จุดเด่นของประเทศไทยนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติที่สวยงามแล้ว อาหารยังนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศมาอย่างยาวนาน ชาวต่างชาติบางส่วนรู้จักประเทศไทยจากชื่อของอาหาร และเดินทางมาเยือนไทยเพื่อเสาะแสวงหาอาหารอร่อยๆโดยเฉพาะ เช่นเดียวกัน คนไทยเองต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารไม่แพ้กัน ผู้ประกอบการหลายรายต่างหันมาลงทุนสร้างธุรกิจร้านอาหารเป็นของตัวเอง และยกระดับการบริการเพื่อทำให้ร้านเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยในปีนี้คาดว่าภาพรวมของของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในไทยจะมีมูลค่าสูงกว่า 669,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ผู้คนจึงลดการใช้จ่ายในแต่ละวันลง ทำให้ร้านอาหารต่างๆได้รับผลกระทบ ทั้งจากการที่ลูกค้าใช้บริการน้อยลงในแต่ละสัปดาห์ การสั่งอาหารน้อยลง หรือการเลือกรับประทานอาหารที่บ้าน นอกจากนี้ ธุรกิจอาหารตามร้านค้าริมทาง (Street Food) และร้านสะดวกซื้อ ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความสะดวกรวดเร็วและอาหารที่มีราคาไม่สูงมากนัก
ด้วยเหตุนี้เอง สมาคมภัตตาคาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และประธานสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จึงประสานงานเพื่อสรุปกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตด้วยการนำจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาใช้กับสมาชิกสมาคมภัตตาคาร
คุณฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ร่วมกับคุณดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และคุณสมพร มณีรัตนะกูล ประธานสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ได้ร่วมเปิดเผยแผนการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต เพื่อยกระดับร้านอาหารที่เป็นสมาชิกให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ
แผนการหลักคือ การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้ร้านอาหารที่เป็นสมาชิกสมาคมก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง "Smart Restaurant" หรือ "ร้านอาหารอัจฉริยะ" ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันและได้รับการรับรองมาตรฐาน โดยทางสมาคมภัตตาคารไทยได้มุ่งสร้างเครือข่ายร่วมกับองค์กรต่างๆดังนี้
1. สำนักงานงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ด้วยการสร้างเครือข่ายดังกล่าวก็เพื่อยกระดับมาตรฐานของวัตถุดิบที่ใช้ในร้านอาหารให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งในด้านโภชนาการและความปลอดภัย
2. องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.) เพื่อลดต้นทุนของวัตถุดิบโดยการซื้อในปริมาณมากจากแหล่งที่ได้รับการยอมรับจากมกอช. และนำไปกระจายสู่ร้านอาหารที่เป็นสมาชิก
3. กระทรวง ICT และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อจัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การสั่งซื้อวัตถุดิบ การจัดเก็บรูปแบบการบริโภคของลูกค้า การบริการภายในร้านอาหาร การโปรโมทร้านอาหาร การจัดเก็บภาษี ไปจนถึงการตรวจสอบมาตรฐานที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งจากผู้บริโภคและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
การร่วมมือกันครั้งนี้ จึงนับเป็นการปฏิรูปวงการร้านอาหารไทยครั้งสำคัญ ที่จะพลิกโฉมธุรกิจร้านอาหารที่กำลังอยู่ในช่วงขาลงให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง