นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมงที่อังกฤษจะเปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปี และถือเป็นการจัดเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในปี 2563 โดยผลสำรวจความคิดเห็นต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า พรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) ที่ครองอำนาจมายาวนาน 14 ปี จะพ่ายแพ้ต่อคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคแรงงาน (Labour Party)
การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาด้านสาธารณสุข ตลอดจนการขาดศรัทธาต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันในการจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย และวิกฤตที่อยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของยูกอฟ (YouGov) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ระบุว่า ข้อกังวลหลักที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอังกฤษให้ความสำคัญมากที่สุดประกอบด้วย เศรษฐกิจ 52%, สาธารณสุข 50%, ปัญหาผู้ลี้ภัย 40%, และวิกฤตที่อยู่อาศัย 24% ตามลำดับ
In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านไปส่องสถานการณ์ล่าสุดของการเลือกตั้ง ตลอดจนพลิกดูนโยบายและเจาะลึกข้อกังวลที่น่าจับตามอง ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการพลิกขั้วการเมืองอังกฤษในรอบ 14 ปี
*ทำไมประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนด
นายริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีแห่งเกาะอังกฤษ สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศยุบสภาแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 23 พ.ค. และกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนต.ค.หรือพ.ย. เนื่องจากวาระของรัฐสภามีกำหนดสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนธ.ค.
ในการแถลงที่หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง นายซูนัคกล่าวย้ำว่า รัฐบาลได้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญ 2 ประการได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษจากภาวะถดถอยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยหวังว่าข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสจะช่วยโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า นโยบายของพรรคอนุรักษนิยมนั้นมีประสิทธิภาพ และมีเพียงพรรครัฐบาลเท่านั้นที่สามารถรักษาเสถียรภาพนี้ไว้ได้
อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า การที่นายซูนัคตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดอาจเป็นเพราะนายซูนัครู้ว่าคะแนนนิยมของพรรคอนุรักษนิยมไม่น่าจะดีขึ้นกว่าตอนนี้ และอาจเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดที่จะเอาชนะพรรคแรงงาน
*โพลชี้พรรคแรงงานจะคว้าชัยถล่มทลาย
ผลสำรวจล่าสุดจากเซอร์เวชั่น (Survation) บริษัทสำรวจความเห็นเปิดเผยว่า พรรคแรงงานของอังกฤษเตรียมคว้าชัยการเลือกตั้งทั่วไปด้วยจำนวนที่นั่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยคาดการณ์ว่าพรรคแรงงานของนายเคียร์ สตาร์เมอร์ จะกวาดที่นั่งในรัฐสภาได้ถึง 484 ที่นั่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่ง มากกว่าที่นายโทนี แบลร์ อดีตผู้นำพรรคแรงงานเคยทำไว้ที่ 418 ที่นั่งในปี 2540
ส่วนพรรคอนุรักษนิยมคาดว่าจะได้ที่นั่งเพียง 64 ที่นั่ง ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคขึ้นเมื่อปี 2377 ขณะที่พรรคปฏิรูป (Reform Party) ของนายไนเจล ฟาราจ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายขวา คาดว่าจะได้ที่นั่งไป 7 ที่นั่ง
ผลสำรวจจากสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษก็ออกมาในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า พรรคแรงงานมีคะแนนนิยมทิ้งห่างพรรคอนุรักษนิยมของนายซูนัคอยู่ถึง 20% โดยประชาชนจะเทคะแนนให้พรรคแรงงานมากที่สุดประมาณ 40% และพรรคอนุรักษนิยม 20%
ด้านผลสำรวจจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนระบุว่า พรรคแรงงานทิ้งห่างพรรคอนุรักษนิยม 20% โดยพรรคแรงงานนำมาที่ 41.3% ส่วนพรรคอนุรักษนิยมอยู่ที่ 21.0% และพรรคปฏิรูป 15.5%
*เปิดโผตัวเต็งชิงนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
พรรคอนุรักษนิยมซึ่งเป็นรัฐบาล และพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นสองพรรคใหญ่ที่กุมบังเหียนการเมืองอังกฤษ คาดว่าจะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้
หนึ่งในรายชื่อที่โดดเด่นมากที่สุด คงหนีไม่พ้นผู้นำของพรรคอนุรักษนิยมอย่างนายริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ วัย 44 ปี อดีตรัฐมนตรีคลังรายนี้ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือนต.ค. 2565 ขณะมีอายุเพียง 42 ปี ส่งผลให้เขาเป็นผู้นำอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษสมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย
ส่วนตัวเต็งอีกรายที่ผลสำรวจหลายสำนักระบุตรงกันว่าเขาจะคว้าชัยเลือกตั้งครั้งนี้ คือ นายเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงาน และผู้นำฝ่ายค้านวัย 61 ปี เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนนายเจเรมี คอร์บิน ในปี 2563 นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงานอัยการ นายสตาร์เมอร์เปลี่ยนนโยบายของพรรคแรงงานที่มีความเป็นสังคมนิยมแบบเข้มข้นให้มีความเป็นสายกลางมากขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาความแตกแยกภายในพรรค จนส่งผลให้ความนิยมของพรรคแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีพรรคใดชนะเสียงข้างมากอย่างเป็นเอกฉันท์ อาจมีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งในระดับภูมิภาคอาจมีส่วนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสม
พรรคแห่งชาติสกอตแลนด์ (Scottish National Party) ซึ่งเป็นหัวหอกในการรณรงค์เพื่อการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) และพรรคสหภาพประชาธิปไตย (Democratic Unionist Party) ซึ่งพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เป็น 3 พรรคที่ครองที่นั่งมากที่สุดในรัฐสภา รองจากสองพรรคใหญ่
นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์หลายคนมองว่า พรรคปฏิรูปซึ่งเพิ่งประกาศตัวหลังนายซูนัคยุบสภา และนำโดยนายไนเจล ฟาราจ นักการเมืองฝ่ายขวาที่มุ่งต่อต้านคนเข้าเมืองและเป็นหัวหอกสำคัญที่ทำให้เกิดการลงประชามติ Brexit อาจมาแย่งฐานคะแนนเสียงจากพรรคอนุรักษนิยม
*ปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นข้อกังวลอันดับแรก
เศรษฐกิจยังคงเป็นข้อกังวลสำคัญสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลง แต่ค่าครองชีพก็ยังคงสูงอยู่ ภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและการเติบโตที่ซบเซาทำให้คนอังกฤษส่วนใหญ่รู้สึกจนลง องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของอังกฤษโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศกลุ่ม G7 ในปี 2568
ปัญหาเศรษฐกิจในอังกฤษทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่นางลิซ ทรัสส์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า "งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ" (mini-budget) ในเดือนต.ค. 2565 ซึ่งรวมถึงการปรับลดการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2515 สำหรับผู้มีรายได้สูง อีกทั้งการกู้ยืมเงินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนส่งผลให้เธอต้องลาออกจากตำแหน่ง หลังดำรงตำแหน่งเพียง 45 วัน
วิกฤตเศรษฐกิจยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, เบร็กซิต (Brexit) และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยหนุนตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งแตะระดับสูงสุดที่ 11.1% ในเดือนต.ค. 2565 แม้จะสามารถกลับมาอยู่ที่ระดับ 2% ในเดือนพ.ค. 2567 ตามเป้าหมายที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ตั้งไว้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี
สำหรับนโยบายเศรษฐกิจนั้น พรรคอนุรักษนิยมเสนอให้ปรับลดภาษีรวมมูลค่า 1.7 หมื่นล้านปอนด์ต่อปี (2.16 หมื่นล้านดอลลาร์) รวมถึงการลดการส่งเงินสมทบประกันสังคม (National Insurance) 2% ซึ่งเป็นภาษีบังคับจ่ายจากเงินเดือน
ในทางตรงกันข้าม พรรคแรงงานกลับเสนอให้ปรับขึ้นภาษี 8.6 พันล้านปอนด์ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจนถึงภาษีโรงเรียนเอกชน อีกทั้งจะเรียกเก็บภาษีบริษัทน้ำมันและแก๊ส รวมถึงภาษีผู้อยู่อาศัยที่ไม่มีภูมิลำเนา (non-domiciled resident) หรือบุคคลที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ แต่แจ้งว่ามีที่พักอาศัยหลักอยู่นอกประเทศ เพื่อต้องการใช้ประโยชน์จากภาษีที่ต่ำกว่า
*ปัญหา NHS เรื้อรัง ผู้ป่วยรอคิวมากขึ้นและนานขึ้น
จากผลสำรวจของยูกอฟ ปัญหาสาธารณสุขกลายเป็นประเด็นที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ความสนใจมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ที่ให้บริการการรักษาฟรีครอบคลุมชาวอังกฤษทุกคน จำนวนผู้ป่วยรอคิวเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นและนานขึ้น ตั้งแต่การรักษาด้านทันตกรรมไปจนถึงการรักษาโรคมะเร็ง
ข้อมูลจาก NHS ระบุว่า มีผู้ป่วยมากถึง 7.6 ล้านคนในอังกฤษที่รอการรักษาจาก NHS ในเดือนเม.ย.ปี 67 ซึ่งเพิ่มขึ้น 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2553 แม้ลดลงเพียงเล็กน้อยจากตัวเลขของเดือนก.ย. ปี 67 ที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะ 7.8 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 3.2 ล้านคนในอังกฤษกำลังรอการรักษาของ NHS นานกว่า 18 สัปดาห์
นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้ป่วยที่รอเข้าพบแพทย์ที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินของโรงพยาบาลนานกว่า 4 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 14 ปีที่พรรคอนุรักษนิยมอยู่ในอำนาจบริหารประเทศ ซึ่งล้วนเป็นผลมาจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์สะสม และการประท้วงหยุดงานของกลุ่มแพทย์ อันเนื่องจากภาระงานที่หนัก และสวัสดิการและค่าตอบแทนที่ไม่สมเหตุสมผล
สำหรับนโยบายด้านสาธารณสุขนั้น พรรคอนุรักษนิยมให้คำมั่นว่าจะเพิ่มงบประมาณให้กับ NHS ทุกปี และจะเปิดรับสมัครพยาบาลเพิ่ม 92,000 คน และแพทย์อีก 28,000 คน รวมถึงสร้างโรงพยาบาลเพิ่มอีก 40 แห่งภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพ
ส่วนพรรคแรงงานให้คำมั่นว่าจะลดระยะเวลาการรอคิว NHS ด้วยการเพิ่มจำนวนการนัดหมายได้ 40,000 นัดต่อสัปดาห์ และเพิ่มจำนวนเครื่องสแกนมะเร็งเป็นสองเท่า อีกทั้งยังให้คำมั่นว่าจะจ่ายเงิน 1.1 พันล้านปอนด์เพื่อเพิ่มให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานนอกเวลาทำการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
*ปัญหาผู้อพยพที่ยังรอการแก้ไข
อีกหนึ่งข้อกังวลที่สำคัญคงหนีไม่พ้นปัญหาผู้อพยพ จำนวนผู้อพยพเข้าอังกฤษเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) รายงานว่า จำนวนผู้อพยพที่ถูกกฎหมายเพิ่มแตะ 745,000 ราย ในขณะที่กระทรวงมหาดไทยระบุว่า จำนวนผู้อพยพผิดกฎหมายพุ่งแตะ 46,000 ราย
ผู้อพยพที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่เดินทางเข้าสู่อังกฤษข้ามช่องแคบอังกฤษจากฝรั่งเศสโดยเรือเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานว่าพรรครัฐบาลล้มเหลวในการคุมเข้มพื้นที่ชายแดน พรรคอนุรักษนิยมจึงออกนโยบายที่จะปราบปรามจำนวนผู้อพยพที่เดินทางมาด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การส่งตัวผู้ขอลี้ภัยไปยังรวันดา แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับถูกปัดตกจากวุฒิสภา เนื่องจากศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมองว่าข้อตกลงดังกล่าวละเมิดภาระผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศของอังกฤษ
อย่างไรก็ดี หากได้รับชัยชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคอนุรักษนิยมให้คำมั่นว่าจะเริ่มการเนรเทศครั้งใหญ่ โดยส่งผู้อพยพไปยังรวันดา อีกทั้ง พรรคยังสัญญาว่าจะกำหนดจำนวนสำหรับผู้ขอลี้ภัยที่ถูกกฎหมายเช่นกัน
ส่วนพรรคแรงงานกลับเสนอนโยบายที่ตรงกันข้าม โดยมองว่าผู้อพยพที่ถูกกฎหมายเหล่านี้มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และจะฝึกอบรมผู้อพยพเหล่านี้ให้พร้อมเข้าเป็นแรงงานในภาคส่วนที่ขาดแคลน ในขณะที่การรับมือผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย พรรคแรงงานจะยกเลิกแผนการส่งตัวผู้ขอลี้ภัยไปยังรวันดา แต่จัดการแก๊งค้ามนุษย์ และเสริมสร้างความมั่นคงบริเวณชายแดนแทน
*วิกฤตที่อยู่อาศัย บ้านแพง ค่าเช่าพุ่งสวนรายได้
วิกฤตที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรง อันเนื่องมาจากราคาที่อยู่อาศัยและค่าเช่าบ้านที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงการขาดแคลนโครงการเคหะชุมชนจากรัฐ หรือที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม (Social Housing) ส่งผลให้คนอังกฤษเป็นเจ้าของบ้านได้น้อยลง
ราคาบ้านในอังกฤษที่พุ่งขึ้นสูงขึ้นกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องล้มเลิกความฝันในการเป็นเจ้าของบ้านสักหลัง ตามข้อมูลสำมะโนประชากร อัตราการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยปรับตัวลงในปี 2564 โดย 62% ของครัวเรือนในอังกฤษมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งลดลงจากระดับ 68% ในปี 2551
นอกจากราคาบ้านแล้ว ค่าเช่าบ้านที่แพงขึ้นก็กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ชาวอังกฤษหลายล้านคนต้องพึ่งการเช่าบ้านของเอกชน ซูปลา (Zoopla) บริษัทอสังหาริมทรัพย์พบว่า ครัวเรือนอังกฤษส่วนใหญ่ใช้จ่ายเงินไปกับค่าเช่ามากกว่า 29% ของรายได้หลังหักภาษี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 24% ในปี 2543
วิกฤตที่อยู่อาศัยยิ่งเลวร้ายขึ้นจากการขาดแคลนโครงการเคหะชุมชนจากรัฐ ปัจจุบันมีผู้คนมากกว่า 1.2 ล้านคนอยู่ในรายชื่อรอโครงการเคหะชุมชนจากรัฐ การเช่าที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนเติบโตขึ้น 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สมาคมการปกครองส่วนท้องถิ่น (LGA) ระบุว่า จำนวนที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับให้เช่าเพิ่มขึ้นถึง 89% ในช่วง 10 ปีจนถึงเดือนมี.ค. 2566
ในการแก้วิกฤตที่เร่งด่วนนี้ พรรคการเมืองทุกฝ่ายต่างมุ่งมั่นที่จะสร้างบ้านใหม่เพิ่มขึ้น พรรคอนุรักษนิยมได้ให้คำมั่นที่จะสร้างบ้านใหม่ 1.6 ล้านหลังภายในปี 2572 หากพวกเขาชนะการเลือกตั้ง ขณะที่พรรคแรงงานจะสร้างบ้านใหม่ 1.5 ล้านหลังในช่วงเวลาเดียวกัน