นับเป็นข่าวใหญ่สำหรับบรรดาผู้ขับขี่รถยนต์และคนรักรถ โดยเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่น เมื่อกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นเดินหน้าตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์จำนวน 85 รายเพื่อประเมินว่าได้รับการรับรองอย่างเหมาะสมหรือไม่ หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวหลายครั้งกับบริษัทในเครือโตโยต้า ก่อนจะพบกับความจริงที่น่าตกใจเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางการทดสอบความปลอดภัย ... วันนี้ In Focus จึงขอพาท่านผู้อ่านย้อนรอยเหตุการณ์ก่อนที่จะดำเนินมาถึงจุด ๆ นี้
*จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบ
มหากาพย์การตรวจสอบในวงการรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ไดฮัทสุ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในเครือของโตโยต้า มอเตอร์ ออกมายอมรับเมื่อเดือนเม.ย. 2566 ว่า มีการตรวจพบการปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัยการชนด้านข้างของรถยนต์ขนาดเล็กย้อนหลังไปถึงปี 2532 คณะกรรมการอิสระจึงได้ดำเนินการสอบสวนไดฮัทสุ ซึ่งผลการตรวจสอบพบปัญหาในรถทั้งหมดประมาณ 64 รุ่น รวมถึงรถยนต์ 22 รุ่นที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า
ไดฮัทสุจึงประกาศระงับการดำเนินการและการส่งมอบในวันที่ 25 ธ.ค. 2566 อีกทั้งเรียกคืนรถยนต์รุ่นแคสต์ (Cast) ที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ไดฮัทสุ และเรียกคืนรุ่นพิกซิส จอย (Pixis Joy) ที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบริษัทแม่อย่างโตโยต้า เนื่องจากพบว่าประตูมีความบกพร่อง รวม 322,740 คัน โดยการเรียกคืนรถยนต์มีขึ้นหลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งเพิกถอนการรับรองรถยนต์ 2 รุ่นดังกล่าว
การระงับการดำเนินงานและการส่งมอบที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ซึ่งทั้งโตโยต้า รวมถึงมาสด้า มอเตอร์ และซูบารุ คอร์ป ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากไดฮัทสุเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนและเป็นผู้ให้บริการการผลิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ โดยไดฮัทสุส่งมอบชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับบริษัทต่าง ๆ มากกว่า 4,000 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ไดฮัทสุจะกลับมาผลิตรถยนต์ 2 รุ่นดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 2567 นั้น โตโยต้าได้ประกาศว่า โตโยต้า อินดัสทรีส์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้ปลอมแปลงเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับกำลังไฟฟ้าของเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตและจัดส่งเพื่อใช้ประกอบรถยนต์ 10 รุ่นของบริษัทที่ถูกจัดจำหน่ายทั่วโลก และได้ระงับการส่งมอบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดังกล่าวทั้ง 10 รุ่นเป็นการชั่วคราว ตลอดจนเรียกคืนรถยนต์จำนวน 806,000 คันทั่วโลก ซึ่งรวมถึงรถรุ่น Yaris, Aqua และ Sienta เนื่องจากพบปัญหาลูกปืนสึกกร่อนหรือแตกภายใต้บางสภาพแวดล้อม
เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทั้งประธานและประธานกรรมการบริหารของไดฮัทสุ มอเตอร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 ก.พ. 2567 และไดฮัทสุถูกถอดออกจากความร่วมมือด้านยานยนต์เชิงพาณิชย์ที่เรียกว่า คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ตเนอร์ชิป เทคโนโลยี (CJPT)
*เปิดม่านการสอบสวน
จากเหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นเปิดฉากตรวจสอบบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์จำนวน 85 รายว่าได้รับการรับรองอย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวทำให้โตโยต้าได้ออกมายอมรับอีกครั้งในวันที่ 3 มิ.ย. 2567 ว่า ทางบริษัทได้รับหนังสือรับรองการทดสอบยานยนต์อย่างไม่เหมาะสมในรถ 7 รุ่น ซึ่ง 3 รุ่นยังอยู่ระหว่างการผลิต เนื่องจากบริษัทดำเนินการทดสอบความปลอดภัยในแนวทางที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ระบุไว้ โดยนายอากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้าได้แถลงข่าวขอโทษว่า "เราผลิตและจำหน่ายรถยนต์จำนวนมาก โดยไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการรับรองที่ถูกต้อง"
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังพบกรณีที่คล้ายกันนี้ที่บริษัทฮอนด้า มอเตอร์, มาสด้า มอเตอร์, ซูซูกิ มอเตอร์ และยามาฮ่า มอเตอร์ ด้วยเช่นกัน โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า โตโยต้าส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและควบคุมกำลังเครื่องยนต์ในระหว่างการทดสอบ ขณะที่มาสด้าจงใจเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ใหม่ ส่วนซูซูกิ ฮอนด้า และยามาฮ่า มอเตอร์ รายงานผลการทดสอบที่เป็นเท็จ รวมถึงการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องอื่น ๆ ส่งผลให้กระทรวงฯ สั่งระงับการจัดส่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกรุ่นที่ได้รับผลกระทบ
ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าและมาสด้าจึงประกาศระงับการผลิตรถยนต์รวม 5 รุ่นในวันที่ 6 มิ.ย. ได้แก่ รถยนต์รุ่น Corolla Fielder, Corolla Axio และ Yaris Cross ของโตโยต้า และรถยนต์รุ่น Roadster RF และ Mazda2 ของมาสด้า โดยโตโยต้าเปิดเผยว่า การระงับการผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างน้อยจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. ขณะที่มาสด้าระบุว่าทางบริษัทยังไม่มั่นใจว่าโรงงานจะสามารถกลับมาผลิตอีกครั้งได้เมื่อใด ส่วนยามาฮ่าถูกสั่งระงับการจัดส่งรถจักรยานยนต์รุ่น YZF-R1 และฮอนด้ามีรถยนต์ 22 รุ่นที่ดำเนินการทดสอบอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึง การส่งรายงานข้อมูลเท็จ แม้จะไม่มีรถยนต์รุ่นปัจจุบันของบริษัทที่ได้รับผลกระทบก็ตาม
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นจะตัดสินใจหลังการตรวจสอบว่าจะกำหนดบทลงโทษอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีก และพิจารณาว่าจำเป็นต้องเรียกคืนรถยนต์หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมหรือไม่
*ส่อเค้าบานปลาย
เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่นอย่างมาก และส่อเค้าว่าจะบานปลายยิ่งขึ้น เมื่อหนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน (Yomiuri Shimbun) ของญี่ปุ่นรายงานว่ารถยนต์จำนวนหนึ่งของบริษัทโตโยต้าไม่เป็นไปตามข้อกำหนดบางประการ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ใช้ใน 62 ประเทศและภูมิภาค ซึ่งอาจทำให้รถยนต์รุ่นต่าง ๆ เหล่านี้ถูกสั่งห้ามวิ่งบนท้องถนนในที่อื่น ๆ นอกเหนือจากในญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงในสหภาพยุโรปด้วย
ท่ามกลางการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังร้อนระอุทั่วโลกเช่นนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายไม่น้อยต่อชื่อเสียงด้านรถยนต์ของญี่ปุ่น และเราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร