Media Talk: ผู้บริหาร 4 วงการเผยเคล็ดลับขับเคลื่อนธุรกิจไทยสู่สากล

ข่าวต่างประเทศ Monday February 1, 2016 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทรัพยากรบุคคลคือองค์ประกอบที่สำคัญต่อความสำเร็จของภาคธุรกิจ และภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับแรงงานได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยมากยิ่งขึ้น 4 ผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำภายในประเทศไทย ได้แก่ คุณสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย คุณณัฏฐโพธ กุศลาไสยานนท์ ที่ปรึกษาผู้จัดการทั่วไป บริษัททรู วอยซ์ จำกัด คุณรวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และคุณพีรพล สง่าเมือง หัวหน้าฝ่ายการตลาดบริษัทโซโลร่า ประเทศไทย ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองเพื่อขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยต่อไปในอนาคตภายในงานเสวนา “ติดปีกธุรกิจไทย ด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ระดับโลก" ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ในวันนี้ (1 ก.พ. 2559)

*มุมมองโดยรวมต่อตลาดแรงงานไทย

คุณรวิศ จากบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ แสดงความเห็นว่า แรงงานไทยมีความรู้พื้นฐานด้านวิชาชีพที่จำเป็น แต่ยังขาดการจัดการความคิดที่เป็นระบบ รวมถึงทักษะการแก้ปัญหาและทักษะภาษาอังกฤษที่ยังไม่ดีนัก ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร และถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับบุคลากรไทยภายหลังการเปิดอาเซียนแล้วด้านคุณสมศักดิ์ จากบริษัท ไมโครซอฟท์ มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน โดยมองว่า ความสามารถในการสื่อสารคือปัญหาสำคัญลำดับแรก แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มาจากตัวบุคลากรเพียงอย่างเดียว เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผลกระทบต่อการทำงานเช่นกัน โดยผลสำรวจของไมโครซอฟท์ระบุว่า 62% ของแรงงานไทยต้องทำงานนอกสถานที่ แต่บุคลากรถึง 82% ทำงานในองค์กรที่ไม่มีเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสื่อสารในการทำงาน

ในขณะที่ คุณณัฎฐโพธ จาก ทรู วอยซ์ กล่าวว่า จากการที่บริษัทได้ร่วมมือกับบุคคลากรชาวไทยในการพัฒนาระบบ “มะลิ" (Mari) ระบบตอบรับอัจฉริยะที่ทำหน้าที่เสมือนพนักงานคอลเซนเตอร์ เพื่อให้บริการด้านการรับสายทุกประเภท พบว่า แรงงานชาวไทยมีศักยภาพอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดทักษะการเชื่อมโยงความรู้ด้านโคดดิ้งโปรแกรม (Program coding) และต้นแบบธุรกิจ (Business model) หรือกล่าวได้ว่าแรงงานกลุ่มดังกล่าวยังมีความรู้ไม่รอบด้านเท่าที่ควร

นอกจากนี้ คุณพีระพล จาก โซโลร่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีต่างๆก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นความรู้ในห้องเรียนหรือสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการพัฒนาตนเอง บุคลากรต้องศึกษาหาความรู้จากสิ่งรอบตัวอยู่ตลอดเวลา และกล้าแสดงออกทางความคิดให้มากขึ้น

*คุณสมบัติ “พึงประสงค์" ที่แรงงานไทยควรมี

คุณณัฎฐโพธ ให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่บุคลากรของไทยควรมีเพื่อให้มีคุณสมบัติแตกต่างและโดดเด่น คือ มุมมองเกี่ยวกับอนาคตและการวิเคราะห์กระแสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กล้าเสี่ยง วางเป้าหมายและก้าวไปให้ถึงความสำเร็จ พร้อมกล่าวว่า นอกจากกลยุทธ์ 4P อันได้แก่ Product (สินค้า), Price (ราคา), Place (สถานที่) และ Promotion (โปรโมชัน) ที่จะช่วยให้การทำธุรกิจประสบความสำเร็จแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้ก็คือ Passion (ความมุ่งมั่น) เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณรวิศเสริมว่า บุคลากรไทยควรสามารถนำความรู้ที่ตนมีอยู่ไปประยุกต์ใช้งานได้จริง ขณะที่ผู้บริหารจากไมโครซอฟท์มองว่า นอกเหนือจากความรู้เฉพาะสายงานแล้ว แรงงานไทยควรมีความรู้ที่กว้างขวางเพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการทำงานได้

*สถาบันการศึกษาและบทบาทการเสริมศักยภาพแรงงานไทย

คุณรวิศจากศรีจันทร์ มองว่า สถาบันการศึกษาควรมุ่งเน้นที่การสร้างระบบความคิดให้ผู้เรียน และการนำความรู้ไปปรับใช้ในสถานการณ์จริง เพราะการยึดติดความรู้ในตำราเพียงอย่างเดียว อาจไม่ได้ช่วยการันตีความสำเร็จในยุคที่เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารหมุนไปอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ คุณณัฎฐโพธ แนะนำว่า สถาบันการศึกษาควรมอบหมายให้นักศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับบิสิเนส เคส หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในการทำธุรกิจ เพื่อฝึกการคิดและการเผชิญกับสถานการณ์จริง เช่นเดียวกับคุณพีระพล ที่มองว่า การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น สถาบันการศึกษาควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกไปฝึกงานกับองค์กรต่างๆ หรืออาจจะคิดค้นหลักสูตรการเรียนร่วมกับองค์กรเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สถานการณ์จริงในโลกธุรกิจ

คุณสมศักดิ์จากไมโครซอฟท์ เสริมว่า จากการทำงานที่ผ่านมา การมีความรู้เพียงด้านเดียว โดยปราศจากความรู้ในสาขาวิชาอื่นๆ อาจทำให้การเติบโตของบริษัทหยุดชะงักหรือล่าช้าลง การสร้างบุคลากรที่รู้ลึกและรู้รอบเพื่อผลักดันการต่อยอดทางธุรกิจจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน

*ศักยภาพแรงงานไทยในเวทีอาเซียนและเคล็ดลับการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานโลก

คุณพีระพล กล่าวว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้อัตราการว่างงานในประเทศไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อประเทศก้าวเข้าสู่สมาคมอาเซียน แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจะเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บุคลากรในประเทศได้รับโอกาสในการจ้างงานน้อยลง เนื่องด้วยบุคลากรจากประเทศเพื่อนบ้านก็มีศักยภาพไม่น้อยไปกว่ากัน

คุณรวิศมองว่า วัฒนธรรมการทำงานของไทยเป็นแบบสบายๆ และยืดหยุ่นมากเกินไป เมื่อมีการเปิดเสรีตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น บุคลากรไทยอาจต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมีทัศนคติในการทำงานที่จริงจังยิ่งกว่าเดิม เพื่อให้ทัดเทียมกับบุคลากรจากต่างชาติ

ด้านคุณสมศักดิ์มีแนวคิดแตกต่างออกไป โดยมองที่การผลักดันแรงงานไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ มากกว่าจะมุ่งที่การแข่งขันกับบุคลากรต่างชาติภายในประเทศ ผู้บริหารจากไมโครซอฟท์มองว่า บุคลากรชาวต่างชาติมีทักษะการสื่อสารที่เหนือกว่าชาวไทย ขณะที่เผยเคล็ดลับสู่การพัฒนาศักยภาพตัวเองคือ “CAT" (Communication: การสื่อสารกับคนรอบข้าง Analytic: การรู้จักวิเคราะห์ตัวเอง และ Collaboration: การประสานงานร่วมกับคนอื่นๆ)

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู วอยซ์ กล่าวปิดท้ายว่า จากประสบการณ์การทำธุรกิจพบว่า แรงงานไทยมีศักยภาพอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับแรงงานประเทศอื่นได้ และมีทักษะการเอาตัวรอดในสถานการณ์คับขัน แต่ยังขาดปัจจัยเรื่องวินัยในการทำงาน ซึ่งบุคลากรควรพัฒนาตนเองในด้านดังกล่าวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน


แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ