3 เทรนด์ประจำปี 2561 ที่เหล่ากูรูแวดวงสื่อโฆษณาและการตลาดชี้ว่า "มาแล้ว"และ"กำลังจะมา"ในปีหน้า ควรค่าแก่การนำไปใช้ รวมทั้งจับตาความเคลื่อนไหวให้มากกว่าที่เคย เพราะเทรนด์เหล่านี้จะช่วยธุรกิจ และเจาะตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น 3 เทรนด์ที่ว่านี้ ได้แก่ DATA หรือชุดข้อมูล, เทคโนโลยีไร้จอ และกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซ
คุณศิวัตน์ เชาวรีย์วงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย และ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ป เอ็ม แห่งประเทศไทย กล่าวในงาน DAAT DAY 2018 ว่า ความตื่นตัวของการนำชุดข้อมูล หรือ ดาต้า มาใช้ เริ่มแพร่หลายไปทุกวงการและอุตสาหกรรม ไม่เพียงจำกัดอยู่ที่แวดวงโฆษณาเท่านั้น วงการอื่นๆก็สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้ตั้งแต่การใช้งานระดับบุคคล เช่น การบันทึกข้อมูลจากนาฬิกาอัจฉริยะ ข้อมูลสถานที่ หรือ ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลจากองค์กร หรือแม้แต่ข้อมูลจากภาครัฐ เช่น สถิติข้อมูลโรคติดต่อ มลพิษ ยิ่งถ้าหากภาครัฐเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวมากยิ่งขึ้น บริษัทโฆษณาจะสามารถนำชุดข้อมูลเหล่านี้มาใช้เป็นไอเดียในการสรรสร้างโฆษณาได้เช่นเดียวกัน
ขณะเดียวที่ ภารุจ ดาวราย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิทัล จาก เดอะ ลีโอ เบอร์เน็ทท์ กล่าวเสริมว่า แต่เดิมการทำโฆษณาอาศัยการคิดเป็นภาพเหมารวม มองเป็นกลุ่มคน และประชาสัมพันธ์ไปตามสื่อหลัก ทางโทรทัศน์ หรือวิทยุ ซึ่งอาจทำให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้มากเท่าที่ควร แต่การนำดาต้ามาวิเคราะห์จะทำให้มองเห็นภาพเฉพาะมากขึ้น เพราะดาต้าเป็นข้อมูลเท็จจริง ซึ่งจะเผยถึงความสนใจของบุคคลนั้นๆ ตลอดจนพฤติกรรม และจะทำให้เกิดการแบ่งประเภทลูกค้าแบบใหม่ที่มีความละเอียดยิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยแบ่งกลุ่มลูกค้าตามเพศชาย-หญิง หรืออายุ ก็จะหันไปแบ่งตามพฤติกรรมแทน คุณภารุจได้ยกตัวอย่างชายวัย 40 ที่อาจจะมีพฤติกรรมการจับจ่ายเหมือนชายอายุ 20 ซึ่งการทำการโฆษณาแบบเดิมๆไม่สามารถตอบสนองต่อลูกค้าคนดังกล่าวได้ ทว่าหากมีการนำดาต้ามาวิเคราะห์และประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ก็จะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความซับซ้อนแบบนี้ได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน คุณนรินทร์ เย็นธนกรณ์ ประธานฝ่ายปฏิบัติการ จาก i-Dac Asia ระบุว่า การทำโฆษณาไม่สามารถมองเรื่องประชากรหรือกลุ่มเป้าหมายตั้งต้นแบบเดิมได้ แต่ต้องหันมาพิจารณาจากข้อมูลจากความสนใจทางพฤติกรรมมากขึ้น ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทาง เช่น สินค้าตัวนี้มีเป้าหมายหลักเป็นแม่บ้าน แต่เมื่อมาดูตามข้อเท็จจริง อาจจะเป็นผู้ชายที่มาซื้อก็ได้ ดังนั้นบริษัทโฆษณาต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลมาเสริมหรือปิดรอยรั่วตรงนี้
นอกจากการใช้ประโยชน์จากดาต้าแล้ว ศิวัตน์ยังกล่าวถึงเทรนด์ที่กำลังมาแรงอย่าง อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือ IoT จากเดิมที่เป็นแนวคิดเชิงนามธรรม ปัจจุบันกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและมีการใช้อย่างจริงจัง เช่น การสั่งงานปฎิบัติการด้วยเสียงมากขึ้น ผู้คนจึงเริ่มมีความคุ้นชินและปรับตัวต่อสภาพดังกล่าว ศิวัฒน์ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการส่งข้อความด้วยการพูด แทนการพิมพ์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตอาจจะมีการนำข้อมูลที่เกิดจากเสียงมาวิเคราะห์ต่อแวดวงโฆษณาก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน ภารุจแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในมุมมองบริษัทโฆษณาว่า นักโฆษณาและนักการตลาดควรหาวิธีรับมือกับการพลิกโฉมดังกล่าวอย่างเป็นกิจลักษณะ และเตรียมคว้าโอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด พร้อมแนะให้บริษัทโฆษณาจับเข่าคุยกันอย่างจริงจัง เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะมาเร็วกว่าที่คิด แวดวงโฆษณาจึงต้องเริ่มเตรียมตัวและตื่นตัว
ทางด้านนรินทร์กล่าวเสริมว่า หากการพัฒนาเทคโนโลยีไร้จอดังกล่าวก้าวหน้าไปในทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในอนาคตอาจจะมีโฆษณาออกมาในรูปแบบอัตโนมัติหรือเฉพาะบุคคลมากขึ้น อาจจะถึงขนาดตอบโต้กับกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มคนด้วยเสียงแบบอัตโนมัติ ซึ่งเจาะจง หรือแยกตามสำเนียงของกลุ่มลูกค้าได้
ศิวัตน์ ระบุว่า การซื้อขายออนไลน์เกิดขึ้นมาหลายปี แต่ว่าพักหลังเริ่มสะเทือนถึงอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น วงการอาหาร และความสวยความงาม ในแง่ที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการรายย่อยเริ่มดึงความสนใจจากลูกค้าได้มากขึ้นแบบก้าวกระโดด ด้วยราคาของสินค้าที่จับต้องได้ จึงอาจส่งผลให้มีการซื้อขายและเกิดการทดลองใช้งานของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ด้านภารุจ กล่าวถึงแนวโน้มดังกล่าว่า ปัจจุบัน แบรนด์ต่างๆรวมถึงวงการโฆษณาควรหันมาสนใจถึงประสบการณ์ของแบรนด์ที่มอบให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง การสั่งซื้อ มากกว่าแนวคิดแบบการแบ่งปันคุณค่าร่วมกับแบรนด์ (shared values) วงการโฆษณาจำเป็นต้องหาแนวทางหรือทำกลยุทธ์ที่ช่วยให้แบรนด์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของลูกค้า เป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมในปัจจุบัน
ก่อนจะจบการเสวนา นรินทร์ กล่าวเสริมว่า การนำ Influencer มาใช้ก็จะมีประโยชน์มากขึ้น เพราะจะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ตรงเป้าหมายของแบรนด์ได้มากขึ้น ซึ่งจะมีความเฉพาะและแตกต่างไปตาม Influencer แต่ละราย ดังนั้น บริษัทโฆษณาจึงจำเป็นต้องหา Influencer ให้ตรงเป้าหมาย และสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ