In Focusเจาะเหตุโศกนาฏกรรมพิธีฮัจญ์ ยอดดับพุ่งทะลุหลักพัน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 26, 2024 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 14-19 มิ.ย. 2567 เกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในเทศกาลแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมทั่วโลก ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อันเนื่องมาจากคลื่นความร้อนที่ถาโถม โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมดอย่างน้อย 1,301 ราย จากจำนวนชาวมุสลิมที่เข้าร่วมพิธีทั้งหมดราว 1.8 ล้านคน ซึ่ง 1.6 ล้านคนเป็นชาวมุสลิมที่มาจากนอกประเทศซาอุดีอาระเบีย

In Focus ประจำสัปดาห์นี้จะขอพาท่านผู้อ่านไปทำความเข้าใจว่าเกี่ยวกับพิธีฮัจญ์ ตลอดจนสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการตอบสนองต่อเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้

*"พิธีฮัจญ์" คืออะไร

"ฮัจญ์" (Hajj) คือการเดินทางไปที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจตามแบบแผนของศาสดามุฮัมมัด ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8-13 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (เดือนที่ 12 ของปีฮิจเราะห์ศักราช) ของทุกปี โดยตรงกับวันที่ 14-19 มิ.ย.ในปีนี้

การประกอบพิธีฮัจญ์ถือเป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติ 5 ประการของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ชาวมุสลิมทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่จะต้องกระทำ หากพวกเขามีความพร้อมทั้งร่างกายและทรัพย์สิน รวมถึงมีความปลอดภัยในการเดินทางด้วย แต่ในกรณีสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจริง ๆ เช่น ผู้ป่วย หรือผู้ยากไร้ หากพวกเขาพยายามทำตนให้พร้อมและตั้งเจตนาว่าจะไปบำเพ็ญฮัจญ์ให้ได้สักวันหนึ่ง พระเจ้าก็จะทรงตอบรับความตั้งใจอันดีนั้นเช่นกัน

จุดประสงค์ของการประกอบพิธีฮัจญ์ คือเพื่อเพิ่มพูนความศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และร่วมยืนยันกับพี่น้องมุสลิมจากทั่วโลกว่า อัลลอฮ์คือพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยน และเรียนรู้จากชาวมุสลิมที่มาจากต่างแดนด้วย

*การประกอบพิธีฮัจญ์

พิธีฮัจญ์จะใช้เวลา 6 วัน โดยเริ่มจากการสวมชุดขาว ที่เรียกว่า "อิหฺรอม" ในขณะเดินทางไปยังมัสยิดฮะรอมในนครเมกกะ เพื่อแสดงเจตจำนงในการกระทำฮัจญ์ที่กะอ์บะห์ ก่อนที่จะเดินผ่านช่องเขาศอฟาและมัรวะห์ เพื่อไปค้างคืนที่ทุ่งมินา

ในวันรุ่งขึ้นชาวมุสลิมจะเดินทางไปที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์ เพื่อฟังธรรม, ระลึกถึงอัลลอฮ์, ขอพร และอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน โดยหันไปยังทิศทางของกะอ์บะฮ์ จนกระทั่งดวงอาทิตย์ตกดิน จึงจะออกจากอะเราะฟะฮ์ไปยังมุซดาลิฟะฮ์เพื่อเก็บก้อนหินขนาดใหญ่กว่าเมล็ดถั่วลิสงเล็กน้อยและค้างคืนที่นั่น

ในเช้าวันถัดมาชาวมุสลิมจะนำหินที่เก็บมา 7 ก้อนไปขว้างที่เสาต้นที่ 3 จากทั้ง 3 ต้นในทุ่งมินา จากนั้นจะกระทำการกุรบานซึ่งเป็นการเชือดพลีสัตว์ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้และนำมารับประทาน จากนั้นชาวมุสลิมเพศชายจะโกนศีรษะ ส่วนเพศหญิงจะขลิบปลายผม และเปลี่ยนจากชุดอิหฺรอมมาสวมชุดปกติ ก่อนจะเดินทางไปยังมัสยิดอัลฮะรอม เพื่อเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์ 7 รอบ และเดินระหว่างเขาศอฟาและมัรวะห์ เพื่อกลับไปค้างที่ทุ่งมินาอีก 3 คืน

ในระหว่าง 3 วันที่กลับมาค้างที่ทุ่งมินานั้น เมื่อถึงช่วงตะวันคล้อย ชาวมุสลิมจะเก็บหินหรือก้อนกรวดขนาดใหญ่กว่าเมล็ดถั่วลิสงเล็กน้อยเช่นเดิมจากทุ่งมินาจำนวน 21 เม็ดไปขว้างที่เสา 3 ต้น ต้นละ 7 ก้อน โดยการขว้างเสาหินนั้น เป็นวิทยปัญญาอย่างหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อขว้าง "ชัยฏอน" (Satan) ซึ่งเป็นมารร้ายที่อัลลอฮ์ทรงสาปแช่ง การขว้างเสาหินนั้นจะต้องขว้างให้ครบทั้ง 3 ต้น ซึ่งต้นแรกเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า "ญุมร่อตุ้ลอากอบะห์", ต้นที่สองเรียกว่า "ญุมร่อตุ้ลวุซตอ" และต้นที่สาม ชื่อว่า "ญุมร่อตุ้ลซุกรอ" โดยชาวอาหรับบางกลุ่มจะเรียกเสาต้นแรกว่า "อิบลิสกุบรอ", ต้นที่สอง "อิบลิสวุซตอ" และต้นสุดท้ายเรียกว่า "อิบลิสซุกรอ"

ในวันสุดท้ายผู้แสวงบุญจะไปเดินเวียนรอบกะอ์บะฮ์อีก 7 รอบ แล้วค่อยเดินทางออกจากนครเมกกะ เป็นอันเสร็จพิธี

*ทำไมต้องเดินทางไปประกอบพิธีที่ซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียเป็นที่ตั้งของนครเมกกะ (หรือ มักกะห์) ซึ่งเป็นนครที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับชาวมุสลิม เนื่องจากเป็นที่ตั้งของ กะอ์บะฮ์ หรือ กะอ์บะห์ หรือ กะบะห์ ซึ่งเป็นลูกบาศก์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในใจกลางมัสยิดฮะรอม

ในอดีต มีบันทึกระบุไว้ว่า อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นโดยนบีอาดัม ซึ่งเป็นมนุษย์คนแรก เพื่อใช้เป็นสถานที่เคารพสักการะอัลลอฮ์บนโลก แต่หลังจากนั้นเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในสมัยศาสดานูฮ์ ส่งผลให้อาคารพังทลายลง

ส่วนในคัมภีร์อัลกุรอาน (2:127 และ 22:26-27) ระบุว่า กะอ์บะฮ์สร้างขึ้นโดยนบีอิบรอฮีม และอิสมาอีล บุตรชายของท่าน ตามคำบัญชาของอัลลอฮ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการเคารพสักการะพระองค์ หลังจากนั้นอัลลอฮ์ก็ได้บัญชานบีอิบรอฮีมให้เรียกร้องเชิญชวนผู้คนให้มาเคารพสักการะพระองค์ ณ ที่บ้านหลังนี้ นับตั้งแต่นั้นมา ผู้คนที่ศรัทธาในอัลลอฮ์ตามคำเชิญชวนของนบีอิบรอฮีมจากทั่วสารทิศก็ได้ทยอยกันเดินทางไปสักการะอัลลอฮ์ต่อเนื่องกันมาโดยมิได้ขาด

กะอ์บะฮ์ ถือเป็นบ้านแห่งแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการเคารพสักการะอัลลอฮ์ ด้วยเหตุนี้ กะอ์บะฮ์จึงถือเป็นเสมือนเข็มทิศ และจุดหมายที่ชาวมุสลิมหันหน้าไปในขณะที่ทำการละหมาด อีกทั้งยังเป็นสถานที่สำคัญในการเดินเวียนรอบในการประกอบพิธีอุมเราะฮ์และพิธีฮัจญ์นั่นเอง

*สาเหตุที่ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตมากมายในพิธีฮัจญ์

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นในระหว่างพิธีฮัจญ์เมื่อไม่นานมานี้ มีสาเหตุหลายประการ ได้แก่ สภาพอากาศที่ร้อนจัด, มีผู้คนเบียดเสียดอย่างแออัด, ปัญหาด้านการคมนาคม, ความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่มาถึงล่าช้า, ผู้แสวงบุญที่ไม่ได้ลงทะเบียน รวมถึงผู้แสวงบุญที่ป่วย, อ่อนแอ หรือชราภาพ

เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก ซึ่งทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งทั่วโลกได้ประกาศเตือนถึงคลื่นความร้อนที่ถาโถมในภูมิภาคต่าง ๆ โดยอุณหภูมิในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์นั้น พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์แตะที่ประมาณ 51.7-51.8 องศาเซลเซียส แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางการซาอุดีอาระเบียได้ออกคำเตือนให้ผู้แสวงบุญหลีกเลี่ยงสถานที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูง และให้ดื่มน้ำมาก ๆ ตลอดเวลาแล้ว แต่ก็ยังมีผู้แสวงบุญหลายรายเป็นลมแดด (Heat Stroke) และมีอาการไม่สบายอื่น ๆ ที่เกิดจากความร้อนสูง เนื่องจากต้องทำกิจกรรมที่ใช้กำลังกายอย่างหนัก, ต้องอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน รวมถึงบางรายอยู่ในวัยชราหรือเคยเจ็บป่วยมาก่อน โดยล่าสุด นายคาร์ล ฟรีดริช ชลอยส์เนอร์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Climate Analytics กล่าวว่า พิธีฮัจญ์นั้นมีขึ้นในสภาพอากาศที่ร้อนแรงมากว่าพันปีแล้ว

มีผู้คนมากมายมองว่า ทางการซาอุดีอาระเบียได้บริหารจัดการผิดพลาด ส่งผลให้ปัญหาจากสภาพอากาศที่ร้อนสุดขั้วเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณยิ่งขึ้นไปอีก จนเกิดภาวะวิกฤตขึ้นในสถานที่หลายแห่งที่ผู้แสวงบุญเข้าพักและเดินทางไปเยือน เช่น เต็นท์ที่พักไม่เพียงพอจนผู้คนต้องแออัดเบียดเสียดกัน อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ทำความเย็นไม่เพียงพอในเต็นท์แต่ละหลังด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้แสวงบุญจำต้องเดินเท้าเป็นระยะทางไกลท่ามกลางอากาศร้อนจัด เนื่องจากมีการปิดกั้นเส้นทางต่าง ๆ โดยหนึ่งในผู้แสวงบุญกล่าวว่า "ทางการจัดให้เราเดินไปบนถนนสายยาว 7 กิโลเมตร ที่ไม่มีทั้งร่มเงาหลบแดดหรือน้ำดื่มคอยให้บริการไว้เลย การที่ตำรวจตั้งแนวกั้นปิดถนน ทำให้เราต้องเดินอ้อมไกลโดยใช่เหตุ"

ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้แสวงบุญจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์หรือบริการดูแลรักษาพยาบาลที่ไม่เพียงพอ โดยหนึ่งในผู้แสวงบุญได้ให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้พบผู้แสวงบุญที่ต้องการออกซิเจนช่วยหายใจด่วน อันเนื่องมาจากโรคกลัวที่แคบ แต่ต้องรอกันนานถึง 25 นาทีกว่าที่รถพยาบาลจะมาถึง ซึ่งต้องอ้อนวอนขอรถพยาบาลไปหลายครั้ง และในที่สุดหน่วยกู้ชีพก็มาถึง แต่หมอกลับดูอาการคนไข้ไม่ถึง 2 วินาทีแล้วพูดหน้าตาเฉยว่าเขาไม่เป็นอะไร ก่อนจะรีบกลับออกไปในทันที

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลซาอุดีอาระเบียระบุว่า มีการจัดเตรียมโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพ และคลินิกเคลื่อนที่ 189 แห่ง ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้กว่า 6,500 เตียง โดยมีบุคลากรทางการแพทย์, ช่างเทคนิค, เจ้าหน้าที่ธุรการ และอาสาสมัครกว่า 40,000 คน พร้อมปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงได้จัดเตรียมรถพยาบาลกว่า 370 คัน เฮลิคอปเตอร์พยาบาล 7 ลำ และเครือข่ายการขนส่งลำเลียงที่ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการ 12 แห่ง รถบรรทุกสิ่งของจำเป็น 60 คัน คลังเก็บอุปกรณ์การแพทย์เคลื่อนที่ 3 แห่ง กระจายตัวตั้งอยู่ตามจุดสำคัญเช่นสถานที่แสวงบุญต่าง ๆ

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้ที่ต้องการจะเข้าร่วมประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องยื่นขอวีซ่าพิเศษสำหรับการแสวงบุญโดยเฉพาะ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเข้าร่วมโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินเอกสารใด ๆ ให้ยุ่งยาก ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตมีมากผิดปกติ เนื่องจากผู้แสวงบุญที่ไม่มีวีซ่าเหล่านี้ พยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าหาเจ้าหน้าที่ แม้แต่ในเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้เต็นท์ที่พักแน่นขนัด ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้แสวงบุญที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนอีกด้วย

อีกทั้งผู้แสวงบุญส่วนใหญ่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เมื่อเข้าสู่วัยชราแล้ว เนื่องจากต้องใช้เวลาเก็บสะสมเงินทองทั้งชีวิต หรือบางคนได้แอบคาดหวังไว้ลึก ๆ ว่า อาจเสียชีวิตลงระหว่างการแสวงบุญ และร่างของตนจะได้มีโอกาสฝังไว้ในนครศักดิ์สิทธิ์ เช่น ชาวมุสลิมในบังกลาเทศเชื่อกันว่า ผู้ใดที่เสียชีวิตลงระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ ผู้นั้นถือว่ามีโชคอย่างมหาศาลเหมือนกับได้รับสถานะพิเศษทางจิตวิญญาณ

*การตอบสนองต่อเหตุโศกนาฏกรรม

หากมีผู้แสวงบุญเสียชีวิตระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ จะมีการรายงานการมรณกรรมต่อคณะผู้ดูแลกิจการพิธีฮัจญ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้สายรัดข้อมือและบัตรประจำตัวที่ห้อยคอ ระบุยืนยันตัวตนของผู้วายชนม์ หลังจากนั้นแพทย์จะออกใบรับรองการมรณกรรม และทางการซาอุดีอาระเบียจะออกใบมรณบัตรให้ในที่สุดโดยจะมีการสวดภาวนาให้กับผู้เสียชีวิตที่มัสยิดสำคัญหลายแห่ง อย่างเช่นมัสยิดอัลฮะรอมในนครเมกกะ หรือที่มัสยิดศาสดามูฮัมหมัดในเมืองเมดินา ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ผู้ตายเสียชีวิตลง โดยจะมีการชำระล้างศพ, ห่อศพ และนำไปเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่ทางการจัดเตรียมไว้ โดยกระบวนการทั้งหมดไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

การที่มีชาวมุสลิมกว่า 1.6 ล้านคนที่ไม่ใช่ชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ ส่งผลให้รัฐบาลชาติต่าง ๆ ต้องตอบสนองต่อเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าวโดยเฉพาะรัฐบาลอียิปต์ ที่ทางการซาอุดีอาระเบียได้แจ้งว่า มีผู้แสวงบุญที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้เป็นชาวอียิปต์ประมาณ 400,000 คน

นายมอสตาฟา มัดบูลี นายกรัฐมนตรีอียิปต์ได้สั่งลงโทษบริษัททัวร์ 16 แห่งฐานจัดทริปพาผู้แสวงบุญที่ไม่ได้ลงทะเบียนเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ในซาอุดีอาระเบีย ได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทเหล่านี้ พร้อมกับดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมหน่วยรับมือวิกฤตการเสียชีวิตช่วงพิธีฮัจญ์ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (22 มิ.ย.)

นอกจากนี้ นายทาลัล ชัลฮูบซึ่งเป็นโฆษกกระทรวงกิจการภายในของซาอุดีอาระเบียได้ออกมาประกาศเตือนว่าห้ามใช้วีซ่าผิดประเภท และอธิบายว่า วีซ่าสำหรับเข้าร่วมประกอบพิธีฮัจญ์นั้น ไม่ใช่แค่บัตรผ่านดินแดนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้แสวงบุญเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และสามารถระบุตำแหน่งของพวกเขาเพื่อให้การดูแลและบริการที่จำเป็นได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ที่ไม่มีวีซ่าสำหรับเข้าร่วมประกอบพิธีฮัจญ์ จะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบริการเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า 83% ของผู้ที่เสียชีวิต 1,301 ราย (คิดเป็น 1,079 ราย) เป็นผู้ที่ไม่มีวีซ่าสำหรับเข้าร่วมประกอบพิธีฮัจญ์

ทั้งนี้ ระยะเวลาของพิธีฮัจญ์จะดำเนินการเร็วขึ้นประมาณ 11 วันในแต่ละปีในปฏิทินเกรโกเรียนซึ่งเป็นปฏิทินสากล นั่นหมายความว่า พิธีฮัจญ์ในปีหน้าจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า จะมีสภาพอากาศที่เย็นกว่าช่วงเวลาของพิธีฮัจญ์ในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ