Media Talk: 4 ผู้บริหาร 4 วงการ ร่วมแชร์บริหารธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในยุค AEC

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2016 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับจนถึงวันนี้ก็ผ่านมาครึ่งปีแล้ว หลังจากที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้เริ่มต้นอย่างเต็มตัวเมื่อต้นปี AEC ถือกำเนิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียนให้ก้าวไกลระดับโลก ส่งเสริมให้อาเซียนมีความเจริญมั่งคั่ง มั่นคง และอยู่ดีกินดี ผ่านการจัดทำข้อตกลงที่เอื้ออำนวยต่อกันและกัน

แล้วธุรกิจไทยได้รับโอกาสอะไรบ้างจากการเปิด AEC และหากต้องการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง ศูนย์การเรียนรู้ เอ็ม อะคาเดมี่ จึงได้มีการจัดสัมมนา The Roundtable “เคล็ดไม่ลับสู่ความสำเร็จ AEC Champions" ขึ้น เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา พร้อมกับเชิญเหล่าผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในตลาด AEC ร่วมแชร์มุมมองและเคล็ดลับบริหารธุรกิจ

ผู้บริหารที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน จาก สถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย และวี ฟู้ดส์ คุณลิน ค็อก หญิงเก่งจาก ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยและลุ่มน้ำโขง เรืออากาศโท นายแพทย์นำ ตันธุวนิตย์ บอสใหญ่ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ คุณสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ จาก เซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์

*อดีตผู้ว่าการกทม.เผยเริ่มต้นธุรกิจในยุค AEC ได้ง่ายๆ แค่เลือกพาร์ทเนอร์ให้ถูกราย

คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร สถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย และบริษัท วี ฟู้ดส์ เจ้าของแบรนด์ข้าวโพดหวานพร้อมรับประทานตรา “วี คอร์น" ที่วางจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค AEC นั้นหมายความว่า ประเทศไทยสามารถเข้าไปติดต่อธุรกิจกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่หากจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมดแล้ว คงจะต้องใช้เวลานานสักหน่อย ทั้งยังเปลืองเงินลงทุน และยังต้องดำเนินการซ้ำไปซ้ำมาอีกด้วย

สำหรับการเลือกพาร์ทเนอร์ในประเทศแถบ AEC เพื่อจับมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ หรือที่เรียกว่า Strategic Partnership นั้น คุณอภิรักษ์ชี้ว่า ควรมองหาพาร์ทเนอร์ที่มีอิทธิพลในการเจรจากับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ และควรใช้ข้อได้เปรียบของพาร์ทเนอร์รายนั้นๆเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ การทำธุรกิจยุค AEC ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะมีข้อได้เปรียบจากการส่งออกสินค้าไทยไปยังต่างประเทศได้เพียงอย่างเดียว แต่ในแง่ของการนำเข้าแล้วธุรกิจไทยก็สามารถคว้าข้อได้เปรียบจากจุดนี้ได้ คุณอภิรักษ์ เปิดเผยว่า ทางบริษัทวี ฟู้ดส์ ได้มีการจับมือกับกลุ่มบริษัท ดาวเฮือง จากสปป. ลาว เจ้าของแบรนด์ "ดาว คอฟฟี่" ที่น่าจะคุ้นหูคุ้นตากันดีบนโฆษณาทีวี โดยทางวี ฟู้ดส์ ได้นำเข้าเมล็ดกาแฟจากบริษัท ดาวเฮือง เพื่อนำมาบรรจุและทำการตลาดสำหรับการวางจำหน่ายในไทย จนกลายเป็นกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่มตราดาวคอฟฟี่ กระป๋องสีดำ-แดงที่วางจำหน่ายอยู่ในเซเว่น อีเลฟเว่นทุกวันนี้ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า การนำเข้าสินค้าจากประเทศแถบ AEC ก็สามารถใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจได้

สุดท้ายนี้ คุณอภิรักษ์ ได้ให้บทเรียนทิ้งท้ายไว้ว่า การทำธุรกิจในประเทศกลุ่ม AEC นั้นควรให้เวลากับการวางแผนธุรกิจ มีการหาข้อมูลแวดวงธุรกิจที่ต้องการทำตลาด มองหาที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีความสามารถ คำนึงถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรม อย่าดูถูกประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับกลุ่มธุรกิจที่คุณอภิรักษ์มองว่าธุรกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดี ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น และเครื่องสำอาง ส่วนประเทศกลุ่ม AEC ที่น่าสนใจในมุมมองของคุณอภิรักษ์นั้นได้แก่ประเทศเมียนมา เนื่องจากขณะนี้เมียนมามีการเปิดประเทศมากขึ้น ประชาชนเริ่มมีความหวังมากขึ้น มีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น ส่งผลให้ชาวเมียนมามีเงินมากขึ้น และเมื่อมีเงินมากขึ้นแล้วย่อมต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งสินค้าจากไทยจะได้เปรียบจากจุดนี้ เพราะชาวเมียนมามองว่าสินค้าที่ผลิตในไทยนั้นมีคุณภาพดี ในทำนองเดียวกันกับที่คนไทยชอบสินค้าจากญี่ปุ่นนั่นเอง

*หญิงเก่งจาก "สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย" ชี้ทำธุรกิจต้องมี Win-Win Mindset อย่าเอาแต่ได้เพียงฝ่ายเดียว

คุณลิน ค็อก (Lyn Kok) กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำประเทศไทยและลุ่มแม่น้ำโขง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า การทำธุรกิจในยุค AEC นั้นต้องมี Win-Win Mindset กล่าวคือต้องรู้จักคิดหาวิธีการทำธุรกิจให้ได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะหากเอาแต่ได้เพียงฝ่ายเดียวแล้ว ธุรกิจนั้นๆอาจไม่สามารถคว้าใจผู้บริโภคในประเทศปลายทาง จนส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ส่วนจะทำธุรกิจอย่างไรให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายนั้น คุณลิน เปิดเผยว่า การทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ก็เป็นแนวทางหนึ่งในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับการจัดตั้งโครงการเสริมสร้างศักยภาพในการทำงาน เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

นอกจากนี้ คุณลินมองว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุค AEC นั้นจำเป็นต้องพึ่ง LUCK ซึ่งคำว่า LUCK ในที่นี้ไม่ใช่ศัพท์ภาษาอังกฤษที่หมายถึงความโชคดี แต่เป็นตัวย่อของแนวคิด “Laboring Under Correct Knowledge" หรือที่มีผู้เคยแปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า “ลงมือทำ ด้วยความพากเพียร โดยอาศัยความรู้ที่ถูกต้อง" นั่นเอง โดยความรู้ที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นรู้จักอดทน ไม่รีบร้อน ขยันทำการบ้าน หมั่นหาคอนเนคชั่น และที่สำคัญยิ่งคือต้องรู้จักหาพาร์ทเนอร์หรือที่ปรึกษาทางธุรกิจที่ถูกต้อง พร้อมทิ้งท้ายไว้ว่า การทำธุรกิจในต่างประเทศนั้นเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลานาน และบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย หากรัฐบาลดี ธุรกิจก็จะดีตาม ยกตัวอย่างเช่น นโยบายพร้อมเพย์ (PromptPay) ของรัฐบาลไทย ซึ่งคุณลินมองว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการเทคโนโลยีการเงินมาก

สำหรับคำถามที่ว่าอนาคตของ AEC จะเป็นเช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป (EU) ที่เพิ่งสั่นคลอนจากเหตุการณ์ Brexit หรือไม่ คุณลินมีความคิดเห็นว่า AEC ไม่น่าจะประสบกับเหตุการณ์เดียวกันกับ EU เนื่องจาก AEC นั้นถือกำเนิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจ ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้องเหมือน EU และไม่มีอิทธิพลไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เหมือนกับที่ EU มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กรุงบรัสเซลล์

ส่วนประเทศกลุ่ม AEC ที่ผู้บริหารแวดวงธนาคารท่านนี้มองว่า น่าสนใจที่สุดสำหรับภาคธุรกิจไทย ได้แก่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากไทยและเวียดนามตั้งอยู่ไม่ไกลกันมาก และยังได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ถือกำเนิดขึ้นจากการเปิด AEC ด้วย นอกจากนี้ ชาวเวียดนามมักและทำงานหนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่ม AEC และยังมีแรงงานอายุน้อยอยู่มาก และที่สำคัญที่สุด ปัจจุบันมีธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอยู่ที่เวียดนามอยู่แล้ว เช่น เครือเซ็นทรัลซึ่งได้ไปเปิดห้างสรรพสินค้าในประเทศนี้ ขณะที่สินค้าไทยเองก็ปรากฎให้เห็นอย่างแพร่หลายเช่นกัน ทั้งหมดนี้ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางธุรกิจ เมื่อเทียบกับเมียนมาที่ยังไม่มีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นอย่างชัดเจน

*ผู้บริหารเครือเซ็นทรัลเผย เส้นทาง AEC ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แม้ว่าเหล่าบรรดากูรูจะมองว่าการเปิด AEC เป็นโอกาสสำหรับนักธุรกิจไทย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่าที่บรรดานักธุรกิจ SME จะถึงฝั่งฝันบนเส้นทาง AEC ยังคงมีอุปสรรคอยู่มาก คุณสุภรัฐ จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทารา อินเตอร์เนชั่นแนล แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) มองว่า การเตรียมตัวของไทยในสนาม AEC ยังมีไม่มากพอ ทั้งๆที่ไทยเองเป็นผู้ริเริ่มให้มีการรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน แต่เราไม่ได้มีการเตรียมการสำหรับเรื่องนี้เลย แม้ว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นั้น ประเทศไทยดูเหมือนจะตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคพอดี แต่ประเทศเราไม่ได้อยู่ติดกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะทางรถหรือรถไฟ และทางเครื่องบินเองก็ยังมีปัญหาอยู่ การขนส่งสินค้าระหว่างกันอาจจะยังไม่มีความสะดวกเท่าที่ควรจะเป็น

อีกอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญคือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ คนไทยเราไม่เคยถูกสอนให้มองประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นมิตรเลย มีแต่เรื่องราวรุกรานแย่งชิงกันมาตั้งแต่ในอดีต ในทางกลับกันประเทศอื่นๆก็คงจะมองเราเป็นแบบนั้นเช่นกัน แม้แต่กับประเทศลาว ที่ว่ากันว่าเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน ก็ยังคงมีคำถามว่า แล้วตกลงใครเป็นพี่ และใครเป็นน้อง ค่านิยมทางด้านประวัติศาสตร์นี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้ แต่ละประเทศไม่สามารถจับมือเป็นมิตรกันได้อย่างสนิทใจ เชื่อมโยงไปถึงปัจจัยทางด้านภาษา แม้ว่าทาง AEC ได้ตกลงกันแล้วว่าจะใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ไทยเราเองก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้พอสมควร มีการสนับสนุนให้เรียนภาษาอังกฤษกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่เรามองข้ามภาษาของประเทศเพื่อนบ้านที่เราจะต้องติดต่อหรือทำธุรกิจร่วมด้วย ในขณะเดียวกันเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นคนลาว พม่า หรือเวียดนาม ต่างมีความสนใจที่เรียนภาษาไทยเพิ่มเติม ทำให้คนอื่นๆเค้าพูดได้กัน 3-4 ภาษา แต่เรากลับพูดได้แค่ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเท่านั้น นี่เป็นอีกจุดอ่อนหนึ่งของคนไทย การติดต่อธุรกิจโดยที่พูดภาษาท้องถิ่นเค้าไม่ได้จะทำให้เรากลายเป็นผู้เสียเปรียบ

ยิ่งไปกว่านั้น จนถึงวันนี้ ด้านนโยบายเราก็ยังไม่พร้อม กฎหมายที่จะต้องเปลี่ยนเมื่อเข้า AEC ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนทั้งหมด แม้ว่าการเปิด AEC จะทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น แต่อย่าลืมว่าทุกคนมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดเท่าเทียมกันหมดเรา คู่แข่งก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้แต่ละตลาดก็จะมีเจ้าถิ่นของตลาดนั้นๆอยู่แล้ว ต้องทำอย่างไรถึงจะไปสู้กับเค้าได้ เรื่องนี้คงจะต้องวางแผนกันให้ดี

คุณสุภรัฐยังได้สรุปในตอนท้ายว่า การเข้าสู่ตลาด AEC ของธุรกิจ SME มีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจใหญ่ๆที่มีการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ต้องยอมรับว่าตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 700 ล้านคนแห่งนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ SME ต้องตีให้แตก

*ผอ. บำรุงราษฎร์แนะ จะคิดการใหญ่ใจต้องนิ่ง

สุดท้ายแล้ว เมื่อมีโอกาสมาอยู่ตรงหน้า ไม่คว้าไว้ก็คงจะไม่ได้ แต่การลงทุนก็ย่อมมีความเสี่ยง หากเดินเข้าไปถูกทาง ผลตอบแทนย่อมคุ้มค่า เรืออากาศโท นายแพทย์ นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) แนะนำให้เหล่าบรรดานักธุรกิจเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะลุยสนาม AEC โดยไม่ใช่เพียงแค่การทำความเข้าใจธุรกิจของตัวเอง แต่ต้องศึกษาวัฒนธรรมของแต่ละประเทศด้วย เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่รู้จักแค่ตัวเอง แต่ต้องเรียนรู้คนอื่นด้วย ก่อนอื่นเลย ต้องยอมรับว่าภูมิภาคอาเซียนของเราเต็มไปด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม นักธุรกิจทั้งหลายต้องทำการบ้านในเรื่องนี้กันให้ดี

คุณหมอนำได้ยกตัวอย่าง ธุรกิจของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ใช้เวลาหลายปีในการเจาะตลาดอาเซียน และจนทุกวันนี้ยังเข้าได้ไม่ครอบคลุมทุกตลาด โดยช่วงแรกๆ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นคนไข้จากประเทศในแถบตะวันออกกลาง แต่ช่วงหลังๆมานี้ จากหลายๆปัจจัยส่งผลให้คนไข้เหล่านั้นเดินทางมารักษาตัวที่ประเทศไทยน้อยลง ทางโรงพยาบาลจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่มามองประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคของเรา คุณหมอนำยอมรับว่าความคิดและเชื่อมั่นของคนแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อย่างระบบสาธารณสุขในประเทศไทย ค่อนข้างได้รับความน่าเชื่อถือในประเทศเมียนมาและลาว แต่หากเป็นคนไข้จากอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย จะนิยมเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศสิงคโปร์มากกว่า อันนี้เป็นอีกโจทย์หนึ่งของโรงพยาบาลที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไข้จากประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ เรื่องกฎหมายและนโยบายของแต่ละประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเรียนรู้

AEC ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทยอีกต่อไป แต่วันนี้ AEC เกิดขึ้นแล้ว เราเองก็ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นในบ้านเรา สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและรับมือกับผลกระทบที่จะตามมา

ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้ เอ็ม อะคาเดมี่ (M Academy) มุ่งเน้นการมอบประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการร่วมรับฟังและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อหลากหลายที่น่าสนใจ ทันต่อเหตุการณ์ จากบุคลากรชั้นนำที่จะมาเปิดมุมมองที่แตกต่างจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อต่อยอดทางความคิดสู่การพัฒนาตนเองและองค์กรอย่างยั่งยืน


แท็ก อาเซียน   (AEC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ