Media Talk: จับตาแนวทางเดินหน้าสู่ยุคดิจิทัล ชี้เทคโนโลยีมือถือมีบทบาทสำคัญในไทย

ข่าวทั่วไป Friday May 27, 2016 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ต้องนำพลังดิจิทัลมาใช้เพื่อมอบประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จนเป็นจุดกำเนิดของนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ที่แพร่หลายไปทั่วประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ทั้งในด้านการค้า บริการ การศึกษา หรือแม้แต่การแพทย์ กระทรวงไอซีทีจึงได้จัดงาน “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016" ขึ้น พร้อมกับเชิญเหล่าผู้เชี่ยวชาญในวงการดิจิทัลทั้งไทยและเทศ ร่วมให้ความรู้และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อปูทางสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ

Media Talk วันนี้ ขอเปิดโลกดิจิทัลให้กว้างยิ่งขึ้น ด้วยมุมมองของผู้เชี่ยวชาญส่งตรงจากองค์กรชั้นนำของโลก 2 ท่านที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับรัฐบาลไทย โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่กล่าวถึงนี้ ได้แก่ คุณมิเกล การ์ราสโก พาร์ทเนอร์จากเดอะบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป และคุณเฮนรี วอร์ทิงตัน รองผู้อำนวยการจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ซึ่งได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวบนเวที

*ผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลียเผยปัจจัย 6 ประการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ชี้ไทยยังตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซีย

คุณมิเกล การ์ราสโก พาร์ทเนอร์จากเดอะบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป บริษัทผู้ให้บริการคำปรึกษาระดับโลกซึ่งมีสำนักงานสาขาอยู่ที่ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสามารถก้าวขึ้นเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบได้นั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ครบทั้ง 6 ประการ ได้แก่

ประการแรก คือ บริการดิจิทัลของภาครัฐ หากรัฐบาลประเทศใตต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นแล้ว สิ่งแรกที่เป็นพื้นฐานเลยก็คือบริการของภาครัฐที่ต้องเป็นแบบดิจิทัลให้สมกับชื่อ คุณมิเกล เปิดเผยว่า รัฐบาลควรจะจัดลำดับความสำคัญ โดยนำบริการที่มีบทบาทสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนขึ้นเป็นอันดับแรก คุณมิเกลได้ยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่บันทึกข้อมูลทางชีวมิติและประชากรศาสตร์ เพื่อใช้ในการเปิดบัญชีธนาคาร ประกันสังคม และหนังสือเดินทาง ซึ่งนับเป็นสิ่งที่มีบทบาทโดยตรงต่อประชาชน

อันดับต่อมา คือ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ในกรณีนี้ คุณมิเกลได้ยกตัวอย่างเทคโนโลยีสมาร์ทซิตี้ ซึ่งอินเทอร์เน็ตจำเป็นต้องรวดเร็ว เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลอันมหาศาลได้อย่างทันท่วงที ระบบคลาวด์ต้องพร้อมเพื่อให้สามารถประมวลผลได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ระบบวิเคราะห์และตรวจวัดจำเป็นต้องทำงานควบคู่กันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ประการต่อไป เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน เศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการร่วมมือกันในวงกว้าง ดังนั้น รัฐบาลและเอกชนจำเป็นต้องผนึกกำลังกันเพื่อให้เทคโนโลยีดิจิทัลเกิดประสิทธิภาพ และมอบประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน

บันทึกข้อมูลสาธารณะเป็นอีกปัจจัย เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจากระบบดิจิทัลทั่วประเทศนั้นมีจำนวนมหาศาล ระบบบันทึกข้อมูลควรมีความปลอดภัย และควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม เพราะหากมีการบันทึกที่ไม่ดีแล้ว ก็จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ทักษะและความสามารถก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง

สุดท้ายคือนโยบายและการกำกับดูแล แม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็อาจมีผู้ไม่หวังดีใช้ช่องทางนี้ฉวยโอกาสได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องออกนโยบายควบคุมดูแลให้การใช้เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

สำหรับความก้าวหน้าของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียนนั้น คุณมิเกลเปิดเผยว่า ไทยยังตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียในแง่ของการสนับสนุนจากภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ดี ในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยบนโลกออนไลน์แล้ว ไทยตามมาเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์เท่านั้น แต่การที่รัฐบาลไทยมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลจนกลายเป็นนโยบายระดับประเทศนั้นย่อมเป็นเรื่องดี ที่จะนำมาซึ่งคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป

*นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษมองอุปกรณ์มือถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในสังคมไทย เผยผลวิจัยไทยเป็นผู้นำด้านโมบายอินเทอร์เน็ตในอาเซียน

คุณเฮนรี วอร์ทิงตัน รองผู้อำนวยการจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ องค์กรมันสมองชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า อุปกรณ์มือถือ เช่น สมาร์ทโฟนนั้น เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในการปฏิรูปประเทศสู่ยุคดิจิทัล เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงข่าวสารในวงกว้าง ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ผู้คนเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายกว่า และยังเป็นช่องทางหางานได้ด้วย

เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์เหล่านี้แล้ว จึงเป็นที่น่ายินดียิ่งที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมือถือในประเทศไทยนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้ชัดจากการเปิดให้บริการระบบ 4G ทั่วประเทศ ที่นอกจากจะเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้วยังครอบคลุมเป็นอันดับต้นๆของโลกด้วย โดยประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมือถือเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 7 ของเอเชีย

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ระบุว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมือถือนำมาซึ่งคุณประโยชน์ที่สามารถแยกแยะได้เป็น 2 ช่องทางหลักๆ อย่างแรกคือประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว ประการที่สองคือช่วยสร้างงานให้กับประชาชนในประเทศ เนื่องจากเป็นช่องทางหางานที่มีประสิทธิภาพ โดยสองสิ่งนี้ท้ายที่สุดแล้วจะช่วยหนุนจีดีพีต่อไป

ในส่วนของการจ้างงาน การวิจัยของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ พบว่า เทคโนโลยีมือถือได้ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 240,000 ตำแหน่งในปี 2558 และยังช่วยให้ตลาดแรงงานไทยก้าวออกจากภาคเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตและบริการดังที่พบได้ในชาติมหาอำนาจ โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดในเรื่องนี้ได้แก่ ภาคการผลิต ตามมาด้วยการขนส่งและการสื่อสาร

*แนวโน้มเทคโนโลยีมือถือของไทยในอนาคต

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีมือถือในวันข้างหน้า คุณเฮนรีมองว่า ไทยจะยังคงเป็นผู้นำในด้านนี้ต่อไปในอาเซียน และเพื่อให้ก้าวนำขึ้นไปอีก รัฐบาลไทยควรส่งเสริมการเข้าถึงเครือข่าย 3G และ 4G ให้ครอบคลุมพื้นที่ชนบททั่วประเทศ

สำหรับการผลักดันการใช้งานเทคโนโลยีมือถือในภาคธุรกิจนั้น คุณเฮนรีเปิดเผยว่า รัฐบาลควรมีการปรับนโยบายควบคุมดูแลให้เหมาะกับยุคสมัย เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า นักลงทุนไม่สามารถลงทุนได้อย่างเต็มที่ หากรัฐบาลยังคงใช้กฎเกณฑ์เดิมๆในการดูแลภาคโทรคมนาคม

สุดท้ายนี้ นักเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ สรุปไว้ว่า เทคโนโลยีมือถือจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยเทคโนโลยีนี้ยังมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยังรอให้ค้นหาอีกมากมาย

ทั้งนี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้จัดงานสัมมนาและแสดงนิทรรศการนานาชาติ “ดิจิทัลไทยแลนด์ 2016" ขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พ.ค. 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมเพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพและโอกาสของเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ