สงครามแบนติ๊กต๊อก (TikTok) แอปชื่อดังของบริษัทไบต์แดนซ์ (Bytedance) ร้อนแรงขึ้นตามอุณหภูมิโลก หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายระบุให้ไบต์แดนซ์ขายกิจการติ๊กต๊อกภายในระยะเวลา 6 เดือน มิฉะนั้น ติ๊กต๊อกจะถูกแบนในสหรัฐ ทั้งที่มีผู้ใช้บริการติ๊กต๊อกถึง 170 ล้านราย
สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 352 ต่อ 65 และได้ส่งต่อร่างกฎหมายนี้ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณา หากวุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายนี้เมื่อใด ร่างกฎหมายจะถูกส่งต่อไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งไบเดนเองก็ได้ประกาศจุดยืนและความพร้อมที่จะลงนามในร่างกฎหมายดังกล่าว หากสภาคองเกรสไฟเขียว
ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จริง ไบต์แดนซ์คงจะต้องขออนุมัติจากทางการจีนเพื่อขายกิจการ แต่สถานการณ์ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น ในวันนี้ (20 มี.ค.) เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของสหรัฐจะสรุปข้อมูลให้กับวุฒิสภารับฟังเกี่ยวกับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นจากติ๊กต๊อก
แม้ว่า ขั้นตอนการพิจารณายังอยู่ในกระบวนการของวุฒิสภา แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีผู้ออกมาแสดงความสนใจที่จะซื้อกิจการติ๊กต๊อก และนักลงทุนรายนี้ก็ไม่ใช่ใครเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ นายสตีเวน มนูชิน อดีตรมต.คลังสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังรวบรวมนักลงทุน เพื่อเข้าซื้อกิจการติ๊กต๊อก เนื่องจากมองว่าติ๊กต๊อกเป็นธุรกิจที่ดีมาก และควรจะเป็นแพลตฟอร์มที่ภาคธุรกิจของสหรัฐควรจะเป็นเจ้าของมากกว่า
อย่างไรก็ดี นายมนูชินยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับนักลงทุนรายอื่นที่อาจเข้าร่วมซื้อกิจการติ๊กต๊อก และยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจีนจะยินยอมให้ไบต์แดนซ์ขายกิจการติ๊กต๊อกให้นักธุรกิจสหรัฐหรือไม่
*ทำไมถึงเกิดสงครามแบนติ๊กต๊อก
สมาชิกรัฐสภาสหรัฐที่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวมองว่า ติ๊กต๊อกเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากถูกควบคุมโดยประเทศที่เป็นศัตรูของสหรัฐอย่างแดนมังกร
ไมค์ กัลลาเกอร์ สมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐวิสคอนซิน ซึ่งมีส่วนร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า สหรัฐคงจะไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงจากแพลตฟอร์มข้อมูลรายใหญ่ที่ถูกควบคุมหรือมีเจ้าของที่มีความเกี่ยวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนได้
แม้ว่า ไบต์แดนซ์เองจะใช้ความพยายามในการเดินหน้ากิจการและสามารถเติบโตได้ในระดับสากล และทิ้งระยะห่างจากความเป็นบริษัทสัญชาติแดนมังกรด้วยการตั้งบริษัทในต่างประเทศและจ้างพนักงานต่างชาติแล้วก็ตาม แต่เหตุการณ์ที่ทางการจีนได้สั่งปิดแอปพลิเคชันของไบต์แดนซ์ที่มีชื่อว่า Pipixia ซึ่งนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องตลกขบขัน คลิปวิดีโอ มีม และรูปภาพต่าง ๆ เมื่อปี 2561 จนนายจาง ยี่หมิง ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์ต้องออกมาขอโทษที่บริษัทดำเนินงานโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับค่านิยมหลักของหลักการสังคมนิยม และให้คำมั่นทิ้งท้ายว่า จะปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของแอปให้ถูกต้อง รวมทั้งเพิ่มขั้นตอนการเซนเซอร์คอนเทนต์ด้วยนั้น สะท้อนให้เห็นว่า คงจะไม่มีบริษัทเอกชนรายใดที่สามารถหลุดพ้นจากการควบคุมดูแลของทางการจีนได้ รวมทั้งไบต์แดนซ์ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ การที่ติ๊กต๊อกเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากทำให้เกิดความกังวลตามมาว่า รัฐบาลจีนอาจจะใช้กฎหมายความมั่นคงบีบให้ไบต์แดนซ์ส่งมอบข้อมูลของผู้ใช้บริการติ๊กต๊อกในสหรัฐที่มีถึง 170 ล้านรายให้กับรัฐบาล แม้ว่า ทางติ๊กต๊อกจะยืนกรานว่า จะไม่ส่งมอบข้อมูลของผู้ใช้งานในต่างประเทศให้กับรัฐบาลจีนก็ตาม
ภายหลังจากที่ร่างกฎหมายแบนติ๊กต๊อกผ่านสภาผู้แทนฯ ไบต์แดนซ์ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้ส่งเมสเซจถึงกลุ่มผู้ใช้งานในสหรัฐให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกล่อมสภาคองเกรส รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ใช้งานติ๊กต๊อกติดต่อสมาชิกสภาฯในพื้นที่ของผู้ใช้งาน ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ เหล่าผู้ใช้ติ๊กต๊อกก็พากันระดมโทรเข้าไปยังสำนักงานของสมาชิกสภาคองเกรสเพื่อประท้วงร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
ขณะที่นายโจว โซ่วจือ ซีอีโอของติ๊กต๊อกกล่าวถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า อาจจะทำให้รายได้หลายพันล้านดอลลาร์ของเหล่าครีเอเตอร์และธุรกิจเล็ก ๆ ในสหรัฐที่สามารถทำรายได้จากติ๊กต๊อกสูญหายไป และยังจะทำให้ชาวอเมริกันกว่า 3 แสนรายต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะตกงานด้วย
*จีนเตือนมาตรการแบนติ๊กต๊อกย้อนทำร้ายสหรัฐเอง
โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกมาแถลงว่า สหรัฐควรเคารพหลักการของเศรษฐกิจแบบตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง และหยุดปราบปรามบริษัทต่างชาติอย่างไม่เป็นธรรมได้แล้ว พร้อมกับเสริมว่า จีนจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของจีน
ทางด้านนายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาประณามร่างกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่า "สหรัฐไม่เคยพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าติ๊กต๊อกคุกคามความมั่นคงของชาติ แต่สหรัฐก็ไม่เคยหยุดปราบปรามติ๊กต๊อก"
"พฤติกรรมการกลั่นแกล้งดังกล่าวเพราะไม่สามารถเอาชนะในการแข่งขันที่เป็นธรรมได้ ถือเป็นการขัดขวางการดำเนินธุรกิจตามปกติของบริษัทต่าง ๆ ทั้งยังบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อสภาพแวดล้อมการลงทุน ตลอดจนเป็นอันตรายต่อระเบียบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ"
"ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งนี้จะย้อนกลับมาทำร้ายสหรัฐเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" นายหวังกล่าวทิ้งท้าย
*วิเคราะห์สงครามแบนติ๊กต๊อกจากมุมมองนักวิเคราะห์
แน่นอนว่า มุมมองที่มีต่อเรื่องติ๊กต๊อกนั้นแตกออกไปหลายทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภัยคุกคาม ความไว้วางใจในแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในสหรัฐที่มีผู้ใช้บริการติ๊กต๊อกถึง 170 ล้านราย
นายสตีเวน โอคุน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเอแพค แอดไวเซอร์ (APAC Advisors) บริษัทที่ปรึกษาจากสิงคโปร์มองว่า สหรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการควบคุมเพิ่มขึ้น เพื่อตรวจสอบการแข่งขันฝั่งจีน ในขณะเดียวกันสหรัฐก็เดินหน้าลดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน และทำให้เกิดคำถามตามมาว่า "ขอบเขตของมาตรการนั้นจะกว้างแค่ไหน"
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการด้านพลังงานและการพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 0 ในการอนุมัติยื่นเสนอร่างกฎหมายที่จะแบนติ๊กต๊อก หากไบต์แดนซ์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ไม่ยอมขายกิจการติ๊กต๊อกภายในระยะเวลา 6 เดือน
แถลงการณ์ของคณะกรรมการ ฯ ระบุว่า "ตราบใดที่ไบต์แดนซ์ยังคงเป็นเจ้าของและจำเป็นต้องร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ติ๊กต๊อกก็ยังคงก่อให้เกิดภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติของเรา"
นายโอคุนมองว่า คณะกรรมการด้านพลังงานฯ ของสหรัฐ ต้องการรีเซตความสัมพันธ์กับจีนใหม่ สหรัฐได้ขัดขวางจีนไม่ให้เข้าถึงตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะในภาคส่วนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจจะมีอำนาจควบคุม สหรัฐจึงเน้นไปที่การผลิตภายในประเทศแทนที่จะพึ่งพาจีน และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลยุทธ์
แม้ว่า ไบต์แดนซ์จะได้พยายามเดินรอยตามบริษัทสัญชาติจีนที่ต้องการเติบโตในตลาดโลกแล้ว แต่การที่จะได้มาซึ่งความเชื่อใจในสหรัฐและชาติตะวันตกไม่ใช่เรื่องง่าย แม้หลังจากที่บริษัทแม่ของติ๊กต๊อกได้ตีตัวออกห่างจากรากเหง้าและสายสัมพันธ์กับแดนมังกรแล้วก็ตาม
*กับดักมหาอำนาจ 2 ขั้ว
ชี่ฉวน จือ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Bucknell มองว่า ความตึงเครียดและการแข่งขันชิงดีชิงเด่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างจีนและสหรัฐทำให้บริษัทเทคโนโลยีและธุรกิจทั่วไปของจีนต้องพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ บริษัทและธุรกิจเหล่านี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยสหรัฐและชาติตะวันตกเองก็ใช้มาตรการคว่ำบาตรและเข้มงวดกับบริษัทเหล่านี้ ขณะที่จีนเองก็หันไปให้การสนับสนุนบริษัทของรัฐบาลมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โอกาสสำหรับบริษัทเทคโนโลยีและธุรกิจเอกชนของจีนมีน้อยลง มิหนำซ้ำยังต้องรับมือกับความท้าทายมากยิ่งขึ้น
ทางด้าน อเล็กซ์ คาปรี อาจารย์มหาวิทยาลัยเนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ สิงคโปร์ และนักวิจัยของมูลนิธิฮินริช มีมุมมองที่คล้ายกันว่า บริษัทต่าง ๆ อย่างบริษัทแม่ของติ๊กต๊อกเองที่มีรากฐานมาจากจีนนั้นต้องติดกับดักของมหาอำนาจสุดขั้วจากทั้งพรรคคอมมิวนิสต์และชาติตะวันตกที่กังขากับเรื่องของรูปแบบและความโปร่งใสในการดำเนินงาน การที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนต้องทำธุรกิจภายใต้วังวนแห่งความสงสัยคลางแคลงใจเช่นนี้ เป็นเพราะความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างสิ้นเชิง
อาจารย์คาปรีกล่าวว่า เมื่อลัทธิชาตินิยมด้านเทคโนโลยีขยายวงมากยิ่งขึ้น ความสามารถด้านเทคโนโลยีจึงเปรียบเสมือนสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ บริษัทเทคโนโลยีของจีนจึงถูกพันธนาการด้วยกฎหมายและกฎระเบียบของจีน ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องแชร์ข้อมูลกับทางรัฐบาล และกลายเป็น "ตัวแทนของรัฐบาลในเชิงพฤตินัยไปโดยปริยาย"
"หากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ติ๊กต๊อกอาจจะดำเนินการตามกฎหมายด้วยการฟ้องร้องเพื่อทวงถามหาความยุติธรรมหรือทางออก" อาจารย์คาปรีกล่าว
ศึกระหว่างมหาอำนาจและการเมืองจะส่งผลกับติ๊กต๊อกอย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป