เหลือเวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ก็จะหมดปี 2567 หรือปีมะโรงหากนับตามปีนักษัตร ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนต่างมองว่าปี 2567 ถือเป็นปีมังกรทอง ซึ่งเป็นฤกษ์งามยามดีและเหมาะแก่การมีบุตร โดยมีรายงานว่าจำนวนทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี ซึ่งทำให้รัฐบาลจีนคลายความกังวลจากภาวะอัตราการเกิดลดลง และให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดและส่งเสริมการพัฒนาประชากรอย่างสมดุลในระยะยาว
แต่ปี 2567 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนกับที่ผู้คนคาดหวังไว้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจซึ่งถูกถาโถมด้วยปัจจัยลบหลายด้าน ตั้งแต่การชะลอตัวของภาคการผลิตทั่วโลก กระแสการปลดพนักงานในเกือบทุกอุตสาหกรรม สงครามในตะวันออกกลางที่ลุกลามบานปลาย ปัญหาเงินฝืดในจีน และล่าสุดคือสงครามการค้าที่รอซ้ำเติมเศรษฐกิจอยู่ข้างหน้า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บภาษีจากจีนซึ่งเป็นทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งรายใหญ่ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การหวนคืนทำเนียบขาวของทรัมป์ ทำให้ปี 2567 กลายเป็น "ปีทอง" ของ "บิตคอยน์" โดยราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นทะลุหมุดหมายสำคัญที่ระดับ 100,000 ดอลลาร์ได้สำเร็จ หลังจากทรัมป์ยืนยันว่าจะออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซีตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นอกจากนี้ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หั่นดอกเบี้ยรวดเดียวถึง 0.50% ในเดือนก.ย. ยังทำให้ปี 2567 กลายเป็นปีทองของ "ทองคำ" โดยล่าสุดราคาทองคำตลาด COMEX พุ่งขึ้นทะลุระดับ 2,700 ดอลลาร์ไปแล้ว สมกับการรอคอยของบรรดานักตุนทองที่เก็งกันไว้แต่เนิ่น ๆ ว่า ราคาทองมีโอกาสพุ่งไปถึงระดับดังกล่าวก่อนสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
ท่ามกลางสายลมการเมืองที่เปลี่ยนทิศในสหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่ที่สามารถพลิกหมากบนกระดานเศรษฐกิจทั้งโลกได้ตลอดเวลา รวมทั้งสงครามการค้าที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนนั้น กำลังทำให้คนจำนวนมากขาดความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจปีหน้า และก่อนที่ปี 2567 จะปิดฉากลง In Focus สัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านย้อนรอยเส้นทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก เพื่อเตือนความจำว่าเราเดินทางผ่านเรื่องราวใดร่วมกันมาบ้าง
- ญี่ปุ่น: โกลาหลรับปีใหม่ - รัฐบาลไม่มั่นใจทิศทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมการบินของญี่ปุ่นเปิดฉากปีมังกรด้วยความโกลาหล หลังเกิดเหตุไฟไหม้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) ในวันที่ 2 ม.ค. โดยมีสาเหตุมาจากการเฉี่ยวชนกันของเครื่องบิน JAL และเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งญี่ปุ่นที่สนามบินฮาเนดะ ซึ่งแม้ว่าผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดจะปลอดภัย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สายการบินหลายแห่งพากันยกเลิกและปรับตารางบินอย่างกะทันหัน ขณะที่ JAL ประเมินว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงานมากถึง 105 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.5 หมื่นล้านเยน
ญี่ปุ่นถูกกระหน่ำซ้ำซ้อน เมื่อถูกสหรัฐฯ นำชื่อเข้าสู่บัญชีประเทศที่ถูกจับตา (Monitoring List) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ญี่ปุ่นเข้าเกณฑ์การถูกขึ้นบัญชีจับตาเนื่องจากพบว่ามียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในปี 2566 สูงถึง 6.24 หมื่นล้านดอลลาร์ และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 3.5% ของ GDP ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.8% ในปี 2565
แม้แต่รัฐบาลของญี่ปุ่นเองก็ไม่มั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2567 โดยได้ปรับลดการประเมินตัวเลข GDP ปีงบประมาณ 2567 ลงเหลือเพียง 0.9% จากเดิมที่ระดับ 1.3% โดยมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ หลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวที่ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นปลอมแปลงข้อมูลเพื่อออกใบรับรองคุณภาพรถยนต์
ส่วนจำนวนบริษัทที่ยื่นล้มละลายในญี่ปุ่นปี 2567 มีแนวโน้มทะลุ 10,000 ราย ซึ่งจะเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 โดยโตเกียวโชโกะรีเสิร์ช (TSR) ระบุว่า ในเดือนพ.ย. ปีนี้ มีบริษัทญี่ปุ่นล้มละลายมากถึง 841 ราย ส่งผลให้ยอดรวมช่วงม.ค.-พ.ย. พุ่งแตะ 9,164 ราย ซึ่งสูงกว่ายอดรวมทั้งปีของปี 2566 แล้ว และทำให้คาดการณ์ว่าตัวเลขล้มละลายปี 2567 จะทะลุ 10,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556
ทั้งนี้ คงจะมีแต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เท่านั้นที่มีมุมมองบวกว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความคืบหน้ามากพอที่จะทำให้ BOJ สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เนื่องจากเชื่อว่าการที่ภาคเอกชนปรับขึ้นค่าจ้างจะเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่คาดหวังไว้
นักวิเคราะห์มองว่า ความพยายามของ BOJ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น มีเป้าหมายที่จะสกัดการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดรั้งอุตสาหกรรมการส่งออกของญี่ปุ่น เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น
- จีน: ยังไม่พ้นวังวนเงินฝืดและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์
จีนยังคงติดวงล้อมของปัญหาเงินฝืด ซึ่งความกังวลดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนย่ำแย่ลงอย่างมากในปี 2567 โดยมอร์แกน สแตนลีย์ และโกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของหุ้นจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองบริษัทโบรกเกอร์รายใหญ่ของวอลล์สตรีทเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นแดนมังกร เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินฝืดและสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีนซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
มอร์แกน สแตนลีย์ ได้ปรับลดน้ำหนักความน่าลงทุนของตลาดหุ้นจีนลงสู่ระดับ "Underweight" เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นจีนที่คำนวณในดัชนี MSCI China Index เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าหุ้นจีนมีความน่าดึงดูดน้อยลง
หลักฐานล่าสุดที่บ่งบอกว่าจีนยังคงเผชิญปัญหาเงินฝืดคือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนต.ค.ที่ปรับตัวขึ้น 0.3% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.5% โดย CPI ของจีนยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับศูนย์นับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินฝืดและอุปสงค์ที่ซบเซาในประเทศจีน แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนับตั้งแต่เดือนก.ย. ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การสนับสนุนตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความพยายามในการกระตุ้นการปล่อยกู้ในภาคธนาคาร
ขณะเดียวกัน จีนมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเป้าหมายของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ หลังจากทรัมป์เตือนว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% เมื่อเขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันแรก โดยสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ปี 2567 ยังเป็นปีที่จีนยังคงเผชิญผลพวงของวิกฤการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีต้นตอมาจากการล้มละลายของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ ภายหลังจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30%
ทั้งนี้ การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ยังส่งผลกระทบลุกลามไปยังบริษัทอื่น ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หง ฮ่าว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทโกรว์ อินเวสต์เมนต์ กรุ๊ป ประเมินว่า จีนอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีจึงจะสามารถขายอสังหาริมทรัพย์ค้างสต็อกได้หมด
- สหรัฐฯ: เปิดศึกรอบด้าน หลัง "ทรัมป์" คัมแบ็กทำเนียบขาว
ในช่วงที่ทรัมป์เดินสายหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น เขาชูนโยบายที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หรือ "Make America Great Again" ซึ่งนโยบายเหล่านี้รวมถึงการรีดภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่ทรัมป์มองว่าเอารัดเอาเปรียบสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทสหรัฐฯ และเมื่อผลปรากฏว่าทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เขาประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% เมื่อเขาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันแรก
คำประกาศิตของทรัมป์ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงิน โดยดัชนีตลาดหุ้นเอเชียดิ่งลงถ้วนหน้า ขณะที่หุ้นบริษัทรถยนต์ที่เข้าไปตั้งโรงงานในเม็กซิโกและแคนาดาร่วงลงอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ราคาทองแดงและราคาแร่เหล็กที่ปรับตัวลงหลังจากทรัมป์ประกาศเรื่องดังกล่าวได้ไม่นาน
สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันได้ออกแถลงการณ์เพื่อเตือนสติทรัมป์ว่า ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหรัฐฯ ต่างก็ไม่มีประเทศใดเป็นผู้ชนะในสงครามการค้า แต่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ต่างหากที่จะทำให้ทั้งสองประเทศได้ประโยชน์ร่วมกัน สอดคล้องกับที่คลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโกที่ออกมาเตือนทรัมป์ว่า การขึ้นภาษีนำเข้าจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจของทั้งเม็กซิโกและสหรัฐฯ เอง พร้อมกับส่งสัญญาณว่าเม็กซิโกอาจใช้มาตรการตอบโต้
คำเตือนของประเทศคู่ค้าดูเหมือนจะไม่ระคายผิวทรัมป์ เขาเดินหน้าเปิดศึกด้วยการประกาศเตือนประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ (BRICS) ว่าไม่ควรคิดสร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อให้มาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงลิ่วถึง 100%
นอกเหนือจากการเปิดศึกทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว ทรัมป์ยังนำร่องก่อนนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่สอง ด้วยการแสดงท่าทีเป็นมิตรกับวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับยูเครน สวนทางกับจุดยืนของโจ ไบเดน ปธน.คนปัจจุบันของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนยูเครนทั้งในด้านอาวุธและงบประมาณการทำศึกกับรัสเซีย โดยล่าสุดทีมทรัมป์ ซึ่งนำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของว่าที่ปธน.ทรัมป์ ได้ออกมาโจมตีไบเดนที่อนุญาตให้ยูเครนสามารถใช้ระบบขีปนาวุธ Army Tactical Missile Systems หรือ ATACMS ของสหรัฐฯ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย โดยบุตรชายคนโตของทรัมป์กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของไบเดนถือเป็นการบ่อนทำลายการทำหน้าที่ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบิดาของเขา ด้วยการเร่งให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นในการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
การคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของทรัมป์ได้สร้างความวิตกว่าสหรัฐฯ อาจจะยุติการสนับสนุนยูเครน เนื่องจากทรัมป์ได้ประกาศในระหว่างการหาเสียงว่า หากเขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจะสามารถยุติสงครามในยูเครนได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งคำกล่าวของทรัมป์ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ยูเครนอาจจะต้องยอมเสียดินแดนบางส่วนแก่รัสเซียเพื่อแลกกับสันติภาพ ซึ่งจะถือเป็นชัยชนะของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
- ยุโรปผวาเศรษฐกิจถดถอย หวั่นนโยบายทรัมป์ทำยูโรโซนเผชิญความเสี่ยง
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกรายงานทบทวนเสถียรภาพด้านการเงิน (Financial Stability Review) รอบครึ่งปีโดยระบุว่า สถานการณ์ตึงเครียดด้านการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้สร้างความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจยูโรโซน และยังระบุด้วยว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวอ่อนแอลงถือเป็นภัยคุกคามมากกว่าภาวะเงินเฟ้อสูงในกลุ่มยูโรโซนซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 20 ประเทศ หลุยส์ เดอ กินดอส รองประธาน ECB กังวลว่า การที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซนมีความเสี่ยงมากขึ้น เดอ กินดอส คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนจะอยู่ต่ำกว่า 1% ในปี 2567 และจะสูงกว่าระดับ 1% เพียงเล็กน้อยในปี 2568 พร้อมกับแสดงความกังวลว่าเศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ในยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และนโยบายที่คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ อาจจะนำมาใช้ในอนาคต ซึ่งส่งผลให้อนาคตของเศรษฐกิจยุโรปเผชิญกับความไม่แน่นอน
- ปี 2567 ปีทองของบิตคอยน์
บิตคอยน์ฉายแสงแวววับในปี 2567 โดยเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 100,000 ดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นระดับที่นักลงทุนต่างรอคอยมานาน โดยราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้นเหนือระดับดังกล่าว ไม่นานหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอชื่อ พอล แอตกินส์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) นักลงทุนในตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมองว่า การที่ทรัมป์เลือกแอตกินส์ให้ทำหน้าที่ประธาน SEC แทนแกรี เจนสเลอร์นั้น จะช่วยให้รัฐบาลของทรัมป์สามารถดำเนินนโยบายตามที่ให้คำมั่นสัญญาณในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมคริปโทฯ เป็นวงกว้าง
แอตกินส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารความเสี่ยง พาโทแมค โกลบอล พาร์ทเนอร์ส เคยทำหน้าที่เป็นกรรมการ SEC ในช่วงปี 2545-2551 ในสมัยอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้เชี่ยวชาญตั้งเป้าราคาบิตคอยน์ว่าจะสูงถึง 200,000 ดอลลาร์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยมองว่าการคว้าชัยชนะของทรัมป์ และการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะทำให้ทรัมป์สามารถผลักดันการผ่อนคลายกฎระเบียบในการควบคุมคริปโทเคอร์เรนซี รวมทั้งการทำให้สหรัฐฯ เป็นเมืองหลวงของคริปโทเคอร์เรนซี
นอกจากนี้ บิตคอยน์ยังได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า คณะทำงานของนายทรัมป์เตรียมสร้างตำแหน่งใหม่ในทำเนียบขาวเพื่อกำกับดูแลนโยบายด้านคริปโทเคอร์เรนซีโดยเฉพาะ ซึ่งจะถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเติบโตจากการเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลักของระบบการเงินและเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ส่วนปีหน้าฟ้าใหม่ คงต้องรอดูกันต่อไปว่าหลังทรัมป์รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค. 2568 เศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร จะยังคงปกคลุมไปด้วยเมฆหมอก พายุโหมกระหน่ำ หรือท้องฟ้าจะสว่างสดใสขึ้น ตามคำกล่าวที่ว่า ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ