หลังจากที่การต่อสู้กับรัฐบาลทหารของเมียนมาดำเนินมานานกว่า 3 ปี ดูเหมือนว่าแสงแห่งความหวังจะเริ่มสาดส่องมายังฝ่ายพลเรือนแล้ว เมื่อกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) และกลุ่มพันธมิตร สามารถเข้ายึดเมืองเมียวดีอันเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้สำเร็จ
ชัยชนะดังกล่าวของกลุ่มกบฏ นับเป็นการตอกย้ำความพ่ายแพ้อีกครั้งของรัฐบาลทหารเมียนมา หลังจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาถูกฝ่ายต่อต้านยึดพื้นที่ตามแนวพรมแดนจีนในรัฐฉานและพื้นที่ต่าง ๆ ในรัฐยะไข่ใกล้พรมแดนบังกลาเทศ
*เมืองเมียวดี จุดยุทธศาสตร์สำคัญ
เมืองเมียวดีเป็นเมืองชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมา ซึ่งเชื่อมต่อกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของประเทศไทยด้วยสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 นอกจากนี้ เมืองเมียวดียังถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้ามูลค่ากว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 12 เดือนถึงเดือนเม.ย.ปีนี้
*กองกำลังทหารทิ้งค่าย ฝ่ายต่อต้านยึด "เมียวดี"
สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานเมื่อวันเสาร์ (6 เม.ย.) ว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงและกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอื่น ๆ ได้รุกเข้าโจมตีเมืองเมียวดีอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ทหารเมียนมาหลายร้อยนายที่รับผิดชอบรักษาเมืองเมียวดีจะยอมศิโรราบต่อฝ่ายต่อต้าน โดยทางกองกำลังได้ประกาศยอมรับคำขอยอมแพ้ของกองทหารเมียนมาในเขตทานกานยีนอง (Thanganyinaung) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางตะวันตกประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนจะเข้าเจรจากับกองทหารเมียนมาที่เหลือในเมืองเมียวดี ซึ่งพวกเขาก็ตกลงยอมแพ้เช่นกัน
ทั้งนี้ การสู้รบดังกล่าวส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต ยอมแพ้ หรือแปรพักตร์จำนวนมาก ซึ่งบีบให้กองทัพเมียนมาต้องออกคำสั่งเกณฑ์ทหารเพื่อชดเชยกำลังพล
*ปฏิบัติการยึดคืนเมืองล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมายังคงไม่ยอมแพ้ และได้รุกคืบเข้าสู่เมืองเมียวดีผ่านทางเมืองกอกาเระ (Kawkareik) ภายใต้ปฏิบัติการอองเซยา (Aung Zeya) โดยมีเป้าหมายเพื่อยึดคืนเมืองเมียวดีจากฝ่ายต่อต้าน แต่ความพยายามดังกล่าวกลับต้องคว้าน้ำเหลว เนื่องจากฝ่ายต่อต้านสามารถสกัดเอาไว้ได้ และมีรายงานว่า ทหารเมียนมาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 100 นาย โดยกองพันทหารราบที่ 275 เป็นทหารชุดสุดท้ายของกองทัพเมียนมาในเมืองเมียวดีได้ละทิ้งค่ายตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เพื่อไปหลบซ่อนตัวใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และยังคงปฏิเสธที่จะยอมแพ้
เว็บไซต์ข่าวดิ อิรวดี (The Irrawaddy) ของเมียนมารายงานเมื่อคืนวันศุกร์ (19 เม.ย.) ว่า กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงและกลุ่มพันธมิตร ได้ใช้โดรนทิ้งระเบิดโจมตีทหารเมียนมาประมาณ 150 นาย ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ในฝั่งเมียนมา ก่อนเปิดปฏิบัติการโจมตีอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเช้าวันเสาร์เพื่อยึดเมืองเมียวดีแบบเบ็ดเสร็จ
นักรบฝ่ายต่อต้านที่เข้าร่วมสู้รบในครั้งนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับดิ อิรวดีว่า ทหารเมียนมาบาดเจ็บล้มตายตั้งแต่คืนวันเสาร์และกระจัดกระจายไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ
"จากทหารทั้งหมด 150 นาย ขณะนี้เหลือเพียง 70 นายเท่านั้น" นักรบฝ่ายต่อต้านระบุ พร้อมกล่าวเสริมว่า ฝ่ายต่อต้านจะเดินหน้าไล่ล่าทหารเมียนมาต่อไป
*เกณฑ์โรฮิงญา
เมื่อสถานการณ์ดูเหมือนจะไม่สู้ดีนัก รัฐบาลทหารเมียนมาจึงหันมาเกณฑ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งเคยเผชิญกับการกวาดล้างในปี 2560 และต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศอีกกว่า 1 ล้านคน ไปเป็นแนวหน้าในสมรภูมิ โดยชาวบ้านในรัฐยะไข่ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า มีชาวโรฮิงญากว่า 100 คนที่ถูกเกณฑ์ไปสู้รบ
ขณะที่สำนักข่าวอาร์เอฟเอ (RFA) รายงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้บีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาออกมาเดินขบวนประท้วงการโจมตีของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งผู้เข้าร่วมการประท้วงระบุว่า ทางการได้เกณฑ์ชาวโรฮิงญาราว 1,000 คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาถือป้ายประณามการโจมตีของกองทัพอาระกัน (AA) และเรียกร้องให้ยุติการสู้รบ พร้อมระบุว่า หากใครไม่เข้าร่วมการประท้วงจะถูกปรับหรือถูกลงโทษ
"ทหารเมียนมาเข้ามาในหมู่บ้านและจัดการประชุม โดยสั่งให้พวกเราทำป้ายประท้วงที่ระบุว่า "เราไม่ต้อนรับกองกำลังอาระกัน" หากไม่ทำตาม พวกเขาขู่ว่าจะจับกุมและจะยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านของเรา" ชาวบ้านในเกาะมานอ่องกล่าว
*ผลกระทบต่อประชาชน
เจ้าหน้าที่จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเมียนมาที่ถูกเนรเทศมาอยู่ที่อำเภอแม่สอดประเมินว่า อำเภอแม่สอดได้รองรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาแล้วประมาณ 30,000 รายนับตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 โดยตัวเลขผู้ลี้ภัยเริ่มสูงขึ้นหลังกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงและพันธมิตรอย่างกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เริ่มขับไล่ทหารจากกองทัพเมียนมาออกจากเมืองเมียวดี
ขณะที่รายงานของเว็บไซต์ข่าวดิ อิรวดี เมื่อวันพุธ (10 เม.ย.) ระบุว่า ประชาชนกว่า 1,000 รายจากเมืองเมียวดีของรัฐกะเหรี่ยงในประเทศเมียนมาได้เดินข้ามสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาเข้าสู่อำเภอแม่สอดของจังหวัดตากในประเทศไทยเมื่อที่ 9-10 เม.ย.ที่ผ่านมา
*ความเคลื่อนไหวของไทย
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยเปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานความมั่นคงในวันที่ 11 เม.ย. ว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นทางการไทยได้เตรียมแผนรองรับเหตุการณ์เช่นนี้มานานแล้ว และสามารถรับผู้อพยพได้ประมาณ 1 แสนคนเข้ามาอยู่ในที่ปลอดภัยแบบชั่วคราว พร้อมเน้นย้ำถึงการวางตัวเป็นกลาง
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ระบุว่า สถานการณ์สู้รบในเมืองเมียวดีเป็นเรื่องภายในของประเทศเมียนมา แต่ก็ได้กำชับไปยังกองทัพ และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ส่งข้อความไปถึงเมียนมาอย่างชัดเจนว่า หากมีปัญหาภายในก็อย่าให้ล้นออกมา พร้อมยืนยันว่า จะสั่งการไม่ให้เครื่องบินของกองทัพเมียนมา เข้ามารุกล้ำน่านฟ้าไทย
แม้การสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนานในเมียนมาดูเหมือนชัยชนะจะเริ่มเอนเอียงไปทางฝั่งกบฏ แต่เรายังคงต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า ในท้ายที่สุดแล้วฝ่ายใดจะเป็นผู้กำชัย