เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยกำลังดึงดูดความสนใจของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ระดับโลกที่ต้องการเข้ามาเจาะตลาดด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และศูนย์ข้อมูล (Data Centers) ที่กำลังเติบโตของภูมิภาค และอาจจะสร้างโอกาสมากมายให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายการดำเนินงานในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีประชากรรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี
In Focus สัปดาห์นี้ จะพาไปสำรวจแนวโน้มการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่อันดับต่อไป (Next Big Thing) ของบรรดาบริษัทบิ๊กเทคฯ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีประชากรจำนวนมาก มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น มีตลาดอีกมากที่ยังไม่ได้เข้าถึง มีเมืองที่กำลังขยายตัว มีธุรกิจสตาร์ตอัป และมีความสำคัญในระดับโลก
*บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่เบนเข็มธุรกิจสู่เอเชียอาคเนย์
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น แอปเปิ้ล ไมโครซอฟท์ อะเมซอน กูเกิล และอินวิเดีย ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาลในเทคโนโลยี AI และโครงสร้างพื้นฐานของศูนย์ข้อมูลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตระหนักถึงศักยภาพของภูมิภาคนี้ในฐานะตลาดที่มีการเติบโตอย่างมาก และกำลังวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพนั้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิ้ล, ไมโครซอฟท์ และอินวิเดีย รวมถึงผู้บริหารระดับสูงรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ได้เดินทางมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อไม่นานมานี้ และได้สัญญาที่จะทุ่มเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในประเทศต่าง ๆ อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย และในสัปดาห์ที่ผ่านมา อะเมซอนก็ได้เปิดเผยแผนการลงทุนมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในประเทศสิงคโปร์
*มุ่งเป้าลงทุนขยายศูนย์ข้อมูลทั่วภูมิภาค
ศูนย์ข้อมูลเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการจัดเก็บ ประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น บรรดายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจึงต้องเพิ่มการลงทุนในศูนย์ข้อมูลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกตัวอย่างเช่น อินวิเดียเพิ่งประกาศแผนการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นในมาเลเซียเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูล AI มูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์ในเมืองยะโฮร์บาห์รู
อินวิเดียยังมุ่งเป้าหมายไปที่เวียดนามด้วย โดยนายเจนเซ่น หวง ซีอีโอของอินวิเดียมองว่า เวียดนามจะเป็นบ้านหลังที่สองที่มีศักยภาพ ซึ่งสื่อท้องถิ่นได้รายงานไว้ในระหว่างการเยือนของเขาในเดือนธ.ค. 2566
ขณะเดียวกันไมโครซอฟท์ก็ได้ขยายธุรกิจด้านศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคด้วยการประกาศการลงทุนในประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการคลาวด์และความสามารถด้าน AI
ด้านนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์กล่าวในงาน Microsoft Build: AI Day ในโอกาสมาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่นและมีโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI โดยการเปิดศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ สำหรับคลาวด์และ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์เพื่อช่วยให้องค์กรไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโตร่วมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย โดยในงานดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น นายนาเดลลาได้จับมือและสนทนากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงและนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของไทย
นอกจากนี้ นายนาเดลลายังได้เดินทางเยือนอินโดนีเซียและมาเลเซียด้วย พร้อมทั้งประกาศการลงทุนหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐใน 2 ประเทศดังกล่าว
ส่วนนายทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิ้ลได้เดินทางไปยังเวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีของประเทศเหล่านี้ และประกาศการลงทุนครั้งใหม่ ในขณะที่แอปเปิ้ลกำลังแสวงหาภูมิภาคใหม่ ๆ ที่มีการเติบโตนอกเหนือไปจากจีนซึ่งยอดขายของแอปเปิ้ลชะลอตัวลง
*ขับเคลื่อนนวัตกรรม AI
เทคโนโลยี AI กำลังจะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น โดยจะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรม ประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน บรรดาบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ตระหนักถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของ AI โดยกำลังดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้าน AI โดยร่วมมือกับรัฐบาลและสถาบันท้องถิ่น และลงทุนในโครงการริเริ่มการพัฒนาผู้มีความสามารถเพื่อเร่งการนำ AI มาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระแสที่มาแรงของ AI ยังกระตุ้นให้ผู้นำด้านเทคโนโลยีมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อการขยายตัว และวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลสำหรับอนาคตของภูมิภาค
ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ต่างชื่นชอบในสิ่งที่ดี ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การมีแรงงานทักษะซึ่งมีค่าจ้างไม่สูงมาก ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างเทคโนโลยีที่มีราคาแพง เช่น โมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งเงินและบุคลากรที่มีทักษะ โดยบริษัทอเมริกันหลายแห่งระบุว่า พวกเขาจะทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อฝึกอบรมพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์เปิดเผยว่า บริษัทจะฝึกอบรมทักษะด้าน AI ให้กับผู้คนจำนวน 2.5 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2568
*ความท้าทายและโอกาสในการลงทุน
แม้ว่าการลงทุนด้าน AI และศูนย์ข้อมูลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีแนวโน้มที่สดใส แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น ความซับซ้อนด้านกฎระเบียบ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัทเทคโนโลยี รัฐบาล และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับนวัตกรรมและการขยายตัว
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ ยังมีโอกาสที่สำคัญสำหรับการทำงานร่วมกันและการเป็นหุ้นส่วน ด้วยการใช้ประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะของภูมิภาค การส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อนวัตกรรม และการจัดการกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางระดับโลกสำหรับนวัตกรรม AI และความเป็นเลิศของศูนย์ข้อมูล
ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 675 ล้านคน ภูมิภาคนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนด้านเทคโนโลยี บริษัทใหญ่ ๆ กำลังวางแผนที่จะทุ่มทุนสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโดยเฉพาะกับศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ เนื่องจากคนหนุ่มสาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ เช่น การดูวิดีโอออนไลน์ การชอปปิงทางอินเทอร์เน็ต และการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI)
ฌอน ลิม ผู้จัดการของเอ็นดับบลิวดี โฮลดิ้งส์ในสิงคโปร์ซึ่งลงทุนในโครงการด้าน AI และอื่น ๆ กล่าวว่า "ประเทศต่าง ๆ อย่าง สิงคโปร์และมาเลเซียนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วมีความเป็นกลางต่อความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นกับจีนและสหรัฐ รวมถึงยูเครนและรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สงครามกำลังดำเนินอยู่ ดังนั้นภูมิภาคนี้จึงมีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น"
จำนวนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังทำให้ภูมิภาคนี้เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพแทนจีนในฐานะศูนย์กลางของผู้มีความสามารถเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั่วโลกของบริษัทต่าง ๆ ในขณะที่รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ผลักดันให้มีการปรับปรุงด้านการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงกลายเป็นฐานที่น่าสนใจสำหรับทุกสิ่งตั้งแต่การผลิตและศูนย์ข้อมูล ไปจนถึงการวิจัยและการออกแบบ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับอุปกรณ์และบริการออนไลน์อีกด้วย โดยรัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า ประชาชนประมาณ 65% ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นชนชั้นกลางภายในปี 2573 โดยจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่กูเกิล, เทมาเส็ก โฮลดิงส์ และเบน แอนด์ โคคาดว่า มูลค่าตลาดบริการบนอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็น 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
*บทสรุปและการมองไปข้างหน้า
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีรู้สึกตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น ก็เนื่องมาจากปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) ซึ่งประชาชนจำนวนมากกำลังเริ่มใช้งาน โดยเคียร์เน่ (Kearney) ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาเปิดเผยรายงานระบุว่า ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ AI เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโตขึ้นประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 นั่นหมายความว่าจำเป็นต้องมีศูนย์ข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเพื่อจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ส่งผ่านระหว่างผู้สร้างเนื้อหา บริษัท และลูกค้า
ข้อมูลจากคุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ (Cushman & Wakefield) ระบุว่า ความต้องการศูนย์ข้อมูลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียเหนือคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 25% ต่อปีจนถึงปี 2571 สูงกว่า 14% ต่อปีในสหรัฐ และภายในปี 2571 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นแหล่งรายได้ของศูนย์ข้อมูลใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกโดยไม่นับรวมรายได้จากสหรัฐ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เทคโนโลยี AI และศูนย์ข้อมูลจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกำหนดภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคด้วยการควบคุมพลังของข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วย AI และการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในการปฏิวัติด้าน AI เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตที่ครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค