In Focusวิกฤตโลกร้อน 2567 ปีแห่งสัญญาณเตือนภัยสภาพอากาศสุดขั้ว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 18, 2024 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2567 เป็นปีที่สัญญาณและผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นทั่วโลกอย่างชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เรนบอมบ์ที่ทำให้ฝนตกลงมาอย่างหนักและเนิ่นนานจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไฟป่าที่โหมกระหน่ำในหลายพื้นที่ ตลอดจนการละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาจนทำให้ลานขาวโพลนในทวีปถูกปกคลุมด้วยสีเขียวจากพืชพรรณที่สามารถเติบโตหลังหิมะหลอมละลาย

อุณหภูมิโลกเดือด

ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 1.6 องศาเซลเซียส สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยคลื่นความร้อนรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วประเทศเมื่อเดือนก.ย. 2567 สูงกว่าค่าปกติถึง 2.52 องศาเซลเซียส เป็นตัวเลขสูงสุดอันดับ 2 นับตั้งแต่เริ่มเก็บสถิติในปี 2441 และเป็นรองจากปี 2566 เท่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่ามีสาเหตุหลักจากกระแสลมกรดกึ่งเขตร้อนเคลื่อนตัวขึ้นเหนือผิดปกติ ประกอบกับระบบความกดอากาศสูงในมหาสมุทรแปซิฟิกที่แผ่ขยายเข้าสู่ญี่ปุ่น ทำให้มวลอากาศอุ่นปกคลุมหมู่เกาะญี่ปุ่นได้ง่าย พร้อมชี้ว่า นี่เป็น "ผลกระทบระยะยาวจากภาวะโลกร้อน"

ด้านโคเปอร์นิคัส (Copernicus) ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามสภาพอากาศของสหภาพยุโรปรายงานว่า อุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวโลกในเดือนส.ค.อยู่ที่ 16.82 องศาเซลเซียส และในเดือนมิ.ย. และส.ค. อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกทะลุเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปี 2567 มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นมาจากคลื่นความร้อนที่อยู่เหนือมหาสมุทร และการละลายของหิมะและน้ำแข็งในทะเลที่ทำหน้าที่สะท้อนแสงอากาศ

พายุไต้ฝุ่นที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ต้องรับมือกับพายุไต้ฝุ่นถี่ขึ้นและมีความรุนแรงขึ้น ในปี 2567 ฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุถึง 4 ลูกภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนเศษ ตั้งแต่พายุ "กระท้อน" และ "กองเร็ย" ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของประเทศเมื่อเดือนต.ค. และต่อมา ในเดือนพ.ย. พายุไต้ฝุ่น "หยินซิ่ง" ทำให้ฝนตกหนักมากกว่า 200 มิลลิเมตร (8 นิ้ว) ในจังหวัดคากายัน

เกาะลูซอน ซึ่งเป็นเกาะหลักของฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนกำลังแรง "จ่ามี" เมื่อเดือนต.ค. คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100 ราย และสร้างความเสียหายต่อภาคการเกษตรเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านเปโซ ซึ่งถือเป็นมูลค่าความเสียหายสูงสุดนับตั้งแต่ที่พายุไต้ฝุ่น "โคนี" พัดถล่มประเทศเมื่อปี 2563

ทั้งนี้ ข้าวเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากพายุจ่ามีมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 4 พันล้านเปโซ ขณะที่พืชผลอื่น ๆ ถูกทำลายเป็นจำนวนมากเช่นกัน จนอาจส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารและทำให้ต้องนำเข้ามากขึ้น

วิกฤตน้ำท่วมถล่มนานาประเทศ

ฝนตกหนักในสเปนคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 200 ราย หลังจากที่ในช่วงสิ้นเดือนต.ค. แคว้นบาเลนเซียทางตะวันออกของประเทศต้องเผชิญกับสภาพฝนที่ตกหนักนานถึง 8 ชั่วโมง แต่มีปริมาณน้ำฝนมากเท่ากับที่ตกตลอดทั้งปี

นอกจากบาเลนเซียแล้ว ยังเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะที่แคว้นอันดาลูซิอาทางตอนใต้

อุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ปี 2564 ที่มีผู้เสียชีวิตในเยอรมนีถึง 185 ราย และอาจเป็นเหตุน้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสเปนด้วย เพราะมีผู้เสียชีวิตมากกว่าเหตุน้ำท่วมเมื่อปี 2539 ที่คร่าชีวิตผู้คน 87 รายในเมืองบีเอสกัสซึ่งอยู่แถบเทือกเขาพิเรนีส

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วบ่อยครั้งขึ้น โดยนักอุตุนิยมวิทยามองว่า เมื่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงและถี่ขึ้นจนสร้างความเสียหายมากขึ้นกว่าที่เคย

และเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา มาเลเซียก็เป็นอีกประเทศที่เผชิญกับเหตุน้ำท่วมจากฝนตกหนัก กระทบประชาชนหลายหมื่นใน 6 รัฐ จนรัฐบาลต้องเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว 322 แห่งในรัฐกลันตัน ตรังกานู เกดะห์ ปะลิส ยะโฮร์ และเประ เพื่อรองรับผู้อพยพหนีภัยจากน้ำท่วม โดยรัฐกลันตันที่อยู่ติดกับชายแดนไทยได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีประชาชน 30,582 รายจาก 9,223 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ประเทศไทยของเราก็เผชิญอุทกภัยหลายระลอกในปีนี้ ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือที่เผชิญฝนตกและน้ำท่วมตั้งแต่เดือนส.ค. ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายลงอีกโดยเฉพาะเชียงราย เชียงใหม่ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางส่วนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จนกระทั่งเดือนธ.ค. ส่งท้ายปลายปีก็ยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำขังในพื้นที่หลายอำเภอ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

พายุหิมะและคลื่นความหนาวที่รุนแรง

ในช่วงต้นปี เขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกของจีนเผชิญกับสภาพอุณหภูมิดิ่งต่ำสุดในรอบ 64 ปี โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. ตำบลถูเอ่อร์ อำเภอฟู่ยุวิ่น ทำสถิติอุณหภูมิต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในซินเจียงที่ -52.3 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติเดิมที่อุณหภูมิ -51.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2503

นอกจากพายุหิมะและคลื่นความหนาวแล้ว จีนยังเผชิญเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอีกหลายรูปแบบในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่พายุทราย ฝนตกหนัก อากาศร้อนทำลายสถิติในช่วงฤดูร้อน ไปจนถึงพายุไต้ฝุ่นอีกหลายลูก

ขณะที่ในช่วงเดือนพ.ย. เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่เผชิญกับพายุหิมะรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 50 ปีซึ่งพัดถล่มกรุงโซล ส่งผลให้เที่ยวบินหลายร้อยเที่ยวถูกยกเลิกและการจราจรติดขัดทั่วเมือง ในช่วงดังกล่าว หิมะตกสะสมหนาถึง 20 เซนติเมตรในพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงโซลและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 52 ปี โดยพายุหิมะครั้งล่าสุดที่มีปริมาณหิมะตกใกล้เคียงกันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2515 ซึ่งมีหิมะสะสมหนา 12 เซนติเมตร

ด้านมองโกเลียซึ่งปกติเผชิญอากาศหนาวจัดอยู่แล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. ที่ผ่านมา อุณหภูมิในชั่วข้ามคืนของมองโกเลียลดฮวบลงมาอยู่ที่ -42 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิต่ำสุดในมองโกเลียในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ส่งผลให้ประชาชนเผชิญหิมะตกหนักที่สุดในรอบ 49 ปี

นอกจากนี้ จังหวัด 21 จังหวัดของมองโกเลียต้องเผชิญสภาพอากาศหนาวสุดขั้ว มีหิมะตกหนักเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปี 2518 หรือ 49 ปี ส่งผลให้พื้นที่ราวร้อยละ 90 ของมองโกเลียถูกปกคลุมไปด้วยหิมะหนาถึง 100 เซนติเมตร และทำให้ปศุสัตว์ตายประมาณ 8 ล้านตัว

เมื่อดอกไม้บานบนทวีปแอนตาร์กติกา

งานวิจัยเกี่ยวกับการกระจายของพืชพรรณในทวีปแอนตาร์กติกาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ที่มีพืชพรรณขึ้นปกคลุมบนทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นทวีปที่มีน้ำแข็งปกคลุมตลอดทั้งปีนั้น เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า โดยมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจาก 0.86 ตารางกิโลเมตรในปี 2529 เป็น 11.95 ตารางกิโลเมตรในปี 2564 แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิในทวีปแอนตาร์กติกาสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โดยในปี 2545 เริ่มพบดอกไม้เบ่งบานในทวีปแอนตาร์กติกรวม อีกทั้งยังมีสาหร่ายสีเขียวเกาะอยู่บนน้ำแข็งอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของทวีปแอนตาร์กติกจะอยู่ระหว่าง -10 องศาเซลเซียสบนชายฝั่งไปจน ถึง -60 องศาเซลเซียสในส่วนที่เป็นภูเขาและบริเวณใกล้ชายฝั่งอุณหภูมิอาจสูงเกิน 10 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน

เจรจา COP16 คว้ำน้ำเหลว ไร้ข้อตกลงจัดการปัญหาภัยแล้งทั่วโลก

การประชุม COP16 โดยสหประชาชาติ (UN) ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นนานถึง 2 สัปดาห์ แต่ 197 ประเทศที่เข้าร่วมก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการจัดการปัญหาภัยแล้งทั่วโลกได้ แม้ว่าสภาพภูมิอากาศที่ร้อนแรงขึ้นจะยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นก็ตาม

อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) เตือนว่า หากแนวโน้มภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ประชากรเกือบ 5 พันล้านคน ซึ่งรวมถึงในยุโรปส่วนใหญ่ บางพื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐฯ บราซิล เอเชียตะวันออก และแอฟริกากลาง จะได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งของที่ดินบนโลกภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพิ่มขึ้นจากประชากรโลกเพียง 25% ในปัจจุบัน

ภาคการเกษตรจะเผชิญความเสี่ยงเป็นพิเศษ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารสำหรับชุมชนทั่วโลก นับเป็นครั้งที่ 4 แล้วที่การเจรจาดังกล่าวของ UN ประสบความล้มเหลวในการบรรลุฉันทามติหรือให้ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวังในปีนี้ ซึ่งสร้างความกังวลให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เปราะบางที่สุด ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมในการเจรจาที่ริยาดตัดสินใจที่จะเลื่อนการทำข้อตกลงไปจนถึงการเจรจาครั้งถัดไปในปี 2569 ซึ่งจะจัดขึ้นโดยประเทศมองโกเลีย

สัญญาณเตือนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในขณะที่เวทีการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่เคยผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาได้เลย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกคนจะต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อโลกสีเขียวของเรา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไปกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ