In Focusดราม่าการเมืองเกาหลี! เปิดเบื้องหลังประกาศกฎอัยการศึก-ถอนคำสั่งไม่ถึงวัน สะท้อนความเปราะบางแม้มีอำนาจในมือ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 4, 2024 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมื่อคืนนี้ สำหรับหลาย ๆ คนอยู่ดี ๆ ก็คงมีเรื่องให้นอนไม่หลับ เพราะเมื่อไถหน้าจอมือถือก็คงเจอแต่ข่าวประธานาธิบดีเกาหลีใต้ประกาศกฎอัยการศึก มีภาพตำรวจและทหารคอยคุมพื้นที่อาคารรัฐสภา ขณะที่ชาวเกาหลีและนักการเมืองบางส่วนได้ออกมาลงพื้นที่ประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ผู้นำเกาหลีใต้ก็ยอมถอนประกาศกฎอัยการศึก หลังสภาเกาหลีใต้ลงมติต่อต้าน

*เมื่อคืนเกิดอะไรขึ้น

ในวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ในรอบหลายทศวรรษ ประธานาธิบดียุน ซอกยอล แห่งเกาหลีใต้ ได้สร้างความตกตะลึงให้ทั้งประเทศด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนนี้ (3 ธ.ค.) โดยกล่าวหาว่าพรรคฝ่ายค้านได้เข้าครอบงำรัฐสภา ด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจเกาหลีเหนือ ขณะที่เป็นอุปสรรคขัดขวางรัฐบาลด้วยการทำกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐ

การประกาศกฎอัยการศึกจะทำให้พรรคการเมืองและรัฐสภาไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ขณะที่สื่อจะถูกควบคุมภายใต้กฎอัยการศึกเช่นกัน

การประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในเกาหลีใต้นับตั้งแต่การปกครองระบอบเผด็จการทหารสิ้นสุดลงในช่วงปลายทศวรรษ 1980

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีเฮลิคอปเตอร์ลงจอดบนดาดฟ้าอาคารรัฐสภา รัฐสภาเกาหลีใต้ถูกปิดล้อมทันที ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันนอกอาคารรัฐสภาขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคุมเขตอาคาร ด้านผู้นำฝ่ายค้านเกาหลีใต้ออกมาประณามว่าการประกาศของประธานาธิบดียุนเป็นการกระทำที่ "ผิดกฎหมาย"

อย่างไรก็ดี รัฐสภาเกาหลีใต้ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมาก ก็จัดการประชุมฉุกเฉินได้สำเร็จ โดยมีสมาชิกรัฐสภา 190 รายจากทั้งหมด 300 รายเข้าร่วมการประชุมหลังจากที่ฝ่าแนวทหารและตำรวจมาได้ ที่ประชุมมีมติเรียกร้องให้มีการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้การประกาศกฎอัยการศึกของปธน.ยุนถือเป็นโมฆะ ทหารและตำรวจเกาหลีใต้ได้พากันถอนตัวออกจากรัฐสภา และเช้าวันนี้ (4 ธ.ค.) ประธานาธิบดียุน ซอกยอล แถลงว่า ตนจะยกเลิกกฎอัยการศึกตามมติของรัฐสภา

ตามกฎหมายเกาหลีใต้ ปธน.ต้องยกเลิกกฎอัยการศึกในทันทีที่รัฐสภาเรียกร้องด้วยเสียงข้างมาก

*ควันหลงหลังตลาดวาย

ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาต่างโห่ร้องและปรบมือด้วยความยินดี "เราชนะแล้ว!" เสียงตะโกนดังกึกก้อง ขณะที่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งตีกลองดังสนั่น

ด้านพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี (KDP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก เรียกร้องให้ปธน.ยุนลาออก มิฉะนั้นจะถูกถอดถอน

"แม้จะยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว แต่เขาหนีไม่พ้นข้อหากบฏ ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นชัดแล้วว่า ปธน.ยุนไม่อาจบริหารประเทศได้อีกต่อไป เขาควรก้าวลงจากตำแหน่ง" ปาร์ค ชานแด สมาชิกรัฐสภาอาวุโสพรรค KDP ระบุในแถลงการณ์

"เกาหลีใต้รอดพ้นจากกระสุนนัดชี้ชะตา แต่ปธน.ยุนอาจยิงถูกขาตัวเอง" แดนนี รัสเซล รองประธานสถาบันนโยบายสังคมเอเชียแห่งสหรัฐฯ กล่าว

ส่วนประชาชนก็ไม่น้อยหน้า โดยมีประชาชนบางส่วนรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาเกาหลีใต้ เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุน ซอกยอล ลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน

ขณะที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานเกาหลี (KCTU) ซึ่งมีสมาชิกกว่าล้านคน ได้ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะนัดหยุดงานประท้วงไม่มีกำหนด จนกว่าประธานาธิบดียุนจะลาออกจากตำแหน่ง

*สำรวจเบื้องหลังก่อนเกิดความวุ่นวาย

การที่ปธน.ยุนประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนนี้ก่อให้เกิดคำถามมากมายว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงทำได้แต่คาดเดาโดยประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมา ปธน.ยุนเผชิญกับความยากลำบากนับตั้งแต่ที่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2565 ในการผลักดันวาระการทำงานของเขาผ่านรัฐสภาที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปไตย (DP) ครองเสียงข้างมาก

จุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนี้มีรากฐานมาจากการที่ปธน.ยุนชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2565 มาอย่างฉิวเฉียด ด้วยคะแนนที่นำคู่แข่งเพียง 0.8% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะอดีตอัยการคนดังที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองมือใหม่ ปธน.ยุนแทบไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนน้อยมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญในการบริหารประเทศ

ปธน.ยุน วัย 63 ปี เกิดที่กรุงโซลเมื่อปี 2503 จบการศึกษาด้านกฎหมายก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นอัยการชื่อดังและนักต่อสู้เพื่อปราบปรามคอร์รัปชัน โดยมีบทบาทสำคัญในคดีที่อดีตประธานาธิบดีพัค กึนฮเย ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจในทางมิชอบ

นอกจากนี้ ปธน.ยุน ซึ่งเมื่อปี 2562 ยังเป็นอัยการ ก็ยังสั่งฟ้องผู้ช่วยคนสำคัญของอดีตปธน.มุน แจอิน ในคดีฉ้อโกงและรับสินบน ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดนั้นเสียหายอย่างหนัก

พรรคพลังประชาชน (PPP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ประทับใจในผลงานของยุน จึงชักชวนให้เขามาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 มาได้ แต่ด้วยคะแนนที่ห่างกันน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้

ชัยชนะของปธน.ยุนดูเหมือนจะเป็นผลจากการที่ประชาชนไม่พอใจผลงานของรัฐบาลฝ่ายเสรีนิยมชุดก่อน มากกว่าจะเป็นการสนับสนุนตัวปธน.ยุนเอง

ปธน.ยุน แม้ชนะเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากประชาชนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายที่ย่านอิแทวอนในปี 2565 นอกจากนี้ ปธน.ยุนยังถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น ทั้งปัญหาบ้าน-อาหารแพง เศรษฐกิจซบเซา เด็กจบใหม่ว่างงาน คนหนุ่มสาวไม่กล้าแต่งงานหรือมีลูก

เขายังถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจวีโต้ในทางมิชอบ โดยเฉพาะการคัดค้านร่างกฎหมายที่จะเปิดทางให้มีการสอบสวนพิเศษกรณีคิม กอนฮี ผู้เป็นภริยา ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการปั่นหุ้น ชื่อเสียงของยุนยิ่งเสียหายหนักขึ้นอีก เพราะเมื่อปีที่แล้วมีคนแอบถ่ายคลิปภริยาของเขารับกระเป๋าแบรนด์เนมราคา 2,000 ดอลลาร์เป็นของขวัญ ขณะที่ปธน.ยุนได้ออกมาแก้ต่างว่า ถ้าภริยาของตนไม่รับคงเป็นเรื่องเสียมารยาท

นอกจากภริยาแล้ว แม่ยายของเขาก็กำลังรับโทษจำคุก 1 ปีในคดีปลอมแปลงเอกสารการเงินเกี่ยวกับธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ด้วย

นอกจากปัญหาจากตัวเองและคนใกล้ตัวแล้ว ในรัฐสภาเอง ปธน.ยุนก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ เพราะพรรค DP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และยิ่งได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 60% จากทั้งหมด 300 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งรัฐสภาที่เพิ่งมีไปเมื่อเดือนเมษายน ทำให้ปธน.ยุนกลายเป็นผู้นำเกาหลีใต้คนแรกในรอบหลายทศวรรษที่ไม่เคยมีเสียงข้างมากในรัฐสภาเลย

ความสัมพันธ์อันย่ำแย่ระหว่างปธน.ยุนกับสมาชิกรัฐสภาจากพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงการที่ฝ่ายค้านพยายามคัดค้านเขาในทุกเรื่อง ทำให้นโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจของปธน.ยุนต้องชะงักงันมาตลอด 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นความพยายามลดภาษีนิติบุคคล ปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ และแก้ปัญหาราคาที่อยู่อาศัย

*จุดแตกหัก

แต่สิ่งที่เป็นจุดแตกหักและตัวปธน.ยุนก็หยิบยกมาอ้างความชอบธรรมในการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนนี้ มาจากการที่พรรค DP ปฏิเสธแผนงบประมาณของรัฐบาล และต่อมายังยื่นญัตติต่อรัฐสภาเพื่อถอดถอนอัยการระดับสูง

ย้อนกลับไปสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ฝ่ายค้านได้ตัดงบประมาณที่ปธน.ยุนเสนอลงไปประมาณ 4.1 ล้านล้านวอน (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยลดเงินสำรองของรัฐบาล และลดงบดำเนินงานของสำนักงานประธานาธิบดี สำนักงานอัยการ ตำรวจ และหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ ซึ่งพรรคพลังประชาชน (PPP) ของปธน.ยุนประณามการกระทำนี้ว่าเป็น "การทำลายการทำงานของอัยการ ตำรวจ และหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ" โดยพรรค DP ต้องการถอดถอนประธาน BAI หลังมีข้อกล่าวหาว่าละเลยไม่สั่งให้หน่วยงานของตนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลในโครงการย้ายทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อปี 2565 อย่างจริงจัง แม้มีผู้เรียกร้องให้ตรวจสอบเพราะมีเหตุให้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐจัดสรรงบประมาณ "เกินความจำเป็น" ให้กับโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ บริษัทก่อสร้างที่มีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดภริยาของเขาก็ได้เข้าร่วมโครงการย้ายทำเนียบด้วย ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตก่อสร้างตามที่ต้องมี

ส่วนอัยการอีก 3 คนนั้นถูกยื่นถอดถอน เพราะไม่ยอมสั่งฟ้องสตรีหมายเลขหนึ่งในคดีต้องสงสัยเกี่ยวกับการปั่นหุ้น

ด้านพรรครัฐบาลมองว่า พรรค DP ยื่นญัตติดังกล่าว เพียงเพื่อเป็นการเอาคืนหลังนายอี แจมยอง ผู้นำพรรค DP เคยถูกสอบสวนคดีอาญา

*หากถอดถอนสำเร็จ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อ

ตามรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ รัฐสภาสามารถยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีได้ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเขา "ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ในการปฏิบัติหน้าที่" ทั้งต้องได้รับการเสนอโดยเสียงข้างมากในสภา และต้องมีสมาชิกเห็นด้วยอย่างน้อยสองในสามของทั้งหมด

หลังจากนั้น เรื่องจะถูกส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ และผู้พิพากษาอย่างน้อย 6 คนจาก 9 คนต้องเห็นชอบให้ดำเนินการถอดถอน

ในระหว่างนี้ ประธานาธิบดีจะถูกสั่งพักงานชั่วคราว จนกว่าศาลจะตัดสินเสร็จ

ระหว่างที่รอศาลตัดสินนั้น นายกรัฐมนตรีจะเข้ามารักษาการแทน ซึ่งนายกฯ คนปัจจุบันของเกาหลีใต้คือ ฮัน ด็อก-ซู เป็นนักการเมืองอาชีพที่เคยทำงานในตำแหน่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2550-2551 สมัยประธานาธิบดีโรห์ มู-ฮยอน ซึ่งก็เคยโดนถอดถอนและต้องหยุดทำงานไป 2 เดือน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้กลับมาทำงานได้

ทั้งนี้ หากศาลเห็นด้วยกับการถอดถอนและประธานาธิบดีลาออก รัฐบาลจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน

*จับตา "อี แจมยอง" อาจจะได้เป็นผู้นำคนใหม่

ตามปกติแล้ว ปธน.ยุนต้องอยู่ในตำแหน่งถึงปี 2570 แต่ถ้าเขาต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนกำหนด ก็ต้องเลือกตั้งใหม่เพื่อหาคนมาแทน

บุคคลที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในขณะนี้คงหนีไม่พ้น อี แจมยอง ผู้นำพรรค DP ซึ่งเขาก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน เพราะนายอี แจมยอง ผู้นี้ก็คือผู้ที่เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งล่าสุด ที่แพ้ให้กับปธน.ยุน เพียง 0.8% นี้เอง

แม้นายอีแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่หลังจากที่พรรคของเขาชนะขาดลอยในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อเดือนเมษายน ก็ทำให้เขามีลู่ทางสดใสที่จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ตอนนี้เขาก็เสี่ยงที่จะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเช่นกัน หลังจากที่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลตัดสินว่าเขาละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง

ศาลกลางกรุงโซลตัดสินว่า นายอีมีความผิดฐานให้ข้อมูลเท็จเมื่อปี 2564 ขณะหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยให้จำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 2 ปี ซึ่งนายอีได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้

หากคำตัดสินดังกล่าวมีผลบังคับใช้ นายอีจะต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา และไม่มีสิทธิ์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งหน้า เพราะตามกฎหมายเกาหลีใต้ ผู้ที่โดนปรับตั้งแต่ 1 ล้านวอนขึ้นไปในคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

สถานการณ์ทางการเมืองในเกาหลีใต้ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี หลายคนมองว่าการตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้อาจเป็น "การยิงตัวเอง" ของประธานาธิบดียุน การที่ต้องถอนคำสั่งอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากการยอมรับความพ่ายแพ้ต่อหน้าสาธารณชน ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วแย่ลงไปอีก

ขณะนี้ทั้งสภาและประชาชนต่างเรียกร้องให้เขาลาออก ในขณะที่กระบวนการถอดถอนก็กำลังเดินหน้า การเมืองเกาหลีใต้จึงอยู่ในจุดที่อาจพลิกโฉมครั้งใหญ่ เพราะหากปธน.ยุนต้องพ้นจากตำแหน่งจริง เราอาจได้เห็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ และผู้นำคนใหม่ของเกาหลีใต้ในเร็ว ๆ นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ