คุณนันทิศา อัครเกษมพร ผู้ช่วยผู้บริหารของบริษัท ไลน์ ประเทศไทย และคุณอภิชญา เตชะมหพันธ์ ผู้บริหารด้านหุ้นส่วนกลยุทธ์ของบริษัท กูเกิ้ล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยประโยชน์และช่องทางการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ ท่ามกลางสถานการณ์การซื้อขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือธุรกิจ e-commerce ในประเทศไทยที่มีความสำคัญและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มในโลกไซเบอร์ เพื่อทำให้ตนเองเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้การสร้างแบรนด์ให้โดดเด่นในกลุ่มผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพและใช้งานได้หลากหลาย เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ
ในงาน "Thailand e-Commerce Week" ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รเมื่อวันที่ 7-9 ตุลาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีการจัดสัมนาในหลายหัวข้อ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเอง
*"โซเชียลมีเดีย" แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ e-commerce ยุคใหม่
คุณนันทิศา อัครเกษมพร ผู้ช่วยผู้บริหารของบริษัท ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความสำคัญมากที่สุด และเหมาะสำหรับธุรกิจ e-commerce เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวสร้างแบรนด์ที่เหนือกว่าได้
คุณนันทิศามองว่า การประกอบธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดีย มีข้อดีเหนือแพลตฟอร์มอื่นๆ ดังนี้
1. ไม่เปลืองเงินลงทุน - เนื่องจากโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี การเริ่มต้นทำธุรกิจออนไลน์ผ่านช่องทางนี้จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนมากมาย ไม่ต้องเสียเงินเพื่อสร้างเว็บไซต์ และสามารถต่อยอดได้โดยการใช้งบประมาณที่น้อยกว่า
2. เข้าถึงง่าย - ในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง การทำธุรกิจขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียจึงทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็ว
3. เท่าเทียม - เนื่องจากโซเชียลมีเดียมีฟังก์ชั่นสำหรับการสนทนาส่วนตัว การที่ผู้ประกอบการสามารถคุยกับลูกค้าตัวต่อตัวได้จึงทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและได้รับบริการอย่างเต็มที่
4. ต่อยอดได้ง่าย - ผู้ประกอบการสามารถกระจายข้อมูลข่าวสาร โปรโมชั่น สิทธิพิเศษ ส่วนลด ฯลฯ ผ่านทางช่องทางนี้ได้ อีกทั้งยังสามารถมั่นใจได้ว่า ข้อมูลที่ส่งไปจะถึงมือลูกค้าอย่างแน่นอน
*จงอย่าเชื่อความรู้สึก แต่จงเชื่อ “ข้อมูล" เพราะสิ่งเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป
ในยุคแห่ง Disruptive Technology ที่ผู้คนต่างยกทัพบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมาแข่งขันกันในตลาดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการ e-commerce ชาวไทยหลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า แล้วเราต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจของตัวเองมีความ "เหนือชั้น" มากกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ คุณอภิชญา เตชะมหพันธ์ ผู้บริหารด้านหุ้นส่วนกลยุทธ์ของบริษัท กูเกิ้ล เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตอบปัญหาคาใจเหล่านี้ ด้วยการแบ่งปันเคล็ดลับดีๆในการทำตลาดออนไลน์แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายที่บรรดา SMEs ไทยพลาดไม่ได้ ในหัวข้อ "Essential Digital Marketing Tools & Technique for SMEs"
คุณอภิชญากล่าวว่า e-commerce ในไทยมีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากปัจจัยหนุนในด้านต่างๆ ทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของคนไทยที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 60% และพฤติกรรมการซื้อขายบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ สอดคล้องกับผลสำรวจของกูเกิ้ลที่ระบุว่า ลูกค้าชาวไทยมีความต้องการซื้อสินค้าออนไลน์สูงกว่าประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน โดยคนไทยนิยมซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีเป็นอันดับสอง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าของ e-commerce ไทยจะโตขึ้นถึง10 เท่าเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวไทยยังนิยมค้นหาข้อมูลสินค้าก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผ่านทาง 3 ช่องทางหลักด้วยกัน ได้แก่ เสิร์ชเอ็นจิ้น เว็บไซต์หน้าร้าน และเว็บไซต์ตัวแทน ดังนั้น เว็บไซต์ทั้ง 3 แหล่งนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจมียอดขายที่ดีขึ้น โดยผลสำรวจระบุว่า บริษัทที่ทำตลาดออนไลน์ได้ดีจะมีผลกำไรสูงขึ้นกว่าเดิมราว 26% เนื่องจากโลกออนไลน์เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการหาลูกค้าได้ง่ายขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการโฆษณาได้ดีอีกด้วย เหนือสิ่งอื่นใด "ความต้องการซื้อ" ของคนไทย คือปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ e-commerce ไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคุณอภิชญากล่าวว่า ลูกค้าชาวไทยเสิร์ชหาสินค้าทุกประเภทในกูเกิ้ล ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างไปจนถึงศาลพระภูมิ ฉะนั้น ผู้ประกอบการที่อยากขยายธุรกิจของตนมายังโลกออนไลน์จึงไม่ควรลังเลอีกต่อไป
เทรนด์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ "พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทย" ที่เริ่มมีการเสิร์ชหาร้านค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือกันมากขึ้นถึง 60% อีกทั้งยังมีผลสำรวจออกมาว่า เว็บไซต์ที่สามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือได้สะดวก สามารถทำยอดขายได้มากกว่าร้านค้าคู่แข่งถึง 4 เท่า ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องแน่ใจว่า เว็บไซต์หน้าร้านของตัวเองมีลักษณะ Mobile-Friendly กล่าวคือ สามารถสืบค้นข้อมูลและสั่งซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือได้ง่าย มีความสวยความสะอาดตาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ การทำธุรกิจ e-commerce ยังเอื้อประโยชน์ให้กับการส่งออกสินค้าไปตีตลาดต่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยับขยายธุรกิจและหาตลาดใหม่ๆ Google global market finder เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดีๆที่ผู้ประกอบการสามารถใช้ประกอบการวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการตรวจสอบว่า สินค้าของตัวเองเป็นที่นิยมของตลาดมากน้อยเพียงใด ก็สามารถเข้าไปสำรวจเทรนด์ของตลาดได้ที่ Google trend เพื่อดูว่า สินค้าชนิดใดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด และจะนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้อย่างไร โดยคุณอภิชญาแนะนำว่า ในการทำธุรกิจนั้นอย่าใช้ความเชื่อส่วนตัวมาเป็นตัวตัดสิน แต่จงเชื่อข้อมูลที่เห็นมากกว่า เพราะใครจะเชื่อว่าคนไทยจะเสิร์ชหาสีทาบ้านมากกว่าแหวนแต่งงาน!