สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้จัดงานเสวนา ทางเลือกทางรอดคนสื่อยุค 4.0 โดยมีวิทยากรจากหลายวงการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องทางเลือกทางรอดในปัจจุบัน เพราะถ้าเลือกแล้วไม่รอดก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะเลือก รวมถึงตอบคำถามที่ว่า สื่อต้องปรับรูปแบบการนำเสนอหรือคอนเทนต์อย่างไร ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยในส่วนของ LINE ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้นั้น ทาง LINE รับมือกับสถานการณ์ด้วยการสร้างพันธมิตรและทำหน้าที่เป็นจุดกึ่งกลางในช่วงที่คอนเทนต์ท่วมท้น ด้วยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับบริการของบริษัท แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้งาน อย่าง LINE TODAY จะเป็นการดึงกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้เสพมาพบกัน โดยมี AI เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถดูอัลกอริธึมว่า ผู้อ่านชอบอ่านข่าวหมวดหมู่ใด เพื่อคัดเลือกคอนเทนต์ที่น่าสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายของ LINE TODAY อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ความเร็วไม่ใช่สิ่งสำคัญประการเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายที่เราต้องการ และเหมาะสมกับแพลตฟอร์มถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ทางด้านดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก สวทช. ได้แสดงมุมมองของ AI ต่อวงการสื่อมวลชนว่า AI ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเลือกและแนะนำข่าวให้ดีขึ้นได้ ตลอดจนปรับปรุงขั้นตอนการทำงานในการที่จะสื่อคอนเทนต์ออกไป อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสร้างรายได้ เช่น ช่วยให้สื่อมวลชนสามารถตัดสินใจว่าจะใส่โฆษณาลงไปเมื่อใดโดยที่ไม่รบกวนผู้อ่าน หรือช่วยนักข่าวในการหาข้อมูลในการสร้างสรรค์งาน
หากจะพูดถึงบทบาทของ AI ในปัจจุบันแล้ว เมื่อปีที่แล้ว AI ก็เกือบจะสามารถเอาชนะมนุษย์ในศึกโป๊กเกอร์ระดับโลกได้ ต่อไปในอนาคต AI ก็จะทำได้แม้กระทั่งการเขียนบทความ แต่จะเป็นบทความในระดับเด็กนักเรียนเขียน หรือแม้แต่แต่งเพลงจนติดท็อปชาร์ตได้ ด้วยการเก็บข้อมูล เพลงที่ได้รับความนิยม
อย่างไรก็ดี แม้ว่า AI จะสามารถเข้ามาช่วยวงการสื่อ แต่ AI ก็ยังมีทักษะที่ยังไม่สามารถทำได้ เช่น การตระหนักรู้ว่าเรื่องใดควรเขียนหรือไม่ควรเขียน ดร.ชัย กล่าวว่า AI ยังไม่มีตรงนี้ เราต้องนำจริยธรรมไปนำ AI โดยเราจะต้องรู้ว่า จะต้องใช้งาน AI อย่างไร และจะดูแล AI อย่างไร ดังนั้น จริยธรรมของผู้ที่ดูแล AI จึงเป็นสิ่งสำคัญ และต่อไปไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ จะกลายมาเป็นเรื่องของฮิวแมน ซิเคียวริตี้ ในฐานะที่เราเป็นผู้พัฒนาและป้อนข้อมูลให้กับ AI นั้น เราต้องหาทางบล็อค AI ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ส่วนที่เราไม่ต้องการให้ AI เข้ามา เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในรูปแบบที่เราต้องการ
สำหรับคุณก้าวโรจน์ สุตาภักดี นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของการผลิตคอนเทนต์และการกระจายคอนเทนต์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับทางรอดของสื่อในยุคปัจจุบันว่า ความคิดสร้างสรรค์, การวิเคราะห์ข้อมูล, การนำเสนอข่าว"ถูกที่ถูกเวลา" และ "แพลตฟอร์ม" ก็จะสามารถสร้างรายได้ตามมาให้เรา โดยจะเห็นได้จากคอนเทนต์ต่างๆที่กลายเป็นไวรัลนั้น ส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เราจะต้องมองแนวโน้มว่า จะนำข่าวออกไปอยู่ในช่องทางที่ถูกต้องและช่วงเวลาที่เหมาะสมได้อย่างไร
นอกจากนี้ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยังมองว่า ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยีและเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ แนวทางที่ธุรกิจสื่อสามารถเดินหน้าและผลักดันต่อไปนั้น จริยธรรมของสื่อและความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ได้มีการนำเสนอบนเวที เนื่องจากกระแสข่าวปลอมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ยิ่งปีหน้าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กระแสข่าวปลอมน่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความที่สมาชิกของสมาคมฯล้วนแต่เป็นสำนักข่าวใหญ่ๆ หากมีการรายงานข่าวผิดหรือมีผู้ฟ้องร้อง ก็จะสามารถตามหาตัวได้ ประกอบกับชื่อเสียงที่มีมานานและใช้เวลาในการสร้างชื่อของแต่ละสื่อ ดังนั้น คงจะไม่มีใครกล้าผลิตข่าวปลอมกัน
สายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs, Google (Thailand) Company Limited ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับบอกเล่าจุดยืนในการสนับสนุนวงการสื่อสารมวลชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนแนวทางการใช้ประโยชน์จาก กูเกิล ที่จะทำให้ผู้สื่อข่าวสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากขึ้นในยุคดิจิทัลว่า กูเกิลได้จัดตั้งโครงการ Google News Initiative ขึ้นมา โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาการทำงานด้านสื่อสารมวลชนกับนักข่าวทั่วโลก โดยโครงการในประเทศไทย จะมีคอร์สออนไลน์ที่จะให้ข้อมูลกับนักข่าวในการใช้เครื่องมือต่างๆของกูเกิล เช่น Google Search, Google Maps, YouTube ตลอดจน Google Translate และ Google Image Search โดยในส่วนของ Google Search นั้น ด้วยข้อมูลที่ Google Search ได้ค้นพบจากเว็บและจัดทำดัชนีเพจจากโดเมนทั่วโลก ทำให้นักข่าวสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมกับยกตัวอย่าง Google Trends ที่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลความต้องการของชาวอเมริกันที่ต้องการย้ายไปอยู่แคนาดาที่พุ่งสูงขึ้นเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2559 เป็นต้น ขณะที่ Google Translate นั้น จากเดิมที่ได้มีการแปลเป็นคำๆ ก็เริ่มแปลรูปประโยคมากขึ้น แต่ AI ที่ได้มีการนำมาใช้กับ Google Translate นั้น ยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีการเรียนรู้มากขึ้น ปัจจุบัน ความสามารถในการแปลแบบก้าวกระโดด เนื่องจากมีการอัพเดทข้อมูลให้เป็นจำนวนมากต่อการอัพเดท 1 ครั้ง
นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วรรณกรรม The paperless ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของเส้นทางอาชีพบนเวทีในหัวข้อ "ทางเลือกฝ่าวิกฤตวารสารศาสตร์" ว่า แต่เดิมนั้นเป็นบรรณาธิการจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อลาออกก็ได้นำต้นฉบับที่เป็นเอกสารกลับบ้านมาด้วย มีวันหนึ่งได้เห็นกองต้นฉบับแล้วก็คิดได้ว่าอยากจะทำเว็บไซต์ขึ้นมา โดยมองว่าหนังสือคือบิ๊กดาต้าอย่างหนึ่ง และในปัจจุบันนั้นไม่มีพื้นที่ให้สื่อสิ่งพิมพ์เหลือแล้ว คอนเทนต์ที่นำเสนอบนโลกออนไลน์จะต่างกับสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไป
เมื่อเปลี่ยนมาทำเว็บไซต์ ก็ได้มีการทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปกับการนำเสนอเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการแต่งเพลง รับทำโฆษณา หรือทำวิดีโอวิจารณ์หนังสือ ด้วยความที่เป็นนักข่าวมาก่อน จึงทำให้มีคอนเนคชั่นและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่เคยรู้จักกัน นอกจากนี้ คุณนิรันดร์ศักดิ์มองว่า การทำเว็บไซต์เกี่ยวกับข่าวอาชญากรรม ไม่ว่าจะนำเสนอข้อมูลพื้นที่อันตรายหรือวิธีการป้องกัน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่น่าจะไปได้ดี
น.ส.บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่ต้องการเป็นสถาบันข่าวที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงต่อได้ที่ มีจุดยืนในการทำข่าวเจาะ เรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืน โดยมองว่าเป็นเทรนด์ และนักข่าวแต่ละคนของเว็บสามารถทำข่าวได้ทุกข่าวที่วางแผนไว้ เนื่องจากแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญของตัวเอง มุ่งเน้นเจาะลูกค้าเฉพาะทาง
ในส่วนของคำถามเรื่องการปรับตัวนั้น น.ส.บุญลาภ มองว่า อนาคตเทคโนโลยีไปเร็วมาก แพลตฟอร์มในการเล่าข่าวและเทคโนโลยีต่างๆ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคอนเทนต์ โดยนักข่าวต้องสามารถทำคอนเทนต์ได้ วิเคราะห์ได้ มองให้ออกว่าอะไรคือประเด็นสำคัญ
สำหรับ นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะ สแตนดาร์ด ซึ่งก่อนหน้านี้ทำนิตยสาร A-day แล้วมาทำ เดอะ สแตนดาร์ด เพราะมองเห็นช่องว่างของตลาดระหว่างสื่อแบบดั้งเดิมที่ย้ายมาทำออนไลน์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มใหญ่ (Mass) โดย เดอะ สแตนดาร์ด จะชูจุดเด่นที่คอนเทนต์ที่มีความน่าเชื่อถือและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในคอนเทนต์ เหมือนกับเป็น Premium Mass โดยจะมีทั้งข่าวทั่วๆ ไป และสกู๊ปพิเศษทุกวัน มีการใช้ อินโฟกราฟิก ไลฟ์สด พอดคาสต์ ในการนำเสนอ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มคนเมือง มีอายุระหว่าง 15-40 ปี
ในส่วนของการปรับตัวของสื่อนั้น นครินทร์ มองว่า สื่อจะปรับตัวต้องอาศัย 4 ข้อคือ 1. ต้องค้นหาตัวตนให้เจอ อะไรคือจุดแข็งหรือสิ่งที่เราถนัดกว่าผู้อื่น ต้องคิดว่าทำไมโลกถึงต้องการสิ่งที่เราทำ 2. เปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (reinvent business model) ต้องปรับวิธีการหารายได้ใหม่ จากแต่เดิมที่มีรายได้หลักจากโฆษณา ก็ต้องมองหารายได้ทางอื่น 3. อย่าหยุดเรียนรู้ เนื่องจากโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ เราก็จะตามโลกไม่ทัน 4. ต้องมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่สื่อต้องขายก็คือความน่าเชื่อถือเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ทางด้านอภิรักษ์ โรจน์อำพร บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ไทยรัฐเป็นสื่อรายใหญ่ ปัจจุบันได้แยกออกเป็น 3 ส่วนคือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และ ไทยรัฐทีวี โดยแต่ละฝ่ายจะแยกกันเป็นเอกเทศ ซึ่งในส่วนของ ไทยรัฐออนไลน์นั้น ข้อดี คือ เป็นชื่อที่มีคนรู้จักอยู่มาก แต่ก็จะมีเรื่องของแบรนดิ้งเดิมที่ติดมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดยคุณอภิรักษ์มองว่า ถ้าสื่อสิ่งพิมพ์ย้ายมาสู่ออนไลน์โดยไม่ปรับ Mindset เลยจะทำให้อยู่ได้อย่างลำบาก ซึ่งทางออนไลน์จะแตกต่างจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีฝ่ายหารายได้กับฝ่ายเขียนเนื้อหาแยกกันต่างหาก ในทางกลับกัน สื่อออนไลน์นั้นทุกสิ่งทุกอย่างคือเงิน ไทยรัฐออนไลน์จะยังเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะมีคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะทดลอง โดยบรรดาเนื้อหาที่ได้มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนมากนั้น ส่วนหนึ่งจะมีการทดลองทำเนื้อหาที่แตกต่างไปจากเดิมด้วยมาโดยตลอด
อภิรักษ์ มองในเรื่องของการปรับตัวว่า ข่าวและคอนเทนต์คือผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ต้องปรับตัวตามผู้บริโภคให้ทัน จับให้ได้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ด้วยความเป็นองค์กรข่าว ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์แบบใดก็ตาม สิ่งที่ต้องคงไว้ให้ดีคือ "คุณภาพ"
นายนิกร จันพรม ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ 77kaoded.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นศูนย์กลางให้แต่ละจังหวัดเข้ามาโพสต์ข่าวท้องถิ่นของตัวเอง ด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำข่าว จากแต่เดิมที่นักข่าวท้องถิ่นจะส่งข่าวเข้ามายังส่วนกลาง และส่วนกลางจะเลือกเพียงแค่บางข่าวไปตีพิมพ์ คุณนิกรต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ โดยการสร้างสถานที่ให้นักข่าวท้องถิ่นสามารถเข้ามารายงานข่าวได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกมีตัวตนขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองและคุณภาพงาน
นิกร ตอบคำถามในเรื่องการปรับตัวของสื่อว่า ความน่าเชื่อถือนั้นต้องมีมาตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนกลาง สร้างให้ทุกคนมีตัวตน มีพาร์ทเนอร์ สร้างความน่าเชื่อถือในพื้นที่ โดยเชื่อว่าถ้าสร้างให้ทุกคนมีตัวตนขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้สังคมดีขึ้น
ในช่วงของการเสวนาเรื่อง "ทางรอดคนสื่อ" นั้น สุทธิชัย หยุ่น Content Creator ได้อธิบายถึงทางออกในการฝ่าวิกฤติวงการข่าวยุคดิจิทัลว่า นักข่าวต้องยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นจะมัวทำข่าวกันแบบเดิมๆไม่ได้อีกแล้ว เพราะผู้บริโภคมีช่องทางในการเสพข่าวสารมากมาย ถ้าทีวีทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าวเหมือนๆกัน ผู้บริโภคก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมานั่งดูข่าวคุณ นักข่าวจึงต้องทำในสิ่งที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ และคิดว่าเป็นสิ่งที่ตนเองทำได้ดีกว่าคนอื่น นักข่าวต้องเรียนรู้ตลอดเวลาว่าผู้บริโภคต้องการอะไร แล้วทำคอนเทนต์ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา ด้วยการทำข่าววิเคราะห์ เชิงลึก สร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพ ทำยังไงก็ได้ให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเขาได้อะไรจากคุณในแบบที่ไม่ได้รับมันจากคนอื่น โดยที่ฐานคนดูของคุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนหมู่มาก แค่เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการและคอยติดตามสิ่งที่คุณนำเสนออยู่ทุกวัน เมื่อนั้นคุณจึงจะอยู่รอดต่อไปได้
พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Journalism จาก TDRI ชี้ว่า นอกจากองค์กรสื่อจะได้รับผลกระทบอย่างที่เราเห็นๆกันในปัจจุบัน อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ก็คือเรื่องของความน่าเชื่อถือของสื่อที่กำลังถูกกัดกร่อนให้ลดน้อยลงทุกที นักข่าวจึงต้องรู้จักบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่มากมายในตอนนี้ เพราะงานข่าวคือการนำเสนอความจริง ขายความจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ก็คือมีการใส่สี โยนความคิดเห็นต่างๆนานาเข้าไปในข่าว จนเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า แล้วข่าวที่ถูกนำเสนอออกไปนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากแค่ไหน
พีระพงษ์กล่าวต่อว่า งานของนักข่าวก็คือการหยิบยกข้อมูลจากทะเลข่าวสารที่มีอยู่เต็มไปหมด มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อนำเสนอให้คนได้รับรู้ และข่าวที่มีคุณภาพก็ย่อมมาจากนักข่าวที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องรู้จักวิเคราะห์ สืบค้น เสาะหาข้อมูลที่มีอยู่รอบตัวมาสร้างประเด็นที่เป็นความจริง เป็นเหตุเป็นผล ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวเหล่านั้นต่อไปยังผู้บริโภค
จักรพงษ์ คงมาลัย Content Marketing จาก Moonshot แนะนำว่า ธุรกิจสื่อในปัจจุบันจะหวังรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องคอยดูว่าผู้บริโภคไปอยู่ตรงไหน ไปใช้เวลากับอะไร แล้วพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ หรือหากจำเป็นต้องลองจับธุรกิจใหม่ๆเพิ่มเติมก็ต้องทำ ลองผิดลองถูกกันไป ส่วนนักข่าวก็จำเป็นต้องมีความสามารถรอบด้าน ต้องมีความรู้ในเรื่องแพลตฟอร์ม รู้จักหาช่องทางการนำเสนอที่แตกต่างไปจากคนอื่น แล้วหากลุ่มคนที่เป็นลูกค้าหรือฐานคนดูของตัวเองให้ได้
เช่นเดียวกับชนวัฒน์ วาจานนท์ ซีอีโอ บริษัท ทีวีบูรพา ซึ่งยอมรับว่า บริษัทของเขาก็ได้รับผลกระทบจากดิจิทัลจนต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่เน้นแต่การทำคอนเทนต์สารคดีและขายเวลาให้กับเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งเคยทำกำไรได้อย่างงดงามในอดีต ทุกวันนี้ทีวีบูรพาได้หันมาจับธุรกิจที่หลากหลายไม่ว่าเป็นการทำคอนเทนต์ออนไลน์ ทำมาร์เก็ตติ้งแคมเปญให้กับลูกค้า โดยยังยึดการทำสารคดีซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทมาใช้
นอกจากนี้ ในช่วงอภิปรายหัวข้อธุรกิจสื่อยุค 4.0 ภายในงานเดียวกันนี้ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง Digital Content Marketing บริษัท Dots Consultancy ยังได้อธิบายแง่มุมการตลาดอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากว่า ที่ผ่านมาธุรกิจสื่อจะยึดรายได้หลักจากการขายเวลาให้กับเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งอาจเป็นพื้นที่บนหนังสือพิมพ์ ทีวี แต่ตอนนี้เอเจนซี่ทั้งหลายเริ่มมีช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น และก็เป็นช่องทางที่สามารถเจาะไปยังกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะทางได้มากยิ่งขึ้น ทำให้รายได้หลักส่วนนี้ของบริษัทสื่อลดลงไป ดังนั้นองค์กรสื่อควรมานั่งคิดกันใหม่ หารูปแบบ ปรับวิธีการทำงาน และปรับแนวคิดบุคลากรกันใหม่ทั้งหมด
ณัฐพัชญ์เสริมว่า สื่อยังคงยึดติดกับการหารายได้แบบเดิมๆ ก็คือการขายปริมาณคนดูให้กับเอเจนซี่โฆษณา พอเกิดวิกฤติทุกวันนี้ คนเริ่มหันไปหาสื่อใหม่ๆมากขึ้น และสื่อกระแสหลักดั้งเดิมก็ตามคนดูไปตามช่องทางออนไลน์ทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็ยังคงยึดติดกับการขายปริมาณคนดู ซึ่งทำให้เกิดการพาดหัวข่าวแบบเรียกแขก เรียกยอดไลค์ ยอดคนเข้าชม กดแชร์ ทำให้คุณภาพของข่าวที่นำเสนอลดลงไป นี่คือสิ่งที่คนทำสื่อต้องคิดกันใหม่ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านี้จะหันกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือ ในขณะที่ทราฟฟิคที่มีคุณภาพและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้คือสิ่งที่ทุกคนต้องการ
เทพชัย หย่อง ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียน มองว่า ความรับผิดชอบและการทำหน้าที่ให้กับสังคมนั้น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสื่อเก่าและกลุ่มคนทำสื่อใหม่ ในขณะที่ผู้อ่านยังคงอ่านข่าวเหมือนเดิม ไม่ได้ลดลงไป แม้ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยี
นอกจากนี้ ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านยุทธศาสตร์สื่อสารสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่อีกหนึ่งในวิทยากรในหัวข้อ "ธุรกิจสื่อยุค 4.0" ได้ให้ความเห็นเรื่องวิธีที่จะทำให้สื่ออยูรอดได้ในยุค 4.0 อย่างมีความหมายไว้ว่า อย่างแรกต้องมองภาพรวมให้ออกก่อน เนื่องจากถ้ามองจากภาพรวมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าการมองแค่รอบๆ และต้องรู้จักว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องปกติ และเราควรจะมีวิถีของการคิดให้เหมาะกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
นอกจากนี้ ดร.สุดารัตน์ยังกล่าวว่า "เราต้องสร้างความจำเป็นให้เกิด ถ้าเราเป็นสื่อเราต้องมีความจำเป็นกับคนผู้รับสารให้ได้ ถ้าเราสามารถที่จะมีความจำเป็นกับผู้รับสารได้ ผู้รับสารก็ยังต้องการเราอยู่"