การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันได้เปลี่ยนทิศทางของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ให้มีความก้าวล้ำมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในแวดวง Deep learning, การใช้งานหุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและโดรน ด้วยเหตุนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักอนาคตศาสตร์จึงต่างเฝ้าระวังถึงความเสี่ยงจาก AI รวมถึงผลกระทบอาจเกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ในฐานะผู้บริโภค หลายคนจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เราควรระมัดระวังเรื่องใดบ้าง" หรือ "AI จะมาแทนที่มนุษย์อย่างที่มีการทำนายกันไว้หรือไม่" ซึ่งในวันนี้ เวที Techsauce Global Summit 2019 จะพาทุกท่านมาร่วมกันไขปริศนานี้ไปด้วยกัน กับการสัมมนาในหัวข้อ "The Coming Disruption: What Everyone Must Know About AI and Robotics"
มาร์ติน ฟอร์ด นักอนาคตศาสตร์และผู้เขียนหนังสือ RISE OF THE ROBOTS ได้กล่าวถึงรายงาน The Triple Revolution ซึ่งได้มีการส่งมอบให้กับอดีตประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน เมื่อช่วงทศวรรษที่ 60 ว่า ในขณะนั้นได้มีการคาดการณ์ว่า อัตราการจ้างแรงงานมนุษย์จะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ ซึ่งก็ตรงกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีอย่าง AI และ Robotics เข้ามามีบทบาทในการทำงานบางอย่างแทนที่มนุษย์ อีกทั้งยังมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และมีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้เสมือนกับมนุษย์จริง ๆ ส่งผลให้เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถทำงานได้หลายอย่าง และเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกิดคำถามว่า AI และ Robotics จะเข้ามาทำลายอาชีพของมนุษย์ในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งคุณฟอร์ดระบุว่า เมื่อดูจากสถิติในปี 2014 แล้ว ผู้คนกว่า 80% ยังคงทำอาชีพเดิมที่ใช้แรงงานมนุษย์มาตั้งแต่ปี 1914 นั่นหมายความว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาแทนที่แรงงานของมนุษย์เสียทั้งหมด แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ มีประชากรราว 20% ที่เริ่มทำอาชีพเกิดใหม่อันเป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากนี้ AI และ Automation ยังทำให้ผลิตภาพของงานดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งในสหรัฐและอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้มีการใช้หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายกล่องสินค้าในโรงงาน เนื่องจากหุ่นยนต์พวกนี้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่บาดเจ็บ และมีศักยภาพในงานทำงานเหนือกว่ามนุษย์ ซึ่งในประเด็นนี้อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานไร้ฝีมือที่ทำงานแบบเดิม ๆ มาหลายสิบปีได้ แต่ถ้ามองในเชิงบวกแล้ว ฟอร์ดกล่าวว่า เราสามารถพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้มีทักษะในการทำงานด้านอื่นที่เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม AI และ Automation ไม่ได้เข้ามาพลิกโฉมแค่เฉพาะกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือเท่านั้น แต่กลุ่ม White collar workers หรือพนักงานออฟฟิศแบบเรา ๆ ก็อาจพ่ายให้กับความสามารถของ AI ได้ ฉะนั้น ฟอร์ดจึงได้ฝากไว้ว่า ถ้าไม่อยากให้ AI เข้ามามีอำนาจเหนืองานที่เราทำอยู่ ก็ควรหันมาพัฒนาทักษะด้านการแก้ไขปัญหาด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์ รวมถึงทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ความเห็นอกเห็นใจ และการเชื่อมสายสัมพันธ์กับผู้อื่น อาทิ งานที่มีความละเอียดอ่อนอย่างการพยาบาล ซึ่งหากทุกคนสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ แม้แรงกระเพื่อมทางเทคโนโลยีจะแข็งแกร่งเพียงใด เราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี เราไม่ควรที่จะกลัวความสามารถของเทคโนโลยีเสียจนเกินไป เพราะหากเรารู้จักนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว AI และ Robotics ก็ถือเป็นมิตรมากกว่าศัตรู เนื่องจากในทางธุรกิจ เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถยกระดับศักยภาพและช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและการบริการ และสามารถเข้าไปทำตลาดใหม่ ๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ AI และ Robotics ยังถือเป็น "The most powerful tools" ที่สามารถช่วยโลกของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการพัฒนาแวดวงการแพทย์ เวชภัณฑ์ยา พลังงาน หรือคมนาคม ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติอย่างภาวะโลกร้อน และปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่ทั้งภาครัฐและสังคมต้องเร่งร่วมมือกันแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป
งาน Techsauce Global Summit 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 20 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ล