Media Talk: 3 ผู้บริหารสื่อชื่อดังเผยอนาคตสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจชัดเจน-สร้างคอมมูนิตี้

ข่าวต่างประเทศ Monday June 10, 2024 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

Media Talk: 3 ผู้บริหารสื่อชื่อดังเผยอนาคตสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจชัดเจน-สร้างคอมมูนิตี้

สำรวจทิศทางและอนาคตสื่อออนไลน์จาก 3 ผู้บริหารสื่อชื่อดังอย่าง "แบไต๋" "ไทยรัฐออนไลน์" และ"เดอะ สแตนดาร์ด" (THE STANDARD) ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2024 ภายใต้หัวข้อ "The Future of Media" ชี้การทำคอนเทนต์ต้องมีสมดุลระหว่างคอนเทนต์ทำเงินและคอนเทนต์ที่ทำด้วยใจ รวมทั้งผลิตคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หลากหลาย ย้ำการสร้างคอมมูนิตี้สำคัญ

ธุรกิจสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน

ในฐานะเจ้าของธุรกิจสื่อชื่อดังที่คลุกคลีกับวงการผลิตคอนเทนต์มาอย่างโชกโชน "หนุ่ย" พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ผลิตสื่อ แบไต๋ (Beartai) มองว่า การทำสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจ (Business model) ที่ชัดเจน ต้องรู้ช่องทางการสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงบริษัท เพราะแค่ความหลงใหลอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ หรือการพึ่งพาแต่เม็ดเงินจากยอดวิวแพลตฟอร์มดิจิทัลก็เสี่ยงเกินไป

Media Talk: 3 ผู้บริหารสื่อชื่อดังเผยอนาคตสื่อต้องมีโมเดลธุรกิจชัดเจน-สร้างคอมมูนิตี้

คุณหนุ่ย กล่าวว่า ปัจจุบันการทำสื่อออนไลน์อยู่ในช่วงขาลง หลังผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนดูหดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มของจำนวนประชากรที่ลดลง ในขณะเดียวกันก็มีครีเอเตอร์ที่ผันตัวมาทำสื่อกันมากขึ้น มีคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องปรับลดขนาดองค์กร เดิมที แบไต๋เคยเปิดเพจมากถึง 10 เพจ แต่ไม่ใช่ว่าทุกเพจจะสามารถทำรายได้ให้กับบริษัทได้ ปัจจุบันจึงเหลือเพจหลักเพียงเพจเดียวคือ เพจแบไต๋ เพื่อควบคุมต้นทุน และหันมาเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพด้วยสโลแกน "น้อยแต่คุณภาพ" แทน

ดังนั้น สำหรับมุมมองการผลิตคอนเทนต์ในอนาคต คุณหนุ่ยยืนยันว่า บริษัทสื่อควรรักษารูปแบบการทำคอนเทนต์ทั้ง 2 แบบ ได้แก่ คอนเทนต์ที่มีโฆษณา (Branded content) และคอนเทนต์ดั้งเดิม (Original content) ของเพจ โดยชั่งน้ำหนักระหว่างการทำคอนเทนต์ของทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างจุดประสงค์ของการทำสื่อและความอยู่รอดของธุรกิจ

ไทยรัฐออนไลน์เปิดยูทูบเพิ่ม 8 ช่อง รับ Fragmented media ตอบโจทย์สื่อออนไลน์ยุคใหม่

ในยุคที่เกิดการแบ่งแยกย่อยของแพลตฟอร์มสื่อและความสนใจของผู้เสพสื่อที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้นหรือ Fragmented media นั้น "คุณนิค" จิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจร่วมของไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ ไทยรัฐออนไลน์ได้เปิดช่องยูทูบเพิ่ม 8 ช่อง ซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอคอนเทนต์และมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพื่อตอบสนองความสนใจของผู้ชมที่หลากหลาย เพราะก่อนหน้านี้ ไทยรัฐเคยมัดรวมคอนเทนต์ทุกหมวดหมู่ไว้ที่ช่องเดียว แต่กลับกลายเป็นว่าคอนเทนต์บางประเภทถูกคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจมากกว่าดึงความสนใจไป

นอกจากนี้ คนทำสื่อต้องมองภาพให้ชัด รู้จักพฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มผู้ชมของตนเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางคอนเทนต์ของสื่อให้เหมาะสม

และเพื่อป้องกันปัญหา "ช่องไม่ทำรายได้" คุณนิคกล่าวว่า แต่ละช่องที่เปิดใหม่จะมีปัจจัยชี้วัดผลงานหรือ KPI ที่ชัดเจน บางช่องอาจจะมี KPI ที่การเพิ่มยอดผู้ติดตาม สนับสนุนแบรนด์สื่อในเครือไทยรัฐ หรือขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มที่ไทยรัฐยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์

ส่วนรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์นั้น คุณนิคแสดงความเห็นว่า การทำสื่อไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ธุรกิจสื่อต้องปรับตัวตลอดเวลา เช่นเดียวกับแนวโน้มคอนเทนต์แบบสั้น (Short-form content) และคอนเทนต์ที่มีความยาว (Long-form content) ที่ได้รับความนิยมสลับกันไปมาจากกลุ่มคนดู

เน้นสร้างคอมมูนิตี้ เจาะกลุ่มคนดู เสริมทัพด้วย AI

ทางฟากสื่อออนไลน์ชั้นนำอย่างเดอะ สแตนดาร์ด (THE STANDARD) คุณณัฏฐา โกมลวาทิน แม่ทัพข่าวคนใหม่จากเดอะ สแตนดาร์ด เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 67 ที่เดอะ สแตนดาร์ดก็มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และได้เพิ่มช่องคอนเทนต์อีก 8 ช่อง เช่น THE STANDARD SPORT เพื่อตอบโจทย์ความสนใจของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของเดอะ สแตนดาร์ดยังคงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มพรีเมียมแมส (Premium mass) หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปีที่มีความสนใจข้อมูลข่าวสารเชิงลึก ต้องการพัฒนาตนเอง รวมถึงประเด็นหนัก ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ และปรัชญา

สิ่งที่เดอะ สแตนดาร์ดคำนึงถึงเป็นพิเศษคือการสร้างชุมชนหรือคอมมูนิตี้ คุณณัฏฐาอธิบายว่า การสร้างคอมมูนิตี้เป็นเรื่องสำคัญมากในการเจาะกลุ่มคนดู รายการจำเป็นต้องสร้างฐานคนดูให้ได้ โดยอาศัยความสม่ำเสมอในการผลิตคอนเทนต์ และใช้ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสาร

ส่วนมุมมองการทำสื่อในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น คุณณัฏฐามองว่า เดอะ สแตนดาร์ด จะยังคงรักษาฐานความเป็นเดอะ สแตนดาร์ด แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือลองแนวทางการเล่าเรื่องคอนเทนต์แบบใหม่ เช่น นำเสนอประเด็นที่เป็นกระแสสังคม แต่ยังสามารถหามุมเล่าในแบบของเดอะ สแตนดาร์ด ที่ยังคงรักษาฐานคนดูเดิมไว้อยู่

สำหรับประเด็นเรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นั้น คุณณัฏฐาเปิดเผยว่า เดอะ สแตนดาร์ดพยายามดึงเอา AI เข้ามาช่วยคนทำงานสื่อมากขึ้น เช่น การสืบค้นข้อมูล ไปจนถึงการถอดบทสัมภาษณ์ เพื่อให้สามารถทำงานแข่งกับเวลาได้ อย่างไรก็ตาม แม่ทัพสื่อของเดอะ สแตนดาร์ด กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาถึงกรอบการการใช้งาน AI ที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของจริยธรรม หรือความแม่นยำ


แท็ก ไทยรัฐ   E 20  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ