แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายข่าวสารและส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรวดเร็วของโลกไร้พรมแดนในยุคดิจิทัล อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียก่อให้เกิดปัญหา "ข่าวลวง" ที่ไหลทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็วผ่านสื่อต่างๆในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้ กูรูทั้ง 7 ท่าน ทั้งจากภาควิชาการ, สื่อมวลชน และองค์กรเพื่อผู้บริโภค จึงได้มาร่วมกันระดมความคิด เพื่อเสนอแนวทางการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ผ่านการเสวนา "ถอดบทเรียนปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย กับทางออกเชิงสร้างสรรค์"
* "สุภิญญา กลางณรงค์" เสนอตั้ง Newsroom Alert
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีตกสทช. กล่าวว่า "ข่าวลวง" หรือ "Fake News" มีมานานแล้วในแวดวงสื่อมวลชน แต่ในอดีตนั้น สื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดคือหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ทำให้ข่าวดังกล่าวยังไม่แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากนัก แต่สำหรับในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน การแพร่กระจายข่าวปลอมจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว และหลายครั้งก็ลุกลามจนเกิดเรื่องบานปลาย
สำหรับในประเทศไทยนั้น ข่าวปลอม 3 ประเภทที่มีการแชร์มากที่สุดได้แก่ ข่าวการเมือง ข่าวดารา และข่าวสุขภาพ โดยในกรณีของข่าวการเมือง คุณสุภิญญาได้ยกตัวอย่างของข่าว "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดื่มกาแฟแก้วละ 12,000 บาท" ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ชาวเน็ตก็แห่แชร์กันออกไปอย่างล้นหลาม สุดท้ายกรณีนี้จบด้วยการที่คสช.เข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องในข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพรบ.คอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 หรืออีกกรณีหนึ่งที่สำนักข่าวชื่อดังนำคลิปเสียงที่ถูกตัดต่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มานำเสนอผ่านรายการของช่อง แม้เรื่องดังกล่าวจะจบลงด้วยการที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลิกแล้วต่อกัน แต่ก็เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่สื่อกระแสหลักอย่างช่องโทรทัศน์ก็อาจตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงได้เช่นกัน
นอกจากนี้ สุภิญญายังได้หยิบยกตัวอย่างการแก้ไขปัญหาข่าวลวงของในต่างประเทศมาเป็นกรณีศึกษา ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่ได้ผ่านกฎหมายกำกับข่าวลวงซึ่งมีโทษหนักทั้งผู้แชร์และแพลตฟอร์ต โดยให้อำนาจรัฐในการล้วงข้อมูลได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ไต้หวันเลือกใช้วิธีการที่นุ่มนวลกว่า โดยให้กลุ่มภาคประชาสังคมที่เก่งเทคโนโลยีมารวมตัวกันเขียนซอฟต์แวร์ตรวจสอบข่าวลวงในไลน์ โดยให้ผู้อ่านส่งหรือรายงานเรื่องมาแล้วจะมีอาสามัครช่วยตรวจสอบก่อนส่งกลับไปให้ผู้ใช้งานอีกครั้ง
สำหรับทางออกเชิงสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาข่าวลวงในประเทศไทย คุณสุภิญญาได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้
1. กองบรรณาธิการข่าวควรทำหน้าที่ตรวจสอบข่าวลวง โดยจัดตั้ง Newsroom Alert
2. ภาคประชาสังคมควรริเริ่มจัดทำกลุ่มตรวจสอบข่าวลวง โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำ Fact Check Center หรือ Chatbot
3. แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กหรือไลน์ ควรแสดงบทบาทให้ความร่วมมือในการตรวจสอบและสกัดข่าวลวงให้มากขึ้น
4. ภาควิชาการควรทำงานวิจัยร่วมกับนักศึกษา เพื่อให้ความรู้กับสังคม
5. ผู้ใช้สื่อควรตื่นตัว มีความตระหนักรู้ และลงมือตรวจสอบข่าวลวงให้เป็นนิสัย
6. ภาครัฐต้องไม่เป็นผู้ปล่อยข่าวลือเสียเอง
7. ภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข่าวลวง
*ดร.มานะ ชี้ สื่อมวลชน, ผู้เสพสื่อ, แพลตฟอร์ม และองค์กรภาคประชาชน ควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาข่าวลวง
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหอการค้า ได้เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับข่าวลวงที่เกิดขึ้นว่า ก่อนอื่นต้องมีการแยกแยะว่า ข่าวลวงที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นและเผยแพร่ผ่านทางสื่อหรือผ่านทางผู้หวังผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในยุคของข้อมูลข่าวสารเช่นในปัจจุบัน อาวุธสำคัญคือ "ข้อมูลข่าวสาร" ซึ่งนิยมปล่อยข่าวลวงกันในไลน์ กรุ๊ป ขณะที่นิสัยของคนทั่วไปในโลกโซเชียลมีเดียก็พร้อมที่จะเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น ข่าวการเมือง ถ้าเป็นฝ่ายที่เราเชื่อ เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายที่เราเชื่อออกมา เราก็พร้อมที่จะเชื่อและแชร์ เพราะฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ที่กลุ่มผู้เสพสื่อด้วยเช่นกัน
ดร.มานะ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาข่าวลวงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี 2559 นั้น มีการเปิดบัญชีโซเชียลมีเดียปลอมเป็นจำนวนมากและทำให้คะแนนโหวตเหวี่ยงได้เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ประเทศทางตะวันตกได้พยายามหาทางแก้ปัญหา ทั้งนี้ สิงคโปร์อาจจะเป็นอีกโมเดลที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ โดยรัฐสภาสิงคโปร์พึงจะอนุมัติกฎหมายที่เปิดทางให้มีการดึงข้อมูลจากไลน์แชทได้
สำหรับประเทศไทยแล้ว ดร.มานะมองว่า ถึงเวลาที่จะต้องจัดตั้งมาตรฐานในการทำเรทติ้งหรือมาตรฐานความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เพื่อให้มีการตรวจาสอบข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะเผยแพร่ เช่น สื่อใดที่ไม่ได้ตรวจาสอบข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะรายงาน ก็อาจจะได้เรทติ้งลดลง ซึ่งการจัดทำมาตรฐานหรือเรทติ้งเช่นนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการตระหนักมากขึ้นในกลุ่มสื่อมวลชน โดยปกติสื่อเองก็มีการกลั่นกรองอยู่แล้ว แต่การกลั่นกรองนั้นก็มากน้อยแตกต่างกันไป
นอกจากสื่อแล้ว องค์กรภาคประชาชนก็ควรจะได้รับความรู้ความเข้าใจ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันสื่อ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ดร.มานะได้ยกตัวอย่างไต้หวันที่มีการนำ Blockchain Journalism มาใช้ โดยเปิดให้ประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบข่าว เช่น ข่าวการแพทย์ที่เกี่ยวกับการดื่มกาแฟ ซึ่งกรณีแพทย์ก็อาจจะเข้ามาชี้แจงให้เลยว่า กรณีการดื่มกาแฟเช่นนี้มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ซึ่งถือเป็นการช่วยสื่อมวลชนในอีกรูปแบบหนึ่ง
* "ถ้าคุณไม่กำกับตัวเอง ภาครัฐจะเข้ามากำกับแทน" อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ ย้ำ
ผศ.ดร.วิไลวรรณ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกตัวอย่างของข่าวลวงในไทย ช่วงวันที่ 24 มี.ค. ที่มีข่าวลือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลออกมาจำนวนมาก ซึ่งข่าวลือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข่าวลวง อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.วิไลวรรณ เห็นว่าในการวิเคราะห์เรื่องนี้มีสองประเด็นคำถามหลัก คือ "ข่าวลวงเกิดจากอะไร" และ "คนทำสื่อมีการจัดการกับข่าวลวงอย่างไร"
ประเด็นแรก ข่าวลวงเกิดจากการที่คนทำสื่อไม่ทราบว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลเท็จและ/หรือไม่ได้ตระหนักว่าข่าวลวงจะมีผลกระทบต่อสังคม นอกจากนั้น ความมีอคติของคนทำสื่อก็เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างข่าวลวงเช่นกัน
แต่ละประเทศก็จะมีการจัดการกับข่าวลวงแตกต่างกันตามที่ คุณสุภิญญา ได้อธิบายไป ซึ่งหากยึดตามโมเดลของสิงคโปร์ที่มีการออกกฎหมายควบคุมก็จะกลายเป็น "ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง" เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อ ในขณะที่ทางโลกตะวันตก ทำ Fact Check อย่างไรก็ดี ในอดีตประมาณ 15 ปีที่แล้ว นักข่าวไทยจะทำ Fact Check ด้วยตัวเอง แต่ในปัจจุบันด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นและต้องแข่งกันด้วยความเร็วในการนำเสนอข่าว ทำให้นักข่าวสามารถเผยแพร่ข่าวโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการกองบรรณาธิการ ดังนั้นจะเห็นว่าหน้าที่ของ Gatekeeper ลดลงไปมาก
ในขณะเดียวกัน ด้วยคำกล่าวที่ว่า "You are what you read" ผู้บริโภคเองก็สามารถทำ Fact Check เองได้ เช่น ต้องมีความตระหนักรู้ และเลือกเสพข่าวที่มีคุณภาพ เป็นต้น ส่วนสิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบัน คือ คอนเทนต์ในการโฆษณามักถูกจัดวางอยู่ในพื้นที่การนำเสนอข่าวทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน
ทั้งนี้ ผศ.ดร.วิไลวรรณ ได้เน้นย้ำข้อความฝากถึงคนทำสื่อว่า "ถ้าคุณไม่กำกับตัวเอง ภาครัฐจะเข้ามากำกับแทน"
นอกจากนั้น ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสริมว่า ความน่าเชื่อถือของสถาบันสื่อเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การจัด Ranking เป็นกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และเห็นด้วยกับ ดร. มานะ และ คุณจีรพงษ์ในประเด็นเรื่องเครือข่าย ส่วนทางวิชาการก็พร้อมให้ความร่วมมือ อย่างเช่น ในปีนี้ทางคณะฯ มีการทำ Cluster เรื่องข่าวลวง อย่างไรก็ดี ในบางกรณีอาจเรียกว่า Noise fake ซึ่งเป็นข่าวลวงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ เช่น ข่าวการขอรับบริจาคโลหิตแบบเร่งด่วน หรือกรณีเด็กหาย ที่เนื้อหาจะถูกแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะจบไปแล้ว สื่อหลักๆควรเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย
บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์ ชี้สื่อมืออาชีพต้องกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนที่จะรายงาน
นายอภิรักษ์ โรจน์อำพร บรรณาธิการบริหาร ไทยรัฐออนไลน์ ได้เกริ่นถึงมุมมองที่มีต่อข่าวลวงว่าเกิดจากใครก็ได็ที่ทำเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มใดๆขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำคอนเทนต์เพื่อให้ได้เงินจนเกิดการเผยแพร่ข่าวลวง และกลายเป็นปัญหาหนักและเข้าไปทำอะไรไม่ได้ แต่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ ข่าวลวงยังเกิดจากโซเชียลมีเดีย เช่น ข่าวการเมือง ซึ่งทางไทยรัฐออนไลน์จะตรวจสอบข่าวจากโซเชียลมีเดียก่อนที่จะรายงาน โดยมีกองบรรณาธิการคอยเช็คข้อมูลอยู่ ซึ่งบรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์เชื่อว่า สื่อมืออาชีพก็จะทำหน้าที่ตรงนี้ เพื่อให้สื่อมีความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ คุณอภิรักษ์ยังได้ยกตัวอย่างข่าวการเมือง ซึ่งสื่อในสหรัฐมีสื่อที่รายงานแบบเลือกข้างเช่นกัน ดังนั้น ข่าวที่ได้มีการรายงานก็อาจจะเป็นข่าวลวง สำหรับไทยรัฐออนไลน์แล้ว ไม่ได้มีฝ่าย และจะรายงานข่าวกลางๆ ในช่วงนี้ มีคำถามคุณอภิรักษ์ว่า กลัวตกข่าวบ้างหรือไม่ หากไม่ได้รายงานข่าวที่สื่ออื่นๆพากันรายงาน บรรณาธิการบริหารกล่าวว่า ไม่กลัว และไม่คุ้มค่าเลยที่จะเอาตัวเราไปเสี่ยง เราอยากให้แบรนด์ของเราเป็นที่รักในไทย
อภิรักษ์ยังได้แชร์วิธีการรับมือกับข่าวจากโซเชียลมีเดียด้วยว่า ทางกองบรรณาธิการจะเช็คว่า ข่าวหรือข้อมูลจากโซเชียลมีเดียนั้นๆเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าจริงจะขออนุญาตมาใช้งานก่อนและหลังจากนั้น จะสอบถามผู้เชี่ยวชาญในกรณีนั้นๆเพิ่มเติม ซึ่งข่าวออนไลน์และโซเชียลมีเดียนั้น จริงๆมีก็มีข่าวที่ดีเป็นจำนวนมาก และจะเป็นเรื่องที่ดีมาก หากสื่อนำมาขยายความต่อโดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น
* เลขาฯสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยแนะสื่อเข้ามาส่วนร่วมในการตรวจสอบ
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ยกระดับให้ปัญหาข่าวลวงขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในปีนี้ โดยมีการมอบนโยบายว่า "ต้องนำเรื่องการแก้ปัญหาข่าวลวง หรือการรู้เท่าทันสื่อลวง เข้าไปอยู่ในหลักสูตรการอบรมทุกโครงการของทางสมาคมฯ" อาทิ โครงการอบรมการรายงานข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้งและภัยพิบัติ หรือโครงการอบรมนักข่าวพิราบน้อย เพื่อสอนให้นิสิตนักศึกษารู้เท่าทันข่าวลวงตั้งแต่ช่วงวัยเรียน
สำหรับแนวทางการรับมือกับข่าวลวงนั้น คุณจีรพงษ์ได้เสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจ 3 ประการ ดังนี้
1. ผู้บริโภคต้องมีความตระหนักและรู้เท่าทันสื่อ
2. มีการตั้ง Newsroom Alert ในกองบรรณาธิการ และดึงนักข่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข่าวลวง
3. จัดตั้งเครือข่าย Gatekeeper โดยดึงนักข่าวสายต่าง ๆ เข้ามาตรวจสอบข่าวลวงในแต่ละประเภท รวมถึงชักชวนภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อยกระดับการทำงานด้านวิชาชีพมากขึ้น
นอกจากนี้ ในอนาคตยังเป็นที่น่าจับตามองว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าใช้กฎหมายต้านข่าวปลอมเหมือนกับสิงคโปร์หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อกำลังเฝ้าดูแนวโน้มตรงนี้อยู่
* นักวิชาการจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยสถิติการร้องเรียนเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิดกฎหมายรั้งอันดับหนึ่ง
คุณสถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในไตรมาส 1/2562 ว่า สถิติการร้องเรียนเรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ผิดกฎหมายนั้น มีมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 44.5% ของประเภทการร้องเรียนทั้งหมด เนื่องจากประชาชนหลงเชื่อข่าวลวงเกี่ยวกับสุขภาพทั้งจากทางผู้ขายผลิตภัณฑ์ ร้านค้าออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดีย และทางโฆษณาที่ปรากฎบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่เว็บไซต์ของสำนักข่าวชื่อดัง รวมถึงประเด็นที่ว่า หน้าข่าวออนไลน์มีพื้นที่โฆษณาเยอะเกินไป จนอาจบดบังคอนเทนต์ข่าวจริงที่น่าสนใจได้
นอกจากข่าวลวงที่มาจากโฆษณาชวนเชื่อของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว คุณสถาพรบอกเล่าว่า ข่าวลวงสามารถเกิดได้ทั้งจากความ "ผิดพลาด" หรือ "จงใจ" โดยคุณสถาพรได้ยกตัวอย่างของข่าวลวงที่มีผู้จงใจเขียนขึ้นมา ซึ่งมีตั้งแต่การโพสต์เสียดสีตลก ๆ หรืออาจเลยเถิดไปถึงขั้นที่มีการปลอมโลโก้สำนักงานต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อหวังหลอกลวงและหากำไรจากผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับโลกออนไลน์เท่าที่ควร
ดังนั้น คุณสถาพรจึงมีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาข่าวลวง ดังนี้
1. รัฐจะต้องมีแหล่งตรวจสอบข้อมูล (Fact Check) เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย
2. บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังและฉับไว
3.กองบรรณาธิการสื่อหลักควรมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อกรณีข่าวลวงว่าจะดำเนินการอย่างไร (อาทิ การเอาข่าวลวงออกจากระบบทันทีเมื่อตรวจพบ)
4. หน่วยงานที่มีระบบฐานข้อมูลอยู่แล้ว เช่น ฐานข้อมูลอย. จะต้องเปิดให้ผู้บริโภคเข้าถึงโดยเร็ว เพื่อตรวจสอบกัยเอง และเพื่อให้เกิดกลไกการเตือนภัยในสังคม
5. ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันสื่อ และการให้การศึกษาแก่ภาคประชาชน
*เภสัชกรหญิง ชโลม เกตุจินดา แนะการให้ความรู้และแนะนำทักษะเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะช่วยยกระดับการรู้เท่าทันสื่อ
ทางฝั่งผู้บริโภคนั้น เภสัชกรหญิง ชโลม กล่าวว่า แม้แต่ภาครัฐเองก็สามารถสร้างข่าวลวงได้เช่นกัน โดยยกตัวอย่างกรณีการนำเสนอหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้นำรัฐบาลที่มีข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงผ่านเฟซบุ๊กในภายหลัง
ระดับความยากของเนื้อหาก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข่าวลวงได้เช่นกัน ข่าวลวงจึงสามารถเกิดได้ในทุกเรื่อง เช่น ข่าวห้ามเติมน้ำมันครึ่งถัง ห้ามใช้ไฟฉายส่องในเบรกเกอร์ และล่าสุดเรื่องโครงการปล่อยกู้คนจน
การสร้างเครือข่ายข้อมูลจริง-ข้อมูลเท็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องข่าวลวงได้ เช่น ทางสมาคมฯ จะมีอาสาสมัครที่อยู่ในไลน์กรุ๊ปต่างๆ เมื่ออาสาสมัครได้รับข่าวจากกรุ๊ปนั้น ก็จะส่งต่อมาให้ทางสมาคมฯช่วยตรวจสอบข้อมูลให้ และแจ้งกลับเข้าไปในกรุ๊ปนั้น ๆ อีกครั้งว่าข่าวดังกล่าวเชื่อถือได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี เภสัชกรหญิง ชโลม เห็นว่า ควรมีการพัฒนา Media literacy ของอาสาสมัคร โดยเฉพาะทักษะเบื้องต้น อย่างเช่น ความเข้าใจพื้นฐานและมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ โดยเสนอว่าอาจขอความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อจัดทำชุดความรู้และมารยาทในการแชร์ข่าวต่างๆ นอกจากนั้น ควรส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงสื่อที่มีคุณภาพ อย่างเช่น The Standard สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) หรือ แบงก์ชาติ (ศคง. 1213) ทั้งนี้ คุณชโลม ยกตัวอย่างว่าในสหรัฐนั้นอาสาสมัครมีทักษะในการรายงาน Fake news เช่น การใช้ Hashtag เป็นต้น
ทั้งนี้ งานเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นในวันนี้ ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย