ในการสัมมนาในหัวข้อ "Top Social Platforms Updates" ที่งาน Marketing Insight & Technology Conference 2024 หรือ MITCON2024 เหล่าผู้บริหารระดับสูงจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและเสิร์ชเอ็นจินชั้นนำระดับโลกอย่าง LINE, Facebook และ Google ได้เผยมุมมองและข้อมูลอัปเดตล่าสุดของแต่ละแพลตฟอร์มในประเทศไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับ AI และ E-Commerce จะมีฟีเจอร์เด็ดและบริการเด่นอะไรบ้างนั้น Media Talk ขอพาทุกคนไปพบกับฟีเจอร์ที่เปิดตัวแล้ว และกำลังจะเปิดตัว รวมทั้งสำรวจความเป็นไปของแต่ละแพลตฟอร์ม
นับตั้งแต่ที่ไลน์มีบริการ LINE Official Account (LINE OA) เมื่อปี 2556 ยอดผู้ใช้งานแพลตฟอร์มก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 20 ล้านคนต่อเดือน สู่ 56 ล้านคนต่อเดือน หรือคิดเป็น 180% โดยคุณจิรพัฒน์ เดชดนู Display Advertising Team Lead ของ LINE Thailand เผยว่า LINE ยังคงพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการโฆษณา
ในปีนี้ LINE ได้ระดมสารพัดวิธีในการยกระดับความแม่นยำในการโฆษณา ทั้งการเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมาย (segment targets) ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 26 กลุ่ม ในปี 2566 เป็น 69 กลุ่ม ในเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งช่วยให้การโฆษณามีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 4 เท่าและจะเพิ่มจำนวนกลุ่มขึ้นอีกเป็น 164 segments ในเดือนกันยายน 2567 และการเปิดพื้นที่ใหม่ให้ลูกค้าสามารถลงโฆษณาใน LINE ALBUM ได้
นอกจากนี้ LINE ยังร่วมมือกับ ADA เพื่อให้มีฐานข้อมูลของผู้บริโภคที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และทำให้การโฆษณาตรงจุดมากขึ้นด้วยข้อมูลจาก LINE Official Account
ทั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญของ LINE คือ การเปิดตัว LINE OFFICIAL NOTIFICATION (LON) บริการใหม่ที่ช่วยส่งข้อความของแบรนด์ไปยังลูกค้าได้โดยตรง ย้ำจุดยืนของแพลตฟอร์มในฐานะ Chat commerce platform
คุณภารดี สินธวณรงค์ Head of Marketing, Thailand & Vietnam ของ Facebook Thailand ได้นำเสนอ Meta AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AI ล่าสุดที่รองรับภาษาไทยและสามารถเข้าถึงได้ผ่าน Facebook, Instagram และ Messenger โดยไม่จำเป็นต้องโหลดแอปพลิเคชันใดเพิ่มเติม แม้ Meta AI จะเป็นเทคโนโลยีสำหรับทุกคน แต่สำหรับภาคธุรกิจแล้ว เทคโนโลยีนี้จัดว่า มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจ ตั้งแต่การสร้างเนื้อหา การค้นหา การส่งข้อความ ไปจนถึงการทำธุรกรรม นอกจากนี้ยังช่วยในการสร้างภาพ เขียนคำบรรยายโฆษณา และปรับขนาดภาพโฆษณาโดยอัตโนมัติได้อีกด้วย
นอกจากนี้ Facebook ยังได้เปิดตัว Live Video Ads ที่จะช่วยเพิ่มการมองเห็นให้กับผู้คนที่ทำการถ่ายทอดสด และเตรียมเปิดตัว Live Shopping Tools ที่จะสามารถแสดงสินค้าระหว่างที่ไลฟ์ได้ภายในต้นปีหน้า และได้เน้นย้ำถึงฟีเจอร์ที่น่าจะถูกใจผู้ค้าอย่าง Shopping Feature on Messenger ด้วยความร่วมมือกับ Shopee และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ค้าสามารถนำแค็ตตาล็อกสินค้าเข้าสู่ Messenger ได้ รวมถึงฟีเจอร์อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วอย่าง Meta Pay และ Bank Slip Verification ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อขายมากยิ่งขึ้น
คุณไอริณ ขันธะชวนะ Head of Industry, Consumer Goods Sector ของ Google Thailand ได้แบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ผู้บริโภคในไทย 3 ข้อดังนี้
Mass is No longer Middle: ผู้บริโภคชาวไทยถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มที่มีรายได้ "สูง" และรายได้ "ต่ำ" ไม่มีกลุ่มผู้บริโภครายได้ "ปานกลาง" อีกต่อไปในตลาดแมสหรือมวลชน
Mass is not Equal: กลุ่มที่มีรายได้สูง หรือ High Value User เพียง 30% ครองสัดส่วนของยอดขายถึง 75% ของยอดขายรวมทั้งหมด ซึ่งผู้ค้าจำเป็นต้องค้นหาลูกค้ากลุ่มนี้ของตนเองและรักษาไว้ให้ได้
Mass is not Usual: ตลาดมวลชนไทยไม่ได้อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี หรือ 25-44 ปีอีกต่อไป หากแต่อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ และแบรนด์ต่าง ๆ จำเป็นต้องพยายามที่จะเข้าถึงประชากรกลุ่มนี้ให้ได้
นอกจากนี้ คุณไอริณยังได้พูดถึงการเปิดตัวบริการ Live ขายของของ Google ที่ร่วมมือกับ Shopee ที่จะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ อีกด้วย ซึ่งก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยที่ Google เองก็จะรุกบริการนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลที่แบ่งปันโดยผู้บริหารระดับสูงของ LINE, Facebook และ Google จะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจกับการเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ผู้ประกอบการและนักการตลาดจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและฟีเจอร์ใหม่ ๆ ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการตลาดดิจิทัลต่อไป