เมื่อ อเล็กเซ นาวาลนี (Alexei Navalny) ผู้นำฝ่ายค้านชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่ปรับคนสำคัญของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เสียชีวิตจากไปอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ทำให้มีคำถามตามมาว่า ใครจะขึ้นมาแทนที่เขาในการเป็นผู้นำในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยในรัสเซีย เราจะได้เห็นภาพการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาลรัสเซียบนท้องถนนในมอสโกอีกหรือไม่ และ บอริส นาเดซดิน (Boris Nadezhdin) ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องการจะลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในเดือนมี.ค.นี้แต่ได้ถูกศาลตัดสิทธิ์นั้น จะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทนนาวาลนีได้หรือไม่
In Focus สัปดาห์นี้ได้รวบรวมมุมมองความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาคาดว่าจะเกิดขึ้นในรัสเซียต่อไปนับจากนี้
*ความตายที่น่าตกใจ แต่ไม่น่าแปลกใจ
อเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านที่โด่งดังที่สุดของรัสเซียและถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของวลาดิเมียร์ ปูติน ได้เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วยวัย 47 ปี ที่ทัณฑสถานสุดโหดในอาร์กติกเซอร์เคิลด้วยสาเหตุที่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ไม่มีผู้สืบทอดที่ชัดเจนเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของนาวาลนีในการผลักดันความเป็นประชาธิปไตยในรัสเซีย
นาวาลนีซึ่งถือเป็นผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของรัสเซีย ได้ใช้เวลาหลายปีในการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลของปูติน โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลรัสเซีย และผลที่ตามมาก็คือ นาวาลนีได้ถูกสั่งจำคุกในเรือนจำด้วยข้อกล่าวหาที่นาวาลนีระบุว่า มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง
การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของนาวาลนีนั้นนับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะหลายคนมองว่า เขาคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของปธน.ปูตินในรัสเซีย และการเสียชีวิตของนาวาลนีเกิดขึ้นเพียงไม่นานก่อนการเลือกตั้งในรัสเซียในเดือนมี.ค.นี้
*ผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุดจากไป ชะตากรรมฝ่ายค้านรัสเซียจะเป็นเช่นใด
ผู้เชี่ยวชาญแสดงทัศนะว่า เขาไม่แน่ใจว่า จะมีโอกาสได้เห็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาลปูตินตามท้องถนนในรัสเซียอีกหรือไม่ และไม่แน่ใจว่า บอริส นาเดซดิน นักการเมืองฝ่ายค้านวัย 60 ปี ซึ่งต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียแต่ถูกตัดสิทธิ์นั้น จะสามารถรวบรวมผู้คนขึ้นมาเพื่อต่อต้านการปกครองของปูตินได้หรือไม่ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การปราบปรามฝ่ายค้านในรัสเซียทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในปี 2565
ดร.เบน โนเบิล รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองรัสเซียจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนระบุว่า ฝ่ายค้านในรัสเซียนั้นกระจัดกระจายอย่างมาก และขณะนี้กลุ่มต่อต้านที่แข็งขันที่สุดของรัสเซียนั้นปักหลักอยู่นอกประเทศ
"นาวาลนีเป็นสัญลักษณ์ของความแตกต่างในระบบการเมืองที่คอยตรวจสอบวลาดิเมียร์ ปูติน เขาวิพากษ์วิจารณ์ปูตินอย่างรุนแรง"
"เราสามารถคาดหวังที่จะเห็นความสามัคคีในรูปแบบของความตกใจ ความหวาดกลัว และความขุ่นเคืองภายหลังการเสียชีวิตของนาวาลนี แต่เราไม่อาจคาดหวังว่า จะได้เห็นการประท้วงครั้งใหญ่บนท้องถนนในรัสเซียอีก ขณะที่ชื่อเสียงของนาวาลนีเองนั้นก็ได้ถูกใส่ร้ายป้ายสีมานานหลายปี และเสรีภาพในการแสดงออกในรัสเซียนั้นก็เป็นไปอย่างจำกัดอย่างมาก"
อย่างไรก็ตาม ดร.โนเบิลกล่าวเสริมว่า ทีมงานของนาวาลนีซึ่งปักหลักอยู่ในลิทัวเนียอาจจะพยายามประสานงานด้านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ด้านศาสตราจารย์ไมเคิล คลาร์ก นักวิเคราะห์ด้านการทหารและนักวิชาการชาวอังกฤษกล่าวว่า นาวาลนีเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือที่สุดในรัสเซีย และเชื่อว่า นาวาลนีมีการเคลื่อนไหวที่สำคัญอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด แม้ในขณะที่เขาถูกจองจำอยู่ในคุกที่ห่างไกลก็ตาม
ซาแมนธา เดอ เบนเดิร์น เจ้าหน้าที่ของสำนักงานกิจการระหว่างประเทศของอังกฤษหรือ Chatham House กล่าวว่า การเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในฝ่ายค้านของรัสเซียไม่ได้ก่อให้เกิดการประท้วงใด ๆ แต่เธอกล่าวเสริมว่า "ขณะที่รัสเซียกำลังทำสงครามกับยูเครนในปัจจุบัน นักการเมืองฝ่ายค้านคนใหม่อย่าง บอริส นาเดซดิน ก็ได้สร้างขบวนการต่อต้านสงครามขึ้นมา เพื่อต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัสเซีย"
*บอริส นาเดซดิน จะขึ้นมาแทนที่ อเล็กเซ นาวาลนี ได้หรือไม่
ดร. โนเบิลแสดงความเห็นว่า ไม่มีแคนดิเดตที่ชัดเจนที่จะขึ้นมาแทนนาวาลนี ซึ่งนั่นบ่งบอกว่า ความโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่ทางการเมืองในรัสเซียอย่างทำเนียบเครมลินนั้น ได้ทำลายความพยายามในการต่อต้านวลาดิเมียร์ ปูติน
ดร.โนเบิลกล่าวต่อว่า การเลือกตั้งในรัสเซียกำลังจะมีขึ้นในเดือนหน้า (15-17 มี.ค.) และปูตินก็คงจะต้องได้ชัยชนะอย่างแน่นอน
บางทีตอนนี้ บอริส นาเดซดิน ผู้ที่พยายามจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับปูตินในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นนั้น อาจจะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านที่โดดเด่นที่สุดแล้วในรัสเซีย เพราะนาเดซดินเรียกร้องให้รัสเซียยุติสงครามในยูเครน และเริ่มการเจรจากับชาติตะวันตก
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการเลือกตั้งกลางและศาลสูงของรัสเซียได้ตัดสิทธิ์และสั่งห้ามนาเดซดินลงเลือกตั้ง แม้เขาได้ยื่นอุทธรณ์ก็ตาม
"มองในทางบวกก็คือ การเสียชีวิตของนาวาลนีอาจสร้างฉากใหม่ให้กับนาเดซดิน ... และนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่แท้จริง" นางเดอ เบนเดิร์นกล่าว
"แต่ในทางลบนั้น เราอาจจะเห็นนาเดซดินถูกปิดปากให้อยู่อย่างเงียบ ๆ ไม่ว่าจะด้วยความกลัว หรือด้วยวิธีการรุนแรงใด ๆ ที่จะมีผลกระทบกับเขาอย่างยาวนาน"
ดร.โนเบิลกล่าวว่า ในช่วงแรก ๆ นั้น ก็ดูเหมือนว่า เครมลินจะยอมรับนาเดซดินได้ แต่ตอนนี้คงจะเริ่มหวาดกลัวขึ้นมาแล้ว เมื่อเห็นผู้คนมากมายออกมาให้การสนับสนุนนาเดซดิน
"ผมคิดว่าตอนนี้ เครมลินจะจับตามากขึ้นต่อโอกาสที่ นาเดซดิน จะกลายเป็นอีกจุดหนึ่งของความไม่แน่นอนในระบบการเมืองรัสเซียซึ่งจะถูกต่อต้านเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผมก็ไม่คิดว่า เราควรคาดหวังให้นาเดซดินพยายามเข้ามารับหน้าที่แทนนาวาลนี เพราะสาเหตุหลัก ๆ ก็คือ ทางการรัสเซียจะไม่ยินยอมให้เป็นเช่นนั้น"
*ผมจะไม่เดินตามรอยความผิดพลาดของนาวาลนี
บอริส นาเดซดิน กล่าวว่า เขาจะไม่ปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนออกมาประท้วงต่อการที่เขาถูกกีดกันจากการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในเดือนหน้า เพราะว่า เขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของอเล็กเซ นาวาลนี
"มันจะทำให้ผู้ที่สนับสนุนผมต้องเผชิญหน้ากับตำรวจและกองกำลัง "รอสกวาร์เดีย" (Rosgvardia)" นายนาเดซดินกล่าวกับหนังสือพิมพ์มอสโก ไทมส์ โดยระบุถึงการปราบปรามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้กับการก่อหวอดประท้วงที่ไม่ได้รับอนุญาต
"นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแต่อย่างใด"
นาเดซดินซึ่งหวังจะแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียเพื่อประณามการทำสงครามในยูเครนอย่างเปิดเผยนั้น ได้ถูกศาลฎีกาตัดสินในสัปดาห์ที่ผ่านมาในการห้ามไม่ให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้เขาได้รับการรับรองจากชาวรัสเซียหลายพันคนก็ตาม ขณะที่นายนาเดซดินระบุว่า เขาวางแผนยื่นอุทธรณ์อีกเพื่อคัดค้านคำตัดสินดังกล่าว
"เราจะพยายามกลับมาขอใช้สิทธิในการลงเลือกตั้ง โดยใช้ระบบตุลาการ" เขาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์เดอะมอสโก ไทมส์
ด้านนาวาลนีเองก็เคยถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียเช่นกัน และการรณรงค์หาเสียงของนาวาลนีในปี 2561 ได้ถูกสั่งระงับด้วยข้อกล่าวหาทางอาญาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง โดยนาวาลนีได้ทำการตอบโต้ด้วยการจัดการประท้วงครั้งใหญ่ ซึ่งลงเอยด้วยการที่รัฐทำการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดร้ายทั่วประเทศ
การเสียชีวิตของนาวาลนีซึ่งเป็นนักวิจารณ์ที่น่าเกรงขามที่สุดของทำเนียบเครมลินนั้น ได้ทำให้เกิดความสิ้นหวังกับสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล หลังจากที่เผชิญกับการปราบปรามของทางการรัสเซียมานานหลายปี
นาเดซดินปฏิเสธที่จะใช้กลวิธีแบบนาวาลนี โดยเขาตั้งเป้าที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านระบบการเลือกตั้ง แทนที่จะเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
"ผมไม่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นในรัสเซีย" เขากล่าว "ผมต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงจากผลของการเลือกตั้ง"
นาเดซดินระบุว่า เขาและนาวาลนีเลือกเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างมาก การมุ่งเป้าตรวจสอบปูตินและวิถีชีวิตฟุ่มเฟือยของผู้นำประเทศรัสเซียนั้น ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมาก
"นาวาลนีต้องโทษจำคุกเพราะเขาวิพากษ์วิจารณ์ปูตินในเรื่องส่วนตัว และแสดงถ้อยคำที่รุนแรงอย่างมากเกี่ยวกับปูติน" นาเดซดินกล่าว "ส่วนผมนั้นจะวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะนโยบายของปูติน ผมไม่เคยพูดถึงเขาในฐานะบุคคล และไม่เคยไปแตะเรื่องส่วนตัวของเขา"
นาเดซดินยังกล่าวอีกว่า กลยุทธ์ของนาวาลนีในการเปิดเผยเรื่องการคอร์รัปชันในรัฐบาลนั้น ไม่ได้ผลในบริบทด้านการเมืองของรัสเซียในปัจจุบัน
"ข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชันใช้ไม่ได้ผลในรัสเซีย เพราะชาวรัสเซียส่วนใหญ่ก็คิดแบบนี้ไม่มากก็น้อย ถ้ามีใครอยู่ในรัฐบาล ก็เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่งที่เขาจะได้รับรายได้ที่ผิดกฎหมาย น่าเสียดายที่มันเป็นเช่นนั้น" นาเดซดินระบุ
นักวิเคราะห์ด้านการเมืองให้ความเห็นว่า ความนิยมของนาเดซดินเพิ่มขึ้น เพราะชาวรัสเซียเบื่อหน่ายกับผลกระทบของสงคราม
"ชาวรัสเซียส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพ ทุกคนเบื่อหน่ายกับสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษของกองทัพ" นาเดซดินกล่าว
นาเดซดินได้ให้คำมั่นสัญญาว่า หากเขาได้รับการเลือกตั้ง เขาจะเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที จะเข้าร่วมการเจรจากับยูเครนและพันธมิตรตะวันตก รวมถึงจะพาทหารเกณฑ์ของรัสเซียกลับสู่บ้านเกิด
"แม้การเจรจานั้นจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากอย่างมาก และจะต้องใช้เวลาหลายปีก็ตาม" นาเดซดินกล่าว
ทั้งนี้ การที่นาเดซดินถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงเลือกตั้งนั้นก็เท่ากับเป็นส่งสัญญาณว่า ทำเนียบเครมลินไม่ยอมรับต่อการที่สาธารณชนคัดค้านการทำสงครามรุกรานยูเครน
รัสเซียน ฟิลด์ (Russian Field) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นเปิดเผยผลสำรวจเมื่อปลายเดือนม.ค.พบว่า ความนิยมของนาเดซดินอยู่ที่ 7.8% ซึ่งสูงกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ อย่างมาก และเป็นรองแค่ปธน.ปูตินคนเดียวที่กวาดคะแนนนิยมไปถึง 62%