ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของผู้ให้บริการ Over the Top TV หรือ OTT TV และบริการสตรีมมิ่งในไทย WeTV แพลตฟอร์มผู้ให้บริการคอนเทนต์ระดับพรีเมียมของเอเชียเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่สามารถยืนหยัดและชิงส่วนแบ่งตลาดคนดูและสร้างฐานแฟนคลับได้ไม่แพ้ผู้ให้บริการจากฝั่งตะวันตก เพราะเหตุใด WeTV จึงสามารถผลิตคอนเทนต์ที่โดนใจคนดูและเจาะตลาดไทยได้อย่างต่อเนื่อง "คุณเจี๊ยบ" กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้น WeTV จาก Day Zero จนสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด Media Talk จะขอพาผู้อ่านไปสำรวจกลยุทธ์การทำคอนเทนต์และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจของ WeTV
ไขกลยุทธ์การทำคอนเทต์โดนใจคนดู
แม้ว่า WeTV จะมีจุดยืนในการเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ที่มาจากประเทศจีนเป็นหลัก แต่ WeTV ก็ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศหรือ Local Content ด้วยเช่นเดียวกัน คุณเจี๊ยบ กล่าวว่า WeTV มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เดินทางไปได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เราจึงมีคอนเทนต์ทั้ง WeTV Original และ WeTV Exclusive ซึ่งเป็นการนำคอนเทนต์ไทยทั้งที่ผลิตเองและซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย
ทั้งนี้ WeTV ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการจดจำให้กับคนดูผ่านคอนเทนต์คุณภาพ โดยที่ผ่านมาออริจินัลซีรีส์ของ WeTV ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เห็นได้จาก "เล่ห์แค้น" ที่ได้เข้าชิงรางวัลรางวัลนาฎราช ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 และ ซีรีย์วายหลายเรื่องที่ฉายอยู่บนแพลตฟอร์ม WeTV ยังคงติดอันดับซีรีส์วายน่าดูในหลายสำนัก ขณะที่ซีรีส์จีนที่ครองอันดับหนึ่งบนแพลตฟอร์ม WeTV ในไทยประจำปี 2565 ได้แก่ ซีรีส์แนวพีเรียดเรื่อง ดาราจักรรักลำนำใจ (Love Like the Galaxy) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวความรัก ครอบครัว ประเพณีจีน แฝงความโรแมนติกและดราม่า ในขณะที่เกิดสงครามและการหักหลังกัน ซึ่งเป็นซีรีส์ยอดนิยมทั้งประเทศไทยและจีนในเวลาเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าซีรีส์ที่มีคุณภาพ เนื้อหาสนุกเข้มข้น สามารถถูกใจคนดูทั้งในและต่างประเทศได้ไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ การเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่มผู้ใช้งานที่นิยมดูซีรีส์ในช่วงอายุ 40-50 ปี ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ WeTV ให้ความสำคัญ การนำเสนอซีรีส์จีนแบบพากย์ไทยบนแพลตฟอร์ม จึงถือเป็นการเอาใจใส่กลุ่มผู้ใช้งานในวัย 40 ? 50 ปี ที่อาจจะไม่สะดวกรับชมแบบออริจินัล ซาวด์แทรค (Original Soundtrack) เพราะต้องอ่านซับไตเติ้ลได้เป็นอย่างดี
จับมือพันธมิตรกระตุ้นธุรกิจ OTT TV
นอกจากการโปรโมทผ่านสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์แล้ว คุณเจี๊ยบ ยังเปิดเผยกับอินโฟเควสท์อีกว่า WeTV ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) เซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) แกร็บ (Grab) รวมถึงแอปของผ่านห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอล ทั้ง M Card และ The 1 ผ่านกิจกรรมที่ให้ผู้ใช้งานสามารถแลกแต้มสะสมกับโค้ดของ WeTV ได้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยโค้ดของ WeTV จะถูกแลกจนหมดอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ในยุคที่ผู้คนก้มหน้าดูจอกันนั้น สื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิยาย กลับยังมีบทบาทและช่วยส่งเสริมการทำตลาดของผู้ให้บริการ OTT TV หรือสตรีมมิ่งได้เช่นกัน ที่ผ่านมา WeTV ได้ร่วมงานกับทางสำนักพิมพ์แบบพับลิชชิ่งเฮาส์ (Publishing House) ในการโปรโมทนิยายและ WeTV ซึ่งช่วยผลักดันยอดขายทั้งของนิยายและตัวแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดทำสินค้าที่ระลึกจากนิยายที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์ คุณเจี๊ยบ กล่าวต่อไปว่า WeTV ได้จับมือกับแบรนด์สมาร์ททีวีอย่างแอลจี (LG) ซึ่งรองรับการใช้งาน WeTV โดยมีการทำแคมเปญร่วมกัน เพื่อช่วยกันโปรโมทแบรนด์ของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับทั้ง WeTV และ แอลจี นอกจากแอลจีแล้ว WeTV ยังได้ร่วมมือกับแบรนด์ทีวีอย่างไฮเออร์ (Haier) ซึ่งผลิตสมาร์ททีวีรุ่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการติดตั้งแพลตฟอร์มของ WeTV อยู่ในเครื่อง รวมถึงการจัดจำหน่ายแพ็คเกจพิเศษผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของไทยทั้ง True DTAC และ AIS อีกด้วย