ผู้ประกอบการทั้งหลายจำเป็นต้อง “รับแรงกระแทกจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนโอนสู่ความเป็นดิจิทัล หรือ Digital Transformation มิเช่นนั้นแล้วก็จะไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ขณะที่อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแรงงาน และธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการติดต่อและจัดหา เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการผลิตมากขึ้น ทำให้ความต้องการแรงงานคนน้อยลง ประกอบกับการที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้โดยตรงจากการค้นหาและบริการออนไลน์ ทำให้ความจำเป็นในการติดต่อผ่านบุคคลที่ 3 น้อยลงตามไปด้วย
สิ่งที่ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวไว้ในระหว่างการพูดคุยกับคุณ สุทธิชัย หยุ่น ผู้ร่วมก่อตั้ง เนชั่น กรุ๊ป เกี่ยวกับภาพรวมของธุรกิจไทยในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ในงานสัมนา “DIGITAL Trends Summit" ที่ทางบริษัท กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย จำกัด จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น เป็นอีกเทรนด์หนึ่งในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกเหนือไปจากมุมมองของเจ้ากระทรวงดิจิทัลแล้ว ภายในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการมากมายมาร่วมให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารจาก DTAC, IPG Mediabrands, GroupM, Google, Samsung, Lazada, Tencent และ Omise แต่ Media Talk จะขอเริ่มต้นด้วยแนวคิดของหน่วยงานรัฐเจ้าของนโยบายด้านดิจิทัลก่อน ดังนี้
Digital Dialogue: DIGITAL Economy-Driven in Thailand: ธุรกิจไทยในสายตาของรัฐมนตรีดิจิทัล
“ความปั่นป่วนที่มากับยุคดิจิทัล" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “disruption" เป็นการเปิดโอกาสใหม่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ดร.พิเชฐ กล่าว และมองว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐาน “เน็ตประชารัฐ" ของรัฐบาล ที่จะทำให้หมู่บ้านต่างๆทั่วประเทศจำนวนกว่า 24,700 แห่ง สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ภายในสิ้นปีนี้ จะสร้างช่องทางใหม่ๆสำหรับธุรกิจดิจิทัลให้สามารถเข้าถึงผู้คนในชนบทได้อย่างทั่วถึง ซึ่งนั่นหมายความว่า ธุรกิจประเภทอีคอมเมิร์ซ หรือการขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงอุตสาหกรรมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ การรักษาโรคทางไกล ระบบไปรษณีย์-โลจิสติกส์ และบริการอื่นๆอีกมากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชน สามารถใช้โอกาสนี้ในการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างการลงทุนใหม่ๆได้ นอกจากนี้ IoT (Internet of Things) หรืออุปกรณ์ที่สามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันเพื่อความสะดวกสบายและฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น ยังเป็นอีกสิ่งที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทุกวันนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเน้นไปที่ความสะดวกสบาย เข้าใจง่าย และไม่จำเป็นต้องเป็นทางการมากนักเพื่อความรวดเร็ว ทำให้สินค้าและบริการใหม่ๆที่มีดิจิทัลเข้ามาแทรกได้รับความนิยมมากขึ้น ตัวอย่างเช่นการที่ผู้บริโภคสามารถเรียกใช้บริการรถยนต์โดยสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือการที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพเลือกใช้โคเวิร์คกิงสเปซที่มีบรรยากาศสบายๆ และมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ทำงานแทนการเช่าอาคารสำนักงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ยังได้กล่าวถึงบริษัทสตาร์ทอัพ โดยเน้นย้ำว่า ความคิดของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เช่นเดียวกับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าที่สั่งสมมา ก็สามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจที่อาจประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลได้เช่นกัน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเยาวชนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมในการพัฒนาโมเดลธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมองว่า หากรอจนถึงระดับมหาวิทยาลัยอาจจะช้าไปและไม่ทันตลาด และยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลยังจะทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างศูนย์กลางแห่ง IoT หรือ “อุทยานนวัตกรรมดิจิทัล" ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี สำหรับเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศร่วมลงทุน ก่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านนวัตกรรมและบุคลากรในอุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี นำไปสู่การเป็นต้นแบบแห่งเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
อนาคตสตาร์ทอัพไทยในสายตาสปอนเซอร์หลักแห่งวงการ
คุณสมโภชน์ จันทร์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ดีแทค แอคเซลเลอเรท บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ “ปลาใหญ่ไม่ได้กินปลาเล็กอีกต่อไป แต่เป็นปลาเร็วที่กินปลาทุกตัว" นั่นหมายความว่า เมื่อมีความคิดที่จะทำธุรกิจแล้ว การลงมือทำในทันทีโดยไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆเป็นข้อควรปฏิบัติในยุคดิจิทัล เนื่องจากหากชะล่าใจแล้วก็อาจเสียโอกาสให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ทำให้ต้องหาโมเดลธุรกิจใหม่และเสียเวลามากกว่าเดิม ทั้งนี้ คุณสมโภชน์แนะว่า การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องไม่ทำโดยยึดเงินเป็นจุดประสงค์หลัก แต่ต้องยึดเอาคุณประโยชน์และความสามารถในการแก้ปัญหาของผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราเป็นตัวตั้ง เนื่องจากหากสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ผู้คนก็จะหันมาใช้บริการเราเอง
เมื่อถามเกี่ยวกับเทรนด์ของสตาร์ทอัพที่กำลังมาแรงในไทยในปัจจุบัน และเทรนด์ของสตาร์ทอัพในอนาคต คุณสมโภชน์มองว่า สตาร์ทอัพไทยที่สามารถเจาะตลาดได้ต้องนำสิ่งที่ไทยได้เปรียบอยู่แล้วมาต่อยอด เช่น การท่องเที่ยว อาหาร และโดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม ที่ในปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาพัฒนาระบบการจัดการที่ดินเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรไม่มีหลักค้ำประกันธนาคาร นอกจากนี้ หากมองต่อไปในอนาคตแล้ว สตาร์ทอัพที่จะมีบทบาทและเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้แก่สตาร์ทอัพที่คิดค้นโซลูชั่นด้วยระบบ VR หรือ เทคโนโลยีเสมือนจริง และ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์
ทั้งนี้ คุณสมโภชน์ยังมองว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคโดยเฉพาะคนไทยทุกวันนี้ต้องการความสดใหม่และความเร็ว จึงจำเป็นที่บริษัทใหญ่ๆต้องร่วมมือกับสตาร์ทอัพในการคิดค้นโซลูชั่นใหม่ เพราะนอกจากไม่จำเป็นต้องมานั่งคิดค้นสิ่งใหม่ๆด้วยตนเองให้เสียเวลาแล้ว ฝั่งสตาร์ทอัพที่มีบริษัทใหญ่คอยหนุนหลังยังมีเงินทุนในการพัฒนาไอเดียให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเปิดตัวสู่ตลาดได้ก่อนผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีกทั้งยังมีศักยภาพในการขยายตัวในวงกว้างหรือ “scalable" และสามารถนำไปทำซ้ำได้ในสถานที่อื่นๆ หรือ “repeatable" อีกด้วย
แนวโน้มสื่อและพฤติกรรมผู้บริโภคจากมุมมองของบริษัทด้านข้อมูลสื่อยักษ์ใหญ่
คุณสร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มวางแผนกลยุทธ์และนวัตกรรมเครือ ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากเดิมที่มีการเว้นช่วงเก็บข้อมูลผู้บริโภคไม่ถี่นัก กลายเป็นต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้ทุกวันแบบเรียลไทม์ ทำให้ในบางครั้งสามารถรู้ได้เลยว่า คอนเทนต์ที่ปล่อยออกไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนได้รับความนิยมมากน้อยเท่าใด ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตสื่อจึงจำเป็นต้องมีแผนสำรองอยู่ตลอดเวลา ขณะที่คอนเทนต์ต้องมีความหลากหลาย ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม แทนที่จะเป็นการผลิตคอนเทนต์เดียวและประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง นักคอนเทนต์ต้องผลิตชิ้นงานหลายชิ้นที่มีความน่าสนใจ “ชัด สด โดน" สำหรับผู้บริโภคกลุ่มต่าง และประชาสัมพันธ์ออกไปตามช่องทางต่างๆโดยยึดความสนใจของผู้บริโภคเป็นหลัก นอกจากนี้ คุณสรยังมองว่า ในอนาคตจะไม่มีคำว่าสื่อหลัก สื่อรองอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ของสื่อนั้นๆว่า จะมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน และต่อผู้บริโภคกลุ่มใด
ด้านคุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) มองว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันติดการใช้สมาร์ทโฟนมาก เพราะเข้าถึงง่าย และมีราคาไม่สูงเหมือนสมัยก่อน ขณะที่สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องยังสะท้อนพฤติกรรมการใช้งานและความสนใจของผู้ใช้แต่ละคน ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า “Personalized Marketing" หรือการเก็บข้อมูลเพื่อทำการตลาดสำหรับผู้บริโภครายคน จะเป็นวิธีเข้าหาผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และนอกจากคอนเทนต์ที่น่าสนใจแล้ว ความสะดวกสบายและความง่ายในการเข้าถึงสื่อยังเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่จะทำให้สื่อประสบความสำเร็จ
ขณะเดียวกัน คุณพรรณริณี ทิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชั่น จาก กูเกิ้ล ประเทศไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูลผู้บริโภคเช่นกัน โดยเฉพาะในฐานะของผู้ให้บริการค้นหาที่สามารถนำคำค้นมาวิเคราะห์รวบรวมเพื่อจัดทำข้อมูลผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ คุณพรรณริณีกล่าวว่า รูปแบบของสื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่ คอนเทนต์วิดีโอ ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานหลายคนไปแล้ว ซึ่งทางกูเกิ้ลเอง ก็มีโซลูชั่นสำหรับการค้นหาเทรนด์ต่างๆที่กำลังมาแรงในแต่ละพื้นที่แบบวันต่อวัน เพื่อให้ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถนำข้อมูลไปต่อยอดในการเผยแพร่สื่อต่อไป ทั้งนี้ คุณพรรณริณีได้ฝากแนวทางที่น่าสนใจให้แก่ผู้ผลิตคอนเทนต์ไว้ 3 ประการ หรือ “3B" ได้แก่ Be There คือการคิดล่วงหน้าว่าลูกค้าน่าจะสนใจอะไรจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อ, Be Useful คือการแนะนำลูกค้าได้ตรงจุด และมีช่องทางเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และ Be Measurable คือการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้วัดผลว่า คอนเทนต์ที่ส่งออกไปมีผลต่อยอดขายหรือคุ้มทุนมากน้อยแค่ไหน
สำหรับการเสวนาช่วงบ่ายในหัวข้อ Digital Technology: Your Billion นั้น เป็นการต่อยอดการเสวนาจากช่วงเช้า โดยผู้บริหารจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศไทย 4 แห่งได้มาร่วมแชร์กลยุทธ์และโมเดลธุรกิจใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและวางแผนการตลาดให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกด้วย
คุณวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์การตลาดในยุคดิจิทัลว่า เราจะต้องจับทิศทางของเทรนด์โลกให้ได้ก่อน โดยทุกวันนี้ เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์” (IoT) ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆที่ช่วยส่งเสริมเทคโนโลยี IoT เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและนับวันจะดำเนินชีวิตอย่างเร่งรีบมากขึ้น เพราะในอนาคต ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มจะใช้สมาร์ทโฟนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิต ด้วยเหตุนี้ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้านจึงต้องมีเทคโนโลยี IoT ที่สามารถรองรับความต้องการเหล่านี้ เพื่อช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถสื่อสารกันหรือเชื่อมต่อถึงกันได้ โดยผู้ใช้สามารถสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเช่นเครื่องซักผ้าให้ทำงานได้โดยที่ผู้ใช้กดสั่งจากนอกบ้าน เพราะโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค “สมาร์ทไลฟ์” (Smart Life) อย่างเต็มตัว
คุณแบ๊บติสต์ ลีเกิ้ล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ลาซาด้า ประเทศไทย แสดงมุมมองเกี่ยวกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลังจากนี้ว่า จะมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธุรกรรมต่างๆจะดำเนินการผ่านเว็บไซต์หรือระบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย คุณแบ๊บติสต์มองว่าปี 2560 เป็นปีที่สดใสสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น คู่แข่งมากขึ้น ทางบริษัทก็จะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ทางลาซาด้าจึงต้องพัฒนาโมเดลแพลตฟอร์มใหม่ที่สร้างหลักประกันว่าผู้ซื้อสินค้าบนลาซาด้าจะสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและขยายฐานลูกค้าใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีกำลังซื้อสูง อีกทั้งยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมากในยุค EEC
คุณพัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงโมเดลธุรกิจแบบใหม่ของบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีแพลตฟอร์มสื่อสารและแอปพลิเคชั่นว่า จะต้องศึกษาตลาดให้ดีก่อนทุกครั้ง เพื่อทำให้แพลตฟอร์มเข้าถึงและพูดคุยกับลูกค้าได้มากขึ้น ดังนั้นการสร้างแพลตฟอร์มจึงต้องคำนึงถึงการมีลูกค้าหรือผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง และทำให้พวกเขารับรู้ว่าแพลตฟอร์มนี้สามารถตอบโจทย์ของตนเองได้อย่างลงตัว คุณพัชราพรแนะเคล็ดลับที่ทำให้ Joox สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายและครองใจคนไทยได้อย่างรวดเร็วว่า เป็นเพราะทีมงานเทนเซ็นต์ประเทศไทยทำการบ้านโดยศึกษาตลาดมาเป็นอย่างดี จนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มมิวสิคสตรีมมิงที่ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกสบาย ฟังเพลงได้ฟรี อีกทั้งสามารถค้นหาเพลงฮิตติดหูได้อย่างรวดเร็วจากอินเตอร์เฟสที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ใช้งานง่าย ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาเพลงเจอโดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อศิลปินมาก่อน
คุณอิศราดร หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง Omise กล่าวว่า ในโลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เทรนด์ FinTech หรือการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบการชำระเงินให้มีความสะดวกสบายนั้น เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรและแพลตฟอร์มต่างก็ให้ความสำคัญ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าหรือผู้ใช้ด้วยบริการการชำระเงินแบบไร้รอยต่อ หรือ Seamless Payment Experience ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ในท้ายที่สุด เพราะในอนาคต ผู้คนมีแนวโน้มที่จะไม่พกกระเป๋าเงินหรือเงินสดติดตัว แต่จะจ่ายเงินผ่านสมาร์ทโฟนหรือแพลตฟอร์มชำระเงินที่สะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น ผู้พัฒนาแอพหรือแพลตฟอร์มชำระเงินจึงต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ว่า ระบบชำระเงินนั้นมีความปลอดภัย นอกจากนี้ ผู้บริหาร Omise ยังมองด้วยว่า ปัญหาท้าทายในอนาคตก็คือ การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความชำนาญ (know-how) เพื่อรองรับกับความต้องการขององค์กรต่างๆในการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว