เพียงไม่กี่เดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในตลาดการเงินทั่วโลกด้วยการเปิดฉากสงครามภาษีกับแทบทุกประเทศ โดยเฉพาะกับจีนที่เรียกเก็บภาษีสูงถึง 145% แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดหวั่นวิตกคือท่าทีแข็งกร้าวของทรัมป์ที่มีต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยเฉพาะการออกมาโจมตีเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดอย่างเปิดเผย และถึงขั้นขู่ "ปลด" ออกจากตำแหน่ง
แม้ว่าล่าสุดทรัมป์กลับลำด้วยการประกาศว่าเขาไม่มีแผนที่จะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งประธานเฟดก่อนครบวาระในเดือนพ.ค. 2569 แต่ทรัมป์ก็ยังเดินหน้ากดดันให้เฟดลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ... In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปเจาะลึกความขัดแย้งที่คุกคามความเป็นอิสระของเฟด และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน
*ทรัมป์เปิดศึกพาวเวล ขู่ปลดจากเก้าอี้ประธานเฟด
"การปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งควรเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด!" ทรัมป์ประกาศผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social เมื่อวันที่ 17 เม.ย. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่พาวเวลปรับลดอัตราอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป โดยทรัมป์กล่าวว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว 7 ครั้งนับตั้งแต่ ECB เริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. 2567 แต่พาวเวลกลับเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ช้ามาก ทั้ง ๆ ที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ราคาสินค้าในร้านขายของชำ แม้แต่ไข่ไก่ก็ปรับตัวลดลงด้วย
สถานการณ์ส่อเค้ารุนแรงขึ้นในวันถัดมา เมื่อเควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวเปิดเผยว่า คณะบริหารของรัฐบาลทรัมป์กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการปลดพาวเวลออกจากตำแหน่ง ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลว่าความเป็นอิสระของเฟดอาจถูกแทรกแซงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
กระทั่งในวันจันทร์ที่ 21 เม.ย. ทรัมป์ออกมากดดันเฟดอีกครั้งผ่านการโพสต์ข้อความบน Truth Social ว่า เศรษฐกิจอาจชะลอตัวหากเฟดไม่รีบลดอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้ ท่าทีของทรัมป์ยิ่งจุดประกายความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงนโยบายการเงิน รวมถึงการแทรกแซงความเป็นอิสระของเฟด
*ทรัมป์ไม่พอใจเฟดแสดงท่าทีขัดนโยบาย
สาเหตุที่ทำให้ทรัมป์ไม่พอใจพาวเวลนั้น มาจากการที่พาวเวลกล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งชิคาโก (Economic Club of Chicago) เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ว่า การที่รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงเกินคาดนั้น อาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นและจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
นอกจากนี้ พาวเวลกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อภารกิจ Dual Mandate ของเฟด โดยภารกิจดังกล่าวคือการทำให้การจ้างงานขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ดังนั้น พาวเวลมองว่าเฟดจำเป็นต้องรอความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะพิจารณาปรับจุดยืนด้านนโยบาย
ปัจจุบัน เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% โดยนับตั้งแต่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สอง เฟดได้จัดประชุมนโยบายการเงินไปแล้วสองครั้งในเดือนม.ค.และมี.ค. แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย โดยให้เหตุผลว่าทิศทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน
*ตลาดหุ้นปั่นป่วน ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยพุ่งแรง
คำขู่ของทรัมป์ที่จะปลดพาวเวลออกจากตำแหน่งได้กระตุ้นให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงความเป็นอิสระของเฟด ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเป็นวงกว้าง และยิ่งซ้ำเติมกระแส "Sell America Trade" หรือการขายสินทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์อยู่ก่อนแล้ว
ดัชนีดาวโจนส์, S&P500 และ Nasdaq ต่างก็ร่วงลงกว่า 2% เมื่อวันจันทร์ที่ 21 เม.ย. หลังจากทรัมป์เดินหน้าโจมตีพาวเวล ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2565 ส่วนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกเทขายออกมาอย่างหนัก ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4% ในวันดังกล่าว
วิน ทิน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากบริษัทบราวน์ บราเธอร์ส แฮร์ริแมน แอนด์ โค คาดการณ์ว่า สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความเป็นอิสระของเฟดกำลังถูกแทรกแซง และการที่ทำเนียบขาวออกมายอมรับว่ากำลังพิจารณาปลดพาวเวลนั้น ถือเป็นสัญญาณลบที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิด
ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเผชิญกับความปั่นป่วนนั้น นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น โดยในวันที่ 21 เม.ย. ราคาทองฟิวเจอร์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 3,400 ดอลลาร์เป็นครั้งแรก ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
*ทรัมป์ปลดประธานเฟดได้หรือไม่
แม้ทรัมป์ได้ออกมาประกาศแล้วว่าเขาไม่มีแผนที่จะปลดพาวเวล แต่คำถามสำคัญยังคงอยู่ที่ว่า ทรัมป์มีอำนาจปลดประธานเฟดได้หรือไม่ โดยที่ผ่านมายังไม่มีกรณีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามปลดประธานเฟดพ้นจากตำแหน่งมาก่อน จึงไม่มีบรรทัดฐานทางกฎหมายโดยตรงในเรื่องนี้
ตามกฎหมายธนาคารกลางของสหรัฐฯ ปีค.ศ. 1913 Federal Reserve Act of 1913) สมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการเฟดทั้ง 7 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งวาระละ 14 ปี จะถูกปลดออกจากตำแหน่งได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลอันสมควร เช่น การประพฤติมิชอบหรือไร้ความสามารถ แต่ไม่รวมถึงกรณีความเห็นต่างในเชิงนโยบาย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ระบุชัดเจนถึงข้อจำกัดในการปลดประธานเฟด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคณะผู้ว่าการ 7 คนเช่นกัน
ปัจจุบัน ศาลฎีกาสหรัฐฯ กำลังพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการที่ทรัมป์สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานอิสระ เช่น คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แห่งชาติ และคณะกรรมการคุ้มครองระบบคุณธรรม หากศาลตัดสินว่าทรัมป์ปลดเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้ ก็อาจเทียบเคียงเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่ปูทางให้ปลดประธานเฟดในอนาคตได้เช่นกัน
*พาวเวลยัน ความเป็นอิสระของเฟดคือหลักประกันเสถียรภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งชิคาโกเมื่อวันที่ 17 เม.ย. พาวเวลย้ำถึงความเป็นอิสระของเฟดในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฟดจะยึดถือเพียงสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อชาวอเมริกันเท่านั้น
"นั่นคือสิ่งเดียวที่เราจะทำ" พาวเวลกล่าว "เราไม่มีวันถูกชี้นำโดยแรงกดดันทางการเมือง ผู้คนสามารถพูดอะไรก็ได้ นั่นไม่ใช่ปัญหา แต่เราจะทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้องโดยไม่คำนึงถึงแรงกดดันทางการเมืองหรือปัจจัยภายนอก"
พาวเวลเสริมว่า "เราไม่สามารถถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ เว้นแต่จะมีเหตุผลอันชอบธรรมตามที่กฎหมายกำหนด" พร้อมยืนยันว่าจะดำรงตำแหน่งจนจบวาระในเดือนพ.ค. 2569
ทั้งนี้ เฟดมีอำนาจในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวใด ๆ ของเฟด ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยหรือนโยบายทางการเงินอื่น ๆ ล้วนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อราคาหุ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ
*กูรูชี้ตลาดทุนพังแน่ หากเฟดไร้อิสระ
บรรดานักการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา รวมถึงเจ้าหน้าที่ของเฟด ต่างก็แสดงความเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า หากประธานาธิบดีสามารถปลดประธานเฟดได้ ก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงอาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
เอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์จากพรรคเดโมแครตมองว่า หากประธานาธิบดีสามารถปลดประธานเฟดได้ตามอำเภอใจ ตลาดการเงินสหรัฐฯ จะมีความเสี่ยงที่จะพังทลาย แม้ว่าเธอจะไม่เห็นด้วยกับพาวเวลในหลายเรื่อง แต่เอลิซาเบธ วอร์เรนยืนยันว่า พาวเวลจำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปกป้องหลักการของเฟดที่ต้องเป็นอิสระจากการเมือง
ทางด้าน จอห์น เคนเนดี วุฒิสมาชิกรัฐหลุยเซียนาจากพรรครีพับลิกันก็ออกมาปกป้องพาวเวลในรายการ "Meet the Press" ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซีเมื่อวันที่ 20 เม.ย. โดยระบุว่า "ผมไม่คิดว่าประธานาธิบดีคนใดจะมีสิทธิ์ปลดประธานเฟด และผมเห็นว่าเฟดควรจะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ"
ในวันเดียวกัน ออสติน กูลส์บี ประธานเฟดสาขาชิคาโก แสดงความเห็นในรายการ "Face the Nation" ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ว่า ประเทศที่ธนาคารกลางไม่มีอิสรภาพนั้น อัตราเงินเฟ้อมักจะปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโตช้าลง และตลาดแรงงานอ่อนแอลง ซึ่งเขาคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะไม่ผลักตัวเองเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่ความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางถูกตั้งคำถาม เพราะนั่นจะเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของเฟด
แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือผลกระทบต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเอริก ลอมบาร์ด รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสออกโรงเตือนว่า ความน่าเชื่อถือของสกุลเงินดอลลาร์จะตกอยู่ในความเสี่ยง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ หากทรัมป์ปลดพาวเวลออกจากตำแหน่ง
ขณะที่คริสโตเฟอร์ หว่อง นักยุทธศาสตร์จากธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้ง เสริมว่า หากความเชื่อมั่นที่มีต่อเฟดถูกทำลาย ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความน่าเชื่อถือของดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินหลักของโลก
*นักวิเคราะห์คาด ทรัมป์จ่อโยนความผิดให้เฟดหากเศรษฐกิจถดถอย
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า แม้ทรัมป์ไม่ได้ปลดพาวเวลพ้นจากตำแหน่ง แต่สิ่งที่ทรัมป์กำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นการหาแพะรับบาปหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย อันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่เขาก่อไว้
ปีเตอร์ ทัคแมน เทรดเดอร์ระดับตำนานแห่งตลาดวอลล์สตรีทมองว่า "หากเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่ และไม่มีข้อตกลงทางการค้าเกิดขึ้น ทรัมป์จะโยนความผิดให้พาวเวล โดยอ้างว่าเศรษฐกิจตกต่ำเพราะเฟดไม่ยอมลดดอกเบี้ย"
ขณะเดียวกัน นิค ทิมิราออส นักวิเคราะห์จากวอลล์สตรีท เจอร์นัล ชี้ว่า ทรัมป์กำลังพยายามลดความน่าเชื่อถือของเฟดหากเฟดไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยตามที่เขาเรียกร้อง ซึ่งในระยะยาวอาจนำไปสู่การบั่นทอนความชอบธรรมและสถานะของเฟดในสายตาสาธารณชน
... ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างก็กังวลว่า แม้พาวเวลจะยังคงอยู่ในตำแหน่ง แต่การที่เขาถูกโจมตีและกลายเป็นเป้านิ่งเพื่อรับแรงกดดันทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้บทบาทของเฟดในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจถูกตั้งคำถามมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดการเงินทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกในระยะยาว