สมาคมโฆษณาดิจิทัล (DAAT) และกันตาร์ ทีเอ็นเอส (Kantar TNS) เผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 นี้ งบประมาณโฆษณาดิจิทัลของไทยมียอดการใช้จริงอยู่ที่ 6,086 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% ธุรกิจการสื่อสารครองแชมป์อัดงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลสูงสุดจากศึกการตลาดมือถือค่ายต่างๆ
การนำเสนอผลสำรวจครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณราชศักดิ์ อัศวศุภชัย Digital Business Director IPG Mediabrands และคณะกรรมการของ DAAT, คุณพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ Digital Director Publicis One และคณะกรรมการของ DAAT ร่วมด้วยดร. อาภาภัทร บุญรอด ซีอีโอของ Kantar Insights Thailand มาเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ "Update Ad Digital Spending Report 2017"
- เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลทะยานขึ้นต่อเนื่อง
รายงานของ DAAT ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากเอเจนซีชั้นนำของเมืองไทย 22 ราย ระบุว่า งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและขยายตัวมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 งบประมาณโฆษณาดิจิทัลของไทยมียอดการใช้จริงอยู่ที่ 6,086 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อนหน้า โดยทางสมาคมฯ ได้ประมาณการตัวเลขของทั้งปีว่า จะปิดที่ระดับกว่า 12,195 ล้านบาท ซึ่งจะสูงกว่าจำนวนที่เคยคาดการณ์ไว้เล็กน้อย สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลมาจากการที่แบรนด์ต่างๆต้องการเพิ่มยอด Reach ของลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ใช้เวลากับหน้าจอมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ส่งผลให้ในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งช่วยผลักดันให้ยอดการเติบโตของสื่อดิจิทัลพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- ธุรกิจการสื่อสารครองแชมป์อัดงบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลสูงสุด
กลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ใช้งบประมาณโฆษณาทางสื่อดิจิทัลสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มการสื่อสาร 1,302 ล้านบาท (11%) ตามมาด้วยรถยนต์ 1,280 ล้านบาท (10%) ส่วนอันดับ 3 นั้นได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 681 ล้านบาท (6%)
สำหรับสาเหตุที่ธุรกิจกลุ่มการสื่อสารไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 1 นั้น เนื่องจากปีนี้ค่ายมือถือดังๆได้หันมาทำการตลาดออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนใหม่ๆจากหลายๆค่าย โดยเฉพาะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติจีน ส่งผลให้มีการแข่งขันกันทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลกันอย่างดุเดือด ส่วนธุรกิจยานยนต์ในไทยปีนี้ค่อนข้างสดใส โดยยอดเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลที่ออกมานั้นก็สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่หันมาเลือกใช้ LINE ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า หรือใช้เป็นช่องทางในการแจ้งข่าวสารและโปรโมชันกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในปีนี้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทำวิดีโอโปรโมทน้อยลง แต่มีการรุกทำการตลาดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กมากขึ้น และเลือกใช้การโฆษณาผ่านอินสตาแกรมเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
- จับตาธุรกิจการเงิน-การธนาคาร ใช้งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของยอดเม็ดเงินโฆษณาสูงจนน่าจับตามองนั้น คือ กลุ่มการเงินการธนาคาร โดยธนาคารมีการใช้งบกับสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้นราว 43% ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มเครดิตการ์ดที่ทะยานขึ้นถึง 122% และกลุ่มประกันที่พุ่งขึ้น 66% เนื่องจากผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมักเลือกหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อเปรียบเทียบคุณภาพ ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกธนาคารที่ตนเองชื่นชอบ ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในระบบการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเทรนด์ Fintech ที่กำลังเข้ามาในบ้านเรา
ในส่วนของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีผู้ลงโฆษณามากที่สุดในปีนี้ยังคงเป็น Facebook ที่ 3,416 ล้านบาท และ YouTube ที่ 1,651 ล้านบาท โดยทางสมาคมฯได้มีการคาดการณ์ว่า เม็ดเงินโฆษณาสำหรับสื่อดิจิทัลในไทยจะสูงขึ้นกว่านี้ ถ้านักการตลาดและนักวางแผนการสื่อสารเข้าใจถึงจุดประสงค์และการวัดผลต่างๆ มากขึ้น
- Digital Reimagined ดิจิทัล... เปลี่ยนโลก
การเข้ามาของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนโฉมหน้าของทุกสิ่งตั้งแต่พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงการแข่งขันของตลาด ซึ่งผู้บริโภคในยุคนี้สามารถเข้าถึงแบรนด์ต่างๆ ผ่านทางปลายนิ้ว ดังนั้น งานสร้างสรรจากนี้ต่อไป นอกจากต้องอาศัยความรวดเร็วแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการเชื่อมโยงเทคโนโลยี จินตนาการ และบริบทของความเป็นมนุษย์เข้าด้วยกัน
คุณแคลร์ วาริ่ง Executive Creative Director จากบริษัท SapientRazorfish Southeast Asia ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมหาศาล โดยในปัจจุบัน ผู้บริโภคชื่นชอบแบรนด์ที่ให้ความรู้หรือสามารถสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขาได้ มากกว่าแบรนด์ที่เพียงแค่ความน่าสนใจเฉยๆ หรือพูดถึงแต่เรื่องราวของตนเองเพียงด้านเดียว
ด้วยเหตุนี้ การคิดแบบยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางจึงเป็นเรื่องที่ทุกแบรนด์ต้องหันมาใส่ใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Micro-Moments เพราะนี่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจและมีความภักดีต่อแบรนด์ในระยะยาว
- Micro-Moments ชั่ววินาทีสั้นๆ ที่กระตุ้นยอดขายได้มหาศาล
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ต้องการตอบสนองความต้องการของตัวเองในทันทีทันใด อยากจะได้อะไรก็ต้องรีบทำเดี๋ยวนั้น ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ต่างๆจึงควรเร่งหากลยุทธ์ที่จะตอบสนองความต้องการเหล่านี้ให้ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าให้ได้มากที่สุด ณ เวลาที่ลูกค้าต้องการ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงที่ลูกค้ามีความต้องการที่ซื้อสินค้าหรือตัดสินใจอะไรได้รวดเร็วมากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำธุรกิจสายการบิน แทนที่คุณจะปล่อยให้ลูกค้าเดินไปเช็คไฟล์ทเดินทางที่บอร์ด ก็ให้ลองสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถเช็คตารางเวลาเหล่านั้นได้จากนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ ซึ่งลูกค้าสามารถรับรู้ข้อมูลทุกอย่างได้ในทุกที่ ทุกเวลาที่ตนเองต้องการ เพื่อให้ลูกค้าประทับใจในบริการ และตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้แบบตรงจุด
- ใช้ AI และเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดประโยชน์
ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยี "ปัญญาประดิษฐ์" หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า "AI "นั้นได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายๆวงการ แต่ถึงแม้ AI จะฉลาดล้ำเพียงใด แต่สิ่งที่มันยังขาดอยู่ก็คือ "ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของมนุษย์" ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ของนักการตลาดที่จะต้องก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆให้ทัน และนำมันมาผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อสร้างสรรค์กลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพ
- อย่ากลัวที่จะลองเสี่ยง
คุณแคลร์ กล่าวว่า การจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นก็ต้องเสี่ยงลองทำอะไรใหม่ๆดูบ้าง เพื่อทดลองดูพฤติกรรมของลูกค้าว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งใด และไม่ว่าสิ่งที่คุณทำจะประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย หรือล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า แต่สิ่งที่คุณจะได้กลับมาทุกครั้ง ก็คือการเรียนรู้ใหม่ๆที่จะช่วยพัฒนากลยุทธ์ของคุณให้ดีขึ้นในครั้งต่อๆไป