"ผมไม่ได้ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ผมแค่อยากจะช่วยเหลือผู้คน" ศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen) และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2549 กล่าวถึงที่มาของ Social Business หรือธุรกิจสังคมที่มีคีย์เวิร์ดอย่าง "สังคม" และ "Mindset"
สังคมถือเป็นรากฐานของประเทศ ในขณะที่ความสำเร็จของธุรกิจสังคม หรือจริงๆแล้วไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด องค์กรใดก็ตาม "Mindset" หรือความเชื่อถือพื้นฐานเป็นคีย์เวิร์ดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และเป็นธรรมดาที่ความเชื่อพื้นฐานในโลกของธุรกิจ คือ การทำรายได้ การสร้างกำไร ไปจนถึงการสร้างโอกาส แต่แนวคิด "ธุรกิจเพื่อสังคม" ของดร.ยูนุสนอกจากจะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทแล้ว ยังช่วยส่งต่อสิ่งดีๆ สู่สังคม และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจ
เพราะอะไรความเชื่อพื้นฐานของดร.ยูนุสจึงนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างยาวนาน อีกทั้งยังอยู่รอดได้ในโลกยุคดิจิทัล เวทีสัมมนาในหัวข้อ "Social Business in The Digitised World" ซึ่งจัดโดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา สามารถให้คำตอบกับคำถามดังกล่าว
จุดเริ่มต้น "ธุรกิจเพื่อสังคม"
ในช่วงยุค 70 เป็นช่วงที่บังคลาเทศเพิ่งผ่านพ้นสงครามประกาศอิสระภาพ ทำให้เศรษฐกิจในตอนนั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก ส่งผลให้ประชาชนยากจนเป็นจำนวนมาก ซึ่งดร.ยูนุสได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงตัดสินใจทิ้งอาชีพอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา และบินกลับมาบ้านเกิดเพื่อฟื้นฟูประเทศของตนทันที
ดร.ยูนุสได้กลับมารับหน้าที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกครั้งในบังคลาเทศ ซึ่งจากการทำงานและได้คลุกคลีกับบรรดาผู้ที่ยากจนจริง ๆ ในหมู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มสุภาพสตรีที่ถูกกดขี่ด้วยสถานะทางสังคม ทำให้เขารู้สึกว่า ทฤษฎีที่ร่ำเรียนมานั้นเป็นแค่ "Empty words" ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง ดร.ยูนุสเลยเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า "แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยยกระดับชีวิตผู้อื่นให้ดีขึ้น"
คำถามดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเพื่อสังคม โดยดร.ยูนุสได้ตัดสินใจก่อตั้งธนาคารกรามีน หรือที่รู้จักกันในชื่อธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งจะเลือกปล่อยกู้ให้เฉพาะกับกลุ่มคนยากจน พร้อมกับฉีกกฎทุกสิ่งอย่างของธนาคาร ด้วยการเข้าถึงกลุ่มผู้ยากจนที่สุดของประเทศ สวนทางกับธนาคารที่มุ่งหาลูกค้าที่ร่ำรวย
ธนาคารกรามีนคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ด้วยความหวังที่จะช่วยเหลือชาวบ้านจากนายทุนที่ปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยอัตราสูงลิบลิ่ว โดยให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อนำเงินที่กู้จากธนาคารไปต่อยอดทำธุรกิจ อันเป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน พร้อมเป็นการสอนชาวบ้านให้รู้จักบริหารจัดการการเงินให้เป็นระบบจนทำให้ชาวบ้านในบังคลาเทศมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
"กรามีนโฟน" ตัวอย่างการแก้ปัญหาความยากจนอย่างสร้างสรรค์
สำหรับหนึ่งในตัวอย่างโครงการธุรกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยการใช้เทคโนโลยีในบังคลาเทศที่ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญนั้น โครงการ "กรามีนโฟน" เป็นโครงการดร.ยูนุสตั้งใจจะทำแต่ได้รับเสียงคัดค้านมาตั้งแต่แรกเริ่ม อีกทั้งคำถามที่ตามมาเกี่ยวกับโครงการที่ว่า ชาวบ้านจะต้องการโทรศัพท์ไปเพื่ออะไร แต่ด้วยความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ ทำให้โครงการของดร.ยูนุสเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการเริ่มต้นจากกลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านยากจนให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้งานโทรศัพท์มือถือผ่านธนาคารกรามีน ซึ่งมอบสินเชื่อให้กับผู้หญิงหลายพันคนเพื่อนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ด้วยความเชื่อที่ว่า ระบบโทรคมนาคมจะช่วยนำความเจริญมาสู่ชุมชนได้ เพราะการใช้โทรศัพท์ทำให้ชาวบ้านสามารถติดต่อธุรกิจหรือสื่อสารกับเครือญาติที่อยู่ห่างไกลได้ อันเป็นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในชุมชนให้แข็งแกร่ง พร้อมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้อย่างมหาศาล ขณะที่ทางบริษัทเองก็ได้ผลกำไรจากการทำธุรกิจนี้ไปด้วย
ความท้าทายของธุรกิจเพื่อสังคมในโลกยุคดิจิทัล
ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและต้องอยู่รอดให้ได้ในโลกดิจิทัลเช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่นๆ แต่ด้วยแนวคิดหลักของธุรกิจเพื่อสังคมส่วนหนึ่งคือ การทำเพื่อสังคมแล้ว ดังนั้นโจทย์ในการทำธุรกิจที่มีอยู่ตลอดมาไม่ว่าจะในยุคสมัยใดก็คือ "สังคม" และที่น่าสนใจคือ ธุรกิจเพื่อสังคมมองโลกยุคดิจิทัลในมุมบวกมาก แต่จะมองในมุมบวกและแตกต่างไปจากมุมองในแวดวงสื่อดิจิทัลเพียงใดคงจะต้องมาดูกัน
ลามิญา โมร์ชาห์ด ผู้อำนวยการผู้บริหารของ Yunus Centre บังคลาเทศ มองว่า แพลตฟอร์มการสื่อสารในรูปแบบต่างๆทำให้เราสามารถแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนสร้างการรับรู้ในสิ่งที่ Yunus Centre ต้องการจะเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ เยาวชนรุ่นใหม่ๆ รวมทั้งเครือข่ายที่ทาง Yunus Centre มีอยู่จึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มนักศึกษาและองค์กรต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของ Yunus Centre
ดร.ฟายซ์ ชาห์ ผู้อำนวยการของ Yunus Center ที่สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย กล่าวถึงโลกดิจิทัลในมุมมองของธุรกิจเพื่อสังคมไว้อย่างน่าสนใจว่า โลกดิจิทัลในที่นี้หมายถึงโอกาสในการเข้าถึงและการไร้ซึ่งโอกาสในการเข้าถึงประโยชน์ต่างๆ เพราะระบบสื่อสารและการศึกษาที่เป็นดิจิทัลนั้นจะยังคงอยู่ต่อไป และระบบดิจิทัลเองก็เหมือนเป็นกลไกในการผลักดันให้เกิดการขยายตัว ไม่ว่าจะระบบการศึกษาออนไลน์ e-government หรือ e-economy ล้วนเป็นสิ่งที่ธุรกิจเพื่อสังคมสามารถนำมาใช้ได้
ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการศูนย์ Yunus Centre แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า เทคโนโลยีสามารถเป็นแพลตฟอร์มให้กับธุรกิจสังคมได้ ล่าสุดมีแนวคิดเรื่อง Social Business Intelligence Monitor เพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้คนว่าชอบเสิร์ชหาข้อมูลอะไรบ้าง เมื่อเรารู้รูปแบบของการหาข้อมูลแล้ว เราก็จะสามารถจับคู่ข้อมูลเพื่อพัฒนากลไกให้กับธุรกิจเพื่อสังคมได้
อย่างไรก็ตาม ดร.ยูนุสทิ้งท้ายไว้เช่นกับหลายๆกูรูก่อนหน้านี้ที่ว่า แม้เทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับชีวิตของผู้คน แต่ก็ยังมีอันตราย พร้อมกับยกตัวอย่างของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่วันหนึ่งอาจเข้ามามีบทบาทแทนที่แรงงานมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งเราต้องเร่งทำความเข้าใจ และหาทางออกให้กับปัญหานี้ต่อไป
ภาพรวมของธุรกิจเพื่อสังคม และประเด็นที่น่าเป็นห่วง
ลามิญาชี้ว่า ในปัจจุบันธุรกิจเพื่อสังคมเข้ามามีบทบาทไปทั่วโลก ธุรกิจเพื่อสังคมได้กระจายตัวอยู่ในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุข การศึกษา ภาคพลังงาน หรือโครงการแก้ไขปัญหาสังคมต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของธุรกิจเพื่อสังคมนั้น อยู่ที่ "Mindset" ของนักธุรกิจ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำธุรกิจมักจะมาควบคู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ฉะนั้น หากเราสามารถเพิ่มหลักสูตรเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมเข้าไปในระบบการศึกษาได้ อาจเป็นผลดีและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่
ดร.ฟายซ์ ชาห์ กล่าวถึงการทำธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยว่า ควรเริ่มต้นที่ภาคใต้ โดยอาจเริ่มจากธุรกิจด้านการเกษตรหรือการท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ เพราะการทำธุรกิจเพื่อสังคม คือสิ่งที่จะช่วยการันตีได้ว่า ชีวิตของผู้คนในชุมชนจะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
ด้านดร.บดินทร์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในประเทศไทยนั้น องค์กรต่าง ๆ ยังทำธุรกิจในลักษณะของโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ซึ่งถึงแม้จะเป็นผลดีต่อชุมชนและภาพลักษณ์ของบริษัท แต่หากองค์กรต่าง ๆ ขยับขยายตัวเองเข้ามาทำธุรกิจเพื่อสังคมกันมากขึ้น ก็จะเป็นผลดีกับสังคมมากกว่า
นอกจากนี้ ดร.บดินทร์ยังได้กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียมาใช้ว่า ที่ผ่านมา ระบบมือถือไม่ว่าจะเป็น 3G 4G หรือ 5G ก็ตาม เราต้องตั้งคำถามว่า มีระบบเหล่านี้แล้วสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วสามารถนำองค์ความรู้ของชาวบ้านในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ได้ผ่านระบบมือถือ อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ธุรกิจเพื่อสังคม จะสร้างโอกาสได้อย่างไร ซึ่งถ้าเราดูในแง่ของโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กหรือ LINE ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการซื้อขายสำหรับกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ได้ หรือโดรนที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพ่นปุ๋ยหรือยาได้ เป็นต้น
สรุปแล้ว เทคโนโลยีและสื่อในมุมมองของธุรกิจเพื่อสังคมในยุคดิจิทัล คือ ตัวช่วยที่จะทำให้เกิด"โอกาส" หรือ "การเข้าถึง" สำหรับผู้ที่ยากจนแล้ว ซึ่งโอกาสในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงโอกาสที่จะเข้าถึง"ความรัก"และ"ความใส่ใจ"ด้วยเช่นกัน