระยะยาว ผนวกกับเสียงเรียกร้องจากกลุ่มนักการเมืองในประเทศที่ต้องการให้สหรัฐลดกำลังทหารในตะวันออกกลาง
*ส่องท่าทีนักวิเคราะห์
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า รัฐบาลไบเดนจะพิจารณามาตรการตอบโต้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพื่อไม่ทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างมากกว่าเดิม รวมถึงป้องปรามไม่ให้มีการโจมตีเช่นนี้เกิดขึ้นในอนาคต
นายชิบลีย์ เทลฮามี ศาสตราจารย์ประจำคณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ แสดงความเห็นว่า การตอบโต้จะเป็นไปเพียงในลักษณะที่ทดแทนความสูญเสียของทหารสหรัฐ แต่ไม่ได้รุนแรงมากจนทำให้สถานการณ์บานปลาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อข้อตกลงหยุดยิงในกาซา
ขณะเดียวกัน นายวิลเลียม เวคสเลอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสโครงการตะวันออกกลางของสภาแอตแลนติก และอดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ก็แสดงความเห็นที่สอดคล้องกันว่า สหรัฐจำเป็นต้องตอบโต้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยต้องไม่ลุกลามจนเกิดเป็นสงครามระดับภูมิภาค พร้อมระบุว่าสหรัฐอาจมุ่งโจมตีไปที่ทรัพย์สินทางเรือของอิหร่าน ผู้นำกลุ่มฮูตี และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านอย่างเข้มงวด
ท่าทีของสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาทำให้นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า สหรัฐมีโอกาสสูงที่จะเลือกถล่มฐานทัพของพันธมิตรหรือกลุ่มที่สนับสนุนอิหร่านมากกว่าโจมตีอิหร่านโดยตรง นายชาร์ลส์ ลิสเตอร์ นักวิชาการจากสถาบันตะวันออกกลางในกรุงวอชิงตันระบุว่า สหรัฐจะเลือกโจมตีบุคคลสำคัญของกลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในอิรักหรือซีเรีย แม้การโจมตีระลอกล่าสุดจะมีความรุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ แต่สหรัฐคาดว่าไม่น่าจะโจมตีอิหร่านโดยตรง
เฮโลอิส ฟาเยต์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัย IFRI ในกรุงปารีสมองกล่าวว่า สหรัฐจะไม่โจมตีอิหร่านโดยตรง เว้นแต่จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าอิหร่านเป็นคนสั่งการโจมตีกองทัพ โดยสหรัฐน่าจะเลือกที่จะถล่มกลุ่มพันธมิตรของอิหร่านมากกว่า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดคะเนของแอนดรูว์ โบรีน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐ ที่ระบุว่า การประเมินความเสี่ยงในการทำสงครามกับอิหร่านไม่ใช่เรื่องง่าย สหรัฐจึงไม่เพียงแต่ประเมินศักยภาพทางการทหารของอิหร่านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย
ความท้าทายสำหรับประธานาธิบดีไบเดนคงหนีไม่พ้นการแสวงหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงแต่หลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางบานปลายในวงกว้าง แต่ต้องสลัดภาพลักษณ์ที่อ่อนแอและไม่เด็ดขาด โดยเฉพาะท่ามกลางศึกเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร การโจมตีโต้กลับจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยนี้