ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2543 นิตยสาร a day ฉบับที่ 1 วางแผงสู่สายตาผู้อ่าน พร้อมปรากฎการณ์ขายเกลี้ยงแผงภายใน 2 สัปดาห์ จนต้องพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 ทั้งที่ปกติการทำนิตยสารนั้น แทบจะไม่มีใครเขาพิมพ์ซ้ำกัน a day เกิดจากกลุ่มคน 7 คน มีทั้งคนที่อยู่ในแวดวงนิตยสารและนอกวงการ ได้แก่ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, นิติพัฒน์ สุขสวย, ภาสกร ประมูลวงศ์, จันฑรัศมิ์ เกียรติยศ, รัตนา ชิดขุนทด,ทรงพล จั่นลา และ จันทร์เพ็ญ ตั้งสมปัตติวงศ์ ชักชวนคนทั่วไปร่วมลงขันขายเป็นหุ้นๆ ละ 1,000 บาท จดทะเบียนบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด เริ่มแรก 2 ล้านบาท
a day เดินทางผ่านกาลเวลาพิสูจน์ตัวเองต่อสายตาผู้อ่าน มาจนถึงฉบับที่ 200 ซึ่งเป็นฉบับที่มีความพิเศษอยู่หลายอย่าง พิเศษแรกคือในฐานะครบ 200 ฉบับ พิเศษที่สองคือเป็นฉบับที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ พิเศษที่สามคือเป็นฉบับอำลาของ “ทรงกลด บางยี่ขัน" บรรณาธิการบริหาร หลังจากที่อยู่กับ a day มาตั้งแต่ปี 2546 ก่อนจะตัดสินใจลาออกไปเปิดบริษัทสื่อของตัวเอง และพิเศษสุดท้าย คือ a day 200 เป็นฉบับที่ปล่อยออกมาในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงภายใน a day เอง และการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อทั้งประเทศ จาก a day ที่เคยเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง กระตุกให้วงการต้องเหลียวมองและเดินตาม ถึงเวลาที่ a day ต้องเป็นผู้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเสียเอง
เย็นวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 เป็นวันที่หอสมุดกรุงเทพ คึกคักและเสียงดังเกินมาตรฐานห้องสมุด เพราะงาน “a day 200 the magazine exhibition" งานแสดงนิทรรศการ a day ทั้ง 200 ฉบับ นอกจากนี้ยังเป็นงานส่งไม้ต่ออย่างเป็นทางการระหว่าง “ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน" กับ “เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี" บรรณาธิการ a day คนล่าสุด พร้อมมินิคอนเสิร์ตจาก scrubb โดยมี พล่ากุ้ง และ สนุ๊กเกอร์ สองพิธีกรดังเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับ a day ทั้งสิ้น
a day เปิดตัว บก.คนใหม่ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลง
“เอี่ยว-ศิวะภาค เจียรวนาลี" เปิดใจเล่าถึงตัวเองและ a day บนเวที ว่า ตัวเองโตมากับ a day โตมาทั้งหน้าที่การงานและโอกาสในชีวิตและรู้ว่ามันสามารถสร้างพลังใหม่และป็นแหล่งรวมของคนรุ่นใหม่ได้ ตอนพี่ก้อง-ทรงกลด เอ่ยปากบอกให้มารับไม้ต่อก็คิดอยู่นานประมาณ 3 นาที (หัวเราะ)
จริง ๆ ก็นาน...ผมเป็นผู้ช่วยพี่ก้องมาตลอด เรารู้มาตลอดว่า a day เป็นอย่างไรมาอย่างไร ถ้าเราเข้ามามันเป็นหน้าที่หนัก เพราะเราเข้ามาทุกคนต้องคาดหวังว่าเราจะเข้ามาทำอะไร ผมรู้ว่าถ้าผมรับสิ่งนี้เป็นสิ่งที่หนักมากแน่ ๆ แต่ผมก็เชื่ออยู่อย่างว่า ถ้าเกิดว่ามันมีโอกาสอยู่ข้างหน้า แล้วเรารู้ว่าทำไมมันถึงมีอยู่ แล้วลองคิดตรึกตรองมองน้อง ๆ ทุกคนที่อยู่รอบข้าง มีน้อง ๆ ที่คอยเชื่อมั่นและสนับสนุนอยู่ แน่นอนกองทัพมันไม่ได้เดินคนเดียวอยู่แล้ว จริง ๆ ถ้าจะบอกว่าทีมงานเหมือนเดิมไหม ก็ถือว่าใช่ เพราะจริง ๆ แล้วทีมงานที่ยังทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็ทีมงานชุดเดิม มีบางส่วนที่ออกไปบ้างแต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ แล้วเราก็ชวนคนที่เคยร่วมงานกับเรามาเติมซึ่งเราก็รู้แนวกันอยู่แล้ว สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ถ้าตอบแบบง่าย ๆ คือทำมันให้ดีไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าพูดแบบใหญ่ ๆ นิดนึงคือผมอยากทำ a day ให้เป็นนิตยสารให้ดียิ่งกว่าเดิมโดยที่เราไม่ได้ทิ้งต้นทุนที่เรามีมา ในงานนี้เราเห็น a day 200 เล่มวางอยู่นั่นคือสิ่งที่ผมอยู่กับมันมาตลอด ผมทำงานที่ a day มาตลอดใช้ชีวิตกับมัน ถ้าจะให้ผมเริ่มทำสิ่งใหม่โดยที่ผมไม่ได้มองสิ่งนั้นเลยมันคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนตัวเล่ม a day จะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรครั้งใหญ่อะไรหรือไม่นั้น บก.เอี่ยว-ศิวะภาค บอกว่า อย่างที่บอกว่าอยากทำให้ดีโดยเริ่มจากฐานเดิมก่อน ตอนนี้คงไม่สามารถพูดอะไรที่มันดูใหญ่โตไดั แต่ผมพูดได้ว่ายังอยากเป็นนิตยสารที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และมอบแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเหมือนเดิม แต่เราอยากพูดเรื่องใหม่ ๆ มากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าตัวสังคมเปลี่ยนไปทำให้เรื่องมันเยอะและกว้างขึ้น
สิ่งพิมพ์มยังไม่ตาย มันมีรูปแบบและหน้าที่ของมันเองอยู่
ขณะที่การบริหารในช่วงผลัดใบที่กระแสสื่อออนไลน์มาแรงกระทบสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมนั้น บก.เอี่ยว บอกว่า ผมเปรียบเทียบว่าเมื่อก่อนตอนเราเป็นเด็กเราใส่นันยางทำทุกอย่าง ใส่เตะบอล วิ่ง เล่นบาส พอโตมาเราก็หารองเท้าวิ่ง รองเท้าสตั๊ดใส่ สื่อก็เหมือนกัน คือเวลาที่เราอยากรู้เรื่องราวข่าวสารเราก็ซื้อหนังสือพิมพ์ แต่ตอนนี้มีออนไลน์ก็เหมือนมีช่องทางใหม่ ๆ มีรองเท้าคู่ใหม่ให้เราลอง ซึ่งมันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทิ้งของเดิมไป ผมรู้สึกว่าสิ่งพิมพ์และนิตยสารมีกลิ่น มีเสน่ห์ และรูปแบบของมันที่น่าสนใจ ผมว่าสิ่งพิมพ์มันไม่ได้ตาย ผมว่ามันยังมีพลังอยู่ อย่างเราชอบมองว่าออนไลน์จะเข้ามา อีบุ๊คจะเข้ามา แต่ทุกวันนี้ยอดอีบุ๊คตกลง เพราะว่าทุกวันนี้คนอ่านข่าวสารออนไลน์มากขึ้นมันทำให้เกิดการอ่อนล้าจากการเสพสื่อออนไลน์ สิ่งนี้มันบอกเราว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย มันมีรูปแบบและหน้าที่ของมันเองขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้จุดเด่นมันอย่างไร
a day 200 ฉีกขนบของนิตยสาร
สำหรับเล่มที่ 200 เป็นเล่มที่ทดลองฉีกขนบของนิตยสาร คือการทำ a day ให้เปลี่ยนจากกระดาษเป็นนิทรรศการ คือ “พี่ก้อง-ทรงกลด" เคยไปนิทรรศการการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งซึ่งเขาไม่ได้ทำการ์ตูนเป็นเล่มแต่เขาทำเป็นนิทรรศการ เราคิดว่าเวลาเราเล่าเรื่องเราจะเล่าผ่านกระดาษ แต่ถ้าเราอยากเป็นนิตยสารที่พูดเรื่องความคิดสร้างสรรค์แต่เราไม่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ เลย เราก็เลยคิดว่าอยากลองดู เนื้อหาก็ยังอยู่ในเล่มแต่เราจะเอามาทำเป็นนิทรรศการด้วยโดยจะจัดตามสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับ a day ในเล่มนั้น ๆ เช่น เล่มรถไฟก็จัดแสดงที่หัวลำโพง หรือเล่มพี่เบิร์ด-ธงชัย ก็ไปจัดที่ตึกแกรมมี่ นอกจากนี้เราก็ทำ a day ฉบับ 200 ขึ้นมาแต่ไม่ได้ทำขาย เราทำแจกสำหรับสมาชิกรายปี และทำแจกคนที่ไปร่วมนิทรรศการของเรา โดยแจก 2 แบบ แบบแรกคือคนที่ไปงานนิทรรศการที่เราจัดตามที่ต่าง ๆ และถ่ายรูปที่งาน แบบที่สองคือหยิบ a day เล่มไหนก็ได้มาถ่ายรูปแล้วติดแฮชแท็ก #aday200 บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม พร้อมบรรยายว่าชอบ a day เพราะอะไร โดยเราจะคัดเลือกผู้โชคดีจำนวนจำกัด
a day นิตยสารที่เปลี่ยนชีวิตเด็กผู้ชาย 2 คน
ถ้าเอ่ยชื่อ “วรชาติ ธรรมวิจินต์" และ “ยุคนธร อักษรพันธุ์" หลายคนคงเกาหัวพร้อมคำถามในใจว่า ‘ใคร?’ แต่ถ้าบอกว่า “พล่ากุ้ง" - “สนุ๊กเกอร์" สองดีเจแห่งคลื่นฮอตเวฟ คงพอจะเห็นพวกเขาปรากฎผ่านสายตาบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับ“พล่ากุ้ง" เติบโตได้สวยกับผลงานพิธีกรและดารารับเชิญตามรายการโทรทัศน์ ขณะที่ “สนุ๊กเกอร์" เดินสายพิธีกรอีเวนต์และทำรายการทางอินเทอร์เน็ต แต่ทั้งคู่มีทุกวันนี้ได้เพราะ a day
สนุ๊กเกอร์ เล่าให้เราฟังว่า ผมพูดกับทุกคนเสมอว่า a day คือจุดเริ่มต้นของผม พร้อมย้อนวันวานให้ฟังว่าผมเป็นเด็กมหา’ลัย เรียนคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ส่วน “พล่ากุ้ง" เรียนคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ไปเจอกัน เพระผมชอบเด็กศิลปากรมันมันส์ดี ถามว่าชอบหญิงหรือชอบชาย ก็ชอบหญิงด้วย (หัวเราะ) คือต่างคนก็ต่างเป็นพิธีกรของมหาวิทยาลัย “พล่ากุ้ง" ก็อยู่ในโลกศิลปากร ผมอยู่ในโลกธรรมศาสตร์ ไป ๆ มา ๆ ด้วยความเพี้ยนความพีค a day เห็น และ aday อยากทำคอนเสิร์ต Live in a day ครั้งแรก เห็นมันแปลกดีเลยจับมาคู่กัน คืองานวันนั้นสนุกมากด้วยความที่ว่าตอนนั้นวัยรุ่นกำลังคึกก็พรีเซนต์เล่นใหญ่ จบงานผู้ใหญ่ชอบ พอจบงานงานไม่จบจากนั้นก็มีงานเข้ามาอีกเรื่อย ๆ ไป ๆ มา ๆ งานพิธีกรที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเลี้ยงชีพได้ก็ทำได้มาถึงทุกวันนี้ “สนุ๊กเกอร์" เปลี่ยนโหมดจากน้ำเสียงสนุกมาเป็นโหมดแห่งความจริงใจ แล้วพูดว่า
“อันนี้พูดจากใจเลย ไม่ใช่เพราะเรามาถามแล้วตอบ แต่ไม่มีโอกาสได้ตอบให้ฟังสักครั้ง คืออยากขอบคุณจริง ๆ a day คือรากชีวิตผมเลย คือเปลี่ยนชีวิตผม" ดีเจสนุ๊กเกอร์ เล่าถึงความในใจ งานวันนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขาทั้งคู่เป็นที่มาของคำว่า “แจ้งเกิด"
a day ผู้ผลักหลังศิลปิน scrubb
คู่ดูโอ้ Scrubb “เมื่อย" นักร้องนำ เล่าความผูกพันกับ a day ให้ฟังเช่นกันว่า ตอนนั้นมีชื่อเพลงว่า “โรงเลียน" a day มีโปรเจคว่า ถ้าเพลงใครมีความคิดน่าสนใจก็ลองส่งมาดู ช่วงนั้นก็เป็นช่วงเก็บผลงานไว้แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะได้ใช้ ก็ลองส่งมา 12 เพลงถ้าจำไม่ผิด และโชคดีที่เขาเลือกก็เป็นจุดเริ่มต้น
“บอล" มือกีตาร์ ย้อนเล่า กำเนิด scrubb ว่า “เมื่อย" เป็นรุ่นน้อง ก็ใช้เวลาหลังเลิกงานทำดนตรี โดยมีเมื่อย เป็นคนพยายามหาช่องทางให้ผลงานของเราไปปรากฎตามที่ต่าง ๆ แล้ว เมื่อย ก็มาบอกว่า a day มีโปรเจค จะคัดเลือกศิลปินหน้าใหม่ให้ส่งผลงานเข้าไป ตอนนั้นก็คิดว่าแล้วแต่เมื่อยแล้วกัน แล้วปรากฎว่าได้ ตอนนั้นจำได้ว่าสิ่งที่ดีใจที่สุดไม่ใช่ได้ผลงาน แต่เป็นเงินมาสามหมื่นบาท ก็เลยเริ่มมีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ และเราก็เลยเป็นหนึ่งวงเล็ก ๆ ตอนนั้นที่ถ้า a day มีอะไรเขาก็จะชวนเราไปเสมอ ก็เป็นหนึ่งในแรงผลักดันจนวันหนึ่งผลงานของพวกเราก็ได้เข้าไปอยู่ในค่ายเพลง ได้ทำงานเพลงอย่างจริงจัง งานดนตรีที่นอกจากจะทำสนุกกันเองแล้ว ก็มี a day คอยผลักหลังอยู่
ปรับใหญ่ The Momentum และ นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์
ป๊อป- สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ผู้บริหารตัวจริงเสียงจริงของ a day ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเราว่า ตั้งแต่วันที่ซื้อ a day มา เพราะเราชอบที่ a day เป็นแบบนี้ ถามว่าถ้าเดินดู 200 เล่มมันไม่ใช่ไม่เปลี่ยนนะ แต่ที่ชอบคือมันไม่ตายไปกับกาลเวลาคือคุณเอา a day เล่ม 1 มาอ่านตอนนี้คุณก็อ่านได้ ส่วนอีกอย่างที่ชอบคือ คนเสพสื่อเจอเรื่องเศร้าใจ สะเทือนใจจากสื่อมากมายแล้ว ทำไมเราไม่ทำสื่อเล็ก ๆ ที่พอคนมาอ่านแล้วยิ้ม ไม่ต้องถึงกับหัวเราะแค่ยิ้ม
ส่วนการเปลี่ยนแปลงในเครือ a day ในปีนี้ ป๊อป-สุรพงษ์ เปิดเผยว่า ที่เปลี่ยนเลยคือนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ จะมีโฉมใหม่เพราะนิตยสารผู้หญิงปิดไปเยอะมาก เราอยากเห็นสื่อผู้หญิงที่เหลืออยู่แล้วมีกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้นมานิดนึง เดิมหนังสือผู้หญิงต้อง niche เพื่อจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งให้ได้ แต่พอวันนี้นิตยสารหายไปเยอะมาก เราต้องคิดใหม่ว่า ทำอย่างไรให้ mass ขึ้นอีกหน่อย น่าจะประมาณเดือนสิงหาคมนี้ จะได้เห็นโฉมใหม่
ส่วนเว็บไซต์ The Momentum ที่ทีมงานยกทีมออกไปตั้งเว็บไซต์ใหม่จากกรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันทางธุรกิจนั้น ป๊อป-สุรพงษ์ บอกว่า เราไม่ได้จะทำสำนักข่าวออนไลน์ เราอยากทำแค่สื่อออนไลน์ไม่ใช่สำนักข่าว เพราะเราไม่เห็นความเข้มแข็งของ a day ในการเป็นสำนักข่าว แต่เรามีความถนัดเรื่องเล่าเรื่องสวยงาม เรื่องแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ แล้วเรามาทำสำนักข่าวได้อย่างไร เราก็จะปรับ positioning นิดนึง ซึ่งจริง ๆ ตัวเนื้อหาก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ที่เปลี่ยนคือเป้าหมายจากสำนักข่าวออนไลน์เปลี่ยนเป็นสื่อออนไลน์ เพราะแบบเดิมที่ตั้งเป้าว่าเป็นสำนักข่าวแต่พอการนำเสนอที่ผ่านมาก็ยังไม่ใช่