In Focusครบรอบ 1 ปีสงครามอิสราเอล-ฮามาส สารตั้งต้นความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 9, 2024 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อิสราเอลได้จัดพิธีครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์ที่กลุ่มฮามาสโจมตีดินแดนอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งเหตุการณ์โจมตีในครั้งนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ตีวงกว้างขึ้นในตะวันออกกลางจนถึงขณะนี้ โดยฮามาสเป็นกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุน ขณะที่อิสราเอลมีชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เป็นแบ็กอัปหนุนหลัง

พิธีรำลึกจัดขึ้นที่นครเยรูซาเลมเมื่อเวลาประมาณ 06.29 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลในช่วงรุ่งอรุณของวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 พิธีรำลึกรอบนครเยรูซาเลมเต็มไปด้วยความโศกเศร้าเนื่องจากช่วงเวลาที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลในวันดังกล่าวของปีที่แล้วนั้น เป็นเวลาที่ชาวอิสราเอลเพิ่งเสร็จสิ้นการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญ ซึ่งรวมถึงเทศกาลรอช ฮาชานาห์ (Rosh Hashanah) หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวยิว และเทศกาลสุคคต (The Feast of Sukkot) หรือเทศกาลอยู่เพิง การจู่โจมอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตในวันดังกล่าวประมาณ 1,200 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 250 คน ... ความทรงจำอันเลวร้ายและบาดแผลที่ยากจะลืมเลือนของเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ทำให้การฉลองเทศกาลรอช ฮาชานาห์ในปีนี้ถูกปกคลุมด้วยความโศกเศร้าและน้ำตา แตกต่างจากเทศกาลรอช ฮาชานาห์ในทุก ๆ ปีที่บ้านเรือนของชาวอิสราเอลจะอบอวลไปด้วยกลิ่นขนมปังอบใหม่ และเสียงหัวเราะรื่นเริงของทุกคนในครอบครัว

ที่บริเวณด้านนอกบ้านพักของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูในเยรูซาเลม มีประชาชนราว 300 คน นำโดยครอบครัวของผู้ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน มารวมตัวกันและถือรูปบุคคลอันเป็นที่รัก โดยประชาชนเหล่านี้พร้อมใจกันยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาทีเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ขณะที่เสียงไซเรนดังขึ้นในระหว่างพิธี

ยูวาล บารอน ซึ่งพ่อตาของเขายังคงถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา กล่าวว่า "เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2566 ยังคงหลอกหลอนเรา มันเป็นวันอันยาวนานที่เต็มไปด้วยความโหดร้าย หวาดกลัว โกรธแค้น และสิ้นหวัง เราต้องการเริ่มต้นวันที่ 7 ตุลาคมปีนี้ด้วยการย้ำเตือนตัวเรา นายกรัฐมนตรีของเรา และประชาชนของเราว่า แม้ว่าวันนั้นจะเป็นวันแห่งความโศกเศร้า แต่เราก็ยังมีภารกิจที่ต้องทำ คือการนำตัวประกันทั้งหมดกลับบ้าน"

ส่วนที่เมืองเรอิม สถานที่จัดงานเทศกาลดนตรีซูเปอร์โนวา (Supernova Festival) ซึ่งถูกกลุ่มติดอาวุธของฮามาสบุกเข้าจู่โจม สังหารหนุ่มสาวที่มาร่วมงานกว่า 360 คน และจับเป็นตัวประกันหลายสิบคน ก็จัดพิธีรำลึกเช่นกัน โดยประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซอก ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธี กล่าวว่า "เราไม่มีวันลืมว่าใครลักพาตัวคนของเรา ใครฆาตกรรมคนของเรา และใครข่มขืนคนของเรา ในขณะเดียวกันเราได้เห็นความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวอันน่าทึ่งในคนของเรา และในวันนี้เราจะร่วมสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน"

การสังหารหมู่ในเทศกาลดนตรีซูเปอร์โนวาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เป็นเหตุการณ์ที่ยากจะลืมเลือนและสร้างความเจ็บปวดให้กับชาวอิสราเอล โดยหน่วยแทรกซึมซึ่งรวมถึงกองพลอัล-กอสซัม (Al-Qassam Brigades) ของกลุ่มฮามาสได้บุกเข้าไปกราดยิงคนหนุ่มสาวที่กำลังชมคอนเสิร์ตและเต้นรำเฉลิมฉลองในเทศกาลดนตรีดังกล่าวซึ่งจัดต่อเนื่องจากเทศกาลอยู่เพิง

*ส่องความสูญเสียหลังสงครามกาซาครบรอบ 1 ปี

การถูกฮามาสจู่โจมแบบสายฟ้าแลบในช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ทำให้กองทัพอิสราเอลเปิดไซเรนเตือนประชาชนในเมืองต่าง ๆ ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน จากนั้นกองทัพอิสราเอลได้เปิด "ไอออนโดม" (Iron Dome) เพื่อสกัดขีปนาวุธที่ฝั่งฮามาสระดมยิงเข้ามาไม่ยั้ง พร้อมกับส่งเครื่องบินรบถล่มฉนวนกาซา ส่งผลให้บ้านเรือน มัสยิด และบ้านพักของเจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากนั้นนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูได้ประกาศภาวะสงคราม พร้อมสั่งการให้กองทัพตอบโต้และโค่นกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก

ตลอดระยะเวลา 1 ปีแห่งการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ได้ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างในฉนวนกาซา โดยมีรายงานว่าชาวปาเลสไตน์ในกาซาเสียชีวิตอย่างน้อย 41,615 ราย และมีเด็กเสียชีวิตจากการสู้รบอย่างน้อย 16,756 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขการเสียชีวิตของเด็กจากเหตุความขัดแย้งในระยะเวลาเพียง 1 ปีที่สูงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

องค์กรบรรเทาทุกข์และจัดหางานแห่งสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA) ระบุว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในกาซาเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนั้น มาจากการถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เนื่องจากอุปกรณ์ในการกู้ภัยที่ไม่เพียงพอ ทำให้ภารกิจช่วยชีวิตประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก และมีรายงานว่าอาสาสมัครรวมทั้งหน่วยกู้ภัยต้องใช้เพียงมือเปล่าในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย

ส่วนทางฝั่งอิสราเอลนั้น กองทัพอิสราเอลได้เปิดเผยข้อมูลเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการทำสงครามกับฮามาสว่า ทหารอิสราเอลเสียชีวิตจำนวน 726 นายนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยในจำนวนนี้มี 380 นายเสียชีวิตในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และอีก 346 นายเสียชีวิตจากปฏิบัติการสู้รบในกาซาซึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2566

ข้อมูลจากอิสราเอลยังระบุด้วยว่า กองทัพอิสราเอลได้เกณฑ์ทหารกองหนุนจำนวน 300,000 นายนับตั้งแต่เริ่มสงครามในกาซา โดย 82% เป็นชาย และ 18% เป็นหญิง ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งมีอายุระหว่าง 20-29 ปี

นอกจากการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บแล้ว สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสยังสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเด็กจำนวนมาก โดยแคทเธอรีน รัสเซลล์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) กล่าวว่า เด็ก ๆ ในฉนวนกาซาจะต้องเผชิญกับความท้าทายระยะยาวอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่ยังคงดำเนินอยู่ รัสเซลล์ยังได้บรรยายถึงกาซาจากมุมมองของเด็ก ๆ ว่า เป็น "ดินแดนนรก" เมื่อดูจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัว การอพยพ รวมถึงการขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาด

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ระบุว่า สงครามครั้งนี้ส่งผลให้สิ่งปลูกสร้างในฉนวนกาซาถูกทำลายจนแทบไม่เหลือซาก เช่นเดียวกับเครือข่ายระบบจ่ายไฟฟ้า โรงพยาบาล และโรงเรียนถูกโจมตีเสียหาย ขณะที่ข้อมูลจากอนีรา (Anera) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า 95% ของประชาชนในกาซาไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นเวลานานหลายเดือน

*สงครามอิสราเอล VS ฮามาส ... สารตั้งต้นของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

เป็นที่ทราบกันว่า กลุ่มฮามาสได้รับการหนุนหลังโดยอิหร่านซึ่งเป็นขาใหญ่ด้านแหล่งน้ำมันของตะวันออกกลาง ฮามาสไม่ใช่แค่กลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์เท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็นพรรคการเมือง โดยกลุ่มฮามาสถือกำเนิดขึ้นในปี 2530 มีแนวคิดเช่นเดียวกับกลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ของปาเลสไตน์ว่า อิสราเอลยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ไว้โดยมิชอบ และมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์

ในปี 2536 รัฐบาลอิสราเอลยอมจับมือกับองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ลงนามในข้อตกลงออสโล อนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองพื้นที่ส่วนหนึ่งที่อิสราเอลยึดมาได้ นั่นคือ ฉนวนกาซา แต่ฮามาสมองว่า ข้อตกลงออสโลไม่เป็นธรรม และชาวปาเลสไตน์ควรได้พื้นที่เดิมคืนทั้งหมด จึงเกิดการต่อสู้ทางการเมืองแข่งกับกลุ่ม PLO โดยฮามาสได้เสียงสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์บางส่วนที่มองว่า PLO ประนีประนอมเกินไปในการลงนามข้อตกลงออสโล ... และท้ายที่สุดในปี 2549 พรรคฮามาสคว้าที่นั่งในสภาปาเลสไตน์ได้มากกว่า PLO และกลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจปกครองฉนวนกาซามานับตั้งแต่นั้น พร้อมกับเดินหน้าทำสงครามกับอิสราเอลเรื่อยมา เพื่อทวงคืนดินแดนปาเลสไตน์

นอกจากได้รับการหนุนหลังจากอิหร่านแล้ว กลุ่มฮามาสยังมีเครือข่ายพันธมิตรมากมายในตะวันออกกกลาง ซึ่งรวมถึงกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮูตีในเยเมน ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในฐานะกลุ่มติดอาวุธที่เป็นตัวแทนอิหร่านในการทำสงคราม หรือที่เรียกว่า Proxy War

นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดฉากทำสงครามกับฮามาส กลุ่มฮูตีและฮิซบอลเลาะห์ต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวทันที โดยกลุ่มฮูตีเน้นหนักไปที่การโจมตีเรือสินค้าทุกลำที่มาจากอิสราเอลหรือกำลังจะมุ่งหน้าไปอิสราเอล ภายใต้ข้ออ้างว่าต้องการยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ ขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ชำนาญการสู้รบด้วยอาวุธหนัก ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธและโดรนติดระเบิด

ความบาดหมางระหว่างอิสราเอลกับฮามาสได้ดึงอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เข้าร่วมวงสงครามครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากอิสราเอลเชื่อมั่นว่า อิหร่านและแกนนำฮิซบอลเลาะห์คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีดินแดนอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งทำให้อิสราเอลเปิดฉากถล่มฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ... และปฏิบัติการที่ดุดันไม่เกรงใจใครก็คือการที่กองทัพอิสราเอลสังหารอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาสในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน และสังหารผู้บัญชาการทหารระดับสูงของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ เมื่อถูกลูบคมถึงใจกลางเมืองหลวงเช่นนี้ อิหร่านก็ไม่อาจอยู่เฉยได้ โดยกองกำลังอิหร่านได้ยิงขีปนาวุธหลายร้อยลูกโจมตีดินแดนอิสราเอลเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความวิตกกังวลว่าสงครามอาจลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง และอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเนื่องจากอิหร่านเป็นสมาชิกรายใหญ่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

*S&P หั่นอันดับเครดิตอิสราเอล หวั่นความขัดแย้งกับฮิซบอลเลาะห์รุนแรงขึ้น

เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติงส์ (S&P Global Ratings) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลลงสู่ระดับ A จากระดับ A+ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยระบุว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น "เราคาดการณ์ว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อพิจารณาจากการยกระดับการสู้รบเมื่อไม่นานมานี้ ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายอาจจะยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงสำหรับอิสราเอล" นักวิเคราะห์ของ S&P ระบุในแถลงการณ์ การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออิสราเอลโดย S&P นั้น มีขึ้นหลังจากที่มูดี้ส์ เรทติงส์ (Moody?s Ratings) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิสราเอลเมื่อวันที่ 27 กันยายน และเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่อิหร่านได้ยิงขีปนาวุธหลายร้อยลูกโจมตีอิสราเอล ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูประกาศว่าจะตอบโต้การกระทำของอิหร่าน

นอกจากนี้ S&P ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจที่แท้จริงของอิสราเอลลงเหลือ 0% ในปี 2567 และ 2.2% ในปี 2568 พร้อมกับคาดการณ์ว่ารัฐบาลอิสราเอลจะขาดดุลงบประมาณมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและในระยะกลาง เนื่องจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศปรับตัวสูงขึ้น

*โกลด์แมน แซคส์ คาดราคาน้ำมันพุ่ง 20 ดอลลาร์ หากอิสราเอลโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันอิหร่าน

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้น 20 ดอลลาร์/บาร์เรล หากอิสราเอลตอบโต้อิหร่านกลับคืนด้วยการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน

ดาอัน สตรอยเวน หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านสินค้าโภคภัณฑ์โลกของโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยในรายการ "Squawk Box Asia" ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า หากการผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลง 1 ล้านบาร์เรล/วันอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นประมาณ 20 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีหน้า

นับตั้งแต่สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ตลาดน้ำมันตกอยู่ในภาวะชะงักงันแค่ในวงจำกัด โดยปัจจัยลบที่กดดันราคาน้ำมันส่วนใหญ่มาจากการที่สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น และอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวลงในจีน

แต่บรรยากาศในตลาดน้ำมันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในสัปดาห์นี้ เมื่อพิจารณาจากการที่ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 วันทำการหลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธจำนวนมากโจมตีอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดมากขึ้น และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันส่งสัญญาณเตือนว่าวิกฤตตะวันออกกลางมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุปทานน้ำมัน

ทั้งนี้ อิหร่านซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปก ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อตลาดน้ำมันโลก โดยอิหร่านผลิตน้ำมันเกือบ 4 ล้านบาร์เรล/วัน และอุปทานน้ำมันทั่วโลกราว 4% อาจตกอยู่ในความเสี่ยงหากโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่านถูกอิสราเอลโจมตีเพื่อเป็นการตอบโต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ