- จากสื่อกระดาษที่เปลี่ยนโฉมองค์กรมาทำธุรกิจ Property Tech Startup รายแรกของไทย
บาเนีย หรือ Baania เป็นการสนธิคำข้ามสัญชาติระหว่างคำว่า Baan (บ้าน) + Mania (ความคลั่งไคล้) อัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารบริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กว่า 20 ปี หากเอ่ยชื่อนิตยสารโฮมบายเออร์ไกด์ (HOME BUYERS GUIDE) เชื่อว่า หลายคนต้องร้องอ๋อและเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อย
อัญชนา เล่าว่า เริ่มคิดจะทำสตาร์ทอัพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ในวันครบ 10 ปีบริษัทโฮมบายเออร์ไกด์ แม้ช่วงเวลานั้นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ของเธอกำลังไปได้ดี แต่เธอเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมการหาข้อมูลก่อนซื้อบ้านของผู้บริโภคซึ่งเปลี่ยนไปเร็วมาก แต่ในทางกลับกันคนทำคอนเทนต์หรือสื่ออย่างเรากลับเปลี่ยนช้ามาก จึงเริ่มนั่งคุยกับ"วีรวัฒน์ รัตนวราหะ"ผู้ร่วมก่อตั้งอีกท่านหนึ่งว่า ถ้าจะเปลี่ยนต้องเริ่มจากวันที่เรายังแข็งแรง เมื่อคุยกันแล้วไม่รอช้าลงมือทำทันที
ปีต่อมา(พ.ศ.2558) เริ่มสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาฯ รวบรวมข้อมูลและพัฒนาระบบ แต่โจทย์ท้าทายคือการเปลี่ยนพนักงานที่เคยทำงานสื่อดั้งเดิมมาเป็น Property Tech Startup อัญชนา เล่าว่า เรา Digital Transformation เปลี่ยนแม้กระทั่งการจัดโต๊ะนั่งทำงาน แต่สิ่งที่แทบไม่ได้เปลี่ยนคือตัวพนักงานที่มีการเปลี่ยนเพียงแค่ 3% ที่เหลือเป็นทีมงานเดิม และเติมเลือดใหม่ในงานเชิงเทคนิคดิจิทัลเข้ามา สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนกระบวนการทำงานและกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ให้โอกาสทำงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความหวังร่วมกันและเชื่อใจกันว่า เราเปลี่ยนเพื่อให้ทุกคนอยู่รอด
จากนั้น พ.ศ.2559 เริ่มเปิดตัว Baania.com ที่จ.เชียงใหม่,เชียงราย,ลำพูน,นครราชสีมา และขอนแก่น จนปัจจุบัน (พ.ศ.2560) ขยายมาเปิดตัวที่กรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออก บาเนียตั้งเป้าจะขยายกิจการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีหน้า (พ.ศ.2561) และครอบคลุมในกลุ่มประเทศอาเซียนภายในไม่เกินปี พ.ศ.2563
- Baania.com เห็นอะไรที่เปลี่ยนไปของพฤติกรรมผู้บริโภค
1.ผู้บริโภคมากกว่า 50% ใช้อินเทอร์เน็ตเช็คข้อมูลอสังหาฯก่อนติดต่อโครงการ
2.คาดว่าการใช้อินเทอร์เน็ตเช็คข้อมูลอสังหาฯจะเติบโตอีกมากกว่า 300%
3.ผู้บริโภค 1 คนโดยเฉลี่ยค้นหาข้อมูลกว่า 11 โครงการ ก่อนที่จะติดต่อพูดคุยกับโครงการจริงๆ
“ช่องว่างที่ Baania พบคือข้อมูลที่สำคัญในการเลือกซื้อบ้านนั้น หายาก”
อัญชนา เล่าว่า ช่องว่างที่เราเจอคือมีเว็บไซต์เกี่ยวกับบ้านเยอะก็จริงแต่ก็กระจายและข้อมูลไม่อัพเดต เมื่อดูเข้าไปอีกจะยิ่งปวดหัว เพราะพบว่ามีข้อมูลเยอะมากแต่เอาไปใช้ไม่ได้ ขณะที่ข้อมูลสำคัญที่จะชี้ขาดว่า จะซื้อหรือไม่คือข้อมูลเปรียบเทียบและข้อมูลภาพรวมในย่านนั้นๆ
-ใช้ Big Data ศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อบ้านอย่างลึกซึ้ง
วีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพรายละเอียดเชิงเทคนิคการทำงานให้ฟังอย่างสนุกสนาน เริ่มจากการอุดช่องว่างที่อัญชนาพูดถึง ด้วยหลัก 3S
1.Scale รวบรวมข้อมูลโครงการมากกว่า 5,000 โครงการครอบคลุมถึงโครงการที่ขายไปแล้ว และเป็นเจ้าแรกในไทยที่เก็บข้อมูลลึกระดับบ้านแต่ละแปลง
2.Scope ใช้ Big Data เก็บข้อมูลย้อนหลัง 5-10 ปี และไม่ได้เก็บเฉพาะข้อมูลอสังหาฯแต่เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยเช่นกัน
3.Speed เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วผ่านทุกดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งเว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น
“จุดเด่นคือการนำข้อมูลที่มองไม่เห็นในอดีตมาฉายภาพให้เข้าใจและเข้าถึงง่าย”
วีรวัฒน์ เรียกสิ่งนี้ว่า Insight คือข้อมูลสำคัญที่เหนือกว่าข้อมูลพื้นฐานที่หาได้ตามเว็บทั่วไป เช่น วันขาย ขนาดพื้นที่ ราคาปีที่แล้ว เป็นต้น แต่ข้อมูลของ Baania โชว์ให้เห็นว่ารู้ลึกไปกว่านั้น และเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจ
-แผนที่ราคาบ้านตามโซนหรือแนวถนน/รถไฟฟ้า
-ใช้เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ไม่ต้องเดินทางไปดูโครงการจริงด้วยตัวเอง
-ใช้โดรนถ่ายภาพ 360 องศา โครงการที่เชียงใหม่มีภาพแล้ว 300 โครงการ
-บทความรีวิวจากผู้เชี่ยวชาญจริง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านทำเล วัสดุ และความคุ้มค่าในการลงทุน
-Proximity Insight ข้อมูลด้าน Location การเดินทางที่ได้ประมวลเป็นคะแนน ได้แก่ Driving Score, Walk Score และ Transit Score (MRT,BTS เป็นต้น)
-Prospectivity Insight ข้อมูลประวัติราคาและแนวโน้ม เจาะลึกระดับย่าน ตำบล อำเภอ
“ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ซื้อ Baania ให้บริการตอบโจทย์ถึงกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาฯ”
วีรวัฒน์ เรียกสิ่งนี้ว่า Intelligence คือการวิเคราะห์ข้อมูลไปอีกระดับหนึ่งเพื่อผู้ประกอบการโดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคจากการใช้งาน Baania เพื่อสำรวจปริมาณความต้องการซื้อ (Demand Report) สำรวจเทรนด์ผู้บริโภค สำรวจคู่แข่งในทำเลใกล้เคียง รวมถึงวิเคราะห์ Brand Value Analysis เพื่อตั้งราคาโครงการ และเร็วๆนี้ จะเปิดตัว Best mate ซึ่งวีรวัฒน์ ยังไม่เผยรายละเอียดแต่บอกว่าจะก้าวหน้าที่สุดกว่าทุกตัวที่กล่าวมา
"เมื่อก่อนคนจะจ้างบริษัทเดินสำรวจ แต่สิ่งที่คนตอบในเซอร์เวย์กับพฤติกรรมนั้น ไม่ตรงกัน การเซอร์เวย์ที่ดีที่สุดคือการทำตอนที่เขาไม่รู้ตัว” วีรวัฒน์ กล่าว
-เจ้าพ่อสตาร์ทอัพ ฉายทฤษฎี Property Tech คือหนึ่งในยูนิคอร์นสตาร์ทอัพไทย
กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหารกองทุน 500 TukTuks เล่าให้ฟังว่า เปิดกองทุนสนับสนุนลงทุนในสตาร์ทอัพเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาครบรอบ 2 ปี ตอนตั้งกองทุนใหม่ ๆ เราคุยกันว่าหนึ่งในสตาร์ทอัพที่จะเป็นยูนิคอร์นของไทยได้ (สตาร์ทอัพที่มูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต้องมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์ คิดตามทฤษฎีมูลค่าธุรกิจอสังหาฯทั่วโลกคือคือ 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Property Tech จะเข้ามาแทรกได้ที่ประมาณ 22% หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเราดู google ซึ่งอยู่ในธุรกิจสื่อมีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นโดยหลักการ Property Tech สามารถสร้าง Google+Facebook คูณ 2
ถ้าดูในภูมิภาคอาเซียน สตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดเมื่อปีที่แล้วคือ iproperty จากมาเลเซีย มีมูลค่า 500 ล้านดอลลารืสหรัฐ อสังหาฯในประเทศไทยทุกคนรู้ว่าไม่เล็กแล้วทำไมเราถึงปล่อยให้มาเลเซียมี Property Tech ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเพียงเจ้าเดียว เราเชื่อว่า Property Tech สามารถไปถึงยูนิคอร์นได้ หรืออย่างน้อยธุรกิจนี้จะไปถึงที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่พูดมานั่นคือทฤษฎี กระทิง เล่าต่อว่า 1 ปีกับ 7 เดือนหลังตั้งกองทุนที่ผมมองหาสตาร์ทอัพที่อยู่ในภาค property จนถึงขั้นลองทำเองคัดคนมาแล้วให้ไอเดียไปทำผลปรากฎว่าไม่สำเร็จ เพราะ Property Tech ก็เหมือนกับ FinTech หรือ HelthTech คือถ้ามีแต่คนที่เป็น Tech อย่างเดียวมันไปไม่รอด เราจำเป็นต้องหาทีมและวันนี้เราเจอแล้ว