Media Talk: กูรูแนะครีเอเตอร์ ใช้งาน Generative AI อย่างไรให้อยู่รอด

ข่าวต่างประเทศ Sunday September 17, 2023 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Media Talk: กูรูแนะครีเอเตอร์ ใช้งาน Generative AI อย่างไรให้อยู่รอด

Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างเข้ามามีบทบาทในทุก ๆ วงการ ไม่พ้นแม้แต่วงการคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ปัจจุบัน AI สามารถสร้างภาพ เขียนบท แก้ไขรูป ตัดต่อ หรือแม้แต่ลอกเลียนเสียงได้ โดยที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำเองเหมือนแต่ก่อน ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยและคำถามตามมาในเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ว่า จะสามารถอยู่รอดท่ามกลางกระแส AI ได้อย่างไร หรือจะมีวิธีการใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างไรบ้าง

ในปีนี้ งาน Thailand Influencer Awards 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยเทลสกอร์ (Tellscore) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ ในวงการ มาร่วมพูดคุย แบ่งปันแนวคิดและแนวทางการใช้ Generative AI อย่างไรให้อยู่รอด ภายใต้หัวข้อ "Generative AI, How Can Creator Survive the Disruption and CoCreate"

Media Talk: กูรูแนะครีเอเตอร์ ใช้งาน Generative AI อย่างไรให้อยู่รอด

อยู่รอด อยู่ร่วม : Generative AI โอกาสสำหรับครีเอเตอร์

ในฐานะครีเอเตอร์ชื่อดังที่คลุกคลีกับวงการผลิตคอนเทนต์มาอย่างโชกโชน "หนุ่ย" พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ผลิตสื่อ แบไต๋ (Beartai) มองว่า Generative AI เป็นเครื่องมือในการ Save Time หรือเครื่องที่ช่วยประหยัดและย่อระยะเวลาในการทำงาน จากเดิมที่บางงานต้องใช้เวลาในการทำหลายวัน ด้วยการใช้ AI งานหนึ่งชิ้นสามารถเสร็จได้ด้วยระยะเวลาที่สั้นลงมาก "การประหยัดระยะเวลา" ในการทำงานนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับธุรกิจ เพราะต้นทุนที่สำคัญและแพงที่สุดของธุรกิจ คือ "เวลา" ธุรกิจสามารถลดขั้นตอนการทำงานที่โดยไม่จำเป็นต้องใช้คนได้ด้วยการใช้ AI แล้วมอบหมายให้คนมาเป็นผู้สั่งและดูแลการสร้างงานด้วย AI แทน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

Media Talk: กูรูแนะครีเอเตอร์ ใช้งาน Generative AI อย่างไรให้อยู่รอด

Generative AI จึงกลายมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของแบไต๋ในการขยายตลาดคอนเทนต์สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม คุณหนุ่ยกล่าวว่า ตอนนี้ทางแบไต๋เริ่มใช้งาน AI ด้วยการแปลงคลิปจากต้นฉบับภาษาไทยเป็นภาษาท้องถิ่นของ 4 ประเทศ โดยที่ตัวครีเอเตอร์ไม่ต้องพากษ์เสียงหรือมีความรู้ในภาษานั้น ๆ เพียงแต่แปลงข้อความเป็นเสียงพูดด้วยเครื่องมือสร้างเสียงพากย์แทน แม้ว่าจะยังดูไม่เป็นธรรมชาติ 100% ก็ตาม

นอกจากนี้ แบไต๋ยังวางแผนจะนำ Generative AI มาใช้งานกับคอนเทนต์ในประเทศ คุณหนุ่ยอธิบายว่า ตัวเขาเองกำลังเริ่มกระบวนการอัดเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างละ 2,000 คำ ซึ่งในที่สุด ข้อมูลเสียงที่อัดไปเหล่านี้จะกลายเป็นคลังคำที่มากพอที่ AI จะสามารถเรียนรู้และนำมา "สร้างใหม่" สำหรับพากษ์เสียงคลิปในอนาคตได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดเวลา แต่จะทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มีเวลามากขึ้นสำหรับการทุ่มเทกับคอนเทนต์เชิงลึกที่ต้องใช้มนุษย์เป็นผู้ทำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคอนเทนต์แทน

Media Talk: กูรูแนะครีเอเตอร์ ใช้งาน Generative AI อย่างไรให้อยู่รอด

อย่างไรก็ดี คุณหนุ่ยย้ำเตือนว่า Generative AI เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สมองของมนุษย์ที่จะสามารถมาแทนคนได้ 100% แต่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน AI พร้อมกับเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า AI ก็เหมือนปุ่มในการทำงานปุ่มหนี่ง ที่ปุ่มนี้จะมีศักยภาพได้ก็ต้องมีมนุษย์เป็นผู้กด และมนุษย์ในวงการคอนเทนต์จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและอยู่รอดในฐานะ "ผู้ค้าแรงนิ้ว" หรือผู้กดปุ่มสั่งงาน AI ไปกับเทคโนโลยีให้ได้

เข้าใจ และใช้เป็น : เทคนิคการใช้ AI อย่างไรให้อยู่รอด

แล้วครีเอเตอร์จะใช้ AI และปรับตัวอย่างไร คุณโชค วิศวโยธิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ดีบัซ และเกมอินดี้ และผู้ร่วมแต่งหนังสือ ChatGPT: AI ปฏิวัติโลก แสดงความเห็นว่า ครีเอเตอร์ควรเปลี่ยนมุมมองใหม่และมองว่า Generative AI เป็นโอกาส ไม่ใช่ภัยคุกคาม Generative AI ไม่ได้สรรสร้างสิ่งใหม่ แต่สร้างจากการถูกป้อนข้อมูลก่อนหน้า หรือประสบการณ์เดิมของผู้คนที่ถูกรวบรวมไว้เท่านั้น ดังนั้น "ความสร้างสรรค์" ในผลงานจะเป็นจุดที่ทำให้ตัวครีเอเตอร์ "แตกต่าง" และ "อยู่รอด" ได้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

คุณโชคระบุว่า สมัยนี้ คอนเทนต์ครีเอเตอร์จำเป็นต้องสร้างผลงานร่วมกับ AI โดยแนะ 3 ขั้นตอนสำหรับเหล่าครีเอเตอร์ในการทำงานร่วมกับ AI ดังนี้ 1) Idea (การระดมความคิด) ครีเอเตอร์สามารถใช้งาน AI เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยกรองข้อมูล หรือค้นหาข้อมูลเบื้องต้นแบบง่าย ๆ เพื่อทำให้เราเห็นภาพกว้างของสิ่งที่เรากำลังจะทำ 2) Produce (การสร้างผลงาน) หรือเรียกว่า "AI draft Human craft" กล่าวคือ ครีเอเตอร์สามารถใช้ AI เพื่อร่างผลงานที่จะทำขึ้นมา โดยคนจะเป็นผู้เจียรไนงานออกมาเพื่อทำออริจินัลคอนเทนต์ ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำให้ครีเอเตอร์มีสิทธิ์ในผลงานนั้น ๆ

ส่วนขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ 3) Optimize (การใช้ประโยชน์สูงสุด) การใช้ความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ (Human Insight) ควบคู่ไปกับความแม่นยำของ AI (AI precision) เพราะ AI มีความแม่นยำสูง ยกตัวอย่างเช่น ครีเอเตอร์อาจให้ AI ประเมินหรือดูแนวทาง SEO แต่เมื่อเกิดจุดที่สะดุดหรือไม่เป็นธรรมชาติ ครีเอเตอร์ต้องอาศัย Human insight เข้ามาปรับแต่ง ปรับเปลี่ยนให้งานนั้นดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น และจะกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงในที่สุด

คุณโชคทิ้งท้ายว่า เราไม่สามารถปฎิเสธการมาของ AI ได้ แต่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกับ AI ในการสร้างผลงานออกมา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การเข้าใจและใช้เป็น" ครีเอเตอร์ต้องเข้าใจว่ากำลังใช้เครื่องมืออะไรอยู่ ข้อจำกัดเป็นอย่างไร ส่วนการใช้งานเป็นนั้น หมายความว่า เราต้องรู้ว่า การที่จะสร้างคุณค่างานจาก AI นั้น ทำได้อย่างไร จึงจะสามารถอยู่รอดในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ