คงไม่ต้องบรรยายถึงพลังของสื่อสังคมออนไลน์ในการเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในโลกของเราให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์โดยอัตโนมัติ เพราะมีแต่คนที่รู้จักเรียนรู้และปรับตัวได้เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ โดยเฉพาะในโลกธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ที่แม้จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันผู้บริโภคก็มีตัวเลือกและอำนาจต่อรองมากขึ้นเช่นกัน
“พลังแห่งสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ก็ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น"
ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2559 ของสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย (ATTM) ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ “Digital Marketing สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว" โดย ดร.แก้วตา ม่วงเกษม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนานาชาติมหิดล
ดร.แก้วตา กล่าวว่า หากเปรียบเทียบบุคลิกหรือแบรนด์สินค้าของคุณเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ต้องสร้างให้ชัดว่าคน ๆ นั้นจะเป็นอย่างไรและเกี่ยวโยงใกล้เคียงกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างไร เพราะพลังแห่งสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ก็ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ต้องสื่อสารออกไปทางสังคมออนไลน์ให้คนรู้ ให้ลูกค้ารับรู้ว่าเราเป็นอย่างไรในใจเขา สิ่งนี้เรียกว่า Positioning Map
ช่องทางการขายในโลกยุคสื่อสังคมออนไลน์
ในปัจจุบันช่องทางการขายไม่ใช่แค่ช่องทาง แต่เป็นการพัฒนาผลิตภันณ์ของเราให้โดดเด่นแตกต่างอีกด้วย อย่างไรก็ตามในโลกยุคสื่อสังคมออนไลน์มีช่องทางการขายสำคัญ 3 ช่องทางด้วยกันที่จำเป็นต้องมี และเรียนรู้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ช่องทางแรก Social Media ซึ่งเชื่อว่ายุคนี้ใคร ๆ ก็ต้องมีเฟซบุ๊กไว้ใช้สื่อสารกับลูกค้า แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จำเป็นต้องมีด้วยอีกช่องทางคือ เว็บไซต์ของตัวเองถามว่าทำไมมีโซเชียลมีเดียแล้วทำไมต้องมีเว็บไซต์ ? คำตอบคือ เว็บไซต์ช่วยในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของเสิร์ชเอนจิน (search engine optimization) หรือการที่กูเกิ้ลจัดอันดับในการค้นหา ถ้าเรามีแต่เฟซบุ๊กแต่ไม่มีเว็บไซต์เมื่อลูกค้าค้นหาคำที่เกี่ยวข้องก็จะไม่พบสินค้าและบริการจากเรา รวมถึงบางทีอาจต้องพิจารณาเทคนิค pay per click หรือการจ่ายเงินเพื่อให้ระบบนำเว็บไซต์เราขึ้นเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อลูกค้าเสิร์ชคำที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ช่องทางที่สาม อาจต้องลองใช้บริการพวก E-Marketplace เช่น agoda หรือ booking.com ถึงแม้ว่าจะต้องยอมแบ่งค่าคอมมิชชั่นถึง 18% แต่ก็ช่วยให้สินค้าและบริการของเราเด่นชัดขึ้นในออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง
ปัจจัยที่คนไม่เข้าเว็บไซต์ของเรา
1. ไม่รู้จักเว็บไซต์ วิธีแก้ต้องประชาสัมพันธ์มากขึ้น เช่น ทำการตลาด ลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ในเว็บสื่ออื่นๆ และที่สำคัญต้องกำหนดกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนเมื่อรู้ว่าลูกค้าเราคือใครแล้วจะทำให้เราลงโฆษณาได้ถูกที่มากขึ้น
2. คนจำชื่อเว็บไซต์ไม่ได้ วิธีแก้ตั้งชื่อที่จดจำง่าย สร้างความแตกต่างและน่าสนใจ บางท่านมีชื่อบริษัทยาวและจำยาก ท่านต้องตั้งชื่อเว็บไซต์โดยการหาตัวย่อที่จดจำง่ายและไม่สับสน
3. เว็บไซต์ไม่น่าสนใจ วิธีแก้ คือ การหาข้อมูลที่น่าสนใจมาใส่ สร้างstoryดีๆไว้บนเว็บไซต์ เช่น เรื่องราวของบริษัทที่น่าสนใจว่า ทำไมถึงยืนหยัดอยู่มาได้ในธุรกิจนี้
4. เว็บไซต์ไม่อัพเดต วิธีแก้ ได้แก่ การเพิ่มข้อมูลใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทใหญ่ๆมักมีทีมงานเพื่อทำคอนเทนต์ด้านนี้โดยเฉพาะ
5. คู่แข่งมีเว็บไซต์ที่น่าสนใจกว่า วิธีแก้ ศึกษาจุดแข็งของคู่แข่งและปรับปรุง เมื่อปรับปรุงแล้วอย่าลืมประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้
ตัวอย่างการสร้างเรื่องราวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ จากร้าน Jones Salad ซึ่งไม่ได้เปิดเฟซบุ๊กและเว็บไซต์เพื่อแนะนำเมนูสลัดอย่างเดียว แต่เขามีการสร้างเรื่องราวเนื้อหาที่ร่วมสมัยสื่อสารกับลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นการบอกเล่าสาเหตุที่คนอ้วน และวิธีลดน้ำหนักอย่างน่าสนใจ ปัจจุบันเฟซบุ๊กร้าน Jones Salad มีผู้กดติดตามเกือบ 8 แสนคน
สำหรับแนวทางของ Content marketing 2017 มีดังต่อไปนี้
1. การทำ Video Content จะมากขึ้น และหลากหลายกว่าเดิม
2. การพยายามสร้าง Original Content และ Creative Content ให้มากกว่าเดิม
3. เราจะเห็นงาน Viral ถล่มเมืองยากขึ้นเรื่อย ๆ
4. Facebook และ Youtube ยังเป็น Content Platform หลัก
5. Search ยังสำคัญ และนั่นทำให้เว็บไซต์ยังต้องมีอยู่
6. แบรนด์ให้ความสำคัญกับการทำคอนเทนต์(เสียที) แต่คนจำนวนมากก็ยังไม่เข้าใจ Content Marketing อยู่ดี