In Focusอุ่นเครื่องก่อนดีเบตแรก "ทรัมป์-แฮร์ริส" คู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 4, 2024 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อีกเพียงไม่ถึงสัปดาห์ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน และคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต จะพบกันครั้งแรกในการประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในคืนวันที่ 10 กันยายน และจะเป็นโอกาสแรกที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันประมาณ 240 ล้านคนจะได้เห็นทั้งสองฝ่ายดวลฝีปากกัน ก่อนที่จะถึงวันลงคะแนน 5 พฤศจิกายนนี้

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านไปอุ่นเครื่องศึกดีเบต สำรวจสถานการณ์ล่าสุด รวมถึงคาดการณ์กลยุทธ์และแนวทางของผู้สมัครทั้งสอง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางและผลลัพธ์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024

*ศึกดีเบตนัดแรก "ทรัมป์-แฮร์ริส"

การประชันวิสัยทัศน์ครั้งแรกระหว่างทรัมป์และแฮร์ริสจะจัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์เอบีซี ในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 10 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่น หรือประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 11 ก.ย. ตามเวลาไทย และดำเนินรายการโดยเดวิด มูเยอร์ และลินซีย์ เดวิส สองผู้ประกาศข่าวมากประสบการณ์

ศูนย์รัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญและสัญลักษณ์ของการเมืองสหรัฐฯ ถูกเลือกใช้เป็นสถานที่จัดการดีเบตครั้งนี้ และสิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย หนึ่งในรัฐสมรภูมิที่ผู้สมัครจากทั้งสองพรรคมีคะแนนสูสีกันจนอาจชี้ขาดตัดสินชัยชนะได้เลยทีเดียว

แม้สถานีโทรทัศน์เอบีซียังไม่ได้ประกาศหัวข้ออย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าการประชันวิสัยทัศน์นี้จะครอบคลุม 3 ประเด็นหลักที่เป็นที่สนใจของสังคม ได้แก่ เศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐาน และการทำแท้ง

ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการดีเบตเพิ่มเติมระหว่างทรัมป์กับแฮร์ริสก่อนการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. โดยตามกำหนดการเดิม ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดีเบตกันเพียง 2 ครั้งเท่านั้น แม้ว่าทรัมป์เสนอให้มีการดีเบตเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ซึ่งจัดโดยเอ็นบีซีนิวส์ และฟอกซ์นิวส์ แต่ทีมหาเสียงของแฮร์ริสปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกำหนดการเดิม พร้อมระบุว่าจะประเมินการจัดดีเบตนัดที่สองในเดือนต.ค. หลังการพบกันครั้งแรก

*กติกาการดีเบตที่ไม่ลงรอย

รูปแบบและกติกาพื้นฐานสำหรับการประชันวิสัยทัศน์ในวันที่ 10 ก.ย. คาดว่าจะไม่ต่างกับดีเบตเดือนมิ.ย. ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ กับทรัมป์ ซึ่งจะไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในห้องส่ง และไมโครโฟนจะถูกปิดเสียงหากยังไม่ถึงคิวอภิปราย รวมถึงห้ามใช้พร็อพหรืออุปกรณ์ประกอบฉาก

ในระหว่างการประชันวิสัยทัศน์ 90 นาที จะมีการพักโฆษณาสองครั้ง ผู้สมัครแต่ละคนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์หรือโน้ตบันทึกย่อใด ๆ แต่จะได้รับเพียงปากกา กระดาษ และน้ำเท่านั้น

กติกาเรื่องไมโครโฟนกลายมาเป็นประเด็นร้อน หลังจากทีมหาเสียงของแฮร์ริสต้องการให้ทางสถานีเปิดไมโครโฟนไว้ตลอดเวลาการดีเบต ส่งผลให้ทรัมป์ขู่ว่าจะถอนตัว โดยอ้างว่าการเปิดไมโครโฟนไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก พร้อมกล่าวหาการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์เอบีซีมีความลำเอียง

"รองประธานาธิบดีพร้อมจัดการกับคำโกหกซ้ำซากและการขัดจังหวะของทรัมป์ในเวลานั้นเลย ทรัมป์ควรหยุดแอบอยู่หลังปุ่มปิดเสียงได้แล้ว" ไบรอัน ฟอลลอน โฆษกของแฮร์ริสระบุ

*ควันหลงจากดีเบต "ทรัมป์-ไบเดน"

ดีเบตระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยเฉพาะภายในพรรคเดโมแครตเอง เนื่องจากภาพของไบเดนที่ดูชราและไร้พลัง รวมถึงการพูดที่ติดขัด ทำให้เพื่อนร่วมพรรคและผู้สนับสนุนรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสมรรถภาพและสุขภาพของเขา จนในที่สุดไบเดนออกมาประกาศถอนตัวจากศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมสนับสนุนรองประธานาธิบดีแฮร์ริสให้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตแทน

ทันทีที่แฮร์ริสก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เธอได้พลิกโฉมการแข่งขันชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ แฮร์ริสสามารถระดมทุนได้สูงถึง 81 ล้านดอลลาร์ใน 24 ชั่วโมงแรกหลังประกาศตัวลงสมัคร ซึ่งทุบสถิติยอดระดมทุนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของผู้สมัคร และปิดท้ายสัปดาห์แรกด้วยยอดระดมทุนสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ แฮร์ริสยังดึงดูดผู้บริจาคเงินสนับสนุนได้มากกว่า 2.4 ล้านคน ในช่วง 11 วันแรกของการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าการหาเสียงตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีของไบเดน ถึงเกือบ 200,000 คน

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเสนอชื่อแฮร์ริสสร้างแรงผลักดันที่ทำให้ทรัมป์ต้องอยู่ในฝ่ายตั้งรับ และต้องดิ้นรนเพื่อดึงความสนใจของสื่อ แม้ก่อนหน้านี้ผลสำรวจหลายสำนักชี้ว่าทรัมป์มีคะแนนนำเหนือไบเดนอย่างชัดเจน และหลายฝ่ายฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งและกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง

*ความคาดหวังต่อท่าทีของแฮร์ริส

สำหรับแฮร์ริส การประชันวิสัยทัศน์ครั้งนี้จะเป็นการดีเบตครั้งแรกของเธอนับตั้งแต่ปี 2020 เมื่อเธอเผชิญหน้ากับรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันในขณะนั้น แฮร์ริสและทีมกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการดีเบตอย่างเข้มข้น ซึ่งรวมถึงการบรรยายสรุปเกี่ยวกับหัวข้อและนโยบายต่าง ๆ การจำลองสถานการณ์การดีเบต และการฝึกช่วงถามตอบ

แหล่งข่าวเผยกับสำนักข่าวเอ็นบีซีว่า ทีมหาเสียงของแฮร์ริสเลือกฟิลิปป์ ไรน์ นักยุทธศาสตร์พรรคเดโมแครตที่มีประสบการณ์สูง มารับบทเป็นทรัมป์ในการซ้อมดีเบต ซึ่งเขาเคยรับบทบาทนี้ในการฝึกซ้อมให้กับฮิลลารี คลินตัน ในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016

กลยุทธ์หลักของแฮร์ริสคือการสงบสติอารมณ์และหลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าไปเป็นประเด็นการโจมตีเรื่องส่วนตัวจากทรัมป์ พร้อมทั้งเน้นการสื่อสารว่า การเป็นประธานาธิบดีของเธอจะนำประโยชน์มาสู่ชาวอเมริกันอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นว่าแฮร์ริสเป็นผู้นำที่ไม่หวาดกลัวและสามารถยืนหยัดต่อกรกับทรัมป์ได้

ขณะเดียวกัน ทีมหาเสียงของแฮร์ริสต้องการมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนในการดีเบตเมื่อปี 2019 เพื่อชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 เมื่อทูลซี่ แกบบาร์ด ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐฮาวาย เปิดฉากโจมตีการทำหน้าที่ของแฮร์ริสในสมัยที่เธอเป็นอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยกล่าวหาว่าเธอจำคุกผู้คนกว่า 1,500 รายในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับกัญชา นอกจากนี้แฮร์ริสยังหัวเราะเมื่อถูกถามว่าเคยใช้กัญชาหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่แฮร์ริสไม่ทันตั้งตัว แต่เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมในห้องส่ง

นอกจากกลยุทธ์สำหรับการดีเบตแล้ว แฮร์ริสยังคาดว่าจะโจมตีทรัมป์ในประเด็นการแต่งตั้งผู้พิพากษา 3 คนที่มีส่วนในการคว่ำคำพิพากษาคดีการทำแท้งประวัติศาสตร์ (Roe v. Wade) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายของชาวอเมริกันทั่วประเทศ โดยการคุ้มครองสิทธินี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลแฮร์ริส

*ความคาดหวังต่อท่าทีของทรัมป์

แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกหาเสียงของทรัมป์เปิดเผยว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ไม่จำเป็นต้องเตรียมการดีเบตแบบเดิม ๆ เพราะเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาเป็นหนึ่งในนักโต้วาทีที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองจากการที่ชนะน็อกไบเดนในการดีเบตครั้งที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่าทรัมป์มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่าง ๆ และโต้ตอบกับสื่อเป็นประจำอยู่แล้ว

เลวิตต์กล่าวว่า แม้ทรัมป์จะไม่ได้ทุ่มเทเวลามากนักในการเตรียมตัวสำหรับการดีเบต แต่เขาก็จะยังคงพบปะกับคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายที่เชี่ยวชาญและนักสื่อสารที่ทรงพลัง เช่น ทูลซี่ แกบบาร์ด ผู้ที่สามารถเฉือนคมแฮร์ริสได้ในศึกดีเบตชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2019

กลยุทธ์การดีเบตของทรัมป์จะเน้นการโจมตีจุดยืนและนโยบายของแฮร์ริส โดยใช้เวทีดีเบตเป็นโอกาสในการวิจารณ์ผลงานของแฮร์ริสในฐานะรองประธานาธิบดี เช่น การจัดการกับปัญหาวิกฤตที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปัญหาการอพยพเข้าเมือง รวมถึงผลงานการบริหารของรัฐบาลไบเดน เช่น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี และการจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือยูเครน เพื่อตอกย้ำว่าแฮร์ริสนั้นอ่อนแอเกินไปและไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่า ในการดีเบตกับไบเดนนั้น ทรัมป์มักจะโจมตีด้วยข้อกล่าวอ้างที่เป็นเท็จซึ่งส่วนใหญ่ไบเดนไม่ทันได้ทักท้วง แต่คาดว่าเมื่อเจอกับแฮร์ริส เธอจะโต้แย้งคำโกหกเหล่านั้น พร้อมแก้ต่างด้วยข้อเท็จจริงและนโยบาย รวมถึงอาจโยงถึงพฤติกรรมของทรัมป์ในการปลุกปั่นการจลาจลหลังการเลือกตั้งปี 2020 ดังนั้น หากทรัมป์รู้สึกว่าจนมุม เขาอาจหันไปโจมตีในเรื่องส่วนตัวของแฮร์ริสแทน

หลังจากที่ทรัมป์ วัย 78 ปี ประสบความสำเร็จในการโจมตีไบเดนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมด้านสุขภาพมานานหลายเดือน เขาได้เปลี่ยนแนวทางมาโจมตีแฮร์ริส วัย 59 ปี ที่มีอายุน้อยกว่าและมีพลังมากกว่า ด้วยคำพูดเหน็บแนม เช่น "บ้า" "เพี้ยน" และ "โง่ดักดาน" พร้อมทั้งสร้างภาพให้เธอกลายเป็นนักเสรีนิยมสุดโต่งและคอมมิวนิสต์ ทว่าที่ปรึกษาบางรายของทรัมป์แนะนำให้เขาเน้นวิพากษ์วิจารณ์นโยบายอันล้มเหลวที่แฮร์ริสผลักดันมากกว่าการโจมตีเรื่องส่วนตัว

*ผลสำรวจชี้ "แฮร์ริส" มีคะแนนนำ "ทรัมป์"

นับตั้งแต่แฮร์ริสขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตแทนไบเดน คะแนนนิยมของแฮร์ริสก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าทรัมป์ ทั้งผลสำรวจระดับประเทศและในรัฐที่ผู้สมัครจากทั้งสองพรรคต้องขับเคี่ยวกันอย่างสูสี

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยรอยเตอร์/อิปซอสส์ ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 21-28 ส.ค. พบว่า แฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์อยู่ที่ 45% ต่อ 41% หรือนำอยู่ 4% เพิ่มขึ้นจากปลายเดือนก.ค.ที่นำอยู่แค่ 1% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของยูเอสเอทูเดย์/มหาวิทยาลัยซัฟฟอล์ก ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 25-28 ส.ค. พบว่า แฮร์ริสมีคะแนนนิยมนำหน้าทรัมป์ที่ 47.6% ต่อ 43.3% ซึ่งสามารถทิ้งห่างถึง 4.3%

เดวิด พาลีโอโลกอส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองประจำมหาวิทยาลัยซัฟฟอล์กกล่าวว่า แฮร์ริสสามารถแซงหน้าทรัมป์ในผลการสำรวจล่าสุด เนื่องจากคนหนุ่มสาว คนผิวสี และครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเริ่มหันมาสนับสนุนรองประธานาธิบดีกันมากขึ้น

*มุ่งชิงคะแนนสนับสนุนเพิ่ม ควบคู่กับรักษาฐานเสียงเดิม

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า การประชันวิสัยทัศน์ครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกันที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร และใกล้ถึงช่วงเวลาที่การลงคะแนนเสียงล่วงหน้าในรัฐต่าง ๆ จะเปิดฉากขึ้น

จอห์น เคนเนดี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเวสต์เชสเตอร์ กล่าวว่า การดีเบตครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การโน้มน้าวกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจ และอาจจะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเริ่มจริงจังกับการเลือกตั้งครั้งนี้

เนต เฟรนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการเมืองจากมหาวิทยาลัยเวกฟอเรสต์ แสดงความคิดเห็นว่า ประชาชนจะพิจารณาว่าใครดูเหมาะสมที่จะเป็นประธานาธิบดีมากที่สุด และสามารถแสดงให้เห็นว่าเขาหรือเธอมีความสามารถในการเป็นผู้นำประเทศ

"การดีเบตไม่เพียงแต่มุ่งโน้มน้าวกลุ่มที่ยังตัดสินใจไม่ได้ แต่ยังต้องรักษาฐานเสียงของตนเองและสื่อสารออกมาให้เข้าใจมากที่สุดด้วย" เฟรนซ์กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ