โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ ได้สร้างประเด็นถกเถียงมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศจากการประกาศนโยบายที่อาจสะท้อนแนวทางการบริหารของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 โดย In Focus สัปดาห์นี้จะพาไปสำรวจนโยบายต่าง ๆ ของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงสี่ปีข้างหน้า และอาจส่งผลต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่มากก็น้อย
ทรัมป์มีแผนที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจในการใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่เขาได้ให้ไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยสื่อหลายสำนักรายงานว่า หลังการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. ทรัมป์อาจใช้คำสั่งประธานาธิบดีตามกฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ IEEPA (International Economic Emergency Powers Act) เพื่อประกาศใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษี โดย IEEPA จะให้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมการนำเข้าสินค้าในยามที่สหรัฐฯ ประสบวิกฤตการณ์
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าทรัมป์จะประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติหรือไม่ ขณะที่คณะทำงานของทรัมป์กำลังพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การใช้บางมาตราของกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ขู่ว่าจะจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนสูงถึง 60% นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์ประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% และเพิ่มภาษีต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกอีก 25%
ทรัมป์กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จะหาโอกาสจัดการประชุมร่วมกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. แต่ยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาที่แน่นอน ซึ่งการเจรจายุติสงครามในยูเครนนั้นเป็นประเด็นหนึ่งที่ทรัมป์เคยให้สัญญาไว้ในช่วงของการหาเสียง
ด้านรัสเซียและยูเครนต่างเปิดกว้างสำหรับการเจรจา แต่ยังไม่มีการยืนยันในรายละเอียด โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครนกล่าวเพียงว่า ยูเครนเองก็หวังว่าจะจัดการเจรจาระดับสูงกับคณะทำงานทรัมป์ภายหลังพิธีสาบานตน ซึ่งรวมถึงการจัดประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี
ในขณะที่แสดงความตั้งใจจะช่วยเจรจายุติสงครามยูเครน แต่กลับดูเหมือนว่าทรัมป์จะเปิดศึกหลายด้านกับประเทศอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการยึดครองคลองปานามาและกรีนแลนด์ ไปจนถึงการผนวกแคนาดาเข้าเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ
ในระหว่างการแถลงข่าวที่รีสอร์ต มาร์-อา-ลาโก ในฟลอริดาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ทรัมป์กล่าวว่า จะทำให้แคนาดาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลถึงเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะหากแคนาดาและสหรัฐฯ รวมกันแล้วจะยิ่งใหญ่มาก
สำหรับกรณีของกรีนแลนด์นั้น ทรัมป์ขู่ว่าจะตั้งกำแพงภาษีกับเดนมาร์ก หากไม่ยอมขายกรีนแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้ราชอาณาจักรเดนมาร์ก ให้สหรัฐฯ ส่งผลให้เดนมาร์กต้องประกาศตอบโต้ว่า กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย ขณะที่นายมูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีของกรีนแลนด์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงจุดยืนของตนเองเช่นกันว่า กรีนแลนด์เปิดกว้างสำหรับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น การทำเหมือง แต่ไม่ได้ระบุว่า กรีนแลนด์จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ ครอบครอง
"เราต้องทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ซึ่งเราได้เริ่มเจรจาและหาโอกาสในการร่วมมือกับทรัมป์แล้ว" นายกฯ กรีนแลนด์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า กรีนแลนด์เปิดกว้างในด้านการทำเหมือง และมันจะเป็นเช่นนั้นต่อไป เนื่องจากกรีนแลนด์ต้องทำการค้ากับสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กรีนแลนด์ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ อีกทั้งยังมีแหล่งแร่ธาตุและน้ำมันปริมาณมหาศาลที่ยังไม่ถูกขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์
ในส่วนของคลองปานามา ซึ่งเคยเป็นของสหรัฐฯ ก่อนถูกส่งมอบให้กับประเทศปานามาเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ทรัมป์ได้ออกมาขู่ว่าจะยึดคืน โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนและค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป ส่งผลให้ประธานาธิบดีโฮเซ ราอูล มูลิโน ของปานามา ออกมาตอบโต้คำขู่ของทรัมป์ และออกแถลงการณ์ยืนยันความเป็นอิสระและเอกราชของประเทศเหนือคลองปานามา
การอพยพเข้าเมืองเป็นหนึ่งประเด็นที่ถูกจับตามาก เนื่องจากแต่ละรัฐก็มีนโยบายที่ชัดเจนของตนเอง โดยผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน 26 คนพร้อมสนับสนุนนโยบายปราบปรามผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายของทรัมป์ โดยออกแถลงการณ์ร่วมว่า "พวกเราพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะผ่านการบังคับใช้กฎหมายของรัฐหรือกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ในภารกิจสำคัญนี้"
นอกจากนี้ หลายรัฐกำลังร่างกฎหมายเพื่อให้อำนาจตำรวจท้องถิ่นจับกุมผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย โดยรัฐมิสซูรีถึงขั้นเสนอให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสและอนุญาตให้นักล่าค่าหัวเอกชนสามารถตามหาและกักขังบุคคลเหล่านั้นได้
ขณะที่ผู้ว่าการรัฐจากพรรคเดโมแครตบางคนอยากใช้แนวทางประนีประนอม และจะยอมร่วมมือเฉพาะการจับกุมผู้ก่ออาชญากรรม แต่ยืนยันไม่ยอมเปิดทางให้กองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติกวาดล้างผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียได้จัดการประชุมพิเศษเพื่อกำหนดจุดยืนในการป้องกันนโยบายของทรัมป์
การทำแท้งในสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการทางยามากกว่าการผ่าตัด และประเด็นนี้กำลังเป็นจุดศูนย์กลางของการถกเถียงในประเทศ โดยหลายรัฐพยายามควบคุมยาทำแท้ง เช่น รัฐอินดีแอนา มิสซูรี นิวแฮมป์เชียร์ และเทนเนสซี ที่เสนอร่างกฎหมายห้ามการใช้ยาทำแท้ง ขณะที่รัฐลุยเซียนาได้จัดประเภทยาเหล่านี้ให้เป็นสารอันตรายที่ต้องควบคุม
ในขณะเดียวกันก็มีคดีความทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง เช่น การฟ้องร้องแพทย์จากนิวยอร์กโดยอัยการสูงสุดรัฐเท็กซัส โดยหญิงในรัฐเท็กซัสกล่าวหาว่าแพทย์สั่งจ่ายยาไม่ถูกต้องผ่านระบบการแพทย์ทางไกล แม้ว่ารัฐนิวยอร์กจะมีกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองการสั่งจ่ายยาในลักษณะดังกล่าวก็ตาม
การศึกษาเป็นประเด็นที่ทั้งสองพรรคให้ความสนใจ โดยเฉพาะการขยายขอบเขตการใช้งบประมาณของรัฐเพื่อจ่ายค่าเรียนให้เด็ก ๆ ในโรงเรียน และการสนับสนุนเรื่องศาสนาคริสต์ในสถานศึกษา โดยรัฐถึง 12 รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐฐานเสียงรีพับลิกัน ได้เปิดให้นักเรียนขอทุนเพื่อเรียนในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนศาสนา และอาจมีการเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีและเงินอุดหนุนสำหรับค่าเล่าเรียนโรงเรียนเอกชนในอนาคต
สำหรับการผลักดันศาสนาคริสต์ในสถานศึกษานั้น หลายรัฐที่ดำเนินนโยบายแบบอนุรักษ์นิยมผลักดันให้สอนพระคัมภีร์และติดบัญญัติสิบประการในโรงเรียนรัฐ ซึ่งทรัมป์เองเคยให้คำมั่นไว้ว่า จะส่งเสริมให้มีการสวดมนต์และการอ่านพระคัมภีร์ในโรงเรียน
นโยบายความหลากหลาย ความเสมอภาค และการอยู่ร่วมกัน (DEI) คาดว่าจะถูกยกเลิกในรัฐที่นำโดยพรรครีพับลิกัน โดยหลายรัฐได้เริ่มยุบสำนักงานด้านความหลากหลายในสถาบันการศึกษาแล้ว
นอกจากนี้ อัยการสูงสุดและสภานิติบัญญัติในรัฐที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มที่จะกดดันภาคเอกชนให้ลดโครงการ DEI ลงด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างกฎหมายของรัฐเทนเนสซีซึ่งกลายเป็นหนึ่งในต้นแบบที่ห้ามไม่ให้สถาบันการเงินพิจารณาเข้าร่วมการอบรม "ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการอยู่ร่วมกัน" ของลูกค้า
ประเด็นสิทธิคนข้ามเพศกำลังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจในการเมืองสหรัฐฯ เช่นกัน โดยในการรณรงค์หาเสียงปีที่แล้ว ทรัมป์ได้มุ่งเน้นการโจมตีสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติพรรครีพับลิกันมีท่าทีที่จะผลักดันการจำกัดสิทธิของคนข้ามเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เยาว์
ปัจจุบัน รัฐส่วนใหญ่ที่ควบคุมโดยพรรครีพับลิกันได้ออกกฎหมายห้ามหรือจำกัดสิทธิคนข้ามเพศในหลายด้าน ทั้งการรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพสำหรับผู้เยาว์ การเข้าร่วมกีฬา และการใช้ห้องน้ำในโรงเรียน ตัวอย่างเช่น ในรัฐเท็กซัสมีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 30 ฉบับ นอกจากการห้ามการรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพสำหรับผู้เยาว์แล้ว ยังมีการเรียกร้องให้ห้ามโครงการ Medicaid และโครงการอื่นๆ ของรัฐใช้งบประมาณสำหรับการรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพสำหรับคนทุกวัยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อนาคตของมาตรการจำกัดสิทธิคนข้ามเพศบางอย่างอาจขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลฎีกาสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2568 ในประเด็นว่ารัฐเทนเนสซีมีสิทธิในการห้ามการรักษาเพื่อยืนยันเพศสภาพสำหรับผู้เยาว์ที่เป็นคนข้ามเพศหรือไม่
นโยบายเกี่ยวกับฟลูออไรด์และวัคซีนมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีคนใหม่แต่หน้าเดิม โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติในบางรัฐได้เสนอร่างกฎหมายที่จะยุติโครงการเติมฟลูออไรด์ในน้ำ และจำกัดการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิด
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ผู้ต่อต้านวัคซีนโควิด ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ และเขาได้เรียกฟลูออไรด์ว่าเป็น "ของเสียอุตสาหกรรม" พร้อมทั้งระบุว่า รัฐบาลทรัมป์จะเสนอให้หยุดการเติมฟลูออไรด์ลงในระบบน้ำทั้งหมดของประเทศ ทั้ง ๆ ที่การเติมฟลูออไรด์ระดับต่ำในน้ำดื่มเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านสาธารณสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ผ่านมา เพราะช่วยป้องกันฟันผุ
สุดท้ายนี้ เราคงต้องติดตามดูว่า สิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์เคยกล่าวไว้จะกลายเป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง หรือจะเป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม ทั้งชาวอเมริกันและประชาคมโลกคงต้องจับตามองการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเหล่านี้อย่างใกล้ชิดต่อไป