Media Talk: สำรวจ Internet of Things ทั้งในประเทศ-ต่างประเทศในงาน Asia IoT Business Platform ผ่านมุมมองกูรูภาครัฐ-เอกชน

ข่าวทั่วไป Friday May 27, 2016 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พบกับมุมมองเรื่อง Internet of Things (IoT) จากกูรูแวดวงต่างๆในงาน Asia IoT Business Platform ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 26-27 พ.ค. ซึ่งครอบคลุมประเด็น การพัฒนาและความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค IoT ในประเทศไทย ไปจนถึงปัญหาเกี่ยวกับการใช้กลยุทธ์เพื่อความยั่นยืน และข้อจำกัดของการใช้เทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม

*ผู้แทนจากภาครัฐยันสนับสนุน Internet of Things ในประเทศไทย

ผู้ทรงอิทธิพลแห่งแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในประเทศไทยที่มาร่วมสัมนาครั้งนี้ประกอบด้วย ดร.มาลี วงศาโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คุณสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์เอไอเอส ดร. ยุทธศาสตร์ นิธิไพจิตร ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีศูนย์ขอมูลจาก CAT Telecom คุณเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์ปาร์ค) และคุณ ไมเคิล ลินโฮล์ม หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท Telenor Connexion โดยมีคุณ ซุนดาร์ ไลเยอร์ จาก Hawlett Packard Enterprise เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.มาลี วงศาโรจน์ ได้พูดถึงนโยบายและการพัฒนา IoT จากหน่วยงานรัฐบาลว่า รัฐบาลมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับ IoT เป็นอย่างมาก และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาเป็นประเทศดิจิทัล เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศมีความยั่งยืน โดยในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว อีกทั้งยังมีโครงการสร้างภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ขณะที่วิทยากรท่าน อื่น ๆ ก็มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจดิจิทัล และ IoT จะเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่ง IoT จะนำไปสู่การลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น ไม่เพียงแค่เฉพาะการลงทุนจากต่างชาติ แต่รวมถึงการลงทุนภายในประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น การใช้ IoT เข้ากับการเกษตร ก่อให้เกิดการประดิษฐ์หุ่นยนต์มาใช้เพื่อการทำไร่ทำสวน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมาจากการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนา IoT ในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมากมาย เช่น การยกระดับความสามารถด้านการเกษตร การผลิต และการบริการ การเตรียมพร้อมรับมือกับผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น การขจัดคอร์รัปชั่น และการพัฒนาความสามารถของประชาชน ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ ผู้บริหารจากต่างชาติอย่าง Telenor มองว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีความตื่นตัวและตอบสนองต่อ IoT ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่คือการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งในประเด็นดังกล่าววิทยากรไทยกล่าวว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความล่าช้าคือ เงินทุน ความรู้ และการจัดการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่ทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังพยายามร่วมกันหาทางออก เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายระยะ 20 ปีได้ตามแผนอย่างต่อเนื่อง

*ผู้บริหารบริษัทต่างชาติ มอง IoT ส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลายภาคส่วน พร้อมเสนอให้ยึดหลักความเรียบง่าย

สำหรับวาระที่สองของงานสัมนานั้นได้มีการพูดคุยในเรื่องอิทธิพลของ IoT ในแวดวงการตลาดและอุตสาหกรรม ผ่านวิทยากรดังต่อไปนี้ คือ ริชาร์ต จีเมซี จาก Telenor Connexion อานัจ แพนเดย์ จาก Bharti Airtel อัลเฟียน มานูลลัง จาก Telkomsel และอีวาน แลนเดนจาก Blue Wireless

วิทยากรทุกท่านมีความคิดเห็นตรงกันว่า IoT ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการตลาดและภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และเป็นที่สนใจต่อบุคลากรในแวดวงดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ รวมไปถึงการคมนาคม ซึ่ง IoT ก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับแวดวงดังกล่าว และอาจต้องใช้เวลาศึกษาและทำความเข้าใจอีกพอสมควร ดังนั้นการปรับระบบอุตสาหกรรมและการบริการให้เข้ากับยุค IoT จะต้องให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย การใช้งานที่ง่ายไม่ซับซ้อน ไม่เช่นนั้นแล้ว ปัญหาด้านการใช้งานอาจเกิดขึ้น และปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างกันสูง ซึ่งถ้าหากบริษัทไม่สามารถรับมือกับปัญหาด้านการใช้งานได้ดีเท่าที่ควร ผลกระทบเชิงลบก็จะเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การปรับตัวเข้าสู่ IoT จึงเป็นสิ่งที่สำคัญแต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการพัฒนา IoT ให้เข้ากับธุรกิจ จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน อีกทั้งผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญด้าน IoT ในระดับหนึ่ง

สำหรับความเคลื่อนไหวด้าน IoT ล่าสุดในอินเดียนั้น อานัจ แพนเดย์ จาก Bharti Airtel ได้ยกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านธุรกิจและบริษัทเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว ซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาสู่วิถีชีวิตของผู้คน โดยในปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคได้เริ่มเข้ามามีบทบาทและมีอำนาจมากขึ้น เนื่องจากระบบการซื้อสินค้าสามารถเข้าถึงได้ทุกเวลา มีความสะดวกใช้งานง่าย ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบสินค้าและราคาได้ และยังสามารถติดต่อกับผู้ให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

พร้อมกับยกตัวอย่างของผู้ใช้บริการชาวอินเดียที่มีความต้องการใช้บัตรเครดิตและเดบิตเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น จากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้น ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นตามไปด้วย โดยการทำธุรกรรมแบบอี-คอมเมิร์ซกว่า 40% ในอินเดีย จะทำผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่เว็บไซต์ flipkart.com ซึ่งเป็นเว็บที่มีเครือข่ายกระจายสินค้ากว่า 500 จุด สามารถจำหน่ายสินค้าได้ถึง 45,000 ชิ้นต่อวัน

สรุปแล้ว IoT Business Platform ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า กระแส IoT ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่ถูกพูดถึงโดยนักการตลาดและบุคคลในแวดวงธุรกิจจากภาคเอกชนเท่านั้น แต่ภาครัฐก็มีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ถึงขั้นมีนโยบายผลักดันการพัฒนา Digital Thailand ภายในระยะเวลา 20 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลและ IoT ไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกกรมเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลกระทบด้านบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค และวิถีชีวิตของผู้คนในประเทศ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่า กระแส IoT ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวและเรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ