สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 และงานสัมมนาในหัวข้อ Thailand-China Economic Outlook 2017: เปิดศักราชใหม่เศรษฐกิจไทย-จีน 2560 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮออล์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ในวันนี้ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวปาถกฐาพิเศษเปิดงานในหัวข้อ “เดินหน้าแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย-จีน" พร้อมแขกรับเชิญพิเศษอย่าง คุณสุรวัช อัครวรมาศ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว คุณจาง เหมย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารแห่งประเทศจีน ประจำประเทศไทย และรศ.ดร อักษรศรี พานิชสาสน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ มาร่วมพูดคุยในการเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย-จีน 2560 กับปัจจัย-ตัวแปรที่ต้องจับตา"
ฯพณฯ หนิง ฟู่ขุย ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยนับเป็นคู่ค้าอันดับแรกๆของจีนในอาเซียน ท่ามกลางความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา นับว่ามีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จากช่วงแรกที่มีมูลค่าการค้าทวิภาคีประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเมื่อปีที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้ามากถึง 75,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขมูลค่าการค้าทวิภาคีนี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเอกอัครราชทูตจีนฯ แนะนำว่า ทั้ง 2 ประเทศควรจะกระชับความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กันอย่างเต็มกำลัง โครงการรถไฟไทย-จีน นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะทำให้เกิดบริการรถไฟที่ทันสมัยที่สุดในประเทศจีน และไทยจะได้บรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้า เศรษฐกิจ และคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน เพราะฉะนั้นอยากให้มองถึงภาพรวมที่ไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งจากจีนและภูมิภาคอาเซียนไปพร้อมๆกัน ในฝั่งของจีน มีการเชื่อมต่อทางการค้าเข้ากับภูมิภาคยุโรปโดยผ่านทางรถไฟ ซึ่งทำให้ตอนนี้จีนสามารถส่งสินค้าออกไปยังยุโรปได้เป็นจำนวนมาก การขนส่งสินค้าเกษตรทางบกนี้ ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายได้มาก หากโครงการรถไฟดังกล่าวเกิดขึ้น ไทยเองก็จะได้รับอานิสงส์จากเส้นทางดังกล่าวในการขนส่งสินค้าไปยังยุโรปและตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นควรทำให้โครงการดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ทัวร์ศูนย์เหรียญทำธุรกิจท่องเที่ยววูบ
ในด้านการท่องเที่ยว จีนนับเป็นแห่งนักท่องเที่ยวหลักของไทยจีนนับเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมาถึง 8,000,000 คน แต่ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยมีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากปัจจัยแรก คือด้านเศรษฐกิจในประเทศจีนเองที่เริ่มประสบกับปัญหา ทำให้คนจีนต้องระมัดระวังกับการใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น ส่วนอีกปัจจัยที่สำคัญ คือการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาลไทย ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยลดลงถึง 50% และ 52% ในเดือนพ.ย. ทั้งนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางจากเมืองต่างๆทั่วประเทศ มายังประเทศไทยนิยมใช้บริการทัวร์แบบเช่าเครื่องบินเหมาลำ เพื่อความสะดวกและราคาถูก เมื่อรัฐบาลออกนโยบาบปราบปรามทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเหล่านี้ลดลง จนโรงแรมบางแห่งในพัทยาที่รับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลักมียอดขายลดลงถึง 90% อย่างไรก็ตาม คุณสุรวัช กล่าวว่า การปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาลไทยไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่เราต้องยอมรับว่ามีผลกระทบเกิดขึ้น และต้องปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยคาดว่าในปีหน้าธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยน่าจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ขณะที่รศ.ดร.อักษรศรี มองว่าการจัดการกับทัวร์ศูนย์เหรียญจะทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่อยากให้มองไปที่จำนวนนักท่องเที่ยว แต่ให้มุ่งเป้าไปที่ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศต่างตระหนักดีถึงปัญหาดังกล่าวและร่วมมือหาทางจัดการกับปัญหาตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการท่องเที่ยว
รุกตลาดจีนด้วยอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้ชาวจีนจำนวนมากหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านทางระบบการค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า มีคนจีนว่า 700 ล้านคนใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยประมาณ 400 ล้านคนซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางระบบอีคอมเมิร์ซ และ 300 ล้านคนในจำนวนนั้น ซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านทางระบบดังกล่าว จากตัวเลขข้างต้น นับได้ว่าจีนเป็นนตลาดการค้าออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่มาก จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับทั้ง 2 ประเทศ ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ และอุตสาหกรรมนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อมารองรับการค้าผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการสร้างห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง จะนำรายได้จำนวนมหาศาลเข้ามาสู่ประเทศ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของรัฐบาลไทย ซึ่งจีนพร้อมให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านดังกล่าวให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถออกไปเปิดตลาดยังต่างประเทศได้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศจีนค่อนข้างให้ความนิยมกับสินค้าไทย โดยจะสามารถพบเห็นสินค้าไทยได้ในตลาดของจีน โดย รศ.ดร.อักษรศรี แนะนำว่าไ ทยเองควรจะมองไปที่ฐานลูกค้าระดับสูงที่มีกำลังซื้อและต้องการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่าลูกค้าระดับล่างที่ต้องการสินค้าราคาถูกซึ่งเราไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตชาวจีนได้อย่างแน่นอน ในขณะเดียวกัน ไทยเองก็ต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทยเอาไว้ ให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและเข้าใจความแตกต่างของสินค้าที่มาจากไทยซึ่งอาจจะมีราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน แต่มีคุณภาพแล้วความน่าเชื่อถือมากกว่า สำหรับสินค้าจากประเทศไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนตอนนี้ ได้แก่ หมอนยางพารา และจิวเวลรี่
One Belt One Road เส้นทางนี้ยังไม่ราบรื่น
แม้ว่านโยบาย One Belt One Road ของประธานาธิบดีนายสี จิ้นผิง ที่มุ่งเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการติดต่อสื่อสารในภูมิภาค จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี แต่ก็ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการดำเนินงาน โดย รศ.ดร. อักษรศรี ระบุว่า One Belt One Road ของจีนได้สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่าย โดยวิธีการที่จีนเข้าไปในประเทศต่างๆแบบพรวดพราดหรือเข้าไปในฐานะอภิมหาอำนาจ ได้สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนในประเทศเหล่านั้นว่าจีนต้องการอะไรจากประเทศพวกเขา และคนท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้นจะได้อะไรจากการโครงการนี้ ส่วนประชาชนจีนเองก็ยังคงมีความรู้สึกว่าคนจีนจะได้อะไรจากเงินภาษีของพวกเขาที่รัฐเอาไปช่วยพัฒนาประเทศต่างๆ ทั้งนี้ รศ.ดร. อักษรศรี มีความเห็นว่า เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ย่อมคำนึงประเทศของตัวเองเป็นหลัก การลงทุนย่อมต้องการผลประโยชน์เป็นการตอบแทน หรือวันนี้ “จีนจะไม่ใช่อากงใจดีอีกต่อไปแล้ว" ด้านนายจาง เหริน ระบุว่า ที่จริงแล้วนโยบายดังกล่าวของจีนมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจทั้งของจีนและประเทศที่มีส่วนร่วมในโครงการไปพร้อมๆกัน โดยแต่ละประเทศเองอาจจะต้องมีการปรับตัวเข้าหากันเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง เพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกันได้โดยแท้จริง
นโยบายทั้ง 2 ประเทศที่มีความสอดคล้องกัน จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งของทั้งประเทศไทยและสาธาณรัฐประชาชนจีน โดยทั้งไทยและจีนต่างหวังว่า จะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ ดังที่ท่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้กล่าวไว้ว่า คำว่า จีนไทยพี่น้องกัน ยังคงซึบซับอยู่ในใจของทั้ง 2 ประเทศมาตั้งแต่อดีต และจีนเองก็ให้ความสำคัญในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทยมากกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนตลอดมา เพราะฉะนั้นไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนจะเป็นเพื่อนแท้ที่ไว้ใจได้และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับไทยตลอดไป